การประกวดดนตรี(ต่อ)


ระหว่างชาติพันธุ์หรือพรมแดนประเทศกับความงามของศิลปะอย่างไหนน่าจะสำคัญกว่ากัน

        ผมไม่ทราบว่าเราเริ่มประกวดดนตรีกันมาตั้งแต่เมื่อไร ก่อนหรือหลังการประกวดนางสาวสยาม(คือนางสาวไทยในปัจจุบันนี้)  ถ้ามีหลังการประกวดนางสาวสยาม  การประกวดนางสาวสยามก็อาจจะเป็นกิจกรรมบุกเบิกการประกวดต่างๆนานาของเราก็ได้

       เท่าที่ทราบจากการอ่านและการออกสนาม  ในอดีตเรามีแต่การประลอง กับ การประชัน ซึ่งไม่มีการตัดสินชี้ขาด และไม่มีรางวัลให้ ปล่อยให้ผู้ชมหรือผู้ฟังนำไปวิพากษ์วิจารณ์กันเอง หรือยอมรับนับถือใครสักคนหรือหลายคนว่าเป็นคนเก่ง เป็นคนมีฝีมือในเรื่องนั้นๆ  ข้อมูลดังกล่าวจะถูกจำไว้เป็นหลักฐานอ้างอิงหรือสถิติเพื่อใช้ในคราวต่อๆไป  ถ้าเป็นนักดนตรี ก็จะมีหลายคนได้รับการยกย่องให้เป็น “มือชั้นครู” (น่าจะเทียบได้กับ “มือวางอันดับหนึ่ง” ในสมัยนี้ได้กระมัง) ซึ่งนับว่าเป็นเกียรติยศแก่ตนไม่น้อย

          ในสมัยบาโรกตอนปลาย (ต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘) มีนักเล่นฮาร์พซิคอร์ดฝีมือเยี่ยมสองคนโคจรมาพบกัน คนหนึ่งเป็นชาวอิตาเลียน ชื่อ สการ์ลาตตี อีกคนหนึ่งเป็นชาวเยอรมัน ชื่อ เฮนเดล ทั้งคู่ได้ผลัดกันสำแดงฝีมือต่อสาธารณชน และได้รับความชื่นชมอย่างสูงทัดเทียมกัน  เนื่องจากชาติภูมิและพื้นฐานของสไตล์ของผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสองแตกต่างกันมาก ดนตรีของเขาจึงไม่เหมือนกัน  เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ฟังส่วนมากจึงไม่เห็นด้วยกับการตัดสินให้มีผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว  พวกเขายินดีที่จะให้ทั้งสองต่างก็เป็นยอดฝีมือในสไตล์ของตัวเอง  เรื่องนี้ทำให้เราเห็นว่า ผู้ฟังก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยเลยที่จะช่วยให้ตัดสินใจได้ว่า ระหว่างชาติพันธุ์หรือเส้นพรมแดนประเทศ กับ ความงามของศิลปะนั้น อย่างไหนน่าจะสำคัญกว่ากัน

      การประชันโดยไม่มีการตัดสินให้เหลือผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียวอย่างที่ยกมาเป็นตัวอย่างในสองย่อหน้าข้างบนนี้ ไม่มีศิลปินคนไหนต้องตกเป็นผู้แพ้และต้องเสื่อมเสียเกียรติภูมิเลยแม้แต่คนเดียว 

      เครื่องดนตรีที่ถูกเปลี่ยนบทบาทจากมีไว้ประชันและประกาศคุณสมบัติโดยไม่มีรางวัลให้มาเป็นมีไว้เพื่อการครองแชมป์ และเพื่อศักดิ์ศรีของวัดและชุมชน คือ กลองหลวงลำพูน  และนี่เป็นการประกวด(หรือแข่งขัน) ที่ผมเห็นว่า จัดขึ้นเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวได้โดยไม่ต้องวิตกกังวลกับอะไรอีกต่อไป เพราะการประกวดไม่ได้เน้นความงามทางดุริยศิลป์อีกแล้ว แต่เน้นความดังและความหนักแน่นของก้อนเสียงที่พุ่งออกจากก้นกลองมาปะทะหน้าอกกรรมการ(ซึ่งนั่งห่างไปประมาณสี่สิบเมตร) จนไหวหวั่นสั่นสะเทือนไปหมด และสิ่งนี้สามารถตรวจสอบได้ด้วยวิทยาศาสตร์ (เพราะมีผู้แอบเอาเครื่องวัดเสียงของตำรวจจราจรไปวัด แล้วพบว่าตรงกับหูของกรรมการด้วย) ข้อมูลที่น่าสนใจอันหนึ่งคือ ตำแหน่งแชมป์กลองหลวงเปลี่ยนมือบ่อยมาก จนผู้คนที่เป็นแฟนานุแฟนกลองหลวงต่างได้ความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นทุกปีว่า ปัจจัยที่ทำให้กลองหลวงที่เคยดังมากแล้วกลับแผ่วลงนั้นมีมากมายเหลือเกิน  มากจนเขาเข้าใจคำว่า อนิจจัง ได้โดยไม่ต้องรอให้พระพูดกรอกหูบ่อยๆ  เรื่องนี้คงไม่มีอะไรน่าห่วง ผมเชื่อว่า กลองหลวงเกือบทุกใบทั่วจังหวัดลำพูนได้ถ้วยแชมป์มาแล้ว  ต่างกันเพียงความถี่เท่านั้น

     การประกวดเพื่อหาหนึ่งเดียว ที่เราพบบนจอโทรทัศน์เกือบทุกวันในปัจจุบันนี้ เป็นการประกวดที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะในเชิงธุรกิจของเจ้าของรายการ (ซึ่งไม่ใช่สถานีโทรทัศน์)  กิจกรรมนี้คล้ายกับการคัดเลือกคนเข้าทำงานในบริษัทของตนซึ่งมีตำแหน่งเพียงตำแหน่งเดียว(เช่นเดียวกับ มิส ต่างๆ)  เพื่อให้การตัดสินของเขาดูบริสุทธิ์ยุติธรรม ไร้ข้อกังขา กติกาของเขาจึงมีสารพัด ซึ่งรวมไปถึงสิ่งที่ไม่ใช่เนื้อแท้ของศิลปะด้วย(เช่น ท่อนขาอันกำยำล่ำสันของนักร้องชายก็ถูกนำมาพิจารณาด้วย เป็นต้น)  อันนี้ก็ต้องปล่อยเขาไป เพราะเขาไม่ได้จำกัดขอบเขตไว้เฉพาะศิลปะอีกต่อไปแล้ว  อนึ่ง การทำเช่นนี้ทำให้รางวัลของเขาสำคัญมาก และที่เขาทำอยู่อาจเป็นการแผ้วทางหนทางไปสู่การเป็นสถาบันอย่าง   ริปลีย์ กินเนส ออสการ์ หรือ ไอเอสโอ ก็เป็นได้

    แต่ในกรณีที่ผู้จัดการประกวดเขียนเป็นนโยบายไว้ว่า ต้องการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่งดงามของบรรพบุรุษไว้ให้คนรุ่นหลัง  และต้องการสนับสนุนส่งเสริม ให้กำลังใจแก่ผู้ที่รับช่วงต่อไปนำไปปรุงแต่ง พัฒนา ให้วิจิตรงดงามยิ่งขึ้น ฯลฯ นั้น สมควรหรือไม่ที่จะต้องอนุรักษ์บรรยากาศแห่งการตั้งหน้าตั้งตาเอาชนะคู่แข่งให้จงได้เพื่อตำแหน่งผู้ชนะเลิศเพียงผู้เดียว(อย่างที่ทำตามๆกันมาจนเคยชิน)  แทนที่จะสร้างบรรยากาศแห่งไมตรีจิตในหมู่ศิลปินรุ่นใหม่  ให้เปิดใจยอมรับนับถือความสามารถของผู้อื่นที่มีฝีมือทัดเทียมกับตน   องค์กรเหล่านี้น่าย้อนกลับมาถามตัวเองไหมว่า  ๑) กติกา และรางวัลที่ตั้งไว้นี้สอดรับกับนโยบายของตัวเองเป็นอย่างดีแล้วหรือยัง   ๒) ระหว่างรางวัลกับมนุษย์ที่มีความสามารถนั้น อะไรสำคัญกว่ากัน

     อย่างไรก็ตาม  การประกวดหรือแข่งขันสองย่อหน้าหลังนี้ ยังคงใช้คณะกรรมการกลุ่มเล็กๆ เป็นผู้ตัดสินชี้ขาด  และบุคคลเหล่านี้ ต่างก็เป็นที่ยอมรับในด้านที่ตนต้องให้คะแนน  แสดงว่า  เขายังใช้บุคคลที่มีคุณภาพ-ไม่ใช่ใครก็ได้-มาเป็นกรรมการ  นี่แปลว่า quality ยังคงสำคัญกว่า  popularity  อยู่ดี

    แต่ popularity ก็ใช่ว่าไม่สำคัญ  ถ้าไม่สำคัญ ผู้ชนะการเลือกตั้ง(ซึ่งเป็นการประกวดอย่างหนึ่งเหมือนกัน)คงไม่พูดแล้วพูดอีกว่าเสียงข้างมากคือหลักการและเหตุผลที่เหมาะสมที่สุดในการตั้งรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตย

    สรุปได้ว่า เรามีรัฐบาลประชานิยม ที่เหมาะสมกับประเทศและประชาชนแล้ว และก็ไม่แน่เหมือนกันว่าสักวันหนึ่งข้างหน้าหลังจากชนะการเลือกตั้งบ่อยๆ  อาจมีอะไรใหม่ๆ บัญญัติออกมาอีกก็ได้ เช่น  popularity  คือ  synonym  ของคำว่า  quality  เป็นต้น  เพราะเขามีคนชอบใช้ภาษาอังกฤษอวดชาวบ้านบ่อยๆ อยู่ด้วย

 

คำสำคัญ (Tags): #quality popularity
หมายเลขบันทึก: 484006เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2012 11:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 13:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

หากเราจำกัดความว่า ศิลปะ คือ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น..ก่อให้เกิดความสะเทือนต่ออารมณ์มนุษย์..สิ่งที่ธรรมดาในสายตา หู สัมผัส ของบางคน..ก็อาจเป็นสิ่งสุดวิเศษสำหรับ บางคน..ได้..แต่หาก วัดความสะเทือนอารมณ์ ตามปริมาณของ คน โดยตีความว่า มีคุณค่า(มูลค่า)ตามความต้องการ(รู้สึก) ของ คนจำนวนมากกว่า ว่า ดีกว่า เก่งกว่า..อันนี้ อาจมิใช่ความหมายที่แท้จริง..เพราะหากมี เศรษฐีโง่ ที่ยอมจ่ายจำนวนมากต่อ ผลงานศิลปะด้อยค่าชิ้นหนึ่ง..จะทำให้มหาชนยอมรับถึงคุณค่านั้นได้อย่างไร?..หรือเช่นเดียวกับ..เสียงบทเพลงที่ขับขานกรีดบาด จนผู้ฟังจำนวนมากสะเทือนอารมณ์สุดๆไม่มีที่ติ..ได้เพียงครั้งเดียว..โดยมิได้มีการบันทึกไว้..จะเปรียบเทียบคุณค่าจากความถวิลหาของผู้ฟังได้หรือ?..ศิลปิน จึงมิอาจสร้าง ศิลปะ ให้มีคุณค่าได้ตลอด..เช่นเดียวกับ..ศิลปะ ก็มิอาจ สร้างความสะเทือนอารมณ์ได้ทุกครั้งเสมอกัน.. ดังนั้น คุณค่าที่แท้จริง ของ ศิลปะ และ ศิลปิน คือ อะไร?..

ขอขอบคุณและคารวะต่อทั้งความเห็นและคำถามครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำถาม สำคัญมากเลยครับ อยากได้ยินได้อ่านคำตอบจากศิลปิน และครูกับศิษย์ในศิลปะสาขาต่างๆ จังเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท