สื่อสารไม่มีเสียงก็ลำบาก ส่งเสียงได้ก็เป็นปัญหา...ข้อคิดเรื่องการสื่อสาร


ช่วงนี้ยังคงมีเรื่องคุณย่าของสามหนุ่มเป็นเรื่องหลักของชีวิต ท่านไม่สบายเราก็พลอยใจไม่สบายไปด้วย โดยเฉพาะเมื่อเราไม่สามารถช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ด้วยตัวเอง มีปัจจัยหลายอย่างเหลือเกินที่เกี่ยวข้อง

สัปดาห์นี้ได้เรียนรู้เรื่อการสื่อสารอีกแล้วค่ะ ว่าเป็เรื่องสำคัญและละเอียดอ่อนมาก ต้องใช้"ใจ"และ"ความคิด"ให้มากๆ 

เมื่อสัปดาห์ก่อนท่านปวดท้องมาก สุดท้ายจากการทำ CT scan จึงรู้ว่าลำไส้อักเสบ ให้ยาฆ่าเชื้อได้แค่ครั้งเดียวท่านก็แพ้ยามากจนต้องหยุด ต้องใช้วิธีให้น้ำเกลือผสมน้ำตาล ต่อด้วยให้อาหารเหลวแบบช้าๆต่อเนื่อง เพื่อให้ลำไส้ได้พักผ่อน พออาการดีขึ้น หายอ่อนเพลีย คุณหมอผู้น่ารัก ซึ่งอยู่ประจำหอผู้ป่วยกันคนละเดือน ก็มาพาเข็นรถรอบหอผู้ป่วย ใครๆก็รู้จักคุณย่ากันทั้งหอผู้ป่วยแล้ว มีโบกมือเหมือนนางงามทักทายพยาบาลที่เคาท์เตอร์ด้วย พี่เลี้ยงเล่าให้ฟังอย่างเอ็นดูทั้งคุณย่าและคุณหมอ

ตกค่ำที่เราไปเยี่ยม คุณย่ามีอาการไอติดๆกันหลายรอบ จนกระทั่งท่านทำหน้าเหยเก ชื้บอกเราว่าเจ็บตรงซี่โครงข้างซ้ายมาก พวกเรากดบอกพยาบาล เพื่อให้ช่วยแจ้งคุณหมอเวร (เพราะเป็นเวลาช่วง 2 ทุ่มกว่าแล้ว) คุณย่าพยายามอธิบายให้เราฟังว่าท่านเจ็บยังไง ท่านพยายามเปล่งเสียงที่เรานึกคำไม่ออกจริงๆ ด้วยความที่ท่านไม่มีเสียง ช่วงนี้แม้จะปิดรูที่คอ ท่านก็ยังไม่สามารถส่งเสียงได้ ท่านก็พยายามชี้ที่เส้นเลือด ทำท่าเอานิ้วหยิก บิด ทำท่าเหมือนกระตุก แต่เราก็ยังนึกคำตามท่านไม่ออก แต่เห็นหน้าตอนท่านขยับตัวก็รู้ว่าต้องปวดมาก ตัวท่านเองก็ทำท่าว่าให้เราตามหมอ ขอยาแก้ปวดหน่อย แล้วก็พยายามส่งเสียงบอกเรา (ทั้งๆที่ไม่มีเสียง) ว่าท่านเจ็บยังไง แต่เราก็ไม่เข้าใจคำที่ท่านพูดสักที น่าอึดอัดใจเป็นอย่างยิ่ง

ปรากฎว่า เป็นวันที่คุณหมอก็ยุ่งมาก มีเคสติดพันอยู่ที่หอผู้ป่วยข้างเคียง คุณพยาบาลเธอก็พยายามเป็นธุระตามให้ ไปเปิดประวัติคุณย่าว่าเคยใช้ยาแก้ปวดอะไร จะได้เตรียมไว้บอกคุณหมอ เราก็เห็นว่าเวลาผ่านไปสักพักแล้ว ก็ยังไม่ได้ยาสักที เพราะต้องรอคุณหมอมาดูก่อน แต่ก็ยังมาไม่ได้ ตามไปถามคุณพยาบาลอีกรอบ เพราะคุณย่าท่านก็คงไม่ไหวแล้ว ทำท่าบอกว่าให้โทรถามหมอเอายาแก้ปวดได้ไหม พอไปตามอีกที คุณพยาบาลก็เอายาเข้ามาพอดี ในขณะที่เราเองก็กำลังคิดว่า จะโทรปรึกษาอ.หมอซึ่งท่านเป็นเจ้าของไข้ว่าจะเอายาอะไรให้ก่อนได้บ้างอยู่พอดี ออกปากบอกน้องพยาบาลไปอย่างนั้น (มาคิดได้ทีหลังว่า ยังไม่ทันได้ทำก็ไม่น่าพูดเลย) ว่ากำลังว่าจะโทรปรึกษาอาจารย์อยู่พอดี น้องทำท่าชะงัก แล้วบอกทำนองว่า นี่ก็รีบช่วยดูให้อยู่นะคะ ถ้าโทรหาอาจารย์ คุณหมอเวรอาจโดนตำหนิได้ เราก็เพียงบอกว่าเราเข้าใจว่าคุณหมอเวรกำลังยุ่งมาก ติดเคสอยู่ เพียงแต่เราคิดว่าอาจจะช่วยให้คุณย่าได้ยาโดยที่คุณหมอเวรจะได้ไม่ต้องรีบ ดูเคสนั้นต่อได้ เพราะคุณย่าน่าจะต้องการเพียงยาแก้ปวดชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งอาจารย์คงโทรสั่งพยาบาลได้

คุณย่าได้ยาไปสักพัก ท่านก็หลับตาท่าทางเหมือนค่อยยังชั่ว เราก็กลับกัน แต่ปรากฎว่าคุณพยาบาลเธอคงไม่สบายใจ มาคุยกับพี่เลี้ยงต่อว่า ทำไมเราถึงใจร้อน คิดจะโทรหาอาจารย์ทั้งๆที่เขาก็รีบช่วยอยู่แล้ว น่าจะเข้าใจสถานการณ์บ้าง ซึ่งพี่เลี้ยงก็คงอธิบายให้แล้วว่าเราไม่ได้จะโทรบอก แต่จะโทรปรึกษาว่าให้ยาแก้ปวดอะไรได้บ้างเพื่อทุเลาอาการเพราะเราเห็นแล้วว่าคุณย่าทนไม่ไหวจริงๆ แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่น้องเธอคงไม่เข้าใจ วันรุ่งขึ้น เรื่องนี้เริ่มกระจายออกไป มีพยาบาลที่รับเวรต่อ มาถามเรื่องราวจากพี่เลี้ยง คำพูดที่น้องพยาบาลต่อว่าเราให้พี่เลี้ยงฟังก็เริ่มขยาย กลายเป็นเรื่องใหญ่ ช่วงบ่ายที่เราขึ้นไป ก็เลยมีการคุยอธิบายเพื่อให้เข้าใจกัน คุยกันไปคุยกันมา กว่าจะรู้ว่าเรื่องราวมีเบื้องลึกกว่าที่เห็นอีก เพราะความไม่ลงตัวที่มีอยู่เดิมในหอผู้ป่วยนั้น ซึ่งก็เป็นธรรมชาติของการทำงานที่ต้องการความร่วมมือของคนหลากหลายนั่นเองค่ะ เราเข้าใจได้ไม่ยาก แต่พูดกันยาว อธิบายกันเยอะ จนกระทั่งคุณย่าทำท่าปิดหู โบกมือไล่ให้ไปคุยกันที่อื่น ท่านยังคงกดจุดเดิมที่ท่านปวด ดูท่าทางเหมือนน่าจะเป็นอาการกล้ามเนื้อฉีก คงต้องรอคุณหมอประจำมาวินิจฉัยอีกทีวันจันทร์ ระหว่างนี้ท่านก็ได้ยาแก้ปวดเป็นระยะๆ เห็นสีหน้าท่านแล้ว ทำเอาเราใจตีบไปเลย เพราะดูเจ็บปวดจริงๆโดยเฉพาะตอนขยับตัว ยาเพียงช่วยทุเลานิดหน่อยและทำให้ท่านเคลิ้มหลับได้เท่านั้นเอง 

ทำให้ได้ตระหนักเรื่องความสำคัญของการสื่อสารอีกครั้ง จนถึงตอนนี้เราก็ยังแปลคำที่คุณย่าพยายามพูดไม่ออก คุณหมอผู้น่ารักแวะมาดูวันรุ่งขึ้น (แม้เป็นวันหยุด) ก็ยังไม่เข้าใจเหมือนกัน แต่ก็สั่งยาแก้ปวดให้เป็นระยะไว้ 

พูดส่งเสียงไม่ได้ก็เป็นปัญหา เพราะเราพยายามยังไงก็ไม่เข้าใจสักที แต่คนอย่างเราๆที่พูดได้เป็นปกติ มีอารมณ์ มีความรู้สึกเฉพาะหน้า พูดอะไรออกไป แม้ไม่ได้มีเจตนาร้ายใดๆ ก็อาจกลายเป็นเรื่องที่ทำร้ายคนอื่นได้ ทั้งคนฟัง คนพูด คำพูดเดียวกันก็มีการแปลความหมายที่ไม่เหมือนกัน 

เห็นจริงกับสิ่งที่ใครๆก็เตือนกันนักหนาว่า ให้คิดก่อนพูด และถ้าพูดสิ่งที่ไม่ดี แม้เพียงเป็นการบ่น ก็ไม่พูดเลยจะดีกว่า ขอเอามาเขียนเป็นบันทึกเพื่อเตือนตัวเองและเป็นข้อคิดสำหรับกัลยาณมิตรทั้งหลายด้วยค่ะ

หมายเลขบันทึก: 483174เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2012 12:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 23:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

Deep listening ของฝ่ายผู้ฟังก็จำเป็นอย่างยิ่งเช่นกันค่ะ

ขอเป็นกำลังใจให้คุณย่าค่ะป้าโอ๋ :)

ขอบพระคุณ ที่นำเรื่องราวดีๆ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันครับ

ขอเป็นกำลังใจให้พี่โอ๋และครอบครัวค่ะ

และขอให้คุณพระคุ้มครองคุณย่าด้วยนะคะ:)

 

ส่งกำลังใจให้คุณย่า พี่โอ๋ ด้วยค่ะ

อ้อขอส่งกำลังใจให้พี่โอ๋ ครอบครัว และคุณย่านะคะ

เป็นตัวอย่างและข้อคิดที่จะเก็บไว้เตือน "ใจ" ทั้งตอนฟังและพูด....อย่างพยายามนิ่ง ๆ ไม่เติมแต่งอารมณ์ ขอบคุณนะคะ

เป็นเรื่องดีออกนะค่ะ จะเห็นเลยว่าเมื่อคนมีปัญญาแล้ว ไม่ว่าปัญหาอะไรจะเกิดขึ้น ก็จะเกิดการพัฒนาในหลายๆด้านขึ้น คือหาประโยชน์จากเรื่องราวที่เกิดขึ้นจนได้ และถ้าใจเราชัดในความบริสุทธิ์ที่เราไม่มีเจตนาเบียดเบียดใคร จิตตัวนี้ก็จะคุ้มครองเรา คือใจเราจะวางได้ แต่ความทุกข์ที่เกิดขึ้นของผู้อื่นซึ่งเค้ารู้สึกว่ามีสาเหตุมาจากเรา ก็เป็นความรู้ให้เราได้ศึกษา เก็บเป็นข้อมูลว่า เออ! คนนี้มีจรืตอย่างงี้ คิด พูด ทำอย่างงี้ ก็เหมือนเราได้ข้อมูลว่าจะสื่อสารกับคนแบบนี้อย่างไร ให้พอเหมาะพอดี เพื่อเป็นการเอื้อเฟื่อต่อกัน ก็ค่อยๆปรับกันไป ขอให้ใจเรามั่นคงไว้ก่อน แล้วเขาจะมั่นใจในท่ีสุด แต่ไม่ต้องกังวลผลหรอกนะค่ะ ทำให้ดีที่สุดของเราก็พอ อีกอย่างมีคนป่วยในบ้านมีข้อดีอย่างหนึ่งคือ ถ้าเราไม่รู้สึกเป็นภาระ ความห่วงใยเอื้ออาทรที่มีต่อกัน จะทำให้ความสัมพันธ์ใกล้ชิดและอบอุ่นขึ้นค่ะ ได้ข้อคิดอย่างนึง คือต้องหาภาษาใบ้ ไว้สื่อกับญาติผู้ใหญ่ของตัวเองไว้หน่อย ให้เป็นภาษาที่เข้าใจกันได้ว่ายๆเฉพาะเรา เพิ่งคิดได้นะค่ะ ต้องขอบพระคุณคุณย่ากับคุณโอ๋-อโณ มากเลยค่ะ เพราะไม่ทันคิดเหมือนกัน และขอเป็นกำลังใจให้นะคะ ขอให้คุณย่าดีวันดีคืนนะค่ะ

* มาเยี่ยมให้กำลังใจคุณย่าและลูกๆหลานๆค่ะ

So คุณย่า can't write and most people can't (confidently) read 'gestures' (have not played 'charade' enough).

I remember a story from a hospital (for the aged) that I visited an old friend many years ago (she died in my hand - while I was stroking her hand). There were 2 patients who became friends while in hospitals and one had gained the confidence of another whose speech become too blur to understand. Doctors and nurses found a natural translator (speaker) for the speech impaired patient. They died within days of each other. The romour is that they were meant to complement each other -- in life and in death.

I think patients have more time to learn about each other and can become reflectors for others in many situations. In places where isolation is not necessary, companionship may also work wonder for patients.

Please note: I am not a professional healthcare provider.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท