สพฐ.เพิ่มเวลาเรียนของเด็กประถม-มัธยม จะเกิดผลกระทบอะไรตามมาบ้าง?


     ตามที่ สพฐ.ให้เพิ่มเวลาเรียนของเด็กประถม-มัธยม มากขึ้นกว่าเดิม  มีผู้วิเคราะห์ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น  เป็นเหตุผลที่น่ารับฟังทีเดียว  ตอนผมไปดูงานโรงเรียนที่นิวซีแลนด์ ได้ถามนักเรียนไทยที่เรียน ม.ต้นจากบ้านเราแล้วไปต่อ ม.ปลายที่นิวซีแลนด์  เขาบอกว่า
        "บ้านเราเรียนเยอะ เครียดมาก จนเบลอไปหมด  เรียนที่นี่(นิวซีแลนด์)เรียนไม่มาก แต่สนุกได้สาระกว่า..." 
        ลองอ่านบทวิเคราะห์นี้ดูสิครับ...(อาจจะยาวสักหน่อย)
         สพฐ.มีคำสั่งให้โรงเรียนประถม มัธยมทั่วประเทศเพิ่มเวลาเรียน โดยกำหนดให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาต้องมีเวลาเรียนรวมจากเดิมที่เรียนไม่เกิน 1,000 ชั่วโมง เป็นไม่น้อยกว่า 1,000 ชั่วโมงต่อปี ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จากเดิมที่เรียนไม่เกิน 1,200 ชั่วโมง เป็นไม่น้อยกว่า 1,200 ชั่วโมงต่อปี

           หากดูผิวเผินคำสั่งนี้เหมือนไม่น่าจะมีผลกระทบอะไร ไม่เห็นต้องมีใครเดือดร้อน แต่เป็นคำสั่งที่แสดงให้เห็น ระบบราชการที่รวมศูนย์อำนาจ ที่คิดจากส่วนกลางแล้วสั่งลงมา โดยไม่ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นใดๆ ก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำกันเป็นปกติวิสัยของระบบราชการไทย

           การเพิ่มชั่วโมงเรียนโดยอ้างว่า "การจัดโครงสร้างชั่วโมงเรียนแบบเดิมไม่เวิร์ก"จึงต้องเพิ่มชั่วโมงเรียน แล้วแน่ใจได้อย่างไรว่าการเพิ่มชั่วโมงเรียนจะสามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้ ?

            ขณะนี้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนกันอย่างเต็มที่ วันหนึ่งมีเวลา 8 ชั่วโมง จัดเป็นชั่วโมงเรียน 7 ชั่วโมง สมมุติเด็กมีชั่วโมงเรียนสัปดาห์ละ 31 ชั่วโมง คือเรียน คณิตศาสตร์ 3 ชั่วโมง วิทยาศาสตร์ 3 ชั่วโมง ภาษาไทย 3 ชั่วโมง ภาษาอังกฤษ 3 ชั่วโมง สังคมศึกษา 3 ชั่วโมง ประวัติศาสตร์ 1 ชั่วโมง คอมพิวเตอร์ 2 ชั่วโมง ศิลปะ 1 ชั่วโมง พลศึกษา 1 ชั่วโมง สุขศึกษา 1 ชั่วโมง วิชาการงาน 2 ชั่วโมง วิชาเพิ่มเติมเลือกตามความสนใจอีก 2 วิชา รวม 4 ชั่วโมง กิจกรรมแนะแนว 1 ชั่วโมง กิจกรรมชุมนุม 1 ชั่วโมง กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด 1 ชั่วโมง ชั่วโมง พัฒนาคุณธรรมอีก 1 ชั่วโมง  รวมเบ็ดเสร็จ 31 ชั่วโมง

            หากคิดเป็นจำนวนรายวิชาก็ไม่น้อย หากครูสั่งงาน สั่งการบ้านกันทุกคนทุกสัปดาห์ คิดดูว่ากรรมจะตกแก่ผู้เรียนขนาดไหน อาจถึงขั้นเบื่อการเรียนกันไปเลยทีเดียว

             หากเด็กชั้นมัธยมต้นเรียนสัปดาห์ละ 31 ชั่วโมง เด็กจะมีเวลาว่างสัปดาห์ละ 4 ชั่วโมง เด็กได้ใช้เวลาเหล่านี้ไปทำอะไร? คำตอบคือ นอกจากเด็กจะได้ใช้เวลาเหล่านี้ตั้งแต่การพักผ่อนพูดคุยกับเพื่อน มีเวลาให้สมองปลอดโปร่งให้หลุดพ้นจากห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ ในห้องเรียนที่พยายามอัดยัดเยียดความรู้ที่มีมากมาย การพักผ่อนเพื่อให้มีพลังพอที่จะต่อสู้กับการเรียนที่หนักหนาสาหัส

การเรียนในระดับชั้นมัธยมเป็นการเรียนระดับพื้นฐาน ชอบหรือไม่ชอบ ถนัดหรือไม่ถนัดก็ต้องเรียน เพราะรัฐกำหนดให้เป็นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนที่ผ่านการเรียนในโรงเรียนต้องรู้ เมื่อเป็นดังนี้การปล่อยให้เด็กได้ว่างจากการเรียนบ้าง ได้ทำกิจกรรมที่เป็นอิสระบ้างคงดีกว่ากักเขาไว้ในห้องเรียนแล้วต้องฟังครูอย่างเดียว

           นอกจากนี้เด็กยังสามารถใช้เวลาที่ว่างทำการบ้าน เข้าห้องสมุดอ่านหนังสือ เล่นกีฬา หรือบางทีเด็กก็ไม่ได้ว่างจริงๆ เพราะต้องใช้เวลาเหล่านี้สำหรับการสอบซ่อม เรียนซ่อมเสริม รวมทั้งการทำงานกลุ่ม และบางครั้งครูสามารถขอชั่วโมงว่างของเด็กมาสอน การที่เด็กมีชั่วโมงว่างเป็นข้อดีอย่างหนึ่งของครู กรณีครูไปอบรมสัมมนาก็ไม่ต้องเสียชั่วโมงสอน สามารถนำชั่วโมงว่างของเด็กมาสอนชดเชยได้ ทำให้เด็กได้เรียนตามปกติแม้ว่าครูจะไปอบรมสัมมนาก็ตาม ครูคนอื่นก็ไม่ต้องเดือดร้อนสอนแทน

       หากเด็กเรียนสัปดาห์ละ 31 ชั่วโมง ปีหนึ่งเด็กจะเรียนทั้งหมด 40 สัปดาห์ หักเวลาที่ใช้สอบกลางภาค ปลายภาค 2 เทอม เหลือเวลาเรียนจริงๆ 36 สัปดาห์ คิดเป็นชั่วโมงเรียนรวม 1,116 ชั่วโมง นี่ขนาดเรียนเต็มเหยียดยังน้อยกว่าคำสั่งใหม่ของ สพฐ.ถึง 84 ชั่วโมง หรืออาจต้องมากกว่านี้ เพราะหากต้องจัดชั่วโมงเรียนไม่น้อยกว่า 1,200 ชั่วโมงต่อปีแล้ว เด็กต้องเรียนอย่างน้อยสุดสัปดาห์ละ 34 ชั่วโมง จึงจะได้ชั่วโมงตามเกณฑ์ คือไม่น้อยกว่า 1,200 ชั่วโมงต่อปี แสดงว่าเด็กจะว่างสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง เวลาแค่นี้เด็กสามารถทำกิจกรรมอื่นๆ นอกห้องเรียนได้สักกี่มากน้อย ทำให้ชีวิตจะเต็มไปด้วยความเครียด

          หากโรงเรียนต้องจัดสอน 1,224 ชั่วโมง (34 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) แสดงว่าโรงเรียนที่เคยสอน 31 ชั่วโมง จะต้องมีชั่วโมงเพิ่มขึ้นอีก 108 ชั่วโมง หรือถ้าคิดเป็นระดับชั้นมัธยมต้น หากต้องเพิ่มชั่วโมงสอนอีก 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ถ้าโรงเรียนมีนักเรียนชั้นมัธยมต้นรวมกันจำนวน 40 ห้องเรียน แสดงว่าจำนวนชั่วโมงที่ต้องสอนเพิ่มต่อสัปดาห์คือ 120 ชั่วโมง ต้องใช้ครูกี่คนมาช่วยสอน ในเมื่อครูแต่ละคนมีชั่วโมงสอนที่เต็มเหยียดและภาระในความเป็นครูอีกมากมาย โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดใหญ่ที่อายุครูเฉลี่ยส่วนใหญ่อยู่ในวัยใกล้เกษียณ หรือเกษียณอายุก่อนกำหนด กว่ารัฐจะจัดสรรตำแหน่งมาให้ก็ไม่ทันเหตุการณ์ ครูก็ต้องแบกภาระกันต่อไป ส่งผลต่อขวัญและกำลังใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อรู้สึกว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการศึกษาเหลียวแลครู หรือต่อสู้เพื่อครูในเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน?

          สถานการณ์ในปัจจุบัน เด็กไทยมีชั่วโมงเรียนน้อยไปหรืออย่างไร อีกทั้งการอ้างงานวิจัยที่บอกว่า "การแก้ไขโครงสร้างเวลาเรียนดังกล่าว สืบเนื่องจากการศึกษาวิจัยและติดตามผลการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 พบว่า ไม่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน และความต้องการของผู้เรียน จึงได้มีการทบทวนเรื่องดังกล่าวใหม่"

          จากข้อความดังกล่าวนี้ทำให้สงสัยว่างานวิจัยนี้ทำเมื่อใด ในเมื่อหลักสูตรแกนกลางเริ่มใช้ทั่วประเทศได้แค่ 2 ปี เวลาแค่นี้ความคิดและผลของการใช้หลักสูตรจะตกตะกอนพอเป็นข้อสรุปได้แล้วหรือ อีกทั้งที่ว่าไม่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนนั้น เกี่ยวกับจำนวนชั่วโมงเรียนตรงไหน หรือการกำหนดเนื้อหาสาระที่ให้เรียนไม่เหมาะกับสภาพท้องถิ่นกันแน่ ที่อ้างว่าไม่เหมาะกับความต้องการของผู้เรียนนั้น นักเรียนต้องการเพิ่มชั่วโมงเรียนจริง ?

          หากถามเด็กกันจริงๆ จะพบว่าการเรียนระดับชั้นมัธยมเป็นการเรียนที่ยุ่งยากมาก เด็กจะมีภาระงานจากการเรียน กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน จนแทบไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น แต่ละโรงเรียนใช้เวลาเรียนกันอย่างเต็มที่ วิชาที่เด็กเรียนชั่วโมงก็เต็มที่ หากถามกันจริงๆ เด็กอาจอยากให้ลดเนื้อหาสาระที่อัดแน่นเกินไป ทำให้การศึกษาไทยได้แต่ปริมาณ เรียนเยอะเข้าไว้ แต่คุณภาพเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

         เด็กไทยเรียนน้อยไป ? แต่จากข้อมูลของ UNESCO พบว่า  เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับ 2 ในระดับอายุ 9 ปี 1,080 ชั่วโมงต่อปี   เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับ 1 ในระดับอายุ 10 ปี 1,200 ชั่วโมงต่อปี  เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับ 1 ในระดับอายุ 11 ปี 1,200 ชั่วโมงต่อปี  เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับ 5 ในระดับอายุ 12 ปี 1,167 ชั่วโมงต่อปี  เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับ 8 ในระดับอายุ 13 ปี 1,167 ชั่วโมงต่อปี

         ส่วนประเทศอื่นๆ (เด็กอายุ 11 ปี)  อันดับ 2 อินโดนีเซีย 1,176 ชั่วโมงต่อปี  อันดับ 3 ฟิลิปปินส์ 1,067 ชั่วโมงต่อปี  อันดับ 4 อินเดีย 1,051 ชั่วโมงต่อปี  อันดับ 11 มาเลเซีย 964 ชั่วโมงต่อปี  อันดับ 19 เยอรมนี 862 ชั่วโมงต่อปี  อันดับ 28 จีน 771 ชั่วโมงต่อปี  อันดับ 30 ญี่ปุ่น 761 ชั่วโมงต่อปี

          จากสถิติขององค์การยูเนสโกพบว่า เด็กไทยที่อยู่ในวัยเดียวกับเด็กต่างชาตินั้น เด็กไทยเรียนมากกว่าชาติใดๆ โดยเฉพาะประเทศที่เจริญแล้วล้วนมีจำนวนชั่วโมงเรียนน้อยกว่าเด็กไทยมาก ในกรณีของประเทศจีนซึ่งพบว่าเป็นประเทศที่เด็กเอาใจใส่ในการเรียนมาก แต่เด็กจีนกลับเรียนมีจำนวนชั่วโมงเรียนน้อยกว่าเด็กไทยหลายร้อยชั่วโมง

          นอกจากนี้การเรียนของจีนยังค่อนข้างผ่อนคลาย โดยเด็กจีนได้พักรับประทานอาหารในเวลา 11.00 น. และปล่อยให้กลับบ้านไปรับประทานอาหารที่บ้านหรือไม่ก็ปล่อยให้พักผ่อน แล้วค่อยเริ่มเรียนภาคบ่ายเวลาบ่ายสองโมงเย็น โดยจัดตารางเรียนวิชาเบาๆ เพื่อเป็นการผ่อนคลาย

          หากพิจารณาทั้งประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่นๆ พบว่าจำนวนชั่วโมงเรียนที่เพิ่มมากขึ้นไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความมีคุณภาพของการศึกษาไทยแต่อย่างใด กลับจะก่อให้เกิดความเครียดแก่เด็กและครูมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสถิติที่เด็กออกกลางคันอาจจะเพิ่มมากขึ้นก็เป็นไปได้ เพราะเราไม่อาจทำให้การศึกษาเป็นเรื่องจำเป็นหรือเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันเหมือนการกินข้าวได้

           นอกจากเด็กจะเกิดความเครียดจากจำนวนชั่วโมงเรียนที่เพิ่มขึ้น ในส่วนของครูย่อมเกิดความเครียดเช่นกัน เนื่องจากที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ครูมีชั่วโมงสอนมากอยู่แล้ว เพราะครูไม่ได้มีภาระแค่การสอนในห้องเรียนเพียงคนละประมาณ 20 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ภาระของครูเริ่มตั้งแต่เช้าจรดเย็นหรือถึงบ้าน

           กิจกรรมยามเช้าเริ่มตั้งแต่เข้าแถวเคารพธงชาติสวดมนต์ไหว้พระ ครูต้องไปคอยกำกับแถวของนักเรียนประจำชั้น อบรมคุณธรรม โฮมรูม ตรวจระเบียบ เช็กแฟ้มเพื่อสำรวจการมาเรียนของเด็กทุกเช้า ท่ามกลางแดดที่ร้อนจัด ใช้เวลากิจกรรมนี้ประมาณ 20-30 นาที ทุกเมื่อเชื่อวัน

          ครูยังต้องทำหน้าที่กำกับดูแลพฤติกรรมของนักเรียน ติดต่อประสานงานกับผู้ปกครอง เตรียมการประเมินโรงเรียน จัดทำเอกสารข้อมูล ประชุมกลุ่มสาระฯ ประชุมฝ่าย จัดทำเอกสารสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับเด็กนักเรียนทั้ง SDQ และ EQ การติวเพื่อเตรียมความพร้อมนักเรียนเพื่อสอบโอเน็ต รวมทั้งต้นๆ เทอมต้องออกเยี่ยมบ้านนักเรียนทุกบ้าน ซึ่งแต่ละบ้านล้วนอยู่ไกลๆ อีกทั้งต้องแบ่งเวลาไว้สำหรับตรวจการบ้าน การสอบซ่อมเด็ก และการกำกับติดตามพฤติกรรมของเด็กประจำชั้น รวมทั้งงานจรอื่นๆ อีกมากมาย

        การเพิ่มชั่วโมงเรียนโดยอ้างว่า "ไม่ได้เพิ่มชั่วโมงการเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ปกติของหลักสูตรแกนกลาง แต่ได้เพิ่มและสร้างความยืดหยุ่นในส่วนของสาระเพิ่มเติมที่เป็นการจัดกิจกรรมต่างๆ" แม้ว่าจะเพิ่มในรายวิชาสาระเพิ่มเติมก็ตาม หรือการจัดกิจกรรมต่างๆ ของสถานศึกษา ล้วนต้องมีครูคอยกำกับติดตามเป็นที่ปรึกษา เป็นผู้สอน

        แล้ว สพฐ.จะมีอัตรากำลังเพิ่มขึ้นได้ทันการณ์? ในเมื่อโรงเรียนจำนวนไม่น้อยมีครูไม่เพียงพอ แล้วจะทำอย่างไร ?

         ปัญหาการขาดแคลนครูยังไม่ได้รับการแก้ไขให้หมดสิ้นไป หาก สพฐ.เพิ่มชั่วโมงเรียนยิ่งทำให้ปัญหาขาดแคลนครูเพิ่มมากขึ้นอีก การที่ครูจำเป็นต้องแบกชั่วโมงสอนเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อขวัญและกำลังใจของครูไม่น้อย และที่สำคัญที่สุดคือการเพิ่มชั่วโมงเรียนไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันคุณภาพการศึกษาแต่อย่างใด ควรที่ สพฐ.จะต้องระดมสรรพกำลังในการคิดอ่านหาวิธีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยวิธีการอื่นที่เป็นรูปธรรมมากกว่านี้

          การให้เพิ่มจำนวนชั่วโมงเรียนในทันที สะท้อนระบบราชการไทย ทั้งที่บริบทและความพร้อมของโรงเรียนมีความแตกต่างกัน แสดงว่าผู้มีส่วนในการจัดการศึกษาไม่ได้เข้าใจพื้นฐานการศึกษาอย่างที่เป็นจริง เพราะไม่ได้ออกมาสัมผัสว่าแต่ละโรงเรียนมีความพร้อมมากน้อยแตกต่างกันอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้จึงจำเป็นต้องฟังเสียงสะท้อนกลับจากผู้ปฏิบัติที่ขลุกอยู่กับสภาพจริงของโรงเรียนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

           อีกทั้งไม่มีงานวิจัยหรือตัวบ่งชี้ใดๆ ที่แสดงว่า การเพิ่มชั่วโมงเรียนจะทำให้การศึกษาไทยมีคุณภาพเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด และสภาพที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เด็กไทยเรียนหนักอยู่ในลำดับต้นๆ ไม่น้อยหน้าใครในโลกนี้อยู่แล้ว ส่วนลำดับคุณภาพการศึกษาไทยกลับไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกับความหนักของชั่วโมงเรียนแต่อย่างใด


            

 

หมายเลขบันทึก: 479656เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2012 21:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

นี่ยังไม่รวม โครงการต่างๆที่หน่วยเหนือสั่งการมาให้ดำเนินการ แล้วมาติดตามอีก นะคะ

เพิ่มเวลาเรียน เพิ่มภาระงานเด็กๆ เพิ่มรายวิชา เพิ่มอ้ตรากำลัง เป้าหมายน่าจะเป็นการรองรับอาเชียน สนองนโยบายฯ โดยไม่คำนึงความพร้อมทั้งของผู้เรียน โรงเรียนและชุมชน น่าห่วงใย

ยิ่งปฏิรูปยิ่งเละ แทนที่จะมาให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมไทยบ้าง ให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาไทยมากๆ ก่อนที่สิ่งดีๆจะสูญหายไป ตอนนี้ จึงไม่เข้าใจ มันสมอง ของ ดร.นักวิชาการไทย คิดอะไรที่ใกล้จะแพ้ลาว เขมร ไปทุกที

เห็นด้วยค่ะ จำนวนชม. เรียน เป็นเพียงปริมาณ ส่วนคุณภาพ ขึ้นอยู่กับ การได้ฝึกปฏิบัติ ผ่านการเรียนรู้ อย่างมีความสุข

ที่ร.ร. ไม่เห็นเด็กค่อยได้เรียนในห้องเท่าไหร่ อาศัยเรียนรู้ผ่านกิจกรรมนอกห้อง เล่น แบบเพลินๆ จำนวนเด็กต่อห้องน้อย เน้นมีส่วนร่วมทั่วถึง ค่ะ

คิดว่า สพฐ.คงไม่ทบทวนใหม่หรอก ก็วิ่งตามกระแส เอาปริมาณมาแก้ ถูกอุดมศึกษาชี้นำและ ถูกกำหนดชะตาชีวิตโดย สทศ.กันต่อไป คงตกหนักเป็นหน้าที่ของครูที่ต้องปรับวิธีสอน จากการบอก อธิบาย มาเป็นกระตุ้นให้เด็กศึกษาค้นคว้าจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ แล้วมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คิดวิเคราะห์กัน แต่ก็ต้องผจญปัญหาที่เด็กอ่านไม่ค่อยออก เขียนไม่ค่อยได้ ไม่ใฝ่ใจศึกษาเรียนรู้ และปัญหาอีกจิปาถะ สงสารครูเนาะ...

  • สงสารครูนะครับ
  • ที่น่าสงสารมากคือเด็กครับ
  • เอาเรื่องสั้นบุญถึงมาฝาก
  • ตอนนี้บุญถึงอยู่มหาวิทยาลัยแล้วครับ
  • เย้ๆๆๆ
  • http://www.gotoknow.org/blogs/posts/481757
  • อดเจอศน.เธนศทุกครั้งเลย
  • คิดว่าจะได้พบงาน HA อีก
  • เสียดายจัง

ผมก็เสียดายเหมือนกันครับที่ไปไม่ได้ เลยอดไปฟัง ดร.ขจิตเสนอบทเรียน คงได้เจอกันอีกน่า... เกษียณแล้วก็เหมือนยังไม่เกษียณ ยังมีภารกิจทางสังคมต่อเนื่อง ได้ส่งบทเรียนที่ถอดจากการดำรงชีวิตของตน 2 เรื่องให้ ดร.จันทวรรณไปเมื่อเช้านี้เอง

ชอบบทความนี้มากครับ อ่านแล้วอยากให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายได้พิจารณาด้วย....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท