สระลดรูป แปลงรูป 1/1 ชาตรี สำราญ


ลองไหมลองสนุกกับการสอน ลองเล่นกับการสอน สอนแบบเล่น ๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนแบบเล่น ๆ แล้วการเล่นนั้นส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ขึ้นมา

การสอนภาษาไทย  มองให้ดี  มองให้ลึกแล้วจะเห็นว่าใช่จะเป็นเรื่องง่าย   เพราะภาษาไทยนั้นแท้จริงแล้ว ยากตรงที่มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนอยู่ในตัวของภาษาไทยเอง คำแต่ละคำที่ผู้เรียนจะต้องรู้ว่า “มาจากไหน  มาได้อย่างไร”  เช่น  คำว่า ฉัน  ถ้ามองเผิน ๆ  ก็ไม่มีความซับซ้อนแต่อย่างใด แต่เมื่อผู้เรียนต้องตอบข้อสอบแบบวิเคราะห์คำ ความยากจะเข้ามาทันที ถ้าผู้เรียนไม่รู้ที่มาของคำจำพวกนี้ 

           ความจริงแล้วนั้น  ผู้เรียนหลายคนรู้ว่า ฉันคำนี้ รูปคำเดิมมาจาก  ฉ+ ะ + น   แต่พอถามว่าแล้วเป็น ฉัน ได้อย่างไร  หรือฉัน  กับ สั้น   ต่างกันตรงไหน เหมือนกันตรงไหน  ทำไมจึงเป็นแบบนั้นตรงนี้จะมีผู้เรียนน้อยคนที่ตอบได้ “ทำไมจึงเป็นอย่างนี้” นี่คือเรื่องที่ชวนให้คิด

           เมื่อคิดว่า “ทำไมจึงเป็นอย่างนี้” ก็ทำให้ต้องย้อนคิดกลับไปถึงคำว่า สระลดรูป สระแปลงรูป หรือ สระเปลี่ยนรูป ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านมาแล้ว แต่ทว่าผู้เรียนเกิดความรู้ในเรื่องนี้แล้วหรือยัง  คือ

           1.  ผู้เรียน  มองเห็นภาพ สระที่ลดรูป หรือสระที่แปลงรูปนั้นได้มาก - น้อยเพียงใด

           2.  ผู้เรียนสามารถ อธิบายความเป็นมาเป็นไปของสระเหล่านั้นได้กระจ่างชัดมาก-น้อยเพียงใด

           3.  ผู้เรียนสามารถ ยกตัวอย่าง คำเหล่านั้นมาประกอบคำอธิบาย ได้มาก-น้อยเพียงใด

           4. ผู้เรียนสามารถแจกแจง ความเหมือนความต่างกันของสระลดรูป  สระแปลงรูปได้ชัดเจนมาก –น้อยเพียงใด

 

           คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่ครูผู้สอนจะต้องเพียรค้นหาคำตอบจากผู้เรียน เพราะคำตอบที่ได้มานั้นแหละ  คือการวัดผลประเมินผลที่มาจากความเป็นจริง เพราะวัดและประเมินจากสภาพความเป็นจริง ผลที่ปรากฏจึงย่อมจะสะท้อนความจริงของสภาพความรู้ของผู้เรียนและสภาพการสอนของผู้สอนด้วย นี่คือข้อมูลป้อนกลับที่เป็นวัฏฏะของคำว่า“ผู้สอนพัฒนาผู้เรียน ผู้เรียนพัฒนาผู้สอน

           ถ้าผู้สอนสามารถสอนโดยการแสดงให้ผู้เรียนมองเห็นภาพของคำ ที่ผู้เรียนเรียนรู้ได้จนสามารถตอบคำถามดังกล่าวข้างต้นทั้ง 4  ข้อได้จริง ๆ  เชื่อแน่ว่าคำเหล่านั้นจะ ฝัง(แน่นอยู่ใน)ใจผู้เรียน (Unduring  Understanding )ได้นานแสนนาน ยิ่งถ้าหากผู้สอนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนนำคำเหล่านั้นเขียนเป็นเรื่องราวเล่าสู่กันฟังในรูปแบบการเล่าเรื่องและเขียนเป็นหนังสือเล่มเล็กแบบตำราเรียนเขียนด้วยเด็ก ได้แล้ว ผู้เรียนก็จะเกิดความรู้ชนิด“ฝังลึกอยู่ในใจผู้เรียน”  ( Deep knowledge )  นั่นคือ ความรู้นั้นจะ ฝังใจผู้เรียนอยู่ตลอดเวลา เมื่อเวลาเห็นคำเขาจะรำลึกภาพที่มาของคำนั้นได้อย่างดี  การเรียนอย่างนี้ใช่ไหมที่เรียกว่าการเรียนรู้ที่เกิดจากข้างในใจของผู้เรียน แต่ปัญหามีอยู่ว่าแล้วจะสอนอย่างไรให้ความรู้สามารถเดินเข้าไปฝังลึกอยู่ในใจของผู้เรียนได้อย่างแท้จริง ตรงนี้สิคือความยากอีกอย่างหนึ่งที่ครูผู้สอนมักจะพบอยู่บ่อย ๆ

           ลองไหมลองสนุกกับการสอน  ลองเล่นกับการสอน  สอนแบบเล่นๆ  เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนแบบเล่น ๆ แล้วการเล่นนั้นส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ขึ้นมา

           เคยคิดกิจกรรมสนุก ๆ ง่าย ๆ นำสอนโดยสมมติว่า....   เรา(หมายถึงผู้เรียน) ไปเที่ยวที่เกาะโบราณกัน บนเกาะนั้นเวลาสื่อสารนิยมใช้การเขียนแทนการพูด เพราะเสียงจะรบกวนสัตว์ที่บนเกาะ ซึ่งมีสัตว์แปลก ๆ อาศัยอยู่มาก (สัตว์แปลก ๆ จะนำสอนช่วงศิลปศึกษา)

           เมื่อผู้เรียนไปถึงเกาะอันดับแรกก็ได้รับเอกสารจากผู้คอยต้อนรับ คนละ1  ฉบับ  มีใจความว่า

                                   

จโอะดหมายถึงผู้พะก

           

                       ฉะน ในนามของชาวเกาะยินดีต้อนระบ ผู้มาย่ยม ขอให้อยู่กะนอย่างสบาย ทุกวะนเราจะดตรยม  อาหารวะน  ละ  3 เวลา ที่อาคารดโอะง  หมากพร้าว เมื่อท่านล่เอะน  น้ำทะเลหรือท่ยว ชโอะม ป่าเขาแล้ว  ชเออญ  ไปร่วมระบ ประทานอาหารได้   ถ้าท่านพโอะบ  หเอะน งูหรือ สะตว์ต่าง ๆ  ขออย่าได้ทำร้าย  สะตว์  เหล่า น้ะน   มะนจะไม่ทำร้ายใครก่อนลเออย  พยง ขแอะง  ใจ ดเออน ผ่านไปฉเออย ๆ ก้เอาะ ปลอดภะย   ชเออญ   ท่ยวให้สบายใจ ถเออด

                       การพะกนอนน้ะนได้จะดให้พะก บ้าน  1 หละง อยู่กะน  2คโอะน หมอนหนุนอาจจะขแอะงแต่นอนไปจะชินเอง

 

           สำหรับกิจกรรมในการเรียนรู้ครั้งนี้มีง่าย ๆ   ดังนี้

           1. เมื่อผู้เรียนแต่ละกลุ่มรับเอกสารแล้ว  นั่งอ่านเป็นกลุ่ม ๆพร้อมถอดรหัสคำเหล่านั้นเขียนให้เป็นภาษารูปปัจจุบัน นำเสนอให้เพื่อนต่างกลุ่มรับรู้ด้วย

           2.  การถอดรหัสคำนั้นถ้ากลุ่มใดสามารถอธิบายแจกแจงที่มาที่ไปของคำ ๆ นั้นได้ละเอียดชัดเจน มีการยกตัวอย่างคำอื่น ๆ มาประกอบคำอธิบายด้วยจะมีคะแนนเพิ่มขึ้น

           สำหรับจดหมายนั้นพอถอดรหัสแล้วจะได้ความดังนี้

                                   

จดหมายถึงผู้พัก

           

                       ฉัน ในนามของชาวเกาะยินดีต้อนรับ ผู้มาเยี่ยม ขอให้อยู่กันอย่างสบาย ทุกวันเราจัดเตรียม  อาหารวันละ  3  เวลาที่อาคารดงหมากพร้าว เมื่อท่านเล่นน้ำทะเลหรือ เที่ยว  ชมป่าเขาแล้ว เชิญ ไปร่วมรับประทานอาหารได้  ถ้าท่านพบ เห็น งูหรือ  สัตว์ต่างๆ   ขออย่าได้ทำร้าย  สัตว์  เหล่านั้น   มันจะไม่ทำร้ายใครก่อนเลย เพียง แข็ง  ใจ เดิน ผ่านไปเฉย ๆ ก็ ปลอดภัย   เชิญ   เที่ยวให้สบายใจ เถิด

                       การพักนอนนั้นได้จัดให้พัก บ้าน  1 หลัง อยู่กัน  2คน หมอนหนุนอาจจะแข็งแต่นอนไปจะชินเอง

 

 

           เมื่อถอดรหัสคำออกมาเขียนเป็นเอกสารธรรมดาได้แล้ว ผู้เรียนจะต้องนำคำเหล่านั้นมาผลัดกันอธิบายแจกแจงให้เพื่อนร่วมเรียนรู้ เข้าใจ

           ตรงนี้จะเห็นได้ว่า ถ้าผู้เรียนคนใดคล่องในการถอดรหัสคำได้ แสดงว่าผู้เรียนคนนั้น  สามารถอ่านคำนั้นได้ และเข้าใจเกี่ยวกับคำ ๆ นั้น แต่ทั้งนี้อย่าเพิ่งด่วนตัดสินว่า ผู้เรียนเข้าใจอย่างลึกซึ้งจนกว่าจะได้ฟังการอธิบาย แจกแจงถึงความเป็นมาของคำเหล่านั้น และสามารถยกตัวอย่างคำอื่นมาประกอบการอธิบายได้อย่างหลากหลาย ถ้าผู้เรียนทำได้อย่างนี้  เชื่อได้ว่า เขาเข้าใจเรื่องของคำแบบนั้นอย่างลึกซึ้ง

อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ครับ https://docs.google.com/docume...



หมายเลขบันทึก: 484198เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2012 10:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ตุลาคม 2018 10:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท