๒๗๐.กว๊านพะเยา ทำให้เรารักกัน


โดย...ชัยวัฒน์ จันธิมา และสหัทยา วิเศษ สถาบันปวงผญาพยาว

สานเสวนาหาทางออก........การพัฒนากว๊านพะเยาอย่างมีส่วนร่วม

-------------------------------------------------------------------

“กว๊านพะเยาแหล่งชีวิต...”

     ข้อความขึ้นต้นคำขวัญของจังหวัดพะเยาประโยคนี้ ได้สะท้อนนัยยะสำคัญที่กล่าวถึงแหล่งน้ำอันกว้างใหญ่กลางใจเมือง อันเป็นที่ยอมรับในท้องถิ่นและผู้มาเยือน ว่านี่คือ ชีวิต จิตใจ ใบหน้า หรืออัตลักษณ์ของจังหวัดพะเยา

     กว๊านพะเยา เดิมเป็นแหล่งน้าธรรมชาติ มีลักษณะเป็นหนองน้ำหรือบึงขนาดเล็ก มีพื้นที่ไม่ถึง ๑,๒๐๐ ไร่ ต่อมาเมื่อปี ๒๔๘๔ ทางราชการได้ก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำอิง จึงทำให้หนองน้ำแห่งนี้กลายเป็นทะเลสาบนํ้าจืดขนาดใหญ่ มีพื้นที่กว่า ๑๒,๐๐๐ ไร่ ส่งผลโดยตรงให้น้ำท่วมที่ไร่ที่นาของชาวบ้านและวัดวาโบราณสถานของชุมชนอีกหลายแห่ง

      จากพื้นที่สาธารณะของชุมชน กว๊านพะเยาถูกเปลี่ยนสถานะเป็นพื้นที่ราชพัสดุภายใต้การดูแลของกรมธนารักษ์ โดยกรมประมงเป็นผู้ขอใช้ประโยชน์หลัก เพื่อการอนุรักษ์สัตว์น้ำและพันธุ์ปลา ในขณะที่หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ และประชาชนทั่วไป ได้ใช้ประโยชน์และประกอบกิจกรรมต่างๆ จากกว๊านพะเยา อาทิ เพื่อการประมง เพื่อการประปา เพื่อการเกษตร เพื่อการท่องเที่ยว เพื่อการศึกษาวิจัย ฯลฯ ส่งผลกระทบให้ระบบนิเวศของกว๊านพะเยาทรุดโทรมลงอย่างน่าใจหาย

“๗๐ ปีแห่งการพัฒนา ต่างฝ่าย ต่างพัฒนา ต่างฝ่าย ต่างคิดตรงข้าม” 

     ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐ ซึ่งเป็นผู้ถือกฎหมายกับภาคประชาชน ที่ต่างฝ่ายต่างมีเป้าหมายทางการพัฒนาที่แตกต่างกัน และแม้แต่หน่วยงานของรัฐด้วยกันเองก็มีข้อขัดแย้งในการปฏิบัติงาน เนื่องจากถือกฎหมายหรือระเบียบในการใช้กว๊านพะเยาคนละฉบับ ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายมากกว่า ๘ ฉบับที่ควบคุมกว๊านพะเยา ไม่นับความไม่ต่อเนื่องของผู้บริหารและแนวนโยบายหรือโครงการพัฒนาที่ไม่มีชัดเจน ทั้งหมดล้วนเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาในท้องถิ่นหลายด้านตามมา

     ความขัดแย้งครุกรุ่นที่ไม่มีการหันหน้ามาพูดจากันเกือบ ๗๐ ปี ไม่มีการจับมือกันหาทางออกร่วมกัน ต่างฝ่ายต่างพูดจากัน ชาวบ้านไม่มีเวทีพูด หน่วยงานต่างฝ่ายต่างทำงานไปตามหน้าที่ของตนเอง “อนิจจากว๊านพะเยา” ที่ก้าวเข้าสู่วัยชรา แต่ลูกหลานกลับดูแลไม่ถูกที่ ถูกทาง ต่างคนต่างดูแลไปตามภาระหน้าที่ แต่ไม่ใช่ด้วยใจ

     ปี ๒๕๕๔ กว๊านพะเยาก้าวมาสู่วัย ๗๐ ปี สถาบันพระปกเกล้า โดยสำนักวิจัยและพัฒนา และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และสถาบันปวงผญาพยาว องค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ จึงได้ร่วมกันคิดและค้นหาวิธีการเพื่อลดปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยอาศัยกระบวนการสานเสวนาหรือ ประชาเสวนา มาเป็นเครื่องมือให้คนพะเยาทุกภาคส่วนได้หันหน้ามาคุยกัน โดยการจัดเวทีกลุ่มต่างๆ เพื่อหาทางออกให้กับการพัฒนากว๊านพะเยาที่ให้ความสำคัญกับการรับฟังเสียงทุกเสียง และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

“หาทางออกผ่านกระบวนการสานเสวนา” 

     กระบวนการครั้งแรก เริ่มต้นด้วยการประชุมเวทีสานเสวนาหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหารอบกว๊านพะเยา ภายใต้โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านกฎหมายแก่ภาคประชาชน โดยสถาบันพระปกเกล้า มีผู้เข้าร่วมจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน  ในเวทีดังกล่าวใช้วิธีการสานเสวนาหาทางออกร่วมกัน การทำฉากทัศน์ของกว๊านพะเยาทั้งสิ่งที่อยากเห็นและข้อห่วงกังวล พบว่าผู้เข้าร่วมได้กำหนดภาพฝัน และวิสัยทัศน์ในการจัดการกว๊านพะเยา ๓ ด้าน ได้แก่

๑) ความสวยงาม ใสสะอาด ของกว๊านพะเยา

๒) การพัฒนาและใช้ประโยชน์จากน้ำกว๊านพะเยาอย่างยั่งยืน

๓) การบริหารจัดการกว๊านพะเยาที่มีส่วนร่วม

 

     ต่อมาทางสถาบันปวงผญาพยาว โดยการสนับสนุนจากสถาบันพระปกเกล้า ได้จัดทำโครงการวิจัยเพื่อเสริมสร้างศักยภาพความเข้มแข็งด้านกฎหมายแก่ภาคประชาชน ศึกษากรณีชุมชนรอบกว๊านพะเยา จ.พะเยา โดยการวิจัยครั้งนี้ออกแบบการวิจัย และวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล จากการทำความเข้าใจในการดำเนินงานโครงการวิจัยต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การสรรหาคณะทำงาน และจัดเวทีย่อยในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดการกว๊านพะเยา จำนวน ๑๕ กลุ่ม โดยการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง จากตัวแทนแต่ละกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งทางตรงและทางอ้อม และใช้วิธีการสนทนากลุ่ม /การจัดเวทีประชุมร่วม/การจัดกิจกรรมในโอกาสสำคัญ เพื่อให้ได้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอของแต่ละกลุ่มต่อทางออกในการพัฒนากว๊านพะเยาอย่างมีส่วนร่วม

     กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดการกว๊านพะเยา ได้แก่ แกนนำชุมชนทั้งระดับท้องถิ่น-ท้องที่รอบกว๊านพะเยา ๕ ตำบล อาทิ ตำบลบ้านต๋อม ตำบลสันป่าม่วง ตำบลบ้านสาง ตำบลบ้านตุ่น และตำบลแม่ใส กลุ่มข้าราชการ กลุ่มนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ หอการค้า เครือข่ายลุ่มน้ำอิง เครือข่ายอนุรักษ์ป่าต้นน้ำกว๊านพะเยา เครือข่ายประมงพื้นบ้านกว๊านพะเยา เครือข่ายแม่หญิงพะเยา เครือข่ายนักวิชาการ กลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษามหาวิทยาลัย กลุ่มผู้ใช้น้ำท้ายกว๊านพะเยา กลุ่มคนรุ่นใหม่ คนในเมือง กลุ่มศิลปิน และกลุ่มแม่ค้าขายอาหารริมกว๊านพะเยา

     นอกจากนี้ยังได้จัดกิจกรรมเพื่อสร้างความร่วมมือและสร้างความเข้าใจกับกลุ่มอื่นๆ อาทิ การจัดกิจกรรมระหว่างคนถ่ายภาพกับชาวประมง การจัดวันรวมใจสานพลัง รักษ์กว๊านพะเยา ถวายพระเจ้าอยู่หัว ระหว่างท้องถิ่น ราชการ สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และเครือข่ายภาคประชาชน

“ข้อค้นพบจากกระบวนการสานเสวนา”

     จากการลงพื้นที่จัดเวทีพูดคุย แต่ละกลุ่มได้นำเสนอถึงปัญหาของกว๊านพะเยา แบ่งออกเป็น ๖ ด้าน ๑) ด้านการมีส่วนร่วมในการจัดการ และพัฒนากว๊านพะเยา  ๒)ด้านระบบนิเวศ   ๓) ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกว๊านพะเยา  ๔) ด้านที่ดินรอบกว๊านพะเยา  ๕) ด้านการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวกับกว๊านพะเยา  และ ๖)ด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งได้เสนอทางออก ซึ่งสามารถประมวลสรุปทางออกในการแก้ไขปัญหากว๊านพะเยา โดยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็น ๓ ด้าน ได้แก่

 ๑)     การจัดการกว๊านพะเยาให้ฟื้นฟูและพัฒนา ระบบนิเวศกว๊านพะเยา

๒)     ให้จัดระบบการบริหารจัดการกว๊านพะเยาโดยการมีส่วนร่วม

๓)     ให้จัดระบบความรู้และเครือข่ายเพื่อสร้างจิตสำนึกร่วมเป็นเจ้าของกว๊านพะเยา

 

     ในระหว่างการทำงานวิจัย ได้ค้นพบว่าการจัดเวทีพูดคุยหรือกิจกรรมร่วมระหว่างกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลาย ก่อให้เกิดกระบวนการรับฟัง การแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย มีข้อเสนอที่หลากหลาย มีการเรียนรู้และเข้าใจผู้อื่น มีความเห็นอกเห็นใจ และเกิดการยอมรับ ลดปัญหาความขัดแย้ง พร้อมให้ร่วมมือและกระตือรือร้น สร้างเป็นเครือข่ายในการพัฒนากว๊านพะเยาและชุมชนต่อไป

     มากไปกว่านั้นยังมีผลลัพธ์ที่สำคัญในทางสังคมซึ่งนำไปสู่ความร่วมมือและเกิดการยอมรับหลายด้าน อาทิ การเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการจัดทำโครงการบริหารจัดการลุ่มน้ำกว๊านพะเยาแบบยั่งยืน ตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี  ซึ่งข้อเสนอทางออกในการแก้ไขปัญหากว๊านพะเยาจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้ง ๓ ข้อ มีความสอดคล้องกับแผนโครงการบริหารจัดการลุ่มน้ำกว๊านพะเยา ใน ๕ กลุ่มแผนงาน

     ระหว่างกระบวนการจัดเวทีโครงการพัฒนากว๊านพะเยาในพระราชดำริ สถาบันปวงผญาพยาว และเครือข่ายภาคประชาชน ได้แก่ เครือข่ายประมงพื้นบ้าน เครือข่ายป่าต้นน้ำกว๊านพะเยา เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายลุ่มน้ำอิง เครือข่ายป่าชุมชน ชมรมท้องถิ่น จ.พะเยาได้ร่วมเป็นคณะทำงานจัดทำแผนงานร่วมกับคณะกรรมการบริหารจัดการลุ่มน้ำกว๊านพะเยา ในโครงการพระราชดำริ  ๓ แผนงานได้แก่ ๑) ด้านคุณภาพน้ำและสิ่งแวดล้อมกว๊านพะเยา ที่มีสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.พะเยา เป็นผู้รับผิดชอบ ๒) ด้านบริหารจัดการน้ำระบบลุ่มน้ำกว๊านพะเยาที่มีโครงการชลประทานพะเยาเป็นผู้รับผิดชอบ และ๓) ด้านติดตามตรวจสอบฯ ที่มีมหาวิทยาลัยพะเยาเป็นผู้รับผิดชอบ

          การทำงานวิจัยในครั้งนี้ ได้สังเคราะห์ตัวแบบในการแก้ไขปัญหากว๊านพะเยา (Kwan Phayao Model) โดยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดที่เป็นกระบวนการก่อน ระหว่าง และหลัง และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในระดับบุคคล ระดับกลุ่ม/ชุมชน/องค์กร/เครือข่าย และระดับนโยบาย

     ผลจากการวิจัยได้นำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารจัดการลุ่มน้ำกว๊านพะเยา ในพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการนำฉันทามติของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมต่อไป  โดยสถาบันปวงผญาพยาว และเครือข่ายฯ ได้วางแผนที่จะพัฒนาให้เกิดธรรมนูญกว๊านพะเยา (พรบ.กว๊านพะเยา) และกลไกการจัดการกว๊านพะเยาในรูปแบบของสภากว๊านพะเยาในระยะต่อไป 

     กระบวนการสร้างการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยผ่านวิธีสานเสวนา การประชุมกลุ่มย่อย การจัดกิจกรรมร่วมกันเป็นส่วนสำคัญในการหาทางออกให้กับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน ท้องถิ่น และสังคมได้ ถือเป็นบทสรุปของจากการศึกษาวิจัยในครั้งนี้

 

หมายเลขบันทึก: 482358เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2012 13:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท