การปฏิรูปกฎหมาย


ปฏิรูปกฎหมาย

 ดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับความสนใจจากสังคม ประชาชนชาวบ้านในระดับรากหญ้า และสื่อมวลชนเท่าใดนักเกี่ยวกับองค์กรหนึ่งซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้กำหนดไว้ให้มีขึ้น
นั่นคือ “องค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมายที่ดำเนินการเป็นอิสระ” หรือ "คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย" ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมายที่ดำเนินการเป็นอิสระ นั่นคือพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ.๒๕๕๓
โดยที่มาตรา ๘๑ (๓) ประกอบกับมาตรา ๓๐๘ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้รัฐต้องจัดให้มีกฎหมายเพื่อจัดตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมายที่ดำเนินการเป็นอิสระ
ประสบการณ์ประเทศไทยนั้น เมื่อเกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้น มักไม่พิจารณาให้ถ่องแท้เกี่ยวกับกฎหมายที่มีอยู่ซึ่งมีความเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ และไม่แก้ปัญหาด้วยการแก้กฎหมาย หากแต่จะร่างกฎหมายว่าด้วยการนั้นขึ้นมาใหม่ จึงทำให้เกิดสภาพปัญหาความทับซ้อนเรื่องอำนาจและหน้าที่ขององค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักจะไม่พิจารณาว่ากฎหมายที่อยู่ในบังคับมีปัญหาหรือไม่อย่างไร แม้จะมีคณะกรรมการพัฒนากฎหมายในระดับกระทรวงและระดับกรมก็ตาม เนื่องจากอาจเกรงว่าจะสูญเสียอำนาจตามกฎหมายและสถานะความเป็นองค์กร นอกจากนี้ แผนการปฏิรูปหรือพัฒนากฎหมายยังขาดความชัดเจนเป็นรูปธรรม และการปฏิรูปหรือการพัฒนากฎหมายยังคงขาดฐานของงานวิจัยที่เพียงพอซึ่งอาจเป็นเพราะความต้องการร่างกฎหมายที่ตอบสนองต่อความต้องการขององค์กรเพื่อนำไปเป็นตัวชี้วัด หรือทางการเมือง ขาดมิติความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้อง หรือวิสัยทัศน์การปฏิรูปกฎหมายด้วยองค์รวม
การปฏิรูปกฎหมายของประเทศไทยนั้น ตามประวัติศาสตร์ก็ได้มีการเริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่หนึ่ง และในสมัยรัชกาลที่ห้าซึ่งเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมซึ่งมีความเกี่ยวข้องกันระหว่างกฎหมายกับกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๖ รัฐบาลได้มีนโยบายปฏิรูประบบราชการและการพัฒนากฎหมายตามที่กล่าวมาแล้ว
ในการพิจารณาทบทวนกฎหมายต่าง ๆ ของส่วนราชการที่รับผิดชอบที่สืบเนื่องจากการปฏิรูประบบราชการซึ่งได้มีการปฏิรูปกฎหมายด้วยนั้น ได้ใช้วิธีปฏิรูปกฎหมายทั้งแบบ Top-down กับ Bottom-up แม้จะมีเงื่อนไขสำคัญในการยกร่างกฎหมายคือการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนหรือผู้อยู่ใต้บังคับของกฎหมาย (focus group) ก็ตาม การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนยังมีอยู่บ้างแต่ก็ยังน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายที่เกิดจากความต้องการของภาคประชาชนจริง ๆ ประชาชนไม่มีช่องทางที่จะยกร่างกฎหมายแม้รัฐธรรมนูญจะได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าชื่อกันเสนอกฎหมายได้ก็ตาม
“องค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมายที่ดำเนินการเป็นอิสระ” นี้ รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ทำหน้าที่เชื่อมโยงกับภาคประชาชน โดยให้ทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินการร่างกฎหมายของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย ซึ่งเป็นจุดต่างหรือช่วยเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งมีหน้าที่โดยตรงต่อคณะรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม ปฏิรูปกฎหมายแล้ว ก็อย่าลืมปฏิรูปคนหรือระบบการศึกษากฎหมายด้วย ทั้งนี้ ประเทศไทยเราล้วนมีแต่ “นักกฎหมาย” คือรู้ว่ามีกฎหมายอะไรบ้าง เปรียบเสมือนเป็นช่างฟิต แต่หา “นักนิติศาสตร์” ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นวิศวกรซึ่งสามารถคำนวณโครงสร้างและมองเห็นความสัมพันธ์ของกลไกทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในเชิงบริบทของกฎหมาย ได้ยากยิ่ง จากผลผลิตจากสถาบันการศึกษาด้านนิติศาสตร์เชิงปริมาณซึ่งมีอยู่มากในปัจจุบัน
See more



ความเห็น (2)

อยากได้กฏหมายปราบโกง

อย่างเฉียบขาด ครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท