๒๗๙.บทบาทภาวะผู้นำต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไทย ๒


      ดร.ปรีดี โชติช่วง รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งเป็นอดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา

     ได้พูดว่า วันนี้สถาบันพระปกเกล้า รดน้ำที่รากคือชุมชน ไม่ได้รดน้ำที่ใบ(คือส่วนข้างบนหรือในกระทรวง) ดังนั้น การเมืองมีหลายมิติมาก คือ

     ๑)ภาคพลเมือง หรือชุมชน หมายถึงวิถีชีวิต การเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชน เช่น ประเพณีแห่งเทียนเข้าพรรษา, พิธีศพ, พิธีกรรมต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นการเมืองในทางตรง

     ๒)ส่วนการเมืองทางอ้อมก็คือ การเมืองที่ให้ประชาชนไปลงเลือกตั้ง ไปกากบาท โดยใช้เวลาแค่ ๔ นาที

     ๓)การเมืองภายในองค์กร เช่น โรงเรียนก็มี ผอ.,รองผอ., ในวัดก็มีเจ้าอาวาส, รองเจ้าอาวาส ฯลฯ (ดีนะ ไม่ยกตัวอย่างศึกชิงตำแหน่งเจ้าอาวาสมาด้วย)

     ผู้นำ และ ความขัดแย้ง ทำอย่างไรให้เขาเข้าใจร่วมกัน?

     จากนั้นก็ฉาย วีดีทัศน์เรื่อง "การเมืองสมานฉันท์" ของตำบลควรรู จังหวัดสงขลา เป็นเวลา ๑๕ นาทีให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนาดูด้วย

     เมื่อผู้เขียนได้ดูเรื่องราวในวีดีทัศน์ที่ ดร.ปรีดี ได้ฉายให้ดูนั้น ทำให้ผู้เขียนได้ประเด็น และวิเคราะห์ว่า...

     สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวตำบลควรรู จังหวัดสงขลาคือ เมื่อมีการเมืองท้องถิ่น หรือ อบต. เกิดขึ้นในตำบล ทำให้ญาติพี่น้องไม่มองหน้ากัน ต่างฝ่ายต่างมีทิฐิ คุยกันไม่รู้เรื่อง เกิดปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน นี้คือทุกขอริยสัจจ์ของสังคมที่เกิดขึ้น

     ต่อมา ผู้นำชุมชน(โดยธรรมชาติ-อาจเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ซึ่งเป็นที่เคารพของชุมชน) ได้ชี้นำชาวบ้านให้เห็นและเรียนรู้ในสิ่งที่ปรากฏ จึงเป็นที่มาของการพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการ แสดงว่าชาวบ้านเริ่มค้นหาสาเหตุหรือต้นเหตุของปัญหานั้น ๆ โดยการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น จากปากต่อปาก นั้นคือการค้นหาสมุทัยของสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ของปัญหา

     จากนั้นก็กลับไปถามว่า ชาวบ้านต้องการความสงบสุข จากพี่น้องเหมือนเดิมใช่หรือไม่? สิ่งที่เกิดขึ้นเพราะข้างบนกำหนดว่านี้คือการเมืองต้องเลือกตั้ง และแข่งขัน แต่มันเกิดความเดือดร้อน และทำลายล้างกัน จึงเกิดการตั้งเป้าหมาย (นิโรธ) ว่าการเมืองเป็นเรื่องของวิถีชีวิต ไม่ใช่เป็นเรื่องของเกมส์ ดังนั้นชาวบ้านจึงกำหนดแนวทาง(มรรควิธี) ในการเลือกตัวแทนของตนเองขึ้น

     ตามที่ผู้เขียนเข้าใจมีอยู่ ๓ กระบวนการ ๒ กระบวนทัศน์ คือ

     ๑.เมื่อมีการเลือกตัวแทน เช่น เลือกนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ระหว่างชาวบ้านจะนั่งคุยกัน ตกลงกัน โดยใช้วิธีให้ชาวบ้านวิพากษ์ หรือชี้แนะให้ฟังว่าใครควร ไม่ควร

     ๒.เมื่อนำข้อมูลที่ได้มาแล้ว ชาวบ้านจะปล่อยให้ผู้สมัครคัดสรรกันเองร่วมกับคนในชุมชน โดยเอาพฤติกรรมว่าใครมีความพร้อมมากกว่า กรณีนี้อาจจะทำซ้ำเหมือนข้อที่ ๑ ด้วยก็ได้ โดยการทำ SWOT ตัวเอง หรือไม่ก็ให้ชาวบ้านวิเคราะห์ความเด่น ความด้อยให้ฟัง บางรายอาจถอนตัวออกไป เพื่อหลีกให้อีกคนที่มีความพร้อมมากกว่า ทำงานได้ผลกว่า

     ๓.กรณีตกลงกันไม่ได้ ก็เดินไปหาเสียงพร้อมกันเลย โดยให้แต่ละคนได้เสนอนโยบายที่จะทำ ทั้งนี้ประชาชนเป็นคนตัดสินให้ ด้วยการเลือกตั้ง(โหวตด้วยการลงคะแนน)

     ๔.สิ่งที่เห็นอีกประการหนึ่งก็คือการ ลดทิฐิ หรือการรู้จักบทบาทของตนเอง โดยมีศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชน (ศอช) ๑๑ เครือข่าย ซึ่งประเด็นนี้น่าสนใจคือ นายก อบต., กำนัน, ฯลฯ ต่างถอดหัวโขนออก เป็นแค่กรรมการของศูนย์ประสานงานฯ ซึ่งประธานคนปัจจุบันมาจากองค์กรทางการศึกษา

     สะท้อนให้เห็นว่า คนในชุมชนมีคุณภาพและเข้าใจบทบาท หน้าที่สมมุตของตนเอง และพร้อมที่จะทำหน้าที่นั้น ๆ ซึ่งบางครั้งอาจเป็นพระเอก บางครั้งอาจเป็นพระรอง บางครั้งอาจเป็นแค่ตัวประกอบ นี้คือประชาธิปไตยจากรากหญ้า โดยมีธรรมาธิปไตยเป็นกรอบคิดในการทำงาน

     ๕.การค้นหาปัญหา เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ นำไปสู่การวางนโยบาย โครงการ กิจกรรมต่าง ๆ นั่นหมายความว่า ชุมชนนี้มีกลุ่มก้อน องค์กรที่เข้มแข็ง มีแผนของชุมชนเอง โดยเกิดมาจากความต้องการของคนในพื้นที่

     นี้คือ ความท้าทายของคนในระดับชุมชน ที่ ดร.ปรีดี พูดถึงว่า "วันนี้สถาบันพระปกเกล้า รดน้ำที่ราก(ชุมชน) ไม่ใช่ที่ใบ" นั้นสะท้อนอะไรบางอย่าง? และคำตอบก็มีตัวอย่างให้ดูแล้ว...!

 

หมายเลขบันทึก: 482646เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2012 20:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท