คนหลง : ไดอารีชีวิต 30


คนหลง เป็นหัวข้ธรรมะจากพุทธฏีกาโดยตรง ให้ความเย็นเป็นหลักยึดได้ทั้งกายและใจ เพียงหนึ่งใจได้พานพบบรมสุข

 

คนหลง

 

          ตะทะนันตะรัง  ลำดับนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนาต่อไปว่า  ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ใดมิได้ทำบุญให้ทานรักษาศีลเป็นต้น ไว้สำหรับตัวเสียก่อน เมื่อยังมีชีวิตอยู่  ผู้นั้นก็เป็นคนหลง.  บุคคลผู้ใดอยากได้ความสุขแต่มิได้กระทำตนให้ได้รับความสุขเช่นนี้  ผู้นั้นก็เป็นคนหลง. 

 บุคคลใดอยากให้ตนพ้นทุกข์  แต่ไม่ได้กระทำตนให้พ้นทุกข์เสียตั้งแต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่  เข้าใจเสียว่าตายไปแล้วจึงจะพ้นทุกข์  ดังนั้นผู้นั้นก็เป็นคนหลง. 

 บุคคลผู้ใดที่ทำความเข้าใจว่า  เมื่อยังมีชีวิตอยู่นี้เป็นอย่างหนึ่ง ตายแล้วเป็นอีกอย่างหนึ่ง 

 บุคคลผู้นั้นก็เป็นคนหลง.  บุคคลใดเข้าใจเสียว่าเมื่อยังเป็นคนยังมีชีวิตอยู่นี้ไม่รู้ไม่เห็น  ไม่ได้ไม่เป็นก็ช่างเถิดไม่เป็นไร ตายไปแล้วภายหน้า  หากจะได้รู้  จะได้เห็นจะได้เป็น ผู้นั้นก็เป็นคนหลง. 

 บุคคลผู้ใดถือเสียว่า เมื่อยังมีชีวิตอยู่นี้ทุกข์ก็ช่างเถิดไม่เป็นไรตายไปแล้วจะได้สุขผู้นั้นก็เป็นคนหลง.  บุคคลถือเสียว่า  เมื่อยังเป็นคนมีชีวิตอยู่นี้จะทุกข์ก็ดี  จะสุขก็ดี  จะชั่วก็ดี  ก็ช่างเถิด  ตายไปแล้วจะไปเป็นอะไรก็ช่างเถิดใครจะตามไปรู้ไปเห็น  ผู้นั้นก็เป็นคนหลง.

 

          ดูกรอานนท์  บุคคลทั้งหลายปรารถนาอยากพ้นทุกข์ หรือปรารถนาอยากให้ได้สุขประเภทใด  ก็ควรให้ได้ให้ถึงเสียแต่ในชาตินี้  ถ้าถือเอาภายหน้าเป็นประมาณแล้ว  ชื่อว่าเป็นคนหลงสิ้นทั้งนั้น  แม้ความสุขอย่างสูงคือพระนิพพาน  ผู้ปรารถนาก็พึงรีบขวนขวายให้ได้ให้ถึงเสียแต่เมื่อยังเป็นคนมีชีวิตอยู่นี้.

 

          ดูกรอานนท์  อันความสุขในพระนิพพานนั้นมี  2ประเภท  คือ ดิบ 1  สุก 1  ได้ความว่า  เมื่อยังเป็นคนมีชีวิตอยู่ได้เสวยสุขในพระนิพพานนั้นได้ชื่อว่าพระนิพพานดิบ.  เมื่อตายไปแล้วได้เสวยสุขในพระนิพพานนั้น ชื่อว่าพระนิพพานสุก.

          พระนิพพานมี  2  ประเภทเท่านี้  นิพพานโลกีย์  นิพพานพรหมเป็นนิพพานหลงไม่นับเข้าในที่นี้  พระนิพพานดิบนั้นเป็นของสำคัญควรให้รู้ให้เห็นให้ได้ถึงไว้เสียก่อนตาย  ถ้าไม่ได้พระนิพพานดิบนี้แล้ว  ตายไปก็จะได้พระนิพพานสุกนั้นไม่มีเลย  ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจ  ก็ยิ่งไม่มีทางได้  แต่รู้แล้วเห็นแล้วพยายามจะให้ได้ให้ถึง  ก็แสนยากแสนลำบากยิ่งนักหนา 

   ผู้ใดเห็นว่าพระนิพพานมีอย่างเดียวตายแล้วจึงจะได้  ผู้นั้นชื่อว่าเป็นคนหลง  ส่วนพระนิพพานดิบนั้นจะจัดเอาความสุขอย่างละเอียด  เหมือนอย่างพระนิพพานสุกนั้นไม่ได้  แต่ก็เป็นความสุขอย่างละเอียดสุขุมหาสิ่งเปรียบไม่ได้อยู่แล้ว 

  แต่หากยังมีกลิ่นรสแห่งทุกข์กระทบถูกต้องอยู่จึงไม่ละเอียดเหมือนพระนิพพานสุก.  เพราะพระนิพพานสุขไม่มีกลิ่นรสแห่งทุกข์จะมากล้ำกรายปราศจากสรรพสิ่งทั้งปวง  แต่พระนิพพานดิบนั้นต้องให้ได้ไว้ก่อนตาย.

 

          ดูกรอานนท์  อันว่าพระนิพพานนั้นพึงให้ดูอย่างแผ่นพระธรณีมีลักษณะอาการฉันใด  ก็ให้ตัวเรามีลักษณะอาการฉันนั้น  ถ้าทำได้เช่นนั้นก็ได้ชื่อว่าถึงพระนิพพานดิบ  ถ้าทำไม่ได้แต่พูดว่าอยากได้จะพูดมากมายเท่าๆ ก็ตาม ก็ไม่อาจที่จะได้ถึงเลย. 

  ถ้าปรารถนาจะถึงพระนิพพานแล้ว  ต้องทำจิตทำใจของตน  ให้เป็นเหมือนแผ่นดินเสียก่อน  ไม่ใช่เป็นของทำได้ด้วยง่าย  ต้องพากเพียรลำบากยากยิ่งนักจึงจะได้  จะเข้าใจว่าปรารถนาเอาด้วยปากก็คงจะได้  อย่างนี้เป็นคนหลงไปใช้ไม่ได้  ต้องทำตัวทำใจให้เป็นเหมือนแผ่นดินให้จงได้. 

  ลักษณะของแผ่นดินนั้น  คนและสัตว์ทั้งหลายจะทำร้ายทำดี  กล่าวร้าย  กล่าวดีประการใด  มหาปฐพีนั้นก็มิได้รู้ได้โกรธรู้เคือง  ที่ว่าทำใจให้เหมือนแผ่นดิน  คือว่าให้วางใจเสีย  อย่าเอื้อเฟื้ออาลัยว่าใจของตน ให้ระลึกอยู่ว่าตัวมาอาศัยอยู่ไปชั่วคราวเท่านั้น  เขาจะนึกจะคิดอะไรก็อย่าตามเขาไป ให้เข้าใจอยู่ว่า  เราอยู่ไปคอยวันตายเท่านั้น  ประโยชน์อะไรกับวัตถุข้าวของ  และตัวตนอันเป็นของภายนอก  แต่ใจซึ่งเป็นของภายในและเป็นของสำคัญก็ยังต้องให้ปล่อยวาง  อย่าถือเอาว่า  เป็นของของตัว  กล่าวไว้แต่พอให้เข้าใจเพียงเท่านี้โดยสังเขป.

 

          ดูกรอานนท์  คำที่ว่าให้ปล่อยวางจิตใจนั้นคือว่าให้ละความโลภ ความโกรธ ความหลง  ปลงเสียซึ่งการร้ายและการดีที่บุคคลนำมากล่าว.  มีลาภเสื่อมลาภ  มียศเสื่อมยศ  นินทา  สรรเสริญ  สุข  ทุกข์  อย่ายินดี  อย่ายินร้าย  แม้ปัจจัยเครื่องบริโภค  เป็นต้นว่าอาหารการกิน  ผ้าผ่อน  เครื่องนุ่งห่ม  ที่อยู่ที่นอน  เภสัชสำหรับแก้โรค  ก็ให้ละความโลภความหลงในปัจจัยเหล่านั้นเสีย  ให้มีความมักน้อยในปัจจัย  แต่มิใช้ว่าจะห้ามเสียว่าไม่ให้กินมิให้นุ่งห่ม  ไม่ให้อาศัยในสถานที่  ไม่ให้กินหยูกกินยา เช่นนั้นก็หามิได้.

 คือให้ละความโลเลในปัจจัยเท่านั้น  คือว่าเมื่อได้อย่างดีอย่างประณีต  ก็ให้บริโภคอย่างเลวทรามต่ำช้า  ตามมีตามได้ไม่ให้ใจขุ่นมัวด้วยความโลภ  ความโกรธ  ความหลง  อย่างนี้แหละจึงจะได้ชื่อว่าปล่อยวางเสียได้.  ถ้ายังเลือกปัจจัยอยู่  คือปล่อยให้ความโลภ  ความโกรธ  ความหลงเข้าครอบงำ  เพราะเหตุแห่งปัจจัย4  อย่างหนึ่งอยู่  ชื่อว่าถือจิตถือใจอยู่ ยังไม่ถึงพระนิพพานได้เลย. 

   ถ้าละความโลภ  ความโกรธ  ความหลงในปัจจัยนั้นได้แล้ว  จึงชื่อว่าทำตัวให้เป็นเหมือนแผ่นดินเป็นอันถึงพระนิพพานได้โดยแท้. มีคำสอดเข้ามาในที่นี้ว่า เหตุไฉนจึงมิให้ถือใจ  เมื่อไม่ให้ถือเช่นนั้น จะให้เอาใจไปไว้ให้ที่ไหน  เพราะไม่ใช่ของคนอื่น เป็นใจของตัวแท้ๆ ที่จะเป็นอยู่ได้ทุกวันนี้ก็เพราะมีใจนี่เอง  ถ้าไม่ให้ใจนี้แล้วก็ตายเท่านั้น  จะให้ว่างใจเสียแล้วจะรู้จะเห็นอะไร.

 

           มีคำวิสัชนาไว้ว่า  ผู้ที่เข้าใจว่าใจนั้นเป็นของของตัวจริง  ผู้นั้นก็เป็นคนหลง.  ความจริงหากใช่จิตของเราแท้  ก็คงบังคับได้ตามประสงค์ว่า  อย่าให้แก่อย่าให้ตายก็คงจะได้สักอย่างเพราะเป็นของตัว. อันที่จริงจิตใจนั้นเป็นลม  อันเกิดอยู่สำหรับโลก  ไม่ใช่จิตใจของเรา  โลกเขาตั้งแต่ไว้ก่อนเรา  เราพาเอามาเกิดครั้นเกิดขึ้นแล้วจิตใจนั้นก็หมดไป ใครจะเกิดขึ้นมาได้อีก.

  นี่ไม่ใช่จิตใจของใครสักคนเป็นของมีอยู่สำหรับโลก ผู้ใดจะเกิดก็ถือเอาลมนั้นเกิดขึ้น  ครั้นได้แล้วก็เป็นจิตของตน  ที่จริงเป็นของสำหรับโลกทั้งสิ้น  ที่ว่าจิตใจของตนนั้น  ก็เพียงให้รู้ซึ่งการบุญการกุศล  การบาป  การอกุศล และเพียงให้รู้ทุกข์สุข  สวรรค์และพระนิพพาน  ถือเอาไว้ให้ถึงที่สุดเพียงพระนิพพานเท่านั้น. 

   ถ้าถึงพระนิพพานแล้วต้องวางจิตใจคืนไว้แก่โลกตามเดิมเสียก่อน  ถ้าวางไม่ได้เป็นโทษ  ไม่อาจถึงพระนิพพานได้มีคำแก้ไว้ดังนี้.

           ตะทะนันตะรัง  ลำดับนั้น  พระพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนาต่อไปอีกว่า  อานันทะ  ดูกรอานนท์ บุคคลทั้งหลายที่หลงขึ้นไปบังเกิดในอรูปพรหมอันปราศจากความรู้นั้น  ก็ล้วนแต่บุคคลผู้ปรารถนาพระนิพพาน  แต่ไม่รู้จักวางใจให้สิ้น  ให้หมดทุกข์นั้นเอง  ไม่รู้จักวางจิตวิญญาณอันตนเข้ามาอาศัยอยู่ด้วยกับลมของโลก  ทำความเข้าใจว่าเป็นจิตของตัว  และเข้าใจว่า พระนิพพานมีอยู่ในเบื้องบนนั้น  ตัวก็นึกเข้าใจเอาจิตของตัวขึ้นไปเป็นสุขอยู่ในที่นั้น  ครั้นตายแล้วก็เลยพาเอาตัวขึ้นไปอยู่ในที่อันไม่มีรูปตามที่จิตตนนึกไว้นั้น.

 

          ดูกรอานนท์  ผู้ที่หลงขึ้นไปอยู่ในอรูปพรหมแล้วจะได้ถึง  โลกุตตรนิพพานนั้นช้านานยิ่งนักเพราะว่าอายุของอรูปพรหมนั้นยืนนัก  จะนับว่าเท่านั้นเท่านี้มิอาจนับได้  จึงเชื่อว่านิพพานโลกีย์. ต่างกันแต่มิได้ดับวิญญาณเท่านั้น  ถ้าหากดับวิญญาณก็เป็นพระนิพพานโลกุตตรได้ 

   ส่วนความสุขความสำราญในพระนิพพานทั้ง  2  นั้น     ก็ประเสริฐเลิศโลกเสมอกันไม่ต่างกัน  แต่นิพพานโลกีย์เป็นนิพพานที่ไม่สิ้นสุดเท่านั้น เมื่อสิ้นอำนาจของฌานแล้วยังต้องมี เกิดแก่เจ็บตาย ร้ายและดี  คุณและโทษ  สุขและทุกข์ยังมีอยู่เต็มที่  เพราะเหตุนั้น  ผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งจะปรารถนานิพพานพรหมไม่มีเลย  ย่อมมุ่งต่อโลกุตตรนิพพานด้วยกันทั้งนั้น.

 

   แต่ไม่รู้จักปล่อยวางวิญญาณจึงหลงให้เกิดเป็นอรูปพรหม ส่วนโลกุตตรนิพพานนั้นปราศจากวิญญาณ  วิญญาณยังมีที่ใด  ความเกิดแก่เจ็บตายก็มีอยู่ในที่นั้น  โลกุตตรนิพพานปราศจากวิญญาณ  จึงไม่มีเกิด  ไม่มีแก่  ไม่มีเจ็บ  ไม่มีตาย  มีแต่ความสุขสบายปราศจากอามิส  หาความสุขอันใดจะมาเปรียบด้วยนิพพานไม่มี  พระพุทธเจ้าตรัสรู้แก่ข้าฯ  อานนท์  ดังนี้แล.

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 483295เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2012 18:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 10:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท