รำลึกครูเทิน ราชสันเที๊ยะ โรงเรียนหนองบัว นครสวรรค์


ขอขอบคุณ : ภาพตบแต่งและทำใหม่โดยผู้เขียนจากภาพต้นฉบับในเว็บเพจ อบจ.นครสวรรค์

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ นี้ ผมได้ทราบข่าวจากเพื่อนๆที่หนองบัว ถึงการป่วยและถึงแก่กรรมอย่างกระทันหันของคุณครูชาวอำเภอหนองบัวท่านหนึ่ง คือ คุณครูเทิน ราชสันเที๊ยะ ครูเก่าแก่ของโรงเรียนหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ แต่เมื่อถึงแก่กรรมนั้น ท่านอยู่ในวาระดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ เขต ๑ อำเภอหนองบัว

ลูกศิษย์ลูกหา ผู้เคารพนับถือ รวมทั้งพ่อค้าประชาชนทั้งในอำเภอหนองบัวและในจังหวัดนครสวรรค์ได้มีโอกาสไปร่วมแสดงความอาลัยและคารวะท่าน ในงานพระราชทานเพลิงศพซึ่งจัดอย่างงดงามสมเกียรติของท่านที่วัดหนองกลับ แม้ผมจะไม่สามารถไปกราบคารวะศพท่าน เนื่องจากกำลังเตรียมจัดเวิร์คช็อปกับกลุ่มสถาปนิกกลุ่มคนใจบ้าน อยู่ที่สันป่าตอง เชียงใหม่ พอดี แต่ก็น้อมรำลึกถึงและตั้งใจไว้ว่าจะหาโอกาสบันทึกสืบทอดสิ่งที่ท่านได้ริเริ่มไว้บางส่วนให้กับโรงเรียนหนองบัวและคนหนองบัว

ที่ข้างอาคารเรียน บริเวณสนามกีฬาและแหล่งออกกำลังกายของโรงเรียนหนองบัวในทุกวันนี้ (๒๕๕๕) หากใครสังเกต ก็จะเห็นสนามบาสและเสาบาสเกตบอลเก่าๆโทรมๆอยู่แห่งหนึ่ง แม้ยังใช้ได้แต่ก็มีสภาพผุพังอยู่ท่ามกลางสนามและอาคารที่ทันสมัยสวยงามรอบข้าง ผู้คนทั่วไปอาจจะไม่ทราบเหตุผลถึงการยังได้รับการรักษาไว้ และนักเรียน ตลอดจนครูและคนรุ่นหลังของโรงเรียนหนองบัวก็อาจจะไม่ทราบว่า สนามบาสเกตบอลที่เห็นดังกล่าวนี้ เป็นสนามบาสเกตบอลแห่งแรกของโรงเรียนหนองบัว มีอายุกว่า ๔๐ ปีแล้ว ซึ่งภายใต้สภาพเก่าทรุดโทรมนั้น มีความเป็นมางดงามเพราะสร้างด้วยมือของเด็กนักเรียนทั้งโรงเรียนของโรงเรียนหนองบัว และบุกเบิกริเริ่ม นำการก่อสร้างกระทั่งเสร็จสมบูรณ์โดยครูเทิน ราชสันเที๊ยะ

ประมาณในช่วงก่อนปี ๒๕๑๗ นั้น โรงเรียนหนองบัวไม่มีสนามกีฬา สนามของโรงเรียนเป็นสนามหญ้าและทุ่งเลี้ยงวัวของชาวบ้านโดยรอบ ครูเทิน ราชสันเที๊ยะ เป็นครูพลศึกษาที่ได้บุกเบิกกิจกรรมกีฬาของโรงเรียนหลายด้านด้วยกัน ริเริ่มการสร้างทีมฟุตบอลของโรงเรียน มีการซ้อมและพัฒนาจิตวิญญาณนักกีฬาอย่างเข้มข้น ก่อเกิดนักกีฬาดาวเด่นของโรงเรียนและของอำเภอหลายคน เช่น พี่โกศล พันเอกพิเศษโกศล ประทุมชาติ นายทหารเสนาธิการและรองผู้บัญชาการกองพัน ๓๓ ค่ายกาวิลละ เชียงใหม่ พี่สำเริง หรือครูสำเริง หมื่นสีเขียว ลิขิต ยั่งยืน ดาบต้อย หรือนายดาบตำรวจ ทรงกรด ลูกเจ้าของโรงหนังหนองบัว และอีกหลายคน รวมทั้งอาจารย์สืบศักดิ์ ปฏิสนธิ์ รองผู้อำนวยการของโรงเรียนหนองบัวในปัจจุบัน พี่โกศลนั้นได้ฉายาว่าเปเล่ เป็นดาวทำประตูในเกมส์แข่งขันต่างๆ เลี้ยงลูกแน่นและเร็ว เป็นนักกีฬาศิษย์รักคนหนึ่งของคุณครูเทิน

ในช่วงนั้น จัดว่าเป็นยุคที่คุณครูเทินและทีมผู้บริหารได้ทำให้กิจกรรมกีฬาโรงเรียนของหนองบัวเฟื่องฟูขึ้นหลายด้านอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน รวมทั้งสามารถสร้างทีมกีฬานักเรียนไปแข่งขันถึงในจังหวัด ผมก็พลอยได้ไปกับคณะนักกีฬาและครูผู้ควบคุมทีมไปด้วย เพราะคุณครูเทินจัดให้ทีมดุริยางค์และวงดนตรีของโรงเรียนไปเล่นดนตรีเชียร์ด้วย ผมจึงได้ไป แต่ได้เป่าเชียร์ไม่ถึงเพลง เพราะพอกองเชียร์ของโรงเรียนหนองบัวขึ้นเพลงเท่านั้น ทั้งสนามก็อื้ออึงไปด้วยเสียงกลองและเพลงแตร กลบเสียงนกหวีดและทุกอย่างในสนามหมด ทั้งนักกีฬาและกรรมการต้องวิ่งขาขวิดมาขอให้กองเชียร์ของหนองบัวหยุดเชียร์ด้วยการเป่าแตร ซึ่งช่างเป็นความประทับใจและให้ขันทุกทีเมื่อนึกถึง พวกเราชาวโรงเรียนหนองบัวไม่รู้มาก่อนว่าในโรงยิมและสนามแข่งบาสเกตบอลในร่มนั้น มันไม่เหมือนการอยู่แต่ทุ่งโล่งกลางแจ้งและต้องตะโกนโหวกเหวกหากันแบบแถวบ้านนอกที่หนองบัวของเรา

สนามบาสเกตบอลสนามแรกที่ยังคงอยู่มาถึงปัจจุบันนั้น คุณครูเทินพานักเรียนหมุนเวียนกันทำกับมือ นับแต่การช่วยกันร่อนกรองทราย แบ่งออกเป็นกองทรายหยาบ ทรายละเอียด และกรวดที่จะสามารถผสมกับหินในเนื้อปูน จากนั้น ก็หมุนเวียนกันไปตัดไม้รวกในป่าเขาสูงและเขามรกต ค่อยๆขนมาสำหรับใช้เป็นโครงสร้างแทนเหล็กเส้นซึ่งโรงเรียนไม่มีงบประมาณพอที่จะซื์้อ รวมทั้งการปรับสนาม เตรียมพื้นที่ ขุดดิน

คุณครูเทินร่วมกับพวกเราชาวโรงเรียนหนองบัว ค่อยๆสร้างสนามโดยใช้ช่วงเวลาปิดเทอมหน้าแล้งหลังเกี่ยวข้าว ช่วยกันกระแทกดินรองพื้นให้เรียบและแน่น วางโครงไม้ไผ่สานกันหนาแน่นทั่วสนาม บ้างเข็นและหาบน้ำ บ้างหุงข้าวปลาอาหาร เข้าแถวโยนปูนในยุคที่ต้องใช้กระแป๋งเล็กๆทีละใบ เทปูน เกลี่ยและปาดหน้า หล่อเสา ติดแป้น ตีเส้นและตบแต่งขอบสนามสวยงาม ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โรงเรียนหนองบัวก็มีทีมบาสเกตบอลชายและหญิง สามารถไปแข่งขันและสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนกับอำเภอหนองบัวได้อยู่เป็นประจำ

สนามบาสเกตบอลเก่าแก่แห่งแรกนี้ จึงเป็นเครื่องรำลึกถึงคุณูปการของคุณครูที่มีต่อชาวโรงเรียนหนองบัว อีกทั้งเสมือนเป็นเครื่องหมายแห่งความสมัครสมานสามัคคีและความเสียสละแรงกายแรงใจของนักเรียนโรงเรียนหนองบัว ซึ่งมีอายุกว่า ๔๐ ปีแล้ว ศิษย์เก่าของโรงเรียนหนองบัวในรุ่นที่ได้สร้าง เมื่อกลับมาได้เห็นก็คงมีความทรงจำและความผูกพันต่อโรงเรียนและถิ่นฐานบ้านเกิด คนรุ่นหลังก็มีแบบอย่างไว้ให้ภาคภูมิใจ ทั้งไม่ลืมที่จะต้องรำลึกถึงด้วยจิตคารวะต่อ คุณครูเทิน ราชสันเที้๊ยะ ไปด้วยอยู่เสมอ.

หมายเลขบันทึก: 479457เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2012 14:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
  • ขอคารวะคุณครูด้วยคนครับ
  • ตอนนี้สนามปรับปรุงหรือยัง
  • อยากพานิสิตไปช่วยแบบนี้ครับ

ชอบรูปที่อาจารย์วาด เต็มไปด้วย จิตวิญญาณ ครับ

ที่ไหนครับน่ะอาจารย์ดร.ขจิตครับ ที่วัดที่อาจารย์เคยชวนผมไปหรือเปล่าครับ
จำได้ว่าวัดที่ไปนั้นลานคอนกรีตกว้างมากจริงๆ นี่ใช้ความมีจิตอาสาเข้าไปทำ
ก็ทำให้ลานวัดกลายเป็นพื้นที่เอนกประสงค์มากเข้าไปอีกนะครับ จัดงานวัด ทำตลาดนัด
ทำเทศกาลงานบุญ แล้วก็เป็นสนามกีฬาได้อีก คนทำก็ได้ความงอกงามภายใน
ขออนุโมทนาครับ

สวัสดีครับอาจารย์หมอ JJ ครับ
เหมือนกับเป็นการบันทึก เล่าด้วยภาพ ถ่ายทอดชีวิตและจิตวิญญาณของนักเรียนกับครูบ้านนอกไว้อีกทางหนึ่ง เห็นแล้วนึกถึงตอนที่อาจารย์ออกจากเมืองกรุงแล้วมุ่งไปเป็นครูแพทย์อยู่ขอนแก่นเมื่อ ๓๐-๔๐ ปีก่อนที่ยังคงเป็นชนบท และก็คงจะมีหลายๆอย่าง ที่ต้องบุกเบิกฟันฝ่าด้วยใจ อย่างนี้เหมือนกันเลยใช่ไหมครับ พลังการเรียนรู้ บนเส้นทางชีวิตของอาจารย์นี่ก็สุดยอดมากจริงๆครับ

วิธีการเล่าของอาจารย์ทำให้เรื่องของคุณครูท่านนี้ ฝังลึกเข้าไปในใจคะ เคยสงสัย เมื่ออ่านเจอจากที่นี่ว่า

"Sustainability means all your hard work has long term value for your community
 Sustainability dose not mean the project will continue intact.."

สนามบาสเกตบอลของคุณครูเทิน มีเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา
แต่คุณค่า - value = เครื่องหมายแห่งความสมัครสมานสามัคคีและความเสียสละ
กลับงอกงามผ่านการสร้างคน ให้เป็นมรดกแผ่นดิน อย่างอาจารย์ อย่าง ท่าน พอ.พิเศษ โกศล  ซึ่งยังคงสร้างรุ่นต่อๆ ไปไม่สิ้นสุด

...

อ่านแล้วชวนตรึกตรอง
บางที สิ่งที่ทำใหญ่โตมหาศาลอาจมีคุณค่าน้อยนิด
แต่ สิ่งที่น้อยนิด อาจมีคุณค่ามหาศาล

สวัสดีครับอาจารย์หมอ ป.ครับ

ชอบวิธีคิดและความหมายในความยั่งยืนตรงที่มุ่งไปที่การมีระบบคุณค่าอันหนักแน่นมั่นคงต่อการงานและชีวิต ที่คุณหมอนำมาแบ่งปันกันมากเลยครับ จัดว่าเป็นการเข้าถึงความยั่งยืนของคุณค่าที่แท้ ที่มั่นคงยั่งยืนเหนือกว่าอย่างอื่น อีกทั้งสามารถสืบสานให้เจริญงอกงามไปได้ในเงื่อนไขแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไปสืบเนื่องยาวนาน โดยเฉพาะการลงทุนไปที่การสร้างคน ขอบคุณมากเลยครับ

ส่งกำลังใจครู เพื่อชุมชน ด้วยจิตคารวะเจ้า

ชอบภาพ ๓ น้องฟ้ากะนายเมฆ ได้อารมณ์มากๆ ค่ะ

รูปน้องฟ้ากะนายเมฆ ลูกศิษย์ของอาจารย์ ดร.ขจิตนี่ เป็นการสุมหัวกันอย่างขมักเขม้น จนแสงแดดแผดจ้าไม่สามารถหันเหความสนใจออกจากการทำให้เส้นออกมาสวยเลยนะครับ เป็นการทำประสบการณ์ให้ได้สำนึกและความทรงจำที่ดีเอาไว้เป็นทุนชีวิตภายหน้า เมื่อจิตตกหรือต้องเผชิญสิ่งต่างๆในชีวิตและการงานด้วยตนเอง ทุนชีวิตอย่างนี้ก็จะมาเป็นกำลังขับเคลื่อนความคิดและการทำสิ่งดีๆด้วยตนเองออกมาจากข้างใน มีกำลังพึ่งตนเองออกมาจากข้างใน

กราบนมัสการ ขอบพระคุณท่านพระอาจารย์มหาแล
ขอบพระคุณอาจารย์หมอ ป. อาจารย์ดร.ขจิต และคุณ Poo ที่แวะมาเยือนครับ 
Ico48 พระมหาแล อาสโย ขำสุข Ico48 Poo Ico48 ป.  Ico48 ขจิต ฝอยทอง

พระคุณเจ้าก็สร้างเด็ก สามเณร ชาวบ้าน รวมทั้งเป็นครูพาชุมชนบำรุงพระศาสนาและทำสิ่งต่างๆมากมายที่เป็นการสร้างความเข้มแข็งของวิถีวัฒนธรรมชุมชน เป็นการสร้างปัจจัยที่เอื้อต่อการก่อเกิดสุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืนเป็นอย่างดี ก็ต้องขออนุโมทนาด้วยอย่างยิ่งเช่นกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท