นางเกสรกับชื่อหนองบัวและหนองกลับ



นางเกสรเกิดจากดอกบัวในหนองน้ำใหญ่ ฤาษีตาไฟ บำเพ็ญตะบะอยู่ที่ริมบึงบัวนำมาชุบเลี้ยงและเติบใหญ่อยู่ที่ต้นมะขามและดอนต้นปีบริมบึงบัว ในคืนเดือนหงาย นางเกสรจะโล้ชิงช้าและร้องเพลงพวงมาลัย ชาวบ้านไม่มีใครกล้าออกบ้าน ต่อมาเกิดชุมชนขึ้นจึงได้ชื่อว่าหนองบัว บึงบัวดังกล่าวได้ขุดลอกเป็นเกาะลอย และทุกวันนี้ ยังมีชาวบ้านที่ร้องเพลงพวงมาลัยได้หลายคน

อ่านรายละเอียดตำนานท้องถิ่นหนองบัว http://www.gotoknow.org/blogs/posts/481470

หมายเลขบันทึก: 481501เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2012 23:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

Beautiful and powerful work of art!

May I copy your drawing for my pwn viewing -- offline?

ขอบคุณคุณ sr ครับ
ด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่งครับ เป็นเรื่องที่น่ายินดีครับที่เรื่องราวของท้องถิ่นของชุมชนในชนบทแห่งหนึ่งยังมีความเป็นเรื่องสร้างความน่าสนใจให้แก่สังคมวงกว้างได้ เป็นการสนองตอบที่เป็นครูให้แก่ผมเป็นอย่างดีด้วยครับว่า การเรียนรู้ทางสังคมอย่างทั่วๆไปนั้น หากค่อยๆนำมาศึกษา นำเอามาประมวลผลใหม่ และหาวิธีถ่ายทอดที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมต่างๆอยู่เสมอ ก็จะทำให้เรื่องราวของสังคม วิถีชีวิต และถิ่นอาศัยต่างๆของเรา อีกมากมายหลายเรื่อง ที่ดูเหมือนว่าเราได้รู้จัก ใกล้ตัว และคุ้นเคยดีแล้ว เกิดแง่มุมที่ให้ความรู้สึกและความคิดใหม่ๆที่ดีๆได้อีก เป็นเสียงสะท้อนที่ให้กำลังใจทั้งแก่ผม คนหนองบัว และเครือข่ายคนทำงานพัฒนาการเรียนรู้สุขภาวะชุมชนมากครับ

คนหนองบัวโชคดีจังเลยครับอาจารย์..

ขอบพระคุณครับอาจารย์ธนิตย์ครับ

ในแง่หนึ่งก็เป็นการดึงศักยภาพและสร้างทุนทางสังคมวัฒนธรรมขึ้นจากสิ่งที่มีอยู่แต่ไม่เคยปรากฏต่อสังคมวงกว้างของชุมชนหนองบัว เพื่อเป็นทุนต่อทุนเหมือนกันครับอาจารย์ มองอย่างคนทำงานความรู้ ใช้ความรู้สร้างคนและสร้างสังคมอย่างเราๆ ก็ท้าทายดีเหมือนกันครับว่า เครื่องมือและวิธีการทางความรู้นั้น จะสามารถทำงานเชิงสังคมและร่วมสร้างสุขภาวะสังคม ได้ในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน อย่างไรบ้าง

อีกทางหนึ่งก็เหมือนกับเป็นการลงทุนลงแรงกันเองก่อน เพื่อแสดงความมุ่งมั่นตั้งใจ จะได้เป็นทุนให้หนองบัวพอได้เป็นแหล่งทำสิ่งดีๆของสังคมบ้างแม้จะเป็นบ้านนอกและไม่ค่อยมีอะไรมาก เป็นต้นว่า อยากค่อยๆทำให้หนองบัวพอมีข้อมูล มีกรณีตัวอย่างของจริงดีๆ แล้วได้เป็นแหล่งจัดประชุมในประเด็นที่สำคัญๆทั้งต่อหนองบัวและต่อวาระของประเทศ ซึ่งอยากได้มือดีๆหลายๆท่านไปร่วม อย่างเช่นอาจารย์ด้วยน่ะครับ

เห็นนางเกสรโล้ชิงช้าและร้องเพลงพวงมาลัยแล้ว ทำให้นึกถึงเพลงพวงมาลัยเพลงพื้นบ้านหนองบัว พอดีไปพบตัวอย่างเพลงพวงมาลัยเลยนำมาฝาก นำมาจากเอกสารงานวิจัยท้องถิ่นของนักเรียนชั้นม.๕ โรงเรียนหนองบัว ซึ่งทำวิจัยเรื่อง "พัฒนาการของประเพณีการกินดองในชุมชนบ้านกุฎฤาษี อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ๒๕๕๓"
ทีมวิจัยประกอบด้วย นางสาววิวรรธนา ฤทธิ์เทพ นางสาวกัลยรัตน์ เพ็งพรม นางสาววรรณิศา มั่นกิจ ครูที่ปรึกษา นางลัญฉกร อาสา

 ".....คุณยายถนอม แก้วไพรชัฎ คุณยายวัย 80 กว่าปีได้เล่าย้อนให้ฟังถึงประเพณีและการละเล่นในอดีตว่า คนหนุ่มสาว มักนิยมชวนกันไปเที่ยวตามงานเทศกาลหรืองานบุญต่างๆ โดยฝ่ายชายจะชักชวนเพื่อนของตน มารับสาวๆถึงที่บ้าน และไปเที่ยวกันเป็นกลุ่มใหญ่ มีการร้องรำแก้กันระหว่างชายและหญิง เช่น เทศกาลตรุษสงกรานต์ ในตอนเช้า คนในชุมชนจะพากันไปทำบุญที่วัด ฟังเทศน์และธรรมเทศนาจากพระสงฆ์ จากนั้นคนหนุ่มสาวจะนัดกันไปยังลานวัด หรือลานกว้างบริเวณหนองน้ำ เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลดังกล่าว มีการเก็บดอกไม้นานาชนิดเข้าไปในโบสถ์เพื่อพิษฐานขอพรพระพุทธรูปให้สมดังปรารถนา จากนั้นก็จะออกมาร้องรำกันข้างนอกที่ลานกว้าง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะล้อมกันเป็นวง และเริ่มเกี้ยวพาราสีกันด้วยบทกลอนต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่มักนิยมเล่นกันตอนบ่ายจนถึงค่ำ ......"(หน้า ๑๓-๑๕)

(ตัวอย่างเพลงพวงมาลัยโล้ชิงช้า)

ชาย  พวงมาลัย ลอยไป ลอยไปที่ต้นมะขาม (พร้อมกัน: เอยลอยไป ลอยไป ที่ต้นมะขาม) พี่มาพูดแต่น้องพี่เอย เขาให้เอย ฉะนี้นะได้ แล้วเอย ยังว่า ว่าแก้มน้อยเอยสองข้าง มันมีแต่ทางน้ำตา ทางน้ำตา (พร้อมกัน: จริงนะเอย มาลัย ยิ่งแลยิ่งใกล้กันเอย)

หญิง  พวงมาลัยเอย ลอยไป ลอยไปที่ต้นมะพลับ (พร้อมกัน: ลอยไป ลอยไป ที่ต้นมะพลับ) พี่ไปข้างทุ่งมะปรือ พี่เอย น้องก็แลหาย พี่ไปข้างทุ่งหนองทราย น้องก็คอยวันกลับ พ่อทูนหัวน้อยเอย ต้องให้เขาเย้ยน้องยับ (พร้อมกัน: ให้เจ้าหวังเอยมาลัยยิ่งไกลกันเอย)

ชาย  พวงมาลัยเอย ลอยไป ลอยไปที่ต้นมะรื่น (พร้อมกัน: เอยลอยไป ลอยไป ที่ต้นมะรื่น) ถ้าแม้นพี่ชายพี่ชายเอย อย่างว่าว น้องจะตามสาวไม่ให้ไปทางอื่น ทำให้พ่อช่อยอดนุ่น ทำไมจะได้พ่อคุณกลับคืน (พร้อมกัน: จริงเสียแล้วเอย มาลัยยิ่งรัก ยิ่งไกลกันเอย)

หญิง  พวงมาลัยเอย ลอยไป ลอยไปที่ต้นมะค่า (พร้อมกัน: เอ่อ เอย ลอยไป ลอยไป ที่ต้นมะค่า) พี่ไปทางเหนือเอย ให้ตามพี่ไปทางหลัง น้องก็คอยข่าวว่าแก้มน้องสองข้าง มีแต่ทางน้ำตา (พร้อมกัน: เจ้าพวงเอย มาลัย ยิ่งแลยิ่งไกลกันเอย)

จากเอกสารงานวิจัย(๒๕๕๓) ชุดโครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคเหนือ

 

เรื่อง พัฒนาการของประเพณีการกินดองในชุมชนบ้านกุฎฤาษี อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

ชื่อสมาชิก/ทีมวิจัย และระดับที่ศึกษา

นางสาววิวรรธนา   ฤทธิ์เทพ         ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
นางสาวกัลยรัตน์   เพ็งพรม          ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
นางสาววรรณิศา    มั่นกิจ             ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
ครูที่ปรึกษา นางลัญฉกร  อาสา   

กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลครับ
เมื่อตอนนั่งเสวนาเวทีคนหนองบัวที่เกาะลอย งานงิ้วเมื่อปีที่ผ่านมา ชาวบ้านกุฎฤาษีย้อนความทรงจำและอธิบายลักษณะเนื้อหาของเพลงพวงมาลัยที่มีลักษณะอย่างนี้ว่า เนื้อหาที่พรรณาถึงการจากไกลกัน ทำให้ห่วงหาอาลัย จนร้องไห้ถึงกันอย่างนี้ เนื่องจากเมื่อก่อนนี้พวกคนหนุ่มต้องออกไปเป็นทหาร ต้องออกไปรบ เพลงพวงมาลัยจึงมีความเป็นเพลงเชิดชูยกย่องเกียรติยศของคนที่อุทิศตนเพื่อชาติบ้านเมือง สะท้อนค่านิยมต่อชีวิตและการเลือกคู่ของคนหนองบัวในอดีต ..... ลักษณะอย่างนี้ นอกจากทำให้เห็นวิธีบันทึกถ่ายทอดความรู้ทางสังคมไว้ในวัฒนธรรมมุขปาฐะ หรือสืบทอดกันไว้ด้วยปากเปล่าแล้ว ก็เห็นวิธีประดิษฐ์สร้างศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อหล่อหลอมกล่อมเกลาวิธีคิดและวิถีปฏิบัติตน สร้างความเป็นหญิง ความเป็นชาย ให้ความหมายของการสร้างความเป็นครอบครัวที่มีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกันมากกับการสร้างชาติและสร้างสุขภาวะส่วนรวม .... น่านำเอามาถอดรหัสเพื่อเห็นภาพสะท้อนของสังคมก่อนมาสู่ยุคปัจจุบันให้ยิ่งแจ่มชัดมากขึ้นเรื่อยๆนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท