ฝึก FA ให้บุคลากรโรงพยาบาลพระปกเกล้า กับครั้งที่ ๒ ของจันทบุรี


          ผู้เขียนได้มีโอกาสกลับมาเยือนจังหวัดจันทบุรี อีกครั้งหนึ่ง จากที่เคยมาเยือนล่าสุดเมื่อ ๔ เดือนที่แล้ว

          มาครั้งนี้ก็ยังคงมาทำงานให้กับโรงพยาบาลพระปกเกล้า เหมือนเช่นเดิม เพียงแต่เปลี่ยนจากการฝึก Note Taker มาเป็นฝึก FA ให้กับบุคลากรของที่นี่

         รู้สึกคุ้นเคยกันดีกับทั้งทีมงานผู้ประสาน และสถานที่ ทำให้การทำงานครั้งนี้ ง่าย และราบรื่นยิ่งขึ้น ที่สำคัญสนุกมาก เพราะผู้เข้าร่วมสนใจใฝ่เรียนรู้อย่างยิ่ง

         ที่สำคัญ ได้รับฟังความก้าวหน้าหลังจากที่มีการฝึกอบรม Note Taker  ครั้งที่แล้ว ทางโรงพยาบาลพระปกเกล้า ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานของฝ่ายงานต่างๆ ไปหลายครั้งแล้ว และได้เชื้อเชิญให้ Note Taker ที่ได้รับการฝึกฝนจาก สคส. ให้มาทำหน้าที่เป็นผู้บันทึกการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแต่ละเวทีด้วย โดยได้นำเรื่องเล่าที่ Note Taker บันทึกนั้นๆ ไปใส่ไว้ใน Intranet ของโรงพยาบาล และเกิดการนำไปใช้ประโยชน์กันต่อไป

         ได้ฟังเช่นนี้ เราในฐานะที่สนับสนุนและผลักดันให้เกิดการจัดการความรู้ในองค์กร จึงรู้สึกปลาบปลื้มใจยิ่งนัก

         ปัจจัยความสำเร็จ (เล็กๆ) ของทีม KM โรงพยาบาลพระปกเกล้า เท่าที่ผู้เขียนได้ฟัง และลองสรุปเอง คือ ทีม KM ของที่นี่เข้มแข็งมาก โดยเฉพาะคุณหมอทนง ประสานพานิช  (CKO) และทีม HR ที่เป็นทีมขับเคลื่อน KM ของโรงพยาบาลพระปกเกล้า ด้วยบุคลิกท่าทีเฉพาะตัวที่เป็นกันเอง และประสานงานได้อย่างดียิ่งภายในโรงพยาบาล ทำให้บุคลากรให้ความร่วมมือในการเข้าร่วมอบรม และเข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหลายๆ เวที

         ที่สำคัญ คือ โรงพยาบาลพระปกเกล้า เลือกที่จะฝึกอบรมการเป็น Note Taker ก่อน และมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใน มีการนำ Note Taker ที่ผ่านการฝึกอบรมไป มาบันทึกจัดเก็บความรู้จริงๆ

         เมื่อทำได้หลายเวที คุณหมอทนง ก็เห็นว่า หากมีการฝึก FA เพิ่มเติม จะทำให้เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือ การขับเคลื่อน KM ไปได้ดียิ่งขึ้น จึงจัดฝึกอบรม FA ขึ้นอีกครั้ง ในครั้งนี้

         ผู้เขียนคิดว่า เป็นการขับเคลื่อน KM ที่ทำไปเรียนรู้ไปจริงๆ ไม่จำเป็นต้องรอให้พร้อมทุกอย่าง เพราะถ้ารอให้พร้อม งาน KM ของที่นี่คงไม่คืบหน้าเช่นนี้

         ผู้เขียนจึงสุขใจที่ได้มาร่วมงานกับทีม KM ของโรงพยาบาลพระปกเกล้า เพราะเราหวังเพียงให้ผู้ที่เข้าร่วมกระบวนการของเราแล้ว ได้นำไปใช้ประโยชน์กับงานกับคนทำงานได้จริงๆ เช่นที่โรงพยาบาลพระปกเกล้าได้ทำมา

         เนื่องจากประสบการณ์ของ สคส. พบว่า มีหน่วยงานจำนวนมาก ที่ฝึกอบรมหรือผ่านกระบวนการแล้ว ก็จบกันไป ไม่มีความคืบหน้าอะไรทั้งสิ้น KM หรือการจัดการความรู้จึงเป็นเรื่องที่ยาก ไกลตัว และสุดท้าย คือ ไม่เห็นประโยชน์และคุณค่าที่แท้จริงของ KM

 

หญิง สคส.

๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ 

 

หมายเลขบันทึก: 478874เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2012 11:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2014 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท