ปล่อยวาง : ไดอารีชีวิต 31


ปล่อยวาง เป็นหัวข้อธรรมะจากพุทธฏีกา นำมาซึ่งทางแห่งสุขที่แท้จริงทั้งกายและใจ

 

 

ปล่อยวาง

 

          ตะทะนันตะรัง  ลำดับนั้น  พระพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนาต่อไปอีกว่า  อานันทะ ดูกรอานนท์  บุคคลผู้ปรารถนาพระนิพพาน  ก็ยังปล่อยวางใจไม่ได้  ยังอาลัยถึงความสุขอยู่คิดว่าพระนิพพานอยู่ในที่นี้  จะเอาจิตแห่งตนไปเป็นสุขในที่แห่งนั้น  ครั้นจักปล่อยวางใจเสียก็กลัวว่าจะไม่มีอันใดนำไปให้เป็นสุข  ถือใจอาลัยสุข.เหตุนั้นจึงมิได้พ้นนิพพานพรหม

 

          ดูกรอานนท์  เราตถาคตแสดงว่าให้ปลงใจให้วางใจนั้น  เราชี้ข้อสำคัญที่สุดมาแสดงเพื่อให้รู้ให้เข้าใจได้ง่าย  การวางใจปลงใจนั้น  คือวางสุขวางทุกข์  วางบาปบุญคุณโทษ  วางโลภ  โกรธ  หลง  วางลาภยศ  นินทา  สรรเสริญหมดทั้งสิ้น. เหมือนดังไม่มีหัวใจ  จึงถือว่าทำให้เหมือนแผ่นดิน  ถ้ายังทำไม่ได้  อย่าหวังว่าจะได้โลกุตตรนิพพานเลย  ถ้าทำตัวให้เหมือนแผ่นดินได้ในกาลใดพึงหวังเถิดโลกุตตรนิพพาน  คงได้คงถึงในกาลนั้นโดยไม่ต้องสงสัย  พระนิพพานเป็นของได้ด้วยยากยิ่งนัก  แสนคนจะได้แต่ละคนก็ทั้งยาก 

 

          ดูกรอานนท์   ผู้มิได้ทำอริยมรรคปฏิปทาให้เต็มที่  ยังเป็นปุถุชนหนาไปด้วยกิเลสตัณหา  หาปัญญามิได้ และจะวางใจทำตัวให้เป็นเหมือนแผ่นดินนั้น ไม่อาจทำได้เลย  เหตุที่เขาวางใจไม่ได้เขายังถือตัวถือใจอยู่ว่าเป็นของของตัวแท้  จึงต้องทรมานทนทุกข์อยู่ในโลกเวียนว่ายตายเกิดแล้ว ๆ เล่า ๆ ไม่มีสิ้นสุด. 

 

          ดูกรอานนท์ ผู้ที่วางใจทำตัวให้เป็นเหมือนแผ่นดินได้นั้น  มีแต่บุคคลผู้เป็นนักปราชญ์  และเป็นสัตบุรุษจำพวกเดียวกันทั้งนั้นเพราะท่านไม่ถือตนถือตัว  ท่านวางใจให้เป็นเหมือนแผ่นดินได้  ท่านจึงได้ถึงพระนิพพาน  ส่วนผู้ที่ถือตัวถือใจปล่อยวางมิได้นั้น  แต่ล้วนเป็นคนโง่คนเขลาสิ้นทั้งนั้น  บุคคลที่เป็นสัตบุรุษท่านเห็นแจ้งชัดซึ่งอนัตตา  ท่านถือใจของท่านไว้ก็เพียงแต่ให้รู้บาปบุญคุณโทษ  ประโยชน์และไม่ใช่ประโยชน์  รู้ศีลทานการกุศลและอกุศล  รู้ทางสุข  ทางทุกข์ในมนุษย์  สวรรค์และพระนิพพานเท่านั้น  ครั้นถึงที่สุดท่านก็ปล่อยวางเสียตามสภาวะแห่งอนัตตา  ส่วนคนโง่เขลานั้น  ถือตนถือตัว  ถือว่าร่างกายเป็นอัตตาตัวตน  จึงปล่อยวางมิได้.

     ดูกรอานนท์  อันว่าบุคคล ที่ถือใจนั้นย่อมเป็นคนมักโลภ มักโกรธ  มักหลง บุคคลจำพวกใดที่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความโลภ  ความโกรธ  ความหลงนั้น  จะเป็นนักบวชก็ตาม  เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม  ก็หาความสุขมิได้  เบื้องหน้าเมื่อตายไป  ก็หาความสุขในมนุษย์หรือสวรรค์มิได้เลย  ย่อมมีอบายเป็นที่ไป  ณ เบื้องหน้าโดยแท้.

 

     ดูกรอานนท์  บุคคลทั้งหลายผู้ปรารถนาเข้าสู่พระนิพพาน  จงวางเสียซึ่งใจอย่าอาลัยความสุข  การวางใจ  ก็คือการวางสุข  วางทุกข์  และบาปบุณคุณโทษร้ายดี  ซึ่งเป็นของสำหรับโลกนี้เสียให้สิ้น  สิ่งเหล่านี้สร้างไว้สำหรับโลกนี้เท่านั้น  เมื่อต้องการพระนิพพานแล้ว  ต้องปล่อยวางไว้ในโลกนี้สิ้นทั้งนั้น  จึงจะได้ความสุขในพระนิพพาน  ซึ่งเป็นความสุขอย่างยิ่งเป็นความสุขอันหาส่วนเปรียบมิได้.

          ดูกรอานนท์  เมื่อจะถือเอาความสุขในพระนิพพานแล้ว  ก็ให้วางใจในโลกีย์นี้เสียให้หมดสิ้น  อันว่าความสุขในโลกีย์ก็มีอยู่แต่ในอินทรีย์ทั้ง  6 นี้เท่านั้น  ในอินทรีย์ทั้ง  6 นั้น  มีใจไว้เป็นเจ้า  เอาประสาททั้ง4  คือ  ตา  หู  จมูก  ลิ้น กายนั้นเป็นกามคุณทั้ง5.  ประสาททั้ง5 นี้เอง เป็นผู้แต่งความสุขให้แก่เจ้าพระยาจิตตราช  ประสาทตานั้นเขาได้เห็นได้ดูรูป วัตถุสิ่งของอันดีงามต่าง ๆ ก็นำความสุขสนุกสนานไปให้แก่เจ้าพระยาจิตตราช. 

  ประสาทหูนั้นเมื่อเขาได้ยินได้ฟังศัพท์สำเนียงเสียงที่ไพเราะเป็นที่ชื่นชมทั้งปวง  ก็นำความสุขสนุกสนานไปให้เจ้าพระยาจิตตราช.

   ประสาทจมูกนั้นเมื่อเขาได้จูบชมดมกลิ่นสุคันธรสของหอมต่างๆ ก็นำความสุขไปให้แก่เจ้าพระยาจิตตราช.  ประสาทลิ้นนั้นเมื่อเขาบริโภคอาหารอันโอชารสวิเศษต่างๆ ก็นำความสนุกสนานไปให้แก่เจ้าพระยาจิตตราช.

  ประสาทกายนั้นเมื่อเขาได้ถูกต้องฟูกเบาะเมาะหมอน นุ่งห่มประดับประดาเครื่องกุธภัณฑ์อันสวยงาม และบริโภคกามคุณ  ก็นำความสุขสนุกสนานไปให้แก่เจ้าพระยาจิตตราช.  เจ้าพระยาจิตตราชนั้นก็คือ “ใจ” นั่นเอง.  ส่วนใจนั้นเป็นใหญ่เป็นผู้คอยรับความสนุกสนานอย่างเดียวเท่านั้น.

  ส่วนประสาททั้ง5 เป็นผู้นำความสุขไปให้แก่ใจ ประสาททั้ง5  จึงชื่อว่ากามคุณ.  ส่วนความสุขในโลกนี้  มีแต่กามคุณทั้ง5  นี้เท่านั้น.  จึงเป็นเจ้าประเทศราชในบ้านน้อยเมืองใหญ่  ตลอดขึ้นไปจนถึงเทวโลกก็มีแต่กามคุณทั้ง5  เท่านั้น.

 

          ดูกรอานนท์  ผู้ที่จะนำตนไปมีสุขในพระนิพพานเลย  ถ้าวางสุขในโลกีย์มิได้ก็ไม่พ้นทุกข์  ด้วยความสุขในโลกีย์เป็นความสุขที่เจืออยู่ด้วยทุกข์  “ครั้นเมื่อถือเอาสุขก็คือเอาทุกข์นั้นเอง  ครั้นไม่วางสุขก็คือไม่วางทุกข์นั้นเอง”  จะเข้าใจว่าเราจะถือเอาแต่สุข  ทุกข์ไม่ต้องการดังนี้ไม่ได้เลย  เพราะสุขทุกข์เป็นของเนื่องอยู่ด้วยกัน  ถ้าไม่วางสุขเสียก็เป็นอันไม่พ้นทุกข์.

 

          ดูกรอานนท์  บุคคลทั้งหลายผู้ที่จะรู้ว่าสุขทุกข์ติดกันอยู่นั้นหายากยิ่งนัก  มีแต่เราตถาคตผู้ประกอบด้วยทศพลญาณนี้เท่านั้น.  บุคคลทั้งหลายที่ยังเป็นปุถุชนคนโง่เขลานั้นทำความเข้าใจว่าสุขก็มีอยู่ต่างหาก  ทุกข์ก็มีอยู่ต่างหาก  ครั้นเราถือเอาสุขก็ได้สุข  เราไม่ถือเอาทุกข์  ทุกข์ก็ไม่มีดังนี้.  เพราะเหตุที่เขาไม่รู้ว่าสุขกับทุกข์ติดกันอยู่  เขาจึงไม่พ้นทุกข์  เมื่อผู้ใดอยากพ้นทุกข์ให้วางสุขเสียก็เป็นอันละทุกข์วางทุกข์ด้วยเหมือนกัน  ใครเล่าจะมีความสามารถพรากสุขพรากทุกข์ออกจากกันได้. 

    แม้เราตถาคตก็ไม่มีวิเศษที่จะพรากจากกันได้  ถ้าหากเราตถาคตพรากสุขและทุกข์ออกจากกันได้  เราะจะปรารถนาเข้าสู่พระนิพพานทำไม.  เราจะถือเอาแต่สุขอย่างเดียว  เสวยแต่ความสุขอยู่ในโลกเท่านี้  ก็เป็นอันสุขสบายพออยู่แล้ว. นี่ไม่เป็นเช่นนั้นเราแสวงหาความสุขโดยส่วนเดียว  ไม่มีทางที่จะพึงได้ เราจึงวางสุขเสีย.  ครั้นวางสุขแล้วทุกข์ไม่ต้องวางก็หายไปเอง  อยู่กับเราไม่ได้เราจึงสำเร็จพระนิพพาน  พ้นจากกองทุกข์ด้วยประการดังนี้.

 

          ดูกรอานนท์  อันสุขในโลกีย์นั้น  ถ้าตรึกตรองให้แน่นอนแล้วก็เป็นกองทุกข์นั้นเอง  มันเกิดมาเป็นมิตรติดกันอยู่  ไม่มีผู้ใดจะพรากออกจากกันได้  เราตถาคตกลัวทุกข์เป็นอย่างยิ่ง  หาทางชนะทุกข์มิได้  จึงปรารถนาเข้าพระนิพพาน  เพราะเหตุกลัวทุกข์นั้นอย่างเดียว  พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาแก่ข้าฯ  อานนท์ดังนี้แลฯ

 

          ตะทะนันตะรัง  ลำดับนั้น  พระพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนาสืบต่อไปอีกว่า  อานันทะ  ดูกรอานนท์  กุศลธรรมและอกุศลธรรมนั้น  ได้แก่กองกิเลส1,500นั้นเอง.  อัพยากฤตธรรมนั้นคือองค์พระนิพพาน  ครั้นพ้นจากกองกุศลธรรมและอกุศลธรรมนั้นแล้ว  จึงเป็นองค์แห่งพระอรหันต์และพระนิพพานโดยแท้.  ถ้ายังไม่พ้นจากกุศลธรรม และอกุศลธรรมตราบใด  ก็ยังไม่เป็นอัพยากฤตตราบนั้น  คือยังไม่เป็นองค์พระอรหันต์  ยังไม่เป็นองค์พระนิพพานได้.

 

          ดูกรอานนท์  กุศลนั้นได้แก่กองสุข อกุศลนั้นได้แก่กองทุกข์  กองสุขและกองทุกข์นั้นหากเป็นของเกิดติดเนื่องอยู่ด้วยกันไม่มีใครจะพรากให้แตกออกจากกันได้  ครั้นถือเอากุศลคือกองสุขแล้ว  ส่วนอกุศลคือกองทุกข์นั้น  แม้ไม่ถือเอาก็เป็นอันได้อยู่เอง.

 

          ดูกรอานนท์  เมื่อบุคคลต้องการพระนิพพาน  ก็ให้วางเสียซึ่งความสุขนั้นก่อน.  ความสุขในโลกีย์นั้นเองชื่อว่ากุศล  จึงจะถึงพระนิพพาน  ถ้าหากว่าไม่มีความสามารถ  คือไม่อาจทำพระนิพพานให้แจ้งได้  ก็ให้ยึดเอากุศลนั้นไว้ก่อน.  พอให้ได้ความสุขในมนุษย์และสวรรค์  แต่จะให้พ้นทุกข์นั้นไม่ได้. ถ้าเมื่อรู้อยู่ว่าตนจะพ้นทุกข์ไม่ได้ก็ให้ยึดเอากุศลนั้นไว้เป็นสะพานสำหรับไต่ไปสู่ความสุข.

 

    ถ้ารู้ว่าตนยังไม่พ้นทุกข์ ซ้ำมาวางกุศลก็ยิ่งซ้ำร้ายเพราะเมื่อวางกุศลเสียแล้ว ตนก็จะเข้าไปหากองอกุศล คือ กองบาปเท่านั้น.  เมื่อตกเข้าไปในกองอกุศล  อกุศลนั้นก็จะนำตัวไปทนทุกขเวทนาในอบายภูมิทั้ง4  หาความสุขในโลกมิได้เลย

   เพราะเหตุนั้น  เมื่อตนยังไม่ถึงพระนิพพาน  ก็ให้บำเพ็ญบุญกุศลไว้  พอจะได้อาศัยเป็นสุขสบายไปในชาตินี้และชาติหน้า.

   ภันเต  ข้าแต่พระอริยกัสสปะ  พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาแก่ข้าฯ  อานท์ดังนี้.

 

 

หมายเลขบันทึก: 483297เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2012 18:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 17:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบพระคุณท่านอาจารย์โสภณค่ะสำหรับดอกไม้กำลังใจ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท