ของแพงขึ้น..น้ำมันแพงขึ้น..ค่าเงินต่ำลง


   ผมเฝ้าตั้งคำถามมาหลายเวลาว่า "ทำอย่างไรถึงจะลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้" ทั้งที่ค่าใช้จ่ายจริงนั้นไม่มากมายอะไร แต่ถ้าลดได้มันจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเราและคนใกล้ชิดมากทีเดียว เรื่องแรกคือ ค่าอาหารในแต่ละวัน ขณะนี้เฉลี่ยที่ ๑๐๐ บาท/วัน/คน ในบางคนถือว่า น้อยนิดมากๆ

   มองดูรอบข้าง ทันทีที่เราก้าวเท้าออกจากที่พักจะไปทำงานหรือธุระอันใดก็ตาม เราต้องจ่ายเงินแน่ๆ โดยเฉพาะค่าอาหาร เป็นไปได้ที่เราจะลดค่าอาหารจากที่เฉลี่ย ๓๐+/มื้อ ให้เหลือเพียงสองมื้อหรือหนึ่งมื้อ หากเราอยู่ชนบท เราสามารถหาพืชผักที่เราปลูกกินเองได้ แต่น้ำมันเราคงผลิตเองไม่ได้ ปลาทู หมู (กรณีกินเนื้อสัตว์) ไก่ เราคงต้องซื้อ หมายถึงหากเราไม่ได้เลี้ยงสัตว์เหล่านั้น ยิ่งคนที่ไม่กล้าเชือดคอหู คอไก่ด้วยแล้ว เราคงต้องอาศัยศพของมันที่ตลาดเป็นอาหารประทังชีวิตแก่ตนเองและคนใกล้ชิด 

  ปัจจัยสำคัญของยุคนี้อีกอย่างหนึ่งคือ รถยนต์ บางบ้านมีมากกว่าหนึ่งคัน ซึ่งไม่น่าจะเดือดร้อนอะไรหากเราพิจารณารายรับที่เราได้ในแต่ละวัน/เดือน/ปี แม้ค่าน้ำมันจะแพงขึ้นเท่าไรก็ตาม แต่ผมเชื่อว่า โดยปกติเราชอบที่จะออกเงินน้อยมากกว่าเงินมากอย่างแน่นอน นั้นหมายความว่า หากเราออกเงินน้อย เราจะมีเงินเก็บมากกว่าเงินออก บางคนถึงตั้งคำขวัญสำหรับตัวเองว่า "ยิ่งตระหนี่มากยิ่งรวย" ซึ่งอาจส่วนทางกับคำเทศน์ที่ว่า "ยิ่งบริจาคมากยิ่งรวย" คำว่า "รวย" อาจมีความหมายบางอย่างที่ซ่อนนัยสำคัญไว้

   วันนี้ทราบจากข่าวหน้าจอโทรทัศน์ว่า "ราคาน้ำมันปรับขึ้น" และคิดไปว่า ในบางบ้านที่ซื้อรถมาเพื่อใช้ประโยชน์ที่จำเป็นจริงๆ คงเดือดร้อนกันอีกหาก ๑ บาท คูณ ด้วย ๑๐๐ ลิตร ก็หมายถึง ๑๐๐ บาท ใน ๑๐๐ บาท หมายถึง อาหาร ๓ มื้อ/คน และหมายถึงการประทังชีวิตไปอีกวันหนึ่ง ซึ่งมีค่าเพียงเศษฝุ่นหากเรามีรายได้มาก อย่างไรก็ตาม ข้อคิดนั้นเป็นการเข้าข้างตัวเอง เพราะสิ่งที่รัฐพิจารณาคือ "เงินทุนสำรองน้ำมัน" หมายถึง แต่ละบาทแต่ละสตางค์ที่เก็บนั้น เพื่อ "มวล" ไม่ใช่เพื่อ "เฉพาะ"

   ชายแดนมาเลย์ แม้จะมีข่าวในบางครั้งว่า บุกจับค้ามันมันเถื่อน คำว่า "เถื่อน" คืออะไร ชาวบ้านที่ต้องการใช้น้ำมันไม่ได้สนใจเรื่องนี้ หากแต่สนใจว่า เราจะลดรายจ่ายอย่างไร พ่อค้าบางคนฉลาดแต่คบไม่ได้ มีการนำน้ำมันเถื่อนมาผสม ส่งผลต่อ "ปัญหาเครื่องยนต์" อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าน้ำมันเถื่อนจริงๆ ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน หากไม่คิดว่า "เถื่อน" คือสิ่งน่าเกลียด การใช้น้ำมันแบบนั้นที่ไม่ผสมเป็นการลดรายจ่ายได้ในระดับหนึ่ง

   คิดถึงก๊วยเตี๋ยวเมื่อสามสิบปีก่อน ราคา ๓ บาท อิ่มท้องมาก เลยไปอีก ๕๐ สตางค์ แต่มาวันนี้ ๓๐ บาทแบบบ้านๆ ค่าเงินหายไปเรื่อยๆ พิจารณาที่ทองคำ บาทละห้าพัน มาวันนี้บาทละกว่าสองหมื่นห้าพัน

   การหวนกลับไปเริ่มต้นใหม่เหมือนปราชญ์ไทยบางท่าน "โลตัส" "บิ๊กซี" หาได้จากรอบบ้าน แน่นอนว่า เราอาจมีรายได้ในแต่ละเดือนไม่เท่ากับผู้ทำงานมีค่าจ้างประจำแต่ละเดือน แต่ถ้าเงินที่แปรสภาพมาจากต้นไม้ใบหญ้ารอบบ้านไม่ออกไปจากกระเป๋าเลย เงินนั้นมีความหมายบางอย่าง ผมคงยุติด้วยคำของพี่เขยเมื่อหลายปีก่อนว่า "ผ้าเบรครถ หากเราใช้มาก มันก็หมดเร็ว" 

   ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ชีวิตทั้งผอง

หมายเลขบันทึก: 478849เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2012 08:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท