การสอนที่มีชีวิต 6/1 Backward design ชาตรี สำราญ


จุดสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ครูผู้ออกแบบจะเพิกเฉยไม่ได้คือ การแปลง มาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้น เป็นความคิดแบบความคิดรวบยอด ความสัมพันธ์และหลักการ

ชีวิตที่มีในการเรียนรู้    6

 

                                ในการออกแบบการเรียนรู้แบบ Back  ward Design  นั้น  จุดสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ครูผู้ออกแบบจะเพิกเฉยไม่ได้คือ การแปลง มาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้น เป็นความคิดแบบความคิดรวบยอด  ความสัมพันธ์และหลักการ เพราะตัวนี้จะช่วยทำให้ครูผู้สอนมองเห็นผลการสอนที่จะเกิดแก่ผู้เรียนข้างหน้าได้ชัดเจน

                                มาตรฐานช่วงชั้นแต่ละมาตรฐานในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นไปในรูปแบบ เนื้อหาสาระที่กำหนดให้ครูต้องนำสอนเรื่องนั้น ๆ   โดยตรง  เมื่อเป็นอย่างนี้ครูส่วนใหญ่ก็จะใช้วิธีการสอนแบบพึ่งหนังสือแบบฝึกหัดที่สำนักพิมพ์ต่าง ๆ วางขาย ผู้เรียนเรียนรู้แบบอ่านใบความรู้แล้วทำแบบฝึกหัดที่สำนักพิมพ์กำหนดให้  จบแล้วผู้เรียนรู้เนื้อหาของเรื่องที่เรียนเท่าที่กำหนดไว้ในใบความรู้เหล่านั้น  และรู้วิธีการเรียนรู้วิธีเดียวคือ “เปิดอ่านหน้านี้แล้วไปตอบอีกหน้าหนึ่ง” ก็เพียงเท่านี้เอง  ความรู้ที่ผู้เรียนรู้เป็นความรู้ที่ไม่ใช่ผู้เรียนเป็นผู้สร้างด้วยตัวของผู้เรียนเอง  แต่เป็นความรู้ที่ครูป้อนให้ โดยใช้แบบฝึกหัดเป็นสะพาน  เป็นวิธีการเรียนที่ง่ายทั้งผู้เรียนและผู้สอน  แต่ผลที่ได้รับ ซึ่งเห็นอยู่ในปัจจุบันนี้คือ  เด็กรู้ว่า ผักมีประโยชน์ต่อร่างกาย  แต่ก็ยังไม่นิยมรับประทานผัก  รู้ว่าอาหารจำพวกแป้งทำให้ร่างกายอ้วนแต่ก็ชอบรับประทานอาหารสำเร็จรูปที่มากไปด้วยแป้งและไขมัน  เด็ก ๆ จึงป่วยเป็นโรคอ้วน   โรคเบาหวาน และ โรคเกี่ยวกับหัวใจเพิ่มขึ้น   เพราะเด็กเหล่านี้ผ่านการเรียนรู้แบบไม่มีความหมายต่อผู้เรียน  ดังนั้น  Backward Design  จึงได้คิดวิธีการออกแบบการเรียนการสอนแบบให้ผู้เรียนเรียนรู้อย่างมีความหมายโดยผู้สอนต้องกำหนดภาพการสอนให้ชัดว่า  เรียนจบหน่วยการเรียนนี้แล้ว  ผู้เรียนจะเกิดอะไร  อย่างไร   แค่ไหน  มีอะไรเป็นตัวชี้วัดระดับคุณภาพการประเมิน  การเรียนรู้จนเกิดผลการเรียนรู้ได้อย่างนี้  ผู้เรียนจะต้องผจญกับปัญหาใหม่ๆ อยู่บ่อย ๆค่อย ๆ เก็บข้อมูลความรู้มาวิเคราะห์  สังเคราะห์  สรุปเป็นผลการเรียนรู้  ต้องคิดออกแบบสร้างชิ้นงานแล้วประเมินผลโดยใช้เกณฑ์การวัดประเมินด้วยมิติคุณภาพ (Rubrics) และความรู้ที่ผู้เรียนเรียนรู้ต้องเป็นความรู้ที่ผู้เรียนเป็นผู้สร้างด้วยตัวของผู้เรียนเอง

                                การออกแบบการเรียนรู้ดังกล่าวนี้  ครูผู้สอนจะต้องกำหนดความรู้แบบความคิดรวบยอด  ความรู้แบบความสัมพันธ์และหลักการไว้ล่วงหน้า  เพราะความรู้เหล่านี้เมื่อเกิดในตัวผู้เรียนแล้วจะเป็นความรู้ที่ฝังแน่นในตัวผู้เรียน  พร้อมกันนี้ครูผู้สอนจะต้องคิดไว้ล่วงหน้าเช่นกันว่า จบหน่วยการเรียนนี้แล้ว  ผู้เรียนจะสามารถสร้างผลงานใดให้เห็นได้ว่าตนรู้จริง  เมื่อกำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว  ครูผู้สอนสามารถนำความรู้ที่ฝังแน่นไปเขียนเป็นผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง และ นำผลงานที่ปรากฏไปเขียนเป็นระดับคุณภาพในการวัดประเมินผล  เช่น 

มาตรฐานช่วงชั้น ป.1-3   สาระที่  4  มาตรฐาน พ.4.1  ข้อ 1เข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างพฤติกรรมสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี”

ความรู้แบบความคิดรวบยอด นักเรียนเข้าใจว่า “สิ่งแวดล้อม  ที่อยู่อาศัยของแต่ละคน มีผลต่อสภาพชีวิตของคน ๆ นั้น”     

ความรู้แบบหลักการสำคัญ นักเรียนเข้าใจว่า “การอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีผลต่อสุขภาพและชีวิตของคนแต่ละคน”

สาระที่ 4 มาตรฐาน พ 4.1 ข้อ 6 “ทดสอบสมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพด้วยวิธีง่าย ๆ”

ความรู้แบบความคิดรวบยอด :  นักเรียนเข้าใจว่า “การทดสอบสมรรถภาพทางกายเป็นประจำช่วยให้มีข้อมูลในการนำมาบำรุงรักษาสุขภาพอีกทางหนึ่ง”

ความรู้แบบหลักการสำคัญ : นักเรียนเข้าใจว่า   “วิธีการทดสอบสมรรถภาพทางกายมีหลายวิธีที่เราสามารถนำใช้ได้

สาระที่  3 มาตรฐาน ง 3.1 ข้อ 3  “เลือกเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการทำงานโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม” 

ความรู้แบบความคิดรวบยอด : นักเรียนเข้าใจว่า “การกระทำใด ๆ ของเราย่อมมีผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม”

ความรู้แบบหลักการสำคัญ : นักเรียนเข้าใจว่า“การรู้จักเลือกใช้เทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการทำงานของเราจะมีผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้”

สาระที่  5  มาตรฐาน ท 5.1 ข้อ 1  “ใช้หลักการพิจารณาหนังสือ พิจารณาให้เห็นคุณค่าและนำไปใช้ในชีวิตจริง”

                ความรู้แบบความคิดรวบยอด : นักเรียนเข้าใจว่า “หนังสือมีอยู่มากมายถ้าเราเลือกอ่านไม่เป็นก็ไม่มีประโยชน์ต่อตนเอง”

                ความรู้แบบหลักการ : นักเรียนเข้าใจว่า “การรู้จักหลักการในการพิจารณาคัดเลือกหนังสือมาอ่าน จะช่วยให้เราอ่านหนังสือที่มีประโยชน์ต่อตนเอง”

 เมื่อเรานำความรู้แบบความคิดรวบยอดและหลักการมาเขียนเป็นผลการเรียนรู้แล้ว  นำมากำหนดกระบวนการเรียนรู้ ๆ นี้ถ้าในมาตรฐานช่วงชั้นระบุไว้ว่า  สังเกต  จำแนกความแตกต่าง  หาลักษณะร่วม  ระบุชื่อความคิดรวบยอด  ทดสอบและนำใช้  ถ้าเป็นอย่างนี้ก็เข้าใน “กระบวนการสร้างความคิดรวบยอด”  เพื่อง่ายต่อการที่ครูผู้สอนจะเขียน กระบวนการเรียนรู้  จึงขอนำเสนอกระบวนการต่าง ๆ ไว้ในที่นี้ดังนี้

  1. 1.       กระบวนการสร้างความคิดรวบยอด

- สังเกต – จำแนกความแตกต่าง – หาลักษณะร่วม – ระบุชื่อความคิดรวบยอด – ทดสอบและนำไปใช้

  1. 2.       กระบวนการสร้างความตระหนัก

- สังเกต – วิเคราะห์ วิจารณ์  -  สรุป

  1. 3.       กระบวนการแก้ปัญหา

-  กำหนดและวิเคราะห์ปัญหา – สร้างและประเมินทางเลือก – วางแผนกำหนดวิธีการขั้นตอนการแก้ปัญหา – ลงมือแก้ปัญหาตามแผน

– ประเมิน  ปรัปรุง  สรุปผล

  1. 4.       กระบวนการปฏิบัติ

-  สังเกต  รับรู้ – ทำตามแบบ – ทำโดยไม่มีแบบ – ฝึกให้ชำนาญ – ทำอย่างสร้างสรรค์

1.5.       กระบวนการทางวิทยาศาสตร์

-  ตั้งปัญหา – ตั้งสมมติฐาน – รวบรวมข้อมูล – วิเคราะห์ข้อมูล - สรุปผล

  1. 6.       กระบวนการศึกษาค้นคว้า

-  กำหนดจุดประสงค์ – วางแผน – ศึกษาค้นคว้าและบันทึกข้อมูล – นำเสนอข้อมูล วิเคราะห์ อภิปราย – สรุปความรู้

  1. 7.       กระบวนการสำรวจข้อมูล

-  กำหนดจุดประสงค์ – วางแผน – สำรวจบันทึกข้อมูล

-  นำเสนอข้อมูล  อภิปรายสรุป – สรุปความรู้

  1. 8.       กระบวนการสร้างสุขนิสัย

- รับรู้ – คิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ – สร้างแนวปฏิบัติเหมาะสม – ลงมือปฏิบัติ – ชื่นชมต่อการปฏิบัติ

  1. 9 กระบวนการสร้างค่านิยม

-  สังเกต ตระหนัก – ประเมินเชิงเหตุผล – กำหนดค่านิยม – ชื่นชมพอใจที่จะปฏิบัติ – วางแผนการปฏิบัติ-ปฏิบัติด้วยความชื่นชม

 อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ครับ https://docs.google.com/docume...



 

หมายเลขบันทึก: 484192เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2012 10:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท