กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๗๐) : สุขที่ใจ


การสอนนักเรียนตัวเล็กๆ ให้สามารถใช้ภาษาเขียนสื่อสารความเข้าใจของตนออกมานั้นเป็นเรื่องยากที่ท้าทายความสามารถของคุณครูแอน – สุธนา สิริธนดีพันธ์ และคุณครูจอย – อนุสรา คงกระพันธ์ ที่รับอาสามาสอนหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทยให้กับนักเรียนชั้นประถม ๑ มาก

 

คุณครูจึงมานั่งคิดหาวิธีการรวมทั้งกระบวนการต่างๆ ที่จะนำพานักเรียนไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเริ่มเรื่องที่ใกล้ตัวนักเรียนมากที่สุด  นั่นก็คือ นำเอาความเป็นตัวเองเชื่อมออกไปหาเรื่องอื่นๆ

 

ในชั่วโมงที่เรียนการเขียนเรื่องโรงเรียนของฉัน คุณครูพาเด็กๆ ให้เดินดูโรงเรียนในมุมต่างๆ ในเวลาที่แตกต่างจากที่นักเรียนเคยพบเห็นในแต่ละวัน แล้วให้นักเรียนชมเรื่องราวของโรงเรียนชาวเขาจากภาพประกอบเพลง “โรงเรียนของหนู” จากนั้นก็มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันว่า “ความสุขของนักเรียนโรงเรียนเพลินพัฒนา กับ โรงเรียนชาวเขาแตกต่างกันอย่างไร ”  นักเรียนตอบว่า

 

โรงเรียนเพลินพัฒนา

  • มีของกินของใช้
  • มีสภาพพื้นที่ดี
  • มีเครื่องเขียนและอุปกรณ์มากมาย
  • ได้ในสิ่งที่ต้องการ
  • มีความสะดวกสบายและมีความสะดวกสบายและความสะอาด
  • มีปิดเทอม
  • ได้ทำอะไรตามใจตนเอง
  • มีเพื่อนเล่น ความสนุกจากการเล่น

โรงเรียนชาวเขา

  • มีรอยยิ้มให้กัน
  • มีคนบริจาคของ
  • มีของน้อยแต่อยู่ได้ มีความพอเพียง
  • มีความพอใจในสิ่งที่มีอยู่
  • การแบ่งปัน
  • ความอดทน ความพยายาม
  • ใจสู้ต่อความยากลำบาก
  • การเสียสละ
 

เมื่อครูเห็นว่าถ้อยคำที่หลั่งไหลออกมาสะท้อนความเข้าใจได้ชัดเจนดีแล้ว ครูจึงถามนักเรียนต่อไปว่า “ถ้าเป็นนักเรียน  นักเรียนจะเลือกความสุขแบบไหน  ระหว่างความสุขของโรงเรียนเพลินพัฒนากับความสุขของโรงเรียนชาวเขา เพราะเหตุใด ”  

 

นักเรียนส่วนใหญ่ยกมือและเลือกความสุขของโรงเรียนชาวเขาแบบไม่ต้องลังเล  พร้อมกับบอกเหตุผลว่า “เพราะความสุขแบบเพลินพัฒนาไม่นานก็หมดไป” เพื่อนอีกคนจึงช่วยเสริมว่า “เพราะความสุขแบบโรงเรียนเราเป็นความสุขที่หนูหาซื้อได้”  ในขณะที่นักเรียนอีกกลุ่มให้แรงสนับสนุนว่า “ความสุขของโรงเรียนชาวเขาจะมีความสุขได้นานกว่า เพราะหาซื้อไม่ได้”   และเพื่อนอีกหนึ่งคนช่วยสรุปส่งท้ายว่า “ความสุขของโรงเรียนชาวเขาเกิดขึ้นที่ใจของเราเอง” 

 

จากนั้นครูจึงเปิดโจทย์ให้เด็กๆ ได้คิดต่อว่า “ นักเรียนจะใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนนี้อย่างไรให้มีความสุขเหมือนที่โรงเรียนชาวเขา ”  คำตอบที่ได้คือ

 “เราต้องรู้จักพอเพียง” 

“พอใจในสิ่งที่มีอยู่”

“หยุดความอยากได้ของตนเอง ”

 “แบ่งปันให้กับเพื่อน” 

“ละกิเลส  ความอยากได้  ความโกรธ  ความอิจฉา” 

และอีกหลายเหตุผลที่ถูกกลั่นกรองมาจากความคิดของนักเรียน  ทำให้คุณครูแอนที่ยืนอยู่หน้าชั้นเรียนแอบอมยิ้มไม่ได้  

 

จากนั้นก็ให้นักเรียนเขียนเล่าวิธีการสร้างความสุขของตนเองลงในสมุด  และอ่านให้เพื่อนๆ ฟังหน้าชั้นเรียน ดังเช่น

 

โรงเรียนของฉัน  (ของขวัญ  ชั้น ๑/๒)

ฉันชื่อ ด.ญ. ทองกร  พนมธนศักดิ์ (ของขวัญ) ฉันอยู่โรงเรียนเพลินพัฒนา ซึ่งมีของกินของใช้และมีการปิดเทอม มีความสะดวกสบาย มีครูเยอะ มีเครื่องเล่น มีพัดลมเย็นๆ มีวิชาดีๆ ให้เรียน  ฉันรู้สึกว่าตัวเองโชคดีเพราะมีความสะดวกสบาย เป็นอิสระ และมีอาหารดี  ส่วนโรงเรียนชาวเขาทำงานกันเอง  อาหารเลือกไม่ได้  แต่โรงเรียนของเรามีของกินดีๆ แต่ไม่รู้จักคุณค่าอาหาร  กินทิ้งกินขว้าง  ฉันคิดว่าการที่เราจะใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนให้มีความสุขเราควรจะมีการแบ่งปัน มีความพอเพียง และการเสียสละ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ได้จากใจของเรา ซึ่งไม่มีวันหมดไป และจะก่อให้เกิดความสุขที่แท้จริงตามมา

 

 

โรงเรียนของฉัน  (แพรแพร  ชั้น ๑/๒)

ฉันชื่อ ด.ญ. ภัทริดา  เขียวเม่น ฉันอยู่โรงเรียนเพลินพัฒนา ซึ่งมีของที่ต้องการและมีของใช้ คือ ดินสอและยางลบ  โรงเรียนของฉันมีของที่ต้องการมากมาย และมีชมรมคือแสนภาษาที่ทำให้เราพัฒนาตนเองในการวาด ฉันโชคดีเพราะได้มีทุกอย่างที่ตนเองต้องการ ไม่เหมือนที่โรงเรียนอื่นที่ไม่มีอะไรที่ตนเองต้องการเลย แต่เขามีความสุขขึ้นได้อย่างไรฉันไม่รู้ แต่ฉันจะพัฒนาตนเองขึ้นให้ได้ ฉันคิดว่าการที่เราจะใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนให้มีความสุข เราควรจะไม่โลภ และหันมาใช้ชีวิตแบบคนที่ไม่โลภ เช่นเรามี เราใช้เท่าที่มีและหาได้ ความสุขก็จะเกิดขึ้น

 

ก่อนจบการเรียนในชั่วโมงนี้คุณครูจึงให้นักเรียนทบทวนตัวเองว่าอะไรสำคัญที่สุดในชีวิตเรา  คำตอบที่ได้แตกต่างกันไป  ทั้งการรู้จักพอเพียง  การพอใจในสิ่งที่มีอยู่  การมีน้ำใจกับผู้อื่น  มีความรักให้แก่กัน  แต่คำตอบสุดท้ายที่ทำให้ครูแอนสามารถจบชั่วโมงเรียนนี้ได้อย่างสวยงามและมีความสุข  คือ “ สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตผม คือใจ ”   

 

ครูแอนเดินออกมาจากห้องเรียนในวันนั้น ด้วยความอิ่มเอมใจที่ได้สอนภาษาไทย  เพื่อให้ภาษาได้พัฒนาความเป็นตัวตนของมนุษย์ตัวเล็กๆ ให้งอกงามขึ้นเป็นคนได้อย่างสมบูรณ์  และความสุขที่ครูแอนได้รับในวันนั้นเป็นความสุขที่แท้จริง ที่เกิดขึ้นจากใจของเรา ไม่สามารถหาซื้อที่ไหนได้ เพียงแค่การเปิดใจฟังสิ่งที่นักเรียนคิด และคำพูดของนักเรียนก็จะเป็นความสุขที่ย้อนสะท้อนกลับมาหาเราได้อย่างรวดเร็ว  

 

งานเขียนของนักเรียนหลายคนสามารถเรียบเรียงเรื่องราวที่ตนเองต้องการสื่อสารได้เป็นอย่างดี  มีวิธีการสร้างความสุขที่แตกต่างกันออกไป  เมื่อครูแอนได้อ่านงานจนครบทุกชิ้นก็ได้พบกับเป็นความสุขที่ได้อ่านเรื่องราวดีๆ  จากการได้เห็นนักเรียนมีความเติบโตทางด้านทักษะภาษา  และที่สำคัญคือได้ความสุขจากการเห็นความงดงามในตัวนักเรียนปรากฏขึ้นบนกระบวนการเรียนรู้ที่ออกแบบไว้ให้ผู้เรียนได้พบกับการเรียนรู้ที่แท้จริง

 

 

หมายเลขบันทึก: 482623เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2012 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 21:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ครูคือ..ผู้สร้างโลก ด้วยการสร้างศิษย์

ถ้าเราสามารถพัฒนาครู ให้เป็น "ครูเพื่อศิษย์" ได้

การปฏิรูปการศึกษาของประเทศเรา ก็จะได้นับหนึ่ง..เริ่มพัฒนาสักทีนะครับ

เป็นวิธีการสอนที่ดีมากค่ะขอนำไปใช้นะคะ

ด้วยความยินดีค่ะ หากได้ผลอย่างไรเขียนมาเล่าสู่กันฟังด้วยนะคะ

ขอบคุณค่ะ

คาบนี้ของครูแอน ครูอ้อได้เข้าสังเกตการสอนด้วยรู้สึกประทับใจเด็กๆ มาก และมีอีกหลายคำตอบที่น่าประทับใจที่ครูอ้อจดเอาไว้จึงอยากเอามาแบ่งปันเพิ่มเติมจากข้อเขียนของครูแอน เช่น

"โรงเรียนชาวเขามีความสุขแบบนั้นได้ ชาวเพลินก็มีความสุขแบบนั้นได้ ถ้าเรารู้จักแบ่งปันและไม่มีกิเลส"

"ความสุขมันไม่ได้อยู่ที่ของ มันอยู่ที่ใจ"

"แม้จะมีของเพียงหนึ่งอย่างแต่รู้จักเอาไปใช้อย่างคุ้มค่าก็มีประโยชน์กว่ามีของเยอะๆแต่ใช้ไม่เป็น"

(มีต่อ)

"การมีของมากเกินไป ก็ทำให้ใช้แบบไม่รู้ค่าและอาจทำให้คนอื่นเดือดร้อนด้วย เช่นใช้ห้องเลอะเทอะพี่แม่บ้านก็ต้องเหนื่อย"

"ต้องมีความอดทน ความสุขก็จะเกิดขึ้นได้ เมื่อเรามีความสุข ความสุขจะเป็นของเรา"

"ความสุขที่แต่ละคนสร้าง จะกลายเป็นความสุขของทุกคน และของโรงเรียน"

ครูอ้อนั่งฟังอยู่หลังห้องก็รู้สึกปลาบปลื้มจริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท