เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ : หยุดก่อหนี้เลี้ยงชีวีพอประมาณ


เลี้ยงชีวีพอประมาณ

เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ : หยุดก่อหนี้เลี้ยงชีวีพอประมาณ
โดย สามารถ มังสัง 5 ธันวาคม 2548 16:46 น.
              ท่านที่เป็นชาวพุทธหรือมิใช่ชาวพุทธ แต่มีความสนใจใฝ่หาความรู้จากคำสอนของพระพุทธเจ้าในเชิงปรัชญา ชีวิตก็คงจะเคยได้ยินได้ฟังหรือได้อ่านคำสอนของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับความทุกข์อันเกิดจากการเป็นหนี้ ซึ่งปรากฏอยู่ในฉักกนิบาต อังคุตตรนิกายแห่งพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 หน้า 392 และอาจารย์สุชีพ บุญญาณภาพ ผู้เป็นปราชญ์ในทางศาสนาได้นำมารวบรวม และเรียงโดยตัดข้อความที่ซ้ำๆ กันออก ทำให้ง่ายต่อการอ่านจึงขอนำมาเสนอท่านอ่านดังต่อไปนี้
       
        พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ความจนเป็นทุกข์ในโลกของผุ้บริโภคกาม"
       
        ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า!"
       
        จึงตรัสต่อไปว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! คนจนไม่มีเป็นของตนเอง ไม่มั่งคั่ง ย่อมกู้หนี้ แม้การกู้หนี้ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม"
       
        "คนจนกู้หนี้แล้วก็จะต้องเสียดอกเบี้ย แม้การเสียดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม"
       
        "คนจนที่ต้องเสียดอกเบี้ย ไม่ให้ดอกเบี้ยตามกำหนดก็ถูกเขาทวง แม้การถูกเขาทวงก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม"
       
        "คนจนถูกทวง ไม่ให้เขาก็ถูกตามตัว แม้การถูกตามตัวก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม"
       
        "คนจนถูกตามตัว ไม่ให้เขาย่อมถูกจองจำ แม้การถูกจองจำก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม"
       
        "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความจนก็ดี การกู้หนี้ก็ดี การเสียดอกเบี้ยก็ดี การถูกทวงก็ดี การถูกตามตัวก็ดี การถูกจองจำก็ดี เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม ด้วยประการฉะนี้"
       
        "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ข้ออุปไมยก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกับบุคคลบางคนไม่มีศรัทธา (ความเชื่อ) ในกุศลธรรม ไม่มีหิริในกุศลธรรม ไม่มีโอตตัปปะในกุศลธรรม ไม่มีความเพียรในกุศลธรรม ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม บุคคลนี้เรียกว่าเป็นคนจน ไม่มีทรัพย์ของตนเอง ไม่มั่งคั่งในวินัยของพระอริยเจ้า"
       
        "คนจน (ทางธรรม) นั้น เมื่อไม่มีศรัทธาในกุศลธรรม ไม่มีหิริในกุศลธรรม ไม่มีโอตตัปปะในกุศลธรรม ไม่มีความเพียรในกุศลธรรม ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจ การทุจริตทางกาย วาจา ใจนี้ (ตถาคต) กล่าวว่า เป็นการกู้หนี้ของผู้นั้น"
       
        "คนจน (ทางธรรม) นั้น เพราะเหตุที่จะปกปิดทุจริตทางกาย วาจา ใจนั้น จึงตั้งความปรารถนาลามกว่า ดำริว่า คนทั้งหลายอย่ารู้เรื่องของเราเลย ข้อนี้เรากล่าวว่า เป็นการเสียดอกเบี้ยของผู้นั้น"
       
        "เพื่อนพรหมจารี (ผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์) ผู้มีศีลเป็นที่รัก ย่อมกล่าวถึงผู้นั้นว่า มีการกระทำอย่างนี้ มีความประพฤติอย่างนี้ ข้อนี้เรากล่าวว่า เป็นการถูกทวงของผู้นั้น"
       
        "ความคิดที่เป็นอกุศล (อกุศลวิตก) อันลามก อันประกอบความเดือดร้อน ย่อมติดตามผู้นั้น ผู้ไปสู่ป่าก็ตาม สู่โคนไม้ก็ตาม สู่เรือนร่างก็ตาม ข้อนี้เรากล่าวว่า เป็นการถูกตามตัวของผู้นั้น"
       
        "คนจน (ทางธรรม) นั้นประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจ แล้วภายหลังสิ้นชีวิตไปย่อมถูกจองจำ ด้วยการจองจำในนรกบ้าง ด้วยการจองจำในกำเนิดแห่งสัตว์เดรัจฉานบ้าง"
       
        "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เราไม่เคยเห็นการจองจำอย่างอื่นสักอย่างเดียวที่ทารุณ ที่นำทุกข์มาให้ ที่ทำอันตรายแก่การบรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากกิเลส อันเป็นธรรมยอดเยี่ยม เหมือนการถูกจองจำในนรกหรือในกำเนิดสัตว์เดรัจฉานนี้เลย"
       
        โดยนัยแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้าดังกล่าวข้างต้น สรุปได้ว่ามีคนจนอยู่ 2 ประเภท คือ
       
        1. คนจนเงิน ได้แก่ คนที่ไม่มีเงินเพียงพอจะนำมาจับจ่ายใช้สอยในการดำรงชีวิตให้มีความสุขเพียงพอแก่อัตภาพ และต้องกู้หนี้ เมื่อกู้หนี้ก็จะมีความทุกข์ตามมาจากการเสียดอกเบี้ย การถูกทวง ตามตัว และถูกจองจำ
       
        2. คนจนในความหมายของการไม่มีธรรมประจำใจ อันได้แก่ การขาดศรัทธา ขาดหิริ ขาดโอตตัปปะ ขาดความเพียร และขาดศรัทธาในการประกอบกุศลกรรม จึงทำให้กลายเป็นคนประพฤติทุจริตในทางกาย ทางวาจา และทางใจ เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนทั้งแก่ตนเอง และผู้คนในสังคมโดยรวม
       
        ด้วยเหตุนี้ คนจนไม่ว่าจะจนเงินหรือจนคุณธรรม ถือได้ว่าเป็นคนมีทุกข์ด้วยกันทั้ง 2 ประเภท และถ้ายิ่งเป็นคนจนทั้งเงิน ทั้งคุณธรรมด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะเป็นทุกข์ 2 เท่าหรือเป็นทวีคูณ
       
        ในสังคมไทยวันนี้ และเวลานี้มีคนจน 2 ประเภทนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจากจำนวนที่เพิ่มขึ้นนี้บอกได้คำเดียวว่า น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ทั้งนี้จะเห็นได้จากข่าวที่ปรากฏทางสื่อทุกประเภท ทั้งทีวี วิทยุ และสิ่งตีพิมพ์
       
        เริ่มด้วยคนจนเงินทั้งในส่วนบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ในบุคคลธรรมดาจะเห็นได้จากการที่มีข่าวการกู้หนี้ทั้งในระบบ และนอกระบบจนเป็นเหตุให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กล่าวกันว่าคิดเฉลี่ยแล้วถึงครอบครัวละแสนบาททีเดียว
       
        ในส่วนที่เกี่ยวกับนิติบุคคล เริ่มตั้งแต่องค์กรธุรกิจในภาคเอกชนที่มีการก่อหนี้เพื่อการลงทุน และประสบปัญหาขาดทุนต้องล้มเลิกกิจการไปเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงนิติบุคคลในภาครัฐ คือรัฐบาลที่ประสบปัญหาการเงินการคลังต้องกู้หนี้เพื่อนำมาเป็นเงินคงคลังถึง 8 หมื่นล้านบาทเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
       
        อะไรทำให้หนี้สินบุคคล และนิติบุคคลเพิ่มขึ้น และมีแนวทางแก้ไขอย่างไร?
       
        เพื่อให้ท่านผู้อ่านพอเห็นเหตุแห่งปัญหาการก่อหนี้ดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านย้อนไปดูคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งในส่วนของการเป็นคนจนเงิน และจนธรรมะ ก็จะพบมูลเหตุแห่งความจนทั้ง 2 ประเภทดังต่อไปนี้
       
        1.คนจนเงิน ถ้าว่าโดยนัยแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วก็พอจะอนุมานมูลเหตุได้ดังต่อไปนี้
       
        1.1 เป็นคนเกียจคร้าน ไม่ประกอบการงานเพื่อให้เกิดรายได้เพียงพอแก่การเลี้ยงชีพ และมีส่วนหนึ่งเก็บออมไว้
       
        1.2 ไม่พยายามรักษาทรัพย์ที่หามาได้ให้พอกพูนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามที่ควรจะทำตามแนวทางเศรษฐกิจในแบบของชาวพุทธที่ว่า ผู้ครองเรือนควรเอาอย่างตัวผึ้งที่อมน้ำหวานจากเกสรดอกไม้มาสะสมจนกลายเป็นน้ำผึ้งจำนวนมากพอที่จะเป็นอาหารเลี้ยงตัวอ่อน หรือพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ ไม่ควรมองข้ามการสะสมทรัพย์ทีละน้อยๆ เพราะเมื่อกาลเวลาผ่านไปนานเข้า ผู้ที่เก็บออมในทำนองนี้ก็กลายเป็นคนร่ำรวยได้ ในทางกลับกัน ผู้ครองเรือนไม่ควรมองข้ามรายจ่ายแม้เพียงทีละเล็กทีละน้อย ครั้นบ่อยเข้าทรัพย์ที่มีอยู่แม้จำนวนมากก็หมดได้ ในทำนองเดียวกับ ยาหยอดตาที่ถูกใช้ไปทีละหยดก็หมดได้ เป็นต้น
       
        ใครก็ตามที่ดำเนินชีวิตตามแนวทางที่ว่านี้ โอกาสจะเดือดร้อนเพราะการก่อหนี้เกิดขึ้นได้ ดังที่ได้เห็นจากข่าวการกู้หนี้และเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้
       
        1.3 นโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลที่เน้นการส่งเสริมให้มีการก่อหนี้ภายใต้โครงการต่างๆ ดังที่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2544 มาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหมู่บ้านหรือโครงการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน ล้วนแล้วแต่เป็นการเปิดโอกาสให้คนเป็นหนี้ทั้งสิ้น ดังนั้นจึงพูดได้ว่า การที่คนจนเป็นหนี้ และเดือดร้อนเพราะต้องเสียดอกเบี้ย และการถูกทวงหนี้ เป็นต้น ส่วนหนึ่งแห่งความเดือดร้อนนี้เกิดจากนโยบายของรัฐบาล
       
        2. คนจนธรรมะ อันได้แก่ คนที่ไม่มีธรรม เป็นต้นว่า ศรัทธาและหิริ ถือได้ว่าเป็นคนที่ทำให้ตนเองเดือดร้อน เพราะการขาดธรรมะเช่นนี้จะเป็นเหตุให้แสดงพฤติกรรมทุจริตทางกาย ทางวาจา และทางใจได้ และผู้ที่มีพฤติกรรมที่ว่านี้แน่นอนจะต้องเดือดร้อนเพราะผลแห่งการกระทำนั้น
       
        ส่วนประเด็นที่ว่า อะไรเป็นเหตุให้คนขาดคุณธรรมที่ว่านี้นั้น คงตอบได้ว่า เกิดจากรากเหง้าแห่งอกุศลกรรม 3 ประการ คือ ราคะ โทสะ และโมหะ อันถือได้ว่าเป็นมูลเหตุแห่งความชั่วร้ายทั้งปวง
       
        ในสังคมใดก็ตามมีสมาชิกจนเงิน และจนธรรมะเป็นคนส่วนใหญ่ สังคมนั้นคงจะหาความสงบได้ยาก
       
        อย่างไรก็ตาม เมื่อมองสังคมไทยโดยนัยแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้าดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่า ผู้คนส่วนใหญ่เป็นคนจนเงิน อันได้แก่ ผู้ที่มีรายได้น้อยซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม คนเหล่านี้จะพบความเดือดร้อนจากการกู้หนี้หรือจากการเป็นหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ จนเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นทาสน้ำเงินของนายทุนก็ว่าได้ และหนี้ที่เกิดขึ้นมิได้เป็นหนี้เพื่อการลงทุนเพื่อหวังให้เกิดรายได้ และนำมาใช้หนี้ทั้งต้นและดอกแล้ว หรือส่วนหนึ่งเป็นกำไรไว้เป็นทุนทำธุรกิจต่อไปโดยไม่ต้องเป็นหนี้อีก
       
        แต่เป็นการกู้หนี้เพื่อมากินมาใช้ โดยมองไม่เห็นทางว่าเมื่อถึงเวลาใช้หนี้จะนำรายได้จากส่วนไหนมาชำระ จึงอยู่ในภาวะเดือดร้อนเพราะการก่อหนี้กันทั่วหน้า จะเห็นได้จากการที่ลูกหนี้นายทุนที่มิใช่ธนาคาร หรือ non bank เช่น Easy Buy เป็นต้น ได้ออกมาขอความเป็นธรรมจากกระบวนการทางศาลอยู่ในขณะนี้
       
        ส่วนคนจนธรรมะก็ปรากฏเป็นข่าวให้สังคมได้รับรู้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนจนธรรมะในภาครัฐ เพราะคนเหล่านี้ถ้าลองได้มีพฤติกรรมทุจริตทางกาย เป็นต้นว่า ฆ่าสัตว์ และลักทรัพย์ เป็นต้น ความเดือดร้อนก็จะเกิดขึ้นในวงกว้างเพราะคนของรัฐโดยหน้าที่แล้วจะต้องทำการป้องกันมิให้เกิดพฤติกรรมที่ว่านี้ขึ้น และมีผลกระทบต่อประชาชนโดยรวม แต่เมื่อมามีพฤติกรรมเช่นนี้เสียเอง จึงทำให้สังคมเดือดร้อนเป็น 2 เท่า เพราะเหตุ 2 ประการดังต่อไปนี้
       
        1. ก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชน อันเนื่องมาจากเป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ก่อกรรมทำเข็ญเสียเอง หรือไม่ทำเองแต่นิ่งเฉยไม่แก้ไขป้องกันสิ่งที่บุคคลอื่นกระทำโดยการละเว้นไม่ปฏิบัติ ก็เท่ากับแสดงพฤติกรรมทุจริต และก่อความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน
       
        2. ผู้ที่เป็นคนจนธรรมะ นอกจากจะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนตามข้อ 1 แล้ว ตนเองก็มีโอกาสเดือดร้อนเพราะการกระทำทุจริตของตนได้ด้วย ทั้งในระยะที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ เช่น อาจถูกจับกุมและจำคุกไปจนกระทั่งรับโทษหนักถึงขั้นประหารชีวิต ถ้ามีผู้ฟ้องร้องในทางศาล และศาลพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดจริง ยิ่งกว่านี้ เมื่อตายไปทางพุทธศาสนาถือว่าเป็นคนมีกรรมที่จะต้องชดใช้ โดยการไปเกิดในอบายภูมิ เช่น นรก เป็นต้น
       
        ด้วยเหตุนี้จึงพูดได้ว่า คนจนธรรมะจะต้องเดือดร้อนทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า
       
        เมื่อสังคมไทยเต็มไปด้วยคนจน ทั้งจนเงินและจนธรรมะเพิ่มขึ้นอย่างมากมายเช่นนี้ ในอนาคตลูกหลานจะทำอะไรเพื่อให้ความจนที่ว่านี้ลดลง และหมดไป?
       
        เกี่ยวกับเรื่องนี้พูดได้คำเดียวว่า ยากแก่การที่คนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะลุกขึ้นมาต่อสู้กับปัญหาสังคมโดยรวม แค่ลำพังบุคคลหรือลำพังกลุ่มบุคคล แต่จะแก้ได้โดยที่ทุกคนแก้ไขตนเอง และคนรอบข้าง หรือพูดง่ายๆ เริ่มแก้ไขจากจุดเล็กไปหาจุดใหญ่ คือเริ่มที่ตนเองก่อนแล้วต่อไปยังคนใกล้ตัว เช่น คนในครอบครัว เป็นต้น แล้วค่อยๆ ออกไปสู่วงกว้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าสังคมใดทำได้เช่นนี้ เชื่อได้ว่าสังคมคนจนเงิน และจนธรรมะจะลดลงเรื่อยๆ แล้วมีโอกาสหมดไปในที่สุด
       
        แต่วันนี้สังคมไทยยังไม่มีใครคิดแก้ไขโดยแนวทางนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มบุคคล 36 คนซึ่งทำหน้าที่บริหารประเทศ หรือที่เรียกว่ารัฐบาลนั้น นอกจากไม่เริ่มลงมือแก้ไขแล้ว ยังส่งเสริมให้ผู้คนกลายเป็นคนจนมากขึ้น ทั้งในส่วนที่เป็นความจนเงิน และความจนธรรมะ
       
        ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ถ้าสังคมไทยยังมีรัฐบาลในลักษณะนี้ โอกาสที่สังคมไทยจะปราศจากความจนที่ว่านี้คงเกิดขึ้นได้ยาก
       
        แต่ในทางกลับกัน โอกาสที่สังคมไทยจะมีคนจนเงินและจนธรรมะเกิดขึ้น ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนมีโอกาสเกิดขึ้นได้ไม่ยาก ทั้งนี้จะเห็นได้จากการเดินหน้าประกาศใช้นโยบายประชานิยมเพิ่มขึ้น และในขณะเดียวกัน การปราบปรามพฤติกรรมการทุจริตของบุคคลในภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการการเมืองยังไม่ได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจังแต่อย่างใด

หมายเลขบันทึก: 47899เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2006 01:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 19:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
     ดีมากครับ ขอบคุณที่นำมาให้อ่าน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท