เบาหวานให้อะไรมากกว่าที่คิด เป็นได้มากกว่าที่เห็น


บทเรียนและประสบการณ์นี้นำสู่ขบวนการ P-D-C-A และนำมาพัฒนาระบบบริการในคลินิก โดยการร่วมมือกับทีมในการพัฒนาคัดกรองภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มารับบริการที่คลินิกเบาหวาน โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก ที่สอดคล้องกลมกลืน และเชื่อมโยงลงสู่ชุมชน ในเวลาต่อมา

เพราะในโลกนี้ ไม่ได้มีแค่เรา หากแต่ยังมีผู้คนอีกมากมายให้เราต้องเดินเข้าไปหา การทำงานเป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้ชีวิต ที่ในแต่ละวันมี ผู้ป่วยเข้ามาให้เราได้ห่วงใย ทำให้เราก้าวออกจากการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เข้าหาความจริง  เพราะในความจริงมีคนอื่นไม่ใช่มีแต่ตัวเรา
ในตอนเช้าของทุกๆวัน ป้าลีหญิงชราวัย ๗๔ ปี จะเข็นรถขายข้าวเหนียวปิ้งผ่านหน้าอนามัยเขื่อนขันธ์ด้วยหน้าตาเรียบเฉย วันนี้ก็เหมือนเช่นทุกวัน  แต่วันนี้ป้าลีเลือกที่จะแวะเข้ามาที่อนามัยและบอกว่าเวียนหัว เพลีย ไม่มีแรง ยาหมดมาขอยาอินสุลิน ที่ไม่ได้ฉีดยามา ๘ เดือน ด้วยเหตุผลหลานสาวไปเรียนไม่มีใครฉีดยาให้  หลังจากนั้นป้าก็ถูกส่งเข้ามาในคลินิกเบาหวานโรงพยาบาลพุทธชินราช ด้วยน้ำตาล ๔๕๘ mg%

กระบวนการดูแลเริ่มไปตามระบบ  เราตรวจจับภาวะเร่งด่วนที่ต้องดูแลได้ตั้งแต่ยายนั่งลงตรงหน้า ด้วยใบหน้า สีหน้า แววตา ท่าทาง และความหมายเป็นนัยๆที่สะท้อนออกมาเป็นคำพูด

  • ป้าเป็นเบาหวานใช้ยาฉีด “น้อยใจลูก น้อยใจหลาน ลูกคนที่ดีๆ พึ่งตายไป ปีที่แล้ว  อยู่ก็เป็นภาระเค้า หลานมันบอกไม่ว่างมาฉีดยา ก็ไม่ต้องมา เป็นภาระมันเปล่าๆ” รวมถึงน้ำตาคลอๆ เมื่อป้าพูดถึงเรื่องของป้า
  • เมื่อเราได้พูดคุย ค้นหาปัญหา และให้คำปรึกษา แนะนำ เราพบว่า

วันนี้โรคและความเจ็บป่วยไม่ใช่เรื่องที่ป้าสนใจ  เพราะป้ารู้สึกว่าอยู่ก็ทุกข์  ลำบากในการหาที่พึ่งพา ลูกต้องทำมาหากินไม่มีเวลามาดูแล หมอบอกให้พาญาติมาด้วยทุกครั้ง พอบอกลูก ลูกไม่มาก็เสียใจ น้อยใจ ตามองไม่เห็นฉีดยาเองไม่ได้  ให้หลานฉีดก็มาไม่ตรงเวลา อยากรีบไปขายของใจก็พะวังพะวง บางวันก็ไม่มา เลือกอาหารทานก็แสนลำบาก เดินไปผ่านร้านอะไรมีอะไรทานได้ก็ทาน ทานแล้วมีความสุขแต่น้ำตาลขึ้นก็ช่างมัน   เข็นรถไปขายข้าวเหนียวปิ้งแต่เช้า  ถ้าขายดีก็มีความสุข จะต้องทานข้าวไม่ตรงเวลาก็ช่างมัน  ฉีดยาแล้วก็รีบออกมาเข็นรถขายของ

การรับรู้ที่หน้าห้องตรวจ ในวันนั้นบอกว่า

  • ยายค่ะ พยายามมารักษาโรคให้ต่อเนื่องนะคะ  เราอยากให้ยาย ทานยาให้ตรงเวลา  อยากให้ยายทานยาและใช้ยาให้ต่อเนื่อง ไม่ขาดยาเหมือนเดิมที่ผ่านมา
    • สภาพหน้าตาเหมือนฟังแล้วผ่านไป น้ำตา คลอๆ แล้วยายบอกว่าจะพยายาม แต่เราตรวจจับรับความรู้สึกได้ว่า เรื่องที่เราพูด เราขอ ยากเกินกว่าที่ป้าจะทำได้

การกำหนดการเยี่ยมบ้านจึงถูกกำหนดในอีก ๒ วันต่อมาด้วยทีม พยาบาล นักสุขศึกษา ทีมอนามัย และคนสำคัญ “พี่ลบ” หัวหมู่เบาหวาน ม. ๙ เขื่อนขันธ์  ด้วยความต้องการเข้าไปช่วยดูแลรับทราบปัญหา และการต้องการเพียงอยากให้ยายลี  มีแววตาที่มีความสุขตามประสาคนแกอายุ ๗๔ ปี  

  • การลงไปเยี่ยมหาที่บ้า สิ่งที่เราสัมผัสด้วยความคิด กับสิ่งที่สัมผัสที่บ้านต่างกันโดยสิ้นเชิง การก้าวไปสู่ความจริง ซึ่งเราสามารถทำได้ด้วยตามหน้าที่ของเรา แล้วก็เดินเข้าหาความจริงมากยิ่งขึ้น
    • เราไปเยี่ยมหายายลีที่บ้าน ยายนั่งรออยู่ที่หน้าบ้าน บนเตียงไม้ บ้านยายเป็นบ้านชั้นเดียวสภาพเก่า ยายอยู่ที่บ้านคนเดียว แววตาไม่สดใส   
    • ประเด็นของการมาวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องการใช้ยา เพราะเมือพูดคุย ยายบอกอยากตาย กลางคืนนอนคนเดียว อยู่คนเดียว ตายก็ตายสบาย ไม่อยากให้ใครมาจุ้นจ้าน หลานมานอนด้วย เงินหาย  เราพบว่ายายเตรียมเชือกไว้แล้ว มาหลายวันอยากผูกคอตาย  อยากตาย  เพราะฉะนั้นการไม่ใช้ยาฉีดอินสุลิน จึงเข้าทางยาย ที่ไม่อยากอยู่ให้น้ำตาลสูงๆ ให้ตายไป
    • วันนี้เราได้ตั้ง goal ใหม่ และค้นพบว่ายายภูมิใจที่ได้เข็นรถออกขายของ เพราะรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ที่สามารถขายของ หาเงิน  ถ้าอยู่บ้านเฉยๆ กลัวจะเดินไม่ได้ เราใช้วิธีดึงให้ป้ามองคุณค่าในตนเอง ที่ป้าภาคภูมิใจ และจากกันด้วยรอยยิ้ม และเราก็ส่งต่อผู้ป่วยรายนี้ให้ “พี่ลบ” หัวหมู่เบาหวานให้เข้ามามีบทบาทร่วมดูแล
    • พี่ลบ หัวหมู่เบาหวาน ทำได้ไม่ยาก กับการมาแวะทักทาย ตะโกนเรียก เมื่อว่างก็มานั่งพูดคุยเล่น มาเจาะเลือดตรวจวัดระดับน้ำตาล และสอนป้าแปลผล ว่าสูงระดับไหน รวมถึงการพูดคุยซักถามว่าทานอะไรมาในแต่ละวัน  และค่อยๆ สอนป้าฉีดยาวันละนิดละหน่อย จากที่เคยฉีดให้ก็ค่อยๆเปลี่ยนเป็นสลับกันฉีดยาโดยใช้นับ click จากปากกา ป้าทำได้อย่างแม่นยำ จากการใช้คนในชุมชนร่วมกันดูแล พูดคุย จนทำให้ป้าลีรู้สึกไม่โดดเดี่ยว และหันกลับมาดูแลตนเองได้  เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จ ที่บอกได้ถึงตัวชี้วัดเชิงคุณค่าที่ไม่ได้อยู่ในตัวชี้วัดหลัก ที่ช่วยได้ทั้งสุขทางกาย และสร้างสุขทางใจแก่ป้าลี 

บทเรียนและประสบการณ์นี้นำสู่ขบวนการ P-D-C-A  และนำมาพัฒนาระบบบริการในคลินิก โดยการร่วมมือกับทีมในการพัฒนาคัดกรองภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มารับบริการที่คลินิกเบาหวาน โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก ที่สอดคล้องกลมกลืน และเชื่อมโยงลงสู่ชุมชน  ในเวลาต่อมา

ผู้เล่า รัชดา พิพัฒน์ศาสตร์

คำสำคัญ (Tags): #หัวหมู่เบาหวาน
หมายเลขบันทึก: 481303เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2012 02:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 12:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชื่นชมกับทีมมากนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท