หมออนามัย แนวทางการควบคุมโรคไข้เลือดออก


 แนวทางการควบคุมโรคไข้เลือดออก

นายอานนท์ ภาคมาลี (หมอแดง)

โรคไข้เลือดออก โรคไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue virus) มียุงลายเป็นพาหะนำโรค พบได้ในทุกกลุ่มอายุ พบมากในเด็กวัยเรียน   สถานการณ์ของโรคมีแนวโน้มสูงขึ้นโดยตลอด ต่างจากอัตราป่วยตายลดลงอย่างมาก แสดงว่า พัฒนาการด้านการรักษาพยาบาลดีขึ้น แต่ประชาชนยังขาดความร่วมมือต่อการป้องกันควบคุมโรค

สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus)มี 4 serotypes คือ DEN-1, DEN-2, DEN-3 และ DEN-4  ทั้งนี้ 4  serotype มี Antigen บางส่วนร่วมกัน  ดังนั้นถ้ามีการติดเชื้อชนิดใดแล้วจะทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อชนิดนั้นไปตลอดชีวิต  และจะมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเดงกี อีก 3 ชนิดในช่วงสั้นๆ ไม่ถาวร ประมาณ 6-12 เดือน     หลังจากระยะนี้แล้ว คนที่เคยติดเชื้อไวรัสเดงกี ชนิดหนึ่งอาจติดเชื้อไวรัสเดงกี ชนิดอื่นที่ต่างไปจากครั้งแรกได้ เป็นการติดเชื้อซ้ำ    ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก (DHF)  ความสัมพันธ์ระหว่างการระบาดของโรคกับการเปลี่ยนแปลง Serotype โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นของ DEN-4 ในการระบาดของปี พ.ศ. 2520    การเพิ่มขึ้นของ  DEN – 1 ในปี พ.ศ. 2523   การเพิ่มขึ้นของ DEN -3  ในการระบาดในปี พ.ศ. 2530 – 2531  และตั้งแต่ ปี 2548 – 2550 พบเชื้อ DEN-1 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น   ปัจจุบัน พบ DEN-1 เริ่มลดลง และ DEN-2, DEN-3, DEN-4 มีสัดส่วนมากขึ้น  สรุปได้ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกเดงกี คือ มีไวรัสเดงกีชุกชุมมากกว่า 1 ชนิด  การติดเชื้อซ้ำด้วย DEN-2 มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเกิดเป็น DHF โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดเชื้อครั้งที่ 2 ภายหลังการติดเชื้อครั้งแรกด้วย DEN-1

การติดต่อ โรคไข้เลือดออกติดต่อถึงกันได้โดยมียุงลายบ้าน (Aedes  aegypti) เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ โดยยุงตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยในระยะไข้สูง และฟักตัวในยุงประมาณ 8-12 วัน จากนั้นเมื่อยุงตัวนี้ไปกัดคนปกติ ก็จะปล่อยเชื้อไวรัสไปยังผู้ที่ถูกกัด เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายคน และผ่านระยะฟักตัวประมาณ 5-8 วัน (สั้นที่สุด 3 วัน - นานที่สุด 15 วัน) ก็จะทำให้เกิดอาการของโรคได้  สำหรับเชื้อไวรัสเดงกีนี้จะอยู่ในตัวยุงนั้นตลอดชีวิตของยุง คือ ประมาณ 45 วัน

อาการ    หลังจากได้รับเชื้อจากยุงประมาณ 5-8 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการค่อนข้างเฉพาะ 4 ประการ ดังนี้

1.ไข้สูงเฉียบพลัน (38.5 –40 องศาเซลเซียส) ประมาณ 2-7 วัน หน้าแดง ปวดกระบอกตา            เบื่ออาหาร อาเจียน ส่วนใหญ่จะไม่มีน้ำมูกไม่ไอ ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยแยกจากโรคหัดและไข้หวัด

2. มีอาการเลือดออก เส้นเลือดเปราะ แตกง่าย (tourniquet test ให้ผลบวก ตั้งแต่ 2-3 วันแรก) มีจุดเลือดออกเล็ก ๆ ตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ มีเลือดกำเดา เลือดออกตามไรฟัน อาจมีอาเจียนและอุจจาระสีดำ

3. มีตับโต กดเจ็บ   ส่วนใหญ่จะคลำพบตับโตได้ประมาณวันที่ 3-4 นับแต่เริ่มป่วย

4. มีภาวะช็อก ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรง เนื่องจากมีการรั่วของพลาสมา ออกไปยังช่องปอด/ช่องท้อง ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว อาจเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 ของโรค ผู้ป่วยจะมีอาการ กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเบาเร็ว  pulse pressure แคบ  ส่วนใหญ่ จะรู้สติ พูดรู้เรื่อง กระหายน้ำ อาจมีอาการปวดท้องกะทันหันก่อนเข้าสู่ภาวะช็อก ถ้ารักษาไม่ทัน จะมีอาการ ปากเขียว ผิวสีม่วง ๆ ตัวเย็นชืด จับชีพจรและวัดความดันไม่ได้ ความรู้สติเปลี่ยนไป และจะเสียชีวิตภายใน 12 - 24 ชั่วโมง ในรายที่ไม่รุนแรง เมื่อให้การรักษาในช่วงระยะสั้นๆ ก็จะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

การรักษา ไม่มีการรักษาที่เฉพาะและไม่มีวัคซีนป้องกัน ให้การรักษาแบบประคับประคอง ตามอาการ โดยให้ยาลดไข้ แนะนำให้ใช้ยาพาราเซตามอล ให้น้ำให้เพียงพอ และพักผ่อน ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้ส่งต่อผู้ป่วยไปพบแพทย์   เมื่อผู้ป่วยไข้เลือดออก จะมีไข้สูง 4-5 วัน (พบร้อยละ 70)  ซึ่งวันที่เป็นระยะวิกฤต/ช็อกจะตรงกับวันที่ไข้ลง หรือไข้ต่ำกว่าเดิม จึงพึงระลึกเสมอว่าวันที่ 3 ของโรค เป็นวันที่เร็วที่สุดที่ผู้ป่วยไข้เลือดออกมีโอกาสช็อกได้  และระหว่างที่ผู้ป่วยมีอาการช็อก จะมีสติดีสามารถพูดจาโต้ตอบได้ จะดูเหมือนผู้ป่วยที่มีแต่ความอ่อนเพลียเท่านั้น ให้รีบนำผู้ป่วยส่งต่อโรงพยาบาลระดับสูงทันที

การป้องกันโรค โรคไข้เลือดออก สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว การป้องกันควบคุมโรคที่สำคัญ จึงต้องไม่ให้ยุงกัด โดยเฉพาะในผู้ป่วย โดยการลดจำนวนยุงตัวเต็มวัย และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ ซึ่งจะต้องทำให้ครอบคลุม   ทุกครัวเรือน ต่อเนื่องและสม่ำเสมอตลอดทั้งปี   มีวิธีปฏิบัติ  ดังนี้

 1. วิธีการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย  คือ สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อลดจำนวนยุงตัวเต็มวัยและแหล่งเพาะพันธุ์ให้ได้มากที่สุด โดยมีข้อแนะนำสำหรับสถานศึกษา ได้แก่ ดำเนินการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในสถานศึกษา ทุก 7 วัน ให้ความรู้และคำแนะนำแก่นักเรียนเกี่ยวกับ วงจรชีวิตของยุง  การแพร่เชื้อ และวิธีป้องกัน

1.1 ทางกายภาพ  ได้แก่ การปิดภาชนะกักเก็บน้ำด้วยฝาปิดเพื่อป้องกันไม่ให้ยุงลายเข้าไปวางไข่  อาจจะใช้ผ้ามุ้ง ผ้ายางหรือพลาสติกปิดและมัดไว้ ภาชนะที่ยังไม่ใช้ประโยชน์ควรจะคว่ำ

มิให้รองรับน้ำ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้สะอาด สิ่งของเหลือใช้    เช่น  กะลา กระป๋องควรเผาหรือฝัง แจกันดอกไม้สดควรเปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน วิธีการเหล่านี้ต้องทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องตลอดทั้งปี

1.2 ทางชีวภาพ  คือ การปล่อยปลากินลูกน้ำลงในภาชนะเก็บกักน้ำ เช่น โอ่งตุ่ม 2-4 ตัว หมั่นดูแลอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง  วิธีนี้ง่ายประหยัดและปลอดภัย  1.3 ทางเคมี  โดยใส่ทรายมีฟอส ในภาชนะเก็บน้ำใช้  ควรใช้เฉพาะภาชนะที่ไม่สามารถปิดหรือใส่ปลากินลูกน้ำได้ 

2. วิธีการลดยุงตัวเต็มวัย มีดังนี้

2.1 ใช้ไม้ตียุง ใช้น้ำผสมน้ำสบู่หรือผงซักฟอก ฉีดพ่นให้ถูกตัวยุง 

2.2 การพ่นสารเคมีกำจัดยุงตัวเต็มวัย เป็นวิธีควบคุมป้องกันยุงที่ให้ผลดี แต่ให้ผลระยะสั้น ราคาแพง  ผู้ปฏิบัติต้องมีความรู้  เพราะเคมีภัณฑ์ อาจเป็นพิษต่อคนและสัตว์เลี้ยง จึงควรใช้เฉพาะเมื่อจำเป็น

 3. การป้องกันยุงกัด โดยนอนในมุ้ง ทายากันยุง ใช้สมุนไพร/พัดลมไล่ยุง ใส่เสื้อให้มิดชิด หลีกเลี่ยงที่มืด ทึบ อับ ชื้น 

แผนยุทธศาสตร์ควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก  ปี 2555

1.) วัตถุประสงค์     เพื่อลดอัตราป่วยโรคไข้เลือดออกให้ลดน้อยลง

 2.) ตัวชี้วัด และเป้าหมาย เมื่อสิ้นสุดปี 2555 ระดับตำบล

 1. ลดอัตราป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก (DF+DHF+DSS) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50  

 2. อัตราป่วยตายด้วยโรคไข้เลือดออก ไม่เกินร้อยละ 0.13

 3. ควบคุมลูกน้ำในเขตตำบล (ร้อยละ 80 ของเขตตำบลหินซ้อน  มีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลาย  HI< 10)

4.  ควบคุมลูกน้ำในโรงเรียน   (ร้อยละ 80 ของโรงเรียน มีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลาย  CI= 0)

5. ควบคุมการระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ (ไม่มีผู้ป่วยเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ได้จบไปแล้วมากกว่า 28 วัน)

หมายเหตุ  เกณฑ์และตัวชี้วัดงานควบคุมโรคป้องกันโรคไข้เลือดออก ระดับตำบลหินซ้อน  คือ

1.       เกณฑ์ตัวชี้วัดการควบคุมการระบาด

 -    ความทันเวลาของการได้รับแจ้งเมื่อมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก

 -    ความครบถ้วนของการสอบสวนผู้ป่วยรายแรก (Index Case) ระดับหมู่บ้าน

2.       เกณฑ์ตัวชี้วัดการควบคุมพาหะนำโรค

 -   ความพร้อมของทีมควบคุมพาหะนำโรคระดับตำบล

-   ความทันเวลาในการควบคุมแหล่งแพร่โรค

-  ความครอบคลุมในการควบคุมแหล่งแพร่โรค

 3.) ยุทธศาสตร์ควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก เริ่มที่ลูกน้ำ และการควบคุมการระบาด  โดยมีขอบเขตในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์  ให้สอดคล้องตามผลการประชุม The strategic plan for prevention and control of Dengue in Asia-Pacific (2007-2015) ดังนี้

1.  การเพิ่มความเข้มแข็งในการพยากรณ์การระบาด และการค้นหาผู้ป่วยอย่างฉับไว มีแนวทางในการดำเนินงานเพิ่มประสิทธิภาพในระบบเตือนภัยการระบาดโดยใช้ความร่วมมือจาก อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน      ผู้นำชุมชนและผู้ปฏิบัติในการดำเนินงาน มีการเฝ้าระวังทาง กีฏวิทยาและ Dengue serotype

2.   ปรับปรุงมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก โดยการเพิ่มขีดความสามารถของสถานพยาบาลในการรักษา DSS/DHF และจัดระบบการส่งต่อผู้ป่วยผ่านสถานบริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชน ฝึกอบรมผู้ปฏิบัติทางแพทย์และมีแนวทางมาตรฐานการปฏิบัติ

3.    สนับสนุน การควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกผ่านกระบวนการกำจัดยุงลายพาหะนำโรคแบบบูรนาการ     มีแนวทางการดำเนินงาน ได้แก่ การวิเคราะห์โครงสร้างพื้นฐานในแต่ละพื้นที่ สนับสนุนให้มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมในการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยผ่านนโยบายสาธารณะ พัฒนาคู่มือ  และเผยแพร่ รวมทั้งผลักดันให้ชุมชนองค์การบริหารส่วนตำบลหินซ้อน มีส่วนร่วมในการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก เน้นโครงการบ้านสะอาดน่าอยู่ รณรงค์กำจัดภาชนะที่มีศักยภาพในการขังน้ำอันจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้ เมื่อมีฝนตกหรือน้ำท่วมขัง  รวมทั้งสนับสนุนให้องค์การบริหารงานส่วนตำบลหินซ้อนเกิดความตระหนักในการเก็บกวาดล้างวัสดุ และกองขยะที่อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

4.    สนับสนุนนวัตกรรมใหม่ในการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก รวมทั้งการปรับนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวกับสุขภาพ เช่น มีการกำกับดูแลและเฝ้าระวังพาหะนำโรคใน โรงเรียน วัด บ้านและชุมชน รวมทั้งแหล่งอื่นๆ สร้างเครือข่ายสำหรับผู้ประกอบการยางรถยนต์และประสานให้มีการกำจัด หรือ Recycle ยางรถยนต์ ซึ่งเป็น Key Container ที่สำคัญ

การควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก ล่วงหน้าก่อนช่วงระบาด เพื่อตัดวงจรการแพร่เชื้อไวรัสในหน้าแล้ง ก่อนฤดูฝนจะเริ่มต้น ประมาณเดือนมีนาคม

 เป็นการดำเนินงานระยะที่ 1 (Phase 1)   ที่สำคัญที่สุดในการควบคุมป้องกันไข้เลือดออก   ตั้งแต่ต้นปีถึงปลายปี (เดือนมีนาคม - ตุลาคม) รวม 6 เดือน   คือ การลดโรคไข้เลือดออกให้น้อยที่สุด หากเกิดการระบาดแล้ว การควบคุมป้องกันไข้เลือดออกจะทำได้ยากและสูญเสียงบประมาณเพิ่มมากขึ้น พื้นที่เป้าหมาย   คือ หมู่บ้าน ชุมชน มีขั้นตอนที่ต้องพิจารณา   ดังนี้

ขั้นที่1.วิเคราะห์ต้นตอการระบาดสืบค้นแหล่งรังโรคและพื้นที่เสี่ยง ต่อการระบาดของโรคไข้เลือดออก   เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งในการจัดการ

ขั้นที่ 2. กำจัดศักยภาพของแหล่งแพร่โรค  - กำจัดภาชนะเสี่ยงสำคัญ   - จัดการแหล่งเพาะพันธุ์ - กวาดล้างลูกน้ำยุงลายให้ลดลงต่ำที่สุด HI =0 CI =0

ขั้นที่ 3. ระงับการแพร่เชื้อ - เฝ้าระวังไข้ ค้นหาผู้ป่วย ส่งตรวจวินิจฉัย     และควบคุมป้องกันยุงลายพาหะนำโรค ป้องกันไม่ให้ยุงกัด 

 2. การควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกช่วงระบาด  ระยะที่ 2 (Phase 2)   ตั้งแต่เดือนเมษายน – พฤษภาคม   เป็นการ ควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยการเร่งรัดในการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในชุมชน โรงเรียน  วัด บ้าน ชุมชนต่างๆ แหล่งท่องเที่ยว   ระบบการรายงาน ที่รวดเร็ว    ความทันเวลาในการควบคุมโรค มาตรฐานการควบคุมโรคไข้เลือดออกในพื้นที่

 3. การควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก การระบาดของโรคให้เกิดน้อยที่สุด ระยะที่ 3 (Phase 3)   ตั้งแต้เดือนมิถุนายน– กันยายน   เป็นช่วงที่ต้องมีควบคุมการระบาดของโรคให้เกิดน้อยที่สุด (น้อยกว่าค่า Target line)    ต้องระงับการแพร่เชื้อ   เฝ้าระวังโรค ค้นหาผู้ป่วย ส่งตรวจวินิจฉัย และควบคุมป้องกันยุงพาหะนำโรค     ระบบการรายงาน ที่รวดเร็ว    การสอบสวนโรค    ความทันเวลาในการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก มาตรฐานการควบคุมโรคไข้เลือดออกในพื้นที่   ประเมินผลการดำเนินงาน ได้แก่การประเมินค่าดัชนีลูกน้ำยุงลาย  การประเมินประสิทธิภาพของการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกระดับตำบล

แนวทางปฏิบัติเมื่อเกิดโรคไข้เลือดออกระบาด 

เมื่อเกิดมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเกิดในชุมชนหรือหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก ด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้โรคไข้เลือดออกสงบโดยเร็วที่สุด  ไม่ให้ระบาดติดต่อไปยังชุมชนอื่น หากเริ่มดำเนินการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกช้า โรคจะแพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางจนเกินกำลังที่จะควบคุม โดยปกติแล้วโรคไข้เลือดออกมักจะระบาดในฤดูฝน คือ ประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน หรือเดือนตุลาคม ของทุกปี  แต่ทั้งนี้สภาพภูมิอากาศในแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกัน จึงทำให้ช่วงเวลาที่โรคไข้เลือดออกระบาดมีความแตกต่างกัน      สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกและ การระบาด  เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค  คือ การเฝ้าระวังโรค (Disease Surveillance) ที่รวดเร็ว ถูกต้อง และครบถ้วน เพื่อให้รู้การเกิดโรคได้โดยรวดเร็ว    การเฝ้าระวังทางกีฏวิทยา (Vector Surveillance) สำรวจค่าดัชนีลูกน้ำยุงลาย ติดตามการเปลี่ยนแปลงประเภทแหล่งเพาะพันธุ์ที่สำคัญ (Key Container) ของยุงลาย   การเฝ้าระวังเกี่ยวกับผู้ป่วยและติดเชื้อ โดยศึกษาแนวโน้มของโรค ชนิดของ serotype   แนวทางการปฏิบัติ มีดังนี้

แนวทางการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก

 1. ประกาศเตือนประชาชนให้ทราบว่ามีโรคไข้เลือดออกระบาดในชุมชนนั้น พร้อมกับให้      สุขศึกษาแก่ประชาชน ให้รู้จักวิธีการป้องกันตนเองและครอบครัวไม่ให้ยุงลายกัด ให้ความรู้วิธีปฏิบัติเมื่อเด็กป่วยหรือสงสัยว่าป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก  และวิธีการควบคุมป้องกันแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้าน และขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่อาจมีหลงเหลืออยู่ในชุมชนให้หมดไป   การกำจัดลูกน้ำยุงลายในบ้านผู้ป่วย และบริเวณรอบบ้านผู้ป่วยควรดำเนินการในรัศมีอย่างน้อย 100 เมตร และประเมินค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในพื้นที่ที่เกิดโรคหลังการควบคุม ป้องกันโรคไข้เลือดออก ควรมีค่า HI < 10

 2.ใช้มาตรการเร่งด่วน เพื่อควบคุมป้องกันการระบาด คือ การพ่นสารเคมีกำจัดยุงตัวเต็มวัย วิธีการนี้จะลดจำนวนยุงลายที่มีเชื้อไข้เลือดออกในชุมชน หากพ่นสารเคมีต้องครอบคลุมพื้นที่ จะช่วยตัดวงจรการระบาดของโรคลงได้  ทั้งนี้ทีมควบคุมป้องกันโรคต้องมีความพร้อมในการควบคุมป้องกันยุงลายพาหะนำโรค อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อได้รับแจ้งว่ามีผู้ป่วย โดยจะสามารถปฏิบัติการได้ทันทีดำเนินการ ควบคุมป้องกันแหล่งแพร่โรคภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อได้รับการยืนยันจาการสอบสวนผู้ป่วยโดย  ว่าเป็นพื้นที่นี้เป็นแหล่งแพร่โรค   ลักษณะการพ่นสารเคมีควรปฏิบัติตามการกระจายของผู้ป่วย ดังนี้

 2.1 หากเกิดมีผู้ป่วย ควรดำเนินการควบคุมป้องกันโรค แหล่งแพร่โรค (หมู่บ้านหรือชุมชน) โดยพ่นสารเคมีในบ้านผู้ป่วย และพื้นที่รอบบ้านผู้ป่วยในรัศมีอย่างน้อย100 เมตรควรพ่นอย่างน้อย 2 ครั้งแต่ละครั้งห่างกัน 7 วัน  

 2.2 หากเกิดมีผู้ป่วยกระจายทั่วไปในชุมชนหรือหมู่บ้าน ควรพ่นสารเคมีทุกหลังคาเรือนในชุมชน และควรพ่นสารเคมีให้มีบริเวณกั้นกลาง (Barrier Zone) ที่ปลอดยุงรอบชุมชนนั้นด้วย หากมีหมู่บ้านอื่นอยู่ข้างเคียง ก็ควรพิจารณาพ่นสารเคมีเพิ่มเติมให้แก่หมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงนั้นด้วย

 3. รายงานโรคไข้เลือดออก (DF/DHF/DSS) ทั้งรายที่สงสัยและที่ได้รับการยืนยันทันที เพื่อการควบคุมป้องกันโรค w-hgnvfvvd

  4. พัฒนาทีมเฝ้าระวังและควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกในระดับตำบล ให้สามารถดำเนินการควบคุมป้องกันโรคอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและทันเวลา

  5.ให้สถานพยาบาลทุกแห่ง เตรียมพร้อมทั้งบุคลากรและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการรักษาโรคไข้เลือดออก เพื่อรองรับการระบาด

   6.ประสานความร่วมมือและพัฒนาศักยภาพขององค์การบริหารงานส่วนตำบลหินซ้อน และเครือข่ายในชุมชน เช่น อาสาสมัครสาธารณสุข ให้มีส่วนร่วมในการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง

กิจกรรมการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก

1.    การเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก     Passive Surveillance  เน้นคุณภาพการรายงานที่ถูกต้อง ทันเวลา        การวิเคราะห์รายงาน จากระบบรายงานการเฝ้าระวังโรค ที่ศูนย์ควบคุมโรคระดับอำเภอ จังหวัด และเขต     พัฒนาการใช้ข้อมูลทางระบาดวิทยา เพื่อการเตือนภัยในทุกระดับ (การปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์ 3 ระยะ การใช้ Target line, Base line และ Median ) รวมทั้งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการพยากรณ์และการเตือนภัยทางระบาดวิทยา       Active Surveillance     การเฝ้าระวังผู้ป่วยมีไข้ระดับ Fever Alert โดยให้ทีมควบคุมป้องกันโรคระดับพื้นที่เข้าดำเนินการสอบสวนและควบคุม (กำจัดทำลายแหล่ง)  โรคในพื้นที่ผิดปกติ   Serological Surveillance        สุ่มตัวอย่างผู้ป่วยส่งตรวจ โดยเฉพาะในช่วงฤดูก่อนการระบาด เพื่อประเมินสถานการณ์การระบาดของโรค     Vector Surveillance    กำหนดมาตรการควบคุมป้องกันโรคโดยให้มีการลดและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในทุกชุมชน และทุกหมู่บ้าน    จัดระบบการสุ่มสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพื่อติดตาม กำกับ และประเมินผลการดำเนินงานตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคของพื้นที่

2. การควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกและการระบาด

  1. การสอบสวนโรคเพื่อหาแหล่งโรค ในพื้นที่ระบาดและดำเนินการควบคุมป้องกันการแพร่โรค     พัฒนาศักยภาพของ SRRT ในด้านการวิเคราะห์ข้อมูล สถานการณ์ระบาด และดำเนินการควบคุมป้องกันโรคได้ตามมาตรฐานอย่างมีประสิทธิภาพ   การพัฒนาทีมปฏิบัติการควบคุมป้องกันการระบาดในพื้นที่ โดยการสอบสวน ทำลายแหล่งยุงลาย โดยเน้นการใช้บุคลากรที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานสาธารณสุข ร่วมกับบุคลากรท้องถิ่น

 2.  พัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของเครือข่าย และชุมชนในการควบคุมป้องกันโรค พัฒนาศักยภาพชุมชนแบบเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน เทคนิคประชาคมและใช้บทสรุปของประชาคม ในการควบคุมป้องกันโรค   สนับสนุนการสร้างชุมชนเข้มแข็งโดยดำเนินการบ้านปลอดลูกน้ำยุงลายยั่งยืนโดยใช้การประกวดและการรณรงค์เพื่อการกำจัดและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในระดับครัวเรือน โดยใช้มาตรการทางกายภาพ ชีวภาพ และภูมิปัญญาท้องถิ่น  สนับสนุนกิจกรรมการควบคุมป้องกันโรคในโรงเรียน  โดยเฉพาะโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โดยให้นักเรียนปฏิบัติกิจกรรมการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในโรงเรียน ชุมชน และบ้าน ประสานงานและสนับสนุนหน่วยงาน และองค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการด้านกฎหมายในการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก

3.  การพัฒนาระบบบริหารจัดการในพื้นที่ ผลักดันให้เป็นนโยบายระดับจังหวัด เพื่ออำนาจการสั่งการผ่าน ผู้ว่าราชการจังหวัด/ นายอำเภอจัดประชุมเครือข่ายระดับตำบล  องค์การบริหารงานส่วนตำบล เพื่อกำหนดพื้นที่เสี่ยง ทิศทาง บทบาทและเกณฑ์การติดตามประเมินผล ให้มีการดำเนินงานแบบ Partnership จัดระบบการควบคุมคุณภาพและประเมินผลการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยใช้ค่าดัชนีลูกน้ำยุงลาย (House Index, Container Index) และการประเมินประสิทธิภาพการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก  สรุปวิเคราะห์และแนวทางการแก้ไขของ War room เครือข่ายระดับพื้นที่ และการใช้ประโยชน์จากระบบการวิเคราะห์รายงาน การประชาสัมพันธ์ และแจ้งข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างความตระหนักและการให้ความร่วมมือในการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก ผ่านหอกระจายข่าว และสื่อท้องถิ่น

 1.   การควบคุมป้องกันยุงลายพาหะนำโรค กรณีเกิดการระบาดในพื้นที่ จะร่วมดำเนินการกับทีมเฝ้าระวังและสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ร่วมมือกับหน่วยงานด้านการควบคุมป้องกันยุงลายพาหะนำโรค ภาคีเครือข่ายต่างๆ ในการค้นหาและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายพาหะนำโรค ติดตามประเมินผลและดำเนินงาน อย่างต่อเนื่องจนกว่าการระบาดจะยุติ

  2.  การสร้างภาคีเครือข่ายควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก เป็นผู้นำในการให้ความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออกแก่ชุมชน เป็นผู้นำในการให้ความรู้เรื่อง การควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกแก่ชุมชน เป็นผู้นำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในด้านการควบคุมป้องกันไข้เลือดออกแก่ ชุมชน ร่วมสร้างภาคีเครือข่ายในชุมชนต่างๆเพื่อการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก

 ในการ ควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก กิจกรรม ร่วมรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลายในชุมชน จัดทำบัตรเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ประชาคมหมู่บ้านร่วมดำเนินงานการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก เช่น โครงการธนาคารขยะ โครงการบ้านสะอาด ปราศจากโรคไข้เลือดออก การใช้สัญลักษณ์ธงสี ปักหน้าบ้านแสดงสถานะของการพบลูกน้ำในครัวเรือน  มีกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพครบวงจรบริการประชาชน แสดงสถานะทางสุขภาพด้วยโรคต่างๆ ของประชาชนในพื้นที่   การใช้ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ให้บริการทางสุขภาพแก่ประชาชน ทั้งโรคติดต่อและไม่ติดต่อ ให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์โดยรถยนต์ครอบคลุมพื้นที่ มีหนังสือขอความร่วมมือควบคุมป้องกันโรค จาก องค์การบริหารส่วนตำบล ถึงทุกครัวเรือน แจกเอกสาร  แผ่นพับทุกครัวเรือน รณรงค์ควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก จัดนิทรรศการโรคไข้เลือดออก อย่างน้อยทุก 3 เดือนครั้ง จัดประชุม อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านทุกเดือนเพื่อสรุปผลและวางแผน อาสาสมัครสาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และ องค์การบริหารส่วนตำบล ร่วมมือสำรวจลูกน้ำยุงลายพร้อมทำลายแหล่งทุก 7 วัน ให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง เมื่อมีผู้ป่วยเกิดขึ้น องค์การบริหารส่วนตำบล ให้การสนับสนุนงบประมาณในการพ่นสารเคมี/ใส่ทรายมีฟอส

กิจกรรมต่อเนื่อง ประชุมวางแผนควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก- พ่นสารเคมี (ULV ติดรถยนต์) ทุก3 เดือนวางแผนการสำรวจลูกน้ำยุงลายพร้อมทำลายแหล่งทุกๆ 7 วัน อย่างต่อเนื่อง ประชุมภาคีเครือข่ายเพื่อแจ้งสถานการณ์โรคและวางแผนการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมป้องกันโรค ภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรค โรงเรียนและชุมชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมรณรงค์ และทำ Big Cleaning Day เดือนละ 1 ครั้ง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และประชาชน ร่วมเฝ้าระวังสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย ทุก 7 วัน  พ่นสารเคมีพื้นที่เสี่ยง  พื้นที่ระบาดประชุม อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านทุกเดือน  รณรงค์ควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก จัดตั้งแกนนำเครือข่ายการเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก   ป้ายประชาสัมพันธ์บริเวณทางแยกในตำบลหินซ้อน แจกเอกสารแผ่นพับติดโปสเตอร์ตามบ้านเรือน ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์

 

 

หมายเลขบันทึก: 482918เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2012 06:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 สิงหาคม 2013 02:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท