ทบทวนตนเองและเสนอแนะการทำงานของกกอ.



          ในงาน Franco-Thai Symposium 2011 เมื่อวันที่ ๑ ก.พ. ๕๕   พบ ศ. ดร.วิชัยริ้วตระกูล ประธานกกอ.ที่ทำหน้าที่หลังผมลาออกท่านถามเหตุผลที่ผมลาออก   และอื่นๆ อีกหลายอย่าง

          ผมสารภาพกับท่านว่า หลังจากไตร่ตรองมานาน   ผมคิดว่าตนเองทำผิดหลายอย่างในฐานะประธาน กกอ.   ส่วนใหญ่ทำผิดเพราะยึดหลักการเกินไป    ไม่ปรับปรน (ผ่อนปรน) ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง    จึงเป็นที่มาของบันทึกนี้เพื่อเสริมสิ่งที่ผมได้เรียน ศ. วิชัยไปแล้ว

          เกณฑ์ตัดสินว่าทำผิดคือ ประเทศชาติได้ประโยชน์น้อยไป

          ผมขอทบทวนตนเองโดยใช้เครื่องมือ AAR (After Action Review) ในฐานะที่เป็นนัก KM

๑. วัตถุประสงค์ของผมในการรับหน้าที่ประธาน กกอ. มีอะไรบ้าง


          - เพื่อขับเคลื่อนระบบการกำกับดูแลระบบอุดมศึกษาให้เป็นระบบที่เรียนรู้   เกิดการเรียนรู้ร่วมไปกับสังคมวงกว้าง
          - มีการสร้างความรู้เพื่อทำความเข้าใจระบบการศึกษา   สำหรับนำไปสานเสวนากับสังคมวงกว้าง   และเพื่อนำไปเสนอแนะเชิงนโยบายต่อ รมต. ศึกษาฯ
          - สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งมีจุดยืนหรือจุดเน้นของตนเองในด้านความเป็นเลิศ   ทำให้ระบบอุดมศึกษาเป็นระบบที่มีความหลากหลาย   หลายความเป็นเลิศ  


          - ผลงานวิชาการต่างมาตรฐาน  แต่มี “มาตรฐาน”
           - ส่งเสริม mobility ของ อจ.  นศ.
          - เชื่อมโยงกับ “ภาคชีวิตจริง” หลากหลายแบบ


          หลักฐานเชิงประจักษ์ของวัตถุประสงค์อยู่ที่ Pptประกอบการนำเสนอต่อการประชุม กกอ. ครั้งแรกที่ผมเป็นประธาน ที่นี่


๒. วัตถุประสงค์ข้อไหนที่ทำได้มากกว่าที่คิด เพราะอะไร


          ข้อนี้ตอบยากเพราะในช่วงเวลา ๒ ปีเศษมีการวางฐานตามวัตถุประสงค์ ๖ ข้อข้างบนแต่ฝ่ายปฏิบัติคือกกอ.ยังคงทำงานแบบเดิมๆและที่สำคัญคือเจ้าหน้าที่ของสกอ.มีทักษะสำหรับทำงานประจำไม่มีทักษะสำหรับทำงานสร้างการเปลี่ยนแปลง    มีทักษะสำหรับทำงานแบบ regulatory by command and control ไม่มีทักษะทำงานกำกับดูแลแบบ knowledge-based   และใช้กลไกสังคม และกลไกคุ้มครองผู้บริโภค ในการกำกับดูแลระบบ อุดมศึกษา    ความจริงข้อนี้จะเชื่อมโยงไปสู่คำตอบข้อ ๔
          ข้อที่ผมคิดว่าพอจะเห็นผลสำเร็จชัดเจนคือ ข้อ ๒ “มีการสร้างความรู้เพื่อทำความเข้าใจ ระบบการศึกษา”   ซึ่งผลงานเกือบทั้งหมดมาจากสถาบันคลังสมองของชาติ    ที่มี ศ. ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง เป็นผู้อำนวยการ   โดยผมให้เครดิต ดร. สุเมธ แย้มนุ่น ที่สามารถชักชวน ศ. ดร. ปิยะวัติ มาทำงานนี้ได้   ผลจากข้อ ๒ จะนำไปสู่ผลตามข้อ ๑ แต่ยังไม่มีการจัดการที่ สกอ. เพื่อให้เกิดผลตามข้อ ๑ 
          ที่จริงมีการเคลื่อนไหวไปตามแนวทางของวัตถุประสงค์ทั้ง ๖ ข้อ   แต่เป็นการเคลื่อน แบบวิวัฒนาการ ไม่ใช่แบบที่เป็นผลของการจัดการ


๓. วัตถุประสงค์ข้อไหนที่ทำได้น้อยหรือไม่ได้เลย เพราะอะไร

          ที่จริงทำได้น้อยทุกข้อแต่ถ้าจะให้เลือกข้อที่มีการเคลื่อนไหวน้อยที่สุดคือข้อ “ส่งเสริม mobility ของ อจ.  นศ.” ทั้งที่เป็น mobility ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาภายในประเทศ   และ mobility ออกไปนอกประเทศและเข้ามาในประเทศ    ที่มาตรการส่งเสริมยังน้อยไป ยังไม่ชนะระบบที่แข็งตัว ต่างสถาบันต่างอยู่   เน้นแข่งขันกันมากกว่าร่วมมือ


๔. หากได้โอกาสทำงานนี้ใหม่ จะปรับปรุง หรือทำแตกต่างจากเดิมอย่างไร


          ข้อนี้คือเป้าหมายหลักของการเขียนบันทึกนี้สำหรับการเรียนรู้ของตนเองและสำหรับเสนอแนะต่อประธานกกอ.ท่านใหม่คือ ศ. ดร.วิชัยริ้วตระกูลไม่ใช่เพื่อบอกว่าอยากกลับไปทำงานแก้ตัว
          ผมฟันธงว่าต้องทำ๖อย่าง
          (๑)ดำเนินการให้มีการพัฒนาทักษะของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสกอ.   ให้ทำงานกำกับดูแลระบบอุดมศึกษาในมิติใหม่ที่ไม่ใช่เน้น regulate by power   แต่หันมา regulate by empowerment   เป็น knowledge-based regulation   เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากหากปล่อยไว้สกอ. ก็จะยิ่งตกต่ำล้าหลังความผิดพลาดของผมในเรื่องนี้คือได้ดำเนินการผ่านการประชุมแบบ retreat แล้วมอบให้เลขาธิการกกอ.ไปดำเนินการเรื่องนี้ยากและซับซ้อนเกินกำลังของเลขาธิการกกอ.จะดำเนินการได้ต้องมีพลังภายนอกเข้าไปช่วยคือต้องกำหนดวิสัยทัศน์เปลี่ยนแปลงระบบการทำงานภายในสกอ.อย่างชัดเจนตามด้วยการวางยุทธศาสตร์การสร้างการเปลี่ยนแปลงและแผนปฏิบัติโดยมีกรรมการกกอ. เข้าไปช่วยทุกขั้นตอน
          (๒)ร่วมกันตั้งโจทย์ใหญ่เชิงระบบแล้วมอบให้สถาบันคลังสมองฯไปดำเนินการวิจัยและพัฒนาโดยจัดให้มีงบประมาณก้อนโตพอที่จะดำเนินการตามโจทย์ใหญ่นั้นที่เป็นโจทย์ที่นำไปสู่การตัดสินใจปรับเปลี่ยนระบบและกติกาที่ล้าหลังขัดขวางเป้าหมาย ๖ ประการตามข้อ ๑
          (๓)ทุกครั้งที่มีการประชุมกกอ. มีการเตรียมล่วงหน้าว่าหลังการประชุมจะมีการแถลงข่าวเชิงนโยบายเรื่องอะไรย้ำว่าต้องไม่แถลงข่าวเล็กๆที่เป็นเรื่องขัดแย้งเฉพาะกาลต้องแถลงข่าวเรื่องเชิงนโยบายใหญ่ๆเชื่อมโยงกับการดำเนินการเป็นรูปธรรมและเชื่อมโยงกับบทบาทของสาธารณชนต่อการขับเคลื่อนระบบอุดมศึกษา
           (๔)นัดพบรมต. ศึกษาธิการทุกๆ ๒ เดือนเพื่อเสนอแนะนโยบายหลักๆเกี่ยวกับบทบาทของอุดมศึกษาต่อการพัฒนาบ้านเมืองเช่นเรื่องการวิจัยการผลิตบัณฑิตการทำงานเชื่อมโยงกับชีวิตจริงของผู้คนการชี้นำสังคมในเรื่องสำคัญๆหรืออาจเรียกว่านโยบายสาธารณะโดยต้องมีคณะทำงานยกร่างประเด็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแต่ละเรื่องมีความยาวไม่เกิน ๑ หน้าสำหรับนำไป dialogue กับรมต.      
           (๕)ปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์เข้าสู่ตำแหน่งวิชาการใหม่ให้ยอมรับวิชาการหลายด้านได้แก่ scholarship of teaching, scholarship of research, scholarship of services    โดยอาจารย์ต้องทำงานทุกด้านแต่ละคนทำงานด้วยน้ำหนักต่างกันตามข้อตกลงอย่างเป็นทางการและนับผลงานวิชาการทุกด้านประกอบกัน
          (๖)แสวงหาความร่วมมือกับกลไกอื่นเช่นทปอ.,ปอมท. เพื่อร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงตาม ๕ ข้อข้างบน

 

๕. ได้ความรู้สำหรับนำไปใช้ในอนาคตอย่างไรบ้าง


          ผมได้ความรู้และมิตรภาพมากมายในการทำหน้าที่ประธานกกอ. ในช่วงเดือนมกราคม ๒๕๕๒ - กันยายน ๒๕๕๔   ดังได้เขียนเล่าใน บล็อก gotoknow.org/blog/council ตลอดเวลาดังกล่าว    หลังทำ AAR กับตนเองผมได้บทเรียนของการทำงานบนฐานของหลักการ กับบนฐานของความเป็นจริง   ที่จะต้องมีสมดุลระหว่าง ๒ ขั้ว   เพื่อให้เกิดผลดีต่อสังคม เป็นที่ตั้ง 

 

วิจารณ์ พานิช
๔ ก.พ. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 479840เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2012 11:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 10:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท