จดหมายถึง...พระแม่ของแผ่นดิน ตอนที่ 2


พระแม่ของแผ่นดิน

จดหมายถึง...พระแม่ของแผ่นดิน

ตอนที่ 2

วิโรจน์ แก้วเรือง

          กระทั่งเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๓ เกิดอุทกภัยที่จังหวัดนครพนม น้ำหลากล้นสองฝั่งแม่น้ำศรีสงครามเข้าท่วมไร่นาและบ้านเรือนของราษฎร จนต้องประสบความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ความได้ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ดังนั้นเมื่อน้ำลดลงพอเสด็จฯเยี่ยมราษฎรได้ ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯไปยังจังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๓ เพื่อพระราชทานเครื่องอุปโภคเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎร มีราษฎรมารอรับเสด็จกันอย่างเนืองแน่นจากหลายอำเภอในจังหวัดนครพนม เช่นอำเภอท่าอุเทน อำเภอศรีสงคราม อำเภอนาหว้า เป็นต้น หญิงชาวบ้านแทบทุกคนนุ่งซิ่นไหมมัดหมี่มารับเสด็จซึ่งมีความสวยงามต่างๆ กันมากมาย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้ทอดพระเนตรผ้าไหมเหล่านี้ด้วยความสนพระราชหฤทัยยิ่ง ทรงซักถามราษฎรจนได้ความว่า ราษฎรทอผ้าไหมมัดหมี่ไว้ใช้กันเองในครัวเรือน ไม่ได้ทอขาย เพราะแม้จะขายก็ได้ราคาถูก ไม่คุ้มกับเวลาและแรงงานในการทอ

          ในวันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า การพระราชทานสิ่งของแก่ราษฎรเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หากจะแก้ปัญหาระยะยาวก็ต้องคิดหาทางให้ราษฎรสามารถเลี้ยงตนเอง มีรายได้สม่ำเสมอต่อไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชปรารภว่า “การแจกของแก่ผู้ประสบภัย เปรียบก็เสมือนโยนก้อนหินเล็ก ๆ ลงแม่น้ำ สักเท่าใดจึงจะเพียงพอให้เขาได้อยู่รอด น่าจะหาอะไรให้เขาทำเพื่อมีรายได้สม่ำเสมอต่อไป” สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงตระหนักในพระราชหฤทัยทันทีว่า คนเหล่านี้แม้จะยากจนแต่ก็ใส่ผ้ามัดหมี่กันทุกคน จึงควรจะส่งเสริมให้พวกเขาทำงานฝีมือที่คุ้นเคยเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว เนื่องจากเป็นสิ่งที่เขามีความสามารถอยู่ในตัวสืบทอดมาแต่ครั้งปู่ย่าตายาย และวัสดุอุปกรณ์ทั้งหลายก็เป็นของหาได้ในท้องถิ่น แทบไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติมแต่อย่างใด เพียงสนับสนุนและส่งเสริมให้ชาวบ้านทอมากขึ้นจนพอนำออกขาย ก็จะช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เลี้ยงตนเองในยามที่ไร่นาประสบภัยธรรมชาติ หรือในยามว่างจากการทำไร่ทำนา หรือแม้ผู้ไม่มีไร่นาก็สามารถประกอบอาชีพนี้อยู่กับบ้านได้

 

 

         สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงชักชวนให้ชาวบ้านเริ่มทอผ้าไหมมัดหมี่นับแต่วันนั้น และมีพระราชกระแสแก่ชาวบ้านว่า จะทรงใช้ผ้าที่พวกเขาทอด้วยพระองค์เอง อีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมามีพระราชเสาวนีย์ให้ติดต่อนายประสาร กิตติศรีวรพันธุ์ชาวอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ซึ่งในวันที่เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรผู้ประสบอุทกภัยนั้นได้ทำหน้าที่อธิบายพระราชดำรัสเป็นภาษาท้องถิ่นให้ชาวบ้านเข้าใจชัดเจน โดยให้นายประสารรวบรวมผ้าไหมจากราษฎรผู้เดือดร้อนไปส่งที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน โดยให้ชาวบ้านเขียนราคาผ้าของตนติดไปกับผ้าทุกผืนด้วย แล้วพระราชทานเงินค่าผ้ากลับมากับนายประสาร

            ในสมัยนั้นผ้าไหมมัดหมี่ที่ทรงรับซื้อไว้ยังไม่ค่อยมีคุณภาพนัก มักมีลักษณะแคบ สั้น และส่วนใหญ่สีตก แต่ก็ทำด้วยไหมพื้นบ้านแท้ๆ ราคาที่ราษฎรตั้งมาก็เพียงผืนละ ๘๐- ๑๓๐ บาท เท่านั้น ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าฯให้รับซื้อไว้ทุกผืน นายประสารได้ทำหน้าที่รับซื้อผ้าจากราษฎรอำเภอศรีสงคราม อำเภอท่าอุเทน อำเภอนาหว้า และอำเภอเรณูนคร มาส่งทุก ๑-๒ เดือนเนื่องจากต้องให้เวลาชาวบ้านทอด้วย แต่ละคราวก็ได้ผ้าไหมมัดหมี่จากราษฎรประมาณ ๔๐-๕๐ ราย ปฏิบัติอยู่เช่นนี้ประมาณ ๒ ปี

            ต่อมาในราวปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๕ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรง พระกรุณาโปรดเกล้าให้ท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ ราชเลขานุการ และคุณหญิงจรุงจิตต์ ทีขะระออกไปติดต่อรับซื้อผ้าไหมมัดหมี่จากชาวบ้านถึงบ้านของพวกเขาโดยตรง โดยเริ่มที่จังหวัดนครพนมเป็นจังหวัดแรก และรับซื้อทุกระดับฝีมือ… “เริ่มแรกนั้น ชาวบ้านไม่ยอมขาย เนื่องจากอายว่าเป็นผ้าของชาวบ้านนอก ซึ่งคิดว่าไม่สวย ท่านราชเลขานุการในพระองค์ต้องชี้แจงถึงพระราชประสงค์อยู่นานจึงเข้าใจ พระองค์รับสั่งให้ราคาคุ้มค่าแรง เป็นที่พอใจของชาวบ้าน และขอให้ถือว่าเป็นการให้เหมือนกับ…แม่ให้ลูก…” ในสมัยนั้นก็เริ่มต้นให้ราคาผืนละ ๑๘๐ - ๒๐๐ บาทเพื่อจูงใจให้ชาวบ้านมีกำลังใจที่จะทอผ้าไหมต่อไป ต่อจากนั้นก็ให้พยายามรวบรวมผ้าไหมให้ได้มากที่สุด เพื่อเก็บไว้เป็นตัวอย่าง แม้จะเป็นผ้าที่ชาวบ้านใช้แล้วจนเก่าขาด ก็ให้ขอซื้อมาสะสมไว้ นอกจากนี้ยังมีพระราชเสาวนีย์ให้เก็บรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ทอด้วย จึงต้องมีการติดชื่อ อายุ และที่อยู่ของผู้ทอไว้ที่ผ้าทุกผืน ไม่เพียงแต่รับซื้อไหมมัดหมี่เท่านั้นยังมีผ้าโสร่งไหม ผ้าขาวม้าไหม ผ้าไหมพื้น ผ้าฝ้ายและผ้าทอมือประเภทอื่น ๆ ที่ชาวบ้านผู้ยากจนนำมาขายด้วย

         จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เชื่อว่า จุดเริ่มต้นของโครงการศิลปาชีพเริ่มต้นจากการสร้างงานของกลุ่มทอผ้าเป็นกลุ่มแรก และสามารถรวมกลุ่มอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นต้นมา

         ภายหลังเมื่อมีพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์เป็นที่ประทับยามเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในภาคอีสานแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดเสด็จฯ เยี่ยมชาวบ้านเหล่านั้นจนถึงบ้านอย่างทั่วถึง สมาชิกกลุ่มผ้าไหมจึงมีจำนวนมากขึ้น หมู่บ้านที่เสด็จฯ ไปทอช่วยเหลือนั้น ส่วนใหญ่เป็นหมู่บ้านที่ราษฎรยากจน อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ทรงส่งเสริมให้ราษฎรประกอบอาชีพและมีรายได้ดีขึ้น ราษฎรที่เคยอดอยากยากแค้นก็มีความสุขขึ้น ทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวให้อยู่ดีกินดี รักถิ่นฐานบ้านเกิดของตนไม่คิดละทิ้งไปหางานทำในเมือง ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาสังคมอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีตามบ้านที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยม ถ้าแม่บ้านบ่นถึงความยากจนก็จะรับสั่งว่า “ทอผ้าซิจ๊ะ ส่งผ้ามาจะรับซื้อ จะได้มีเงินส่งให้ลูกเรียนหนังสือ”

        ต่อมางานสนับสนุนการทอผ้าพื้นเมืองตลอดจนงานหัตถกรรมต่าง ๆ ได้แพร่หลายไปยังจังหวัดต่าง ๆ ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเอาพระราชหฤทัยใส่เรื่องอาชีพ ความเป็นอยู่ และความถนัดเชิงศิลปะของราษฎรในแต่ละท้องถิ่น ทรงเห็นว่าในท้องถิ่นต่าง ๆ มีศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านซึ่งเป็นสิ่งมีค่าที่ซุกซ่อนอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน…นับวันสิ่งเหล่านี้จะสูญหายไปเรื่อยๆ จึงทำให้มีความสนพระราชหฤทัยในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะจะเกิดประโยชน์ถึงสองประการด้วยกัน คือ ประการแรก ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการพัฒนางานหัตถกรรมพื้นบ้าน ประการที่สอง เป็นการอนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้านอันเป็นสมบัติล้ำค่าของชาติให้คงอยู่

        จากวันนั้นถึงวันนี้ โครงการศิลปาชีพได้สร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ให้การศึกษา สร้างอนาคตให้แก่ยุวชนที่เติบโตมาด้วยรายได้จากงานศิลปหัตถกรรมของบุพการีอย่างมากมาย ดังจะเห็นได้จากจดหมายของ “แสงเดือน จันทร์นวล ”ที่กราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๒ ซึ่งขอนำมาถ่ายทอดให้ประชาชนได้ร่วมภาคภูมิใจ

กราบบังคมทูลใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท

       ข้าพระพุทธเจ้านางสาวแสงเดือน จันทร์นวลอายุ  ๓๙  ปี ทายาท นางประจวบ จันทร์นวลสมาชิกมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษรุ่นแรกก่อตั้ง บ้านนาโพธิ์ ต.นาโพธิ์ อ.นาโพธิ์ จ.บุรีรัมย์ ด้วยสำนักในพระมหากรุณาธิคุณในองค์สมเด็จพระราชินีที่มีต่อครอบครัวข้าพระพุทธเจ้า เท่าที่จำความได้สืบเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าอายุได้ ๗ ขวบ ในฐานะที่เป็นลูกผู้หญิงคนเดียวในพี่น้องสี่คน บทบาทหน้าที่ในการดูแลอาหารให้กับพ่อพี่ชายและน้องชายจะตกอยู่ที่ข้าพระพุทธเจ้า เพราะแม่ในฐานะผู้นำชาวบ้านกลุ่มสมาชิกศิลปาชีพบ้านนาโพธิ์ ต้องทำผ้าไหม เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไป ส่งวังสวนจิตรลดา ในสมัยนั้นต้องนั่งรถยนต์โดยสาร ๓ ช่วง และใช้เวลาทั้งไปและกลับไม่ต่ำกว่า ๓ วัน วันที่ ๔ แม่จึงจะถึงบ้าน เป็นเช่นนี้ตลอด สำหรับอาหารที่ข้าพระพุทธเจ้าซึ่งยังเด็กจะทำได้ คือไข่เจียว ไข่ดาว ไข่ต้ม ไข่ตุ๋น และผัดกะเพรา แม่จะทิ้งเงินไว้ให้ข้าพระพุทธเจ้าบริหารค่าอาหารจำนวน ๑๐๐ บาท ต่อ ๓ วัน สำหรับ ๕ ชีวิต เงินไปโรงเรียนจะเป็นหน้าที่ของพ่อ ข้าพระพุทธเจ้ารู้ว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ จึงใช้ประหยัดและเด็กเกินกว่าจะทำอาหารอย่างอื่น รอจนกว่าแม่จะกลับมา เป็นเช่นนี้จนกระทั่งลูกๆ จบชั้นมัธยมจึงแยกย้าย ตลอดเวลาพวกเราทุกคนในครอบครัวตระหนักถึงหน้าที่ที่แม่ต้องทำในฐานะผู้นำสมาชิกศิลปาชีพบ้านนาโพธิ์ ด้วยจิตสำนึกและสายเลือดความเป็นผู้นำจากคุณตาตุ้มทองซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านในสมัยนั้น

       ข้าพระพุทธเจ้าเห็นแม่และตัวแทนสมาชิกช่วยกันนำผ้าไหมใส่กระสอบนั่งรอรถโดยสารเข้ากรุงเทพฯไปส่งผ้าที่วังสวนจิตรลดา เวลากลับก็จะแจกจ่ายตัวอย่างผ้าแก่สมาชิก และหลังจากนั้นก็จะพากันรอไปรษณีย์ธนาณัติจากวังด้วยใจจดใจจ่อ โดยเฉพาะช่วงเปิดเทอม ธนาณัติยังไม่มา แม่และสมาชิกจะจับกลุ่มคุยกัน บางครั้งก็หยิบยืมเงินกันก่อนเพื่อจะนำไปจ่ายค่าเทอมการศึกษา และค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนของลูกๆ แต่ละคน ตัวข้าพระพุทธเจ้าเองเมื่อครั้งเรียนอยู่มหาวิทยาลัยได้รับธนาณัติจากแม่ครั้งละ ๒๐๐, ๓๐๐ ถึง ๔๐๐ บาท ด้วยเหตุผลยืมมาให้ลูกก่อน แม่ให้ลูกประหยัดเพราะว่าธนาณัติจากวังยังไม่มา เป็นเช่นนี้ตลอดมา ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกว่าถ้าไม่มีพระองค์ท่าน พี่ชาย น้องชาย และตัวข้าพระพุทธเจ้าจะอยู่ได้อย่างไร วันที่ธนาณัติจากวังสวนจิตรลดามา สมาชิกจะวิ่งบอกกันอย่างดีใจกันทั้งหมู่บ้าน ใครหยิบยืมจากใครก็จะมาจ่ายคืนกันตามระเบียบ ภาพเช่นนี้ข้าพระพุทธเจ้าเห็นจนคุ้นตาตั้งแต่เด็กจนเรียนจบมหาวิทยาลัย

       แม่รวมกลุ่มชาวบ้านนาโพธิ์ หมู่ที่ ๑ ทำโรงทอผ้าเล็กๆ ที่เป็นของสมาชิกมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษที่บ้าน โดยทำเป็นที่พบปะพูดคุยกันระหว่างสมาชิก ทั้งเรื่องการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปัญหาเส้นไหม การพัฒนาเส้นไหม ลายผ้าไหม และสำคัญที่สุดคือในช่วงรอธนาณัติจากวังสวนจิตรลดา

       ข้าพระพุทธเจ้ามีส่วนช่วยแม่ในการถอดแบบลายผ้าเก่าจนกระทั่งถึงออกแบบลายผ้าใหม่ๆ ให้แม่และสมาชิก เพื่อทอไปประกวดที่ตำหนักภูพานราชนิเวศน์เป็นประจำทุกปี และได้รับรางวัลพระราชทานจากพระองค์ท่านมาอย่างมากมาย หลังจากที่ข้าพระพุทธเจ้าเรียนจบมหาวิทยาลัยก็ได้เดินทางกลับบ้านเกิด เพื่อที่จะสอบบรรจุเป็นข้าราชการครูตามที่พ่อแม่คาดหวังไว้ ในระหว่างรอสอบบรรจุครู ข้าพระพุทธเจ้าได้เรียนรู้วิธีการทอผ้าไหมจากแม่และสมาชิกที่โรงทอ ข้าพระพุทธเจ้าเกิดความรู้สึกที่ดูเหมือนว่าจะเป็นชีวิตของข้าพระพุทธเจ้ามากกว่าที่ข้าพระพุทธเจ้าจะเป็นครู ซึ่งมีความคิดอยู่ในใจลึกๆว่าการทอผ้าไหมจะเป็นอาชีพได้หรือไม่ จะอยู่ได้ไหม หากอาชีพการทอผ้านี้ไม่มีพระองค์ท่าน ถ้าอาชีพนี้อยู่ไม่ได้ชีวิตของข้าพระพุทธเจ้าจะอยู่อย่างไร เพราะตอนนั้นมองว่าเป็นอาชีพของผู้สูงอายุและอยู่ตามชนบท รอความช่วยเหลือจึงอยู่ได้ และถ้าหากเป็นครู วัฒนธรรมการทอผ้าจะหายไปหรือไม่ เพราะแม่บอกเสมอว่าไม่มีพระองค์ท่านเราจะอยู่ไม่ได้ ลูกๆ ก็ไม่ได้เรียนหนังสือ หากเรียนหนังสือจบมาแล้วเราจะต้องเป็นเจ้าคนนายคนเหมือนอย่างที่ทุกคนเป็น “แล้วพระองค์ท่านล่ะ”วัฒนธรรมการทอผ้าไหมของไทยแท้ๆ ที่พระองค์ท่านอยากจะรักษาไว้จะอยู่อย่างไร ข้าพระพุทธเจ้าตัดสินใจหันเหชีวิตจากครูมาเป็นคนทำผ้า แต่จะทำอย่างไรให้อยู่ได้ หากวันหนึ่งไม่มีพระองค์ท่าน ข้าพระพุทธเจ้าจึงตั้งใจที่จะพึ่งตนเองบนความเป็นจริง โดยอยู่บนพื้นฐานของการอนุรักษ์วัฒนธรรมการทอผ้าแบบดั้งเดิมไว้ให้ได้ ข้าพระพุทธเจ้ารวบรวมคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือในชั้นการศึกษาที่สูงในหมู่บ้าน และหมู่บ้านใกล้เคียง ผลิตผ้าไหมออกจำหน่ายตามตลาดทั่วไป ตามต่างจังหวัดและในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งทุกๆแห่งที่มีการออกร้านขายผ้า ข้าพระพุทธเจ้าและคณะจะเดินทางไปขาย ซึ่งขายได้บ้างไม่ได้บ้าง เมื่อกลับมาก็จะแก้ไขและพัฒนาให้ตรงตามความต้องการของตลาด ข้าพระพุทธเจ้าออกแบบผ้าแบบใหม่ๆ ทั้งผ้าโบราณ มัดหมี่ประยุกต์ ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ผลิตจากวัสดุไหมไทยพันธุ์พื้นบ้านแท้ โดยยึดกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมทุกขั้นตอน และปฏิเสธเครื่องจักรกลทุกชนิด โดยใช้พลังงานความสามัคคีของคนในกลุ่มทดแทน จนถึงปัจจุบัน ๑๗ ปีผ่านไปที่ข้าพระพุทธเจ้าทุ่มเทสร้างตนเองและกลุ่มคนทอผ้ารุ่นลูกของสมาชิกศิลปาชีพโดยยึดหลักพึ่งตนเองมีสมาชิกรวมทั้งสิ้นจำนวน ๙๐๐ คนใน ๑๗ หมู่บ้าน ผลิตผ้าไหมส่งออกทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยมีกำลังการผลิต ๕,๐๐๐ ผืนต่อเดือน สร้างรายได้เข้าสู่ชุมชนจำนวน ๓๐-๓๕ ล้านบาทต่อปี ได้รับรางวัล Prime Minister Export Award 2005 รางวัล ผู้นำกลุ่มอาชีพก้าวหน้า รางวัล SME ยอดเยี่ยมระดับประเทศ รางวัลผ้าทอไทยสไตล์สากล รางวัลศิลปินอีสาน รางวัลหญิงเก่ง และรางวัลต่าง ๆ เหล่านี้ไม่สำคัญเท่ากับจดหมายฉบับนี้ถึงพระหัตถ์ของพระองค์ท่าน ให้พระองค์ท่านได้รับทราบว่ามีลูกศิลปาชีพคนหนึ่งมุ่งมั่นสืบสานปณิธานของพระองค์ท่าน ในการสร้างสรรค์งานทอผ้าไหมไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ด้วยพลังชีวิตและสติปัญญาที่พระองค์ท่านให้มา

       รางวัลที่ข้าพระพุทธเจ้าอยากได้มากที่สุดคือ การได้มีโอกาสกราบบังคมทูลกับพระองค์ท่านว่า ลูกศิลปาชีพคนนี้และพี่ชายสองคน น้องชายหนึ่งคนได้มีการศึกษาที่ดี มีชีวิตครอบครัวที่ดี มีกลุ่มทอผ้าที่เข้มแข็งที่สุด ที่จะสืบสานตำนานผ้าไหมไทยของเราให้คงอยู่ต่อไป ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณขององค์สมเด็จอย่างหาที่สุดมิได้

 

   ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม 

ข้าพระพุทธเจ้า นางสาวแสงเดือน  จันทร์นวล   

๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒

        เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๔ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมหม่อนไหม จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการหม่อนไหมโลก ครั้งที่ ๒๒ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณอเนกอนันต์แก่พสกนิกรผู้มีอาชีพทำไหม ศิลปหัตถกรรมอันทรงคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ไว้เป็นสมบัติของแผ่นดินไทยสืบไป

  

บรรณานุกรม

 

ศิลปกรรม. www.swu.ac.th/royal/book7/b7c3. html

สถาบันวิจัยหม่อนไหม. 2535. ไหมไทย. กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.

หมายเลขบันทึก: 484015เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2012 13:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 12:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท