ForensicStatistics2: การใช้ likelihood ratio


     นี่เป็นค่าทางสถิติสำหรับงานตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ ตัวที่สอง ที่น่างงงวยไม่น้อยไปกว่าตัวแรก เจ้าตัวใหม่นี้เรียกกันว่า likelihood ratio : LR  เจ้านี่เป็นเป็นค่ากลางๆ ใช้ได้ในงานทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล (งานที่หาว่าวัตถุพยานนี้เป็นของใคร) หรือจะใช้ในงานพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายเลือด (งานที่หาว่าคนนี้เป็นลูกใคร หรือเป็นญาติกับใคร) แม้ว่าจะใช้งานได้หลากหลายขึ้น แต่เจ้านี่ก็สร้างความมึนงงให้ไม่น้อยไปกว่าเจ้าตัวแรกหรอกครับ

     เอ้า! เรามาทำความรู้จักกับเจ้า LR นี่สักหน่อย เจ้านี่เป็นการเปรียบเทียบ 2 สมมติฐาน ได้แก่ สมมติฐานฝ่ายโจทย์ (prosecution hypothesis) ซึ่งเป็นสมมติฐานที่กล่าวหาจำเลย เพราะฉะนั้นเวลาตั้งสมมติฐานฝ่ายโจทย์ก็จะบอกว่า รูปแบบดีเอ็นเอที่ได้จากวัตถุพยานเป็นของผู้ต้องสงสัยนะ  กับอีกสมมติฐานที่เรียกว่า สมมติฐานฝ่ายจำเลย (defense hypothesis) ที่จำเลยก็พยายามแก้ต่างว่า ไอ้รูปแบบดีเอ็นเอที่ได้จากวัตถุพยานน่ะ ไม่ใช่ของฉัน แต่ได้จากบุคคลอื่น 

     ที่นี้เจ้า LR นี่ก็คือการเปรียบเทียบว่า โอกาสที่รูปแบบดีเอ็นเอที่ได้จากวัตถุพยานนั้น มีโอกาสที่จะเป็นของผู้ต้องสงสัย เป็นกี่เท่าของที่จะเป็นของบุคคลอื่นโดยบังเอิญ เวลาเขียนเป็นสูตร ก็จะเขียนได้ดังนี้

LR   =         โอกาสที่รูปแบบดีเอ็นเอที่ได้จากวัตถุพยานเป็นของผู้ต้องสงสัย
               โอกาสที่รูปแบบดีเอ็นเอที่ได้จากวัตถุพยานเป็นของบุคคลอื่นโดยบังเอิญ

 

      ในงานการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล หรือการหาว่าวัตถุพยานที่ได้จากที่เกิดเหตุเป็นของใครนี่ เราคำนวณออกมาเป็นค่า random match probability ที่นี้พอได้ค่า RMP เรียบร้อย ก็นำมาคำนวณต่อเป็นค่า LR โดยใช้สูตรดังนี้

                     LR = 1/random match probability

     ยกตัวอย่างเช่น รูปแบบดีเอ็นเอจากคราบเลือดบนเสื้อยืดของผู้ตาย มีรูปแบบดีเอ็นเอตรงกับผู้ต้องสงสัย โดยคำนวณค่า random match probability ได้เท่ากับ 0.000000001 (หนึ่งในพันล้าน) จากนั้นนำมาคำนวณเป็นค่า LR ดังนี้

                     LR = 1/0.000000001

                     LR = 1,000,000,000

     เวลาใช้งาน คำว่า LR เราควรอธิบายดังนี้

     จากการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ พบว่า รูปแบบดีเอ็นเอจากคราบเลือดที่เก็บได้จากที่เกิดเหตุให้ผลตรงกับรูปแบบดีเอ็นเอที่เก็บได้จากผู้ต้องสงสัย หากจะกล่าวว่าคราบเลือดนี้ไม่ได้มาจากผู้ต้องสงสัย นั่นหมายความว่า รูปแบบดีเอ็นเอจากคราบเลือดนี้ต้องเหมือนกับบุคคลอื่นโดยบังเอิญ เมื่อคำนวณค่าทางสถิติพบว่ามีค่า likelihood rato เท่ากับ 1,000,000,000 หมายความว่า โอกาสที่รูปแบบดีเอ็นเอจากคราบเลือดจะเป็นของผู้ต้องสงสัย เท่ากับ หนึ่งพันล้านเท่าของโอกาสที่รูปแบบดีเอ็นเอจากคราบเลือดนี้จะเป็นของบุคคลอื่นที่ไม่มีความสัมพันธ์เป็นญาติกัน

     เป็นไง ภาษาที่ใช้ พอจะงงบ้างไหม จะเห็นได้ว่าเจ้า LR มักเป็นตัวเลขที่มีค่าค่อนข้างมากหรือบางครั้งก็มีค่าน้อยมากๆ การสื่อความหมายให้เข้าใจตรงกันบางครั้งก็เป็นเรื่องยาก จึงมีผู้รู้บางท่าน แปลงค่า LR นี่เป็นค่าน้ำหนักของการใช้วัตถุพยานชิ้นนั้นๆ ในการสนับสนุนสมมติฐานของแต่ละฝ่าย ที่เรียกว่า verbal scale

Likelihood ratio น้ำหนักการสนับสนุนสมมติฐาน (verbal equivalent)
1,000,000  สนับสนุนอย่างมากที่สุดต่อสมมติฐานฝ่ายโจทย์
100,000 สนับสนุนอย่างมากๆต่อสมมติฐานฝ่ายโจทย์ 
10,000 สนับสนุนอย่างมากต่อสมมติฐานฝ่ายโจทย์ 
1,000 สนับสนุนค่อนข้างมากต่อสมมติฐานฝ่ายโจทย์ 
100 สนับสนุนปานกลางต่อสมมติฐานฝ่ายโจทย์ 
10 สนับสนุนเล็กน้อยต่อสมมติฐานฝ่ายโจทย์ 
1 ไม่สามารถสรุปผลได้ 
0.1 สนับสนุนเล็กน้อยต่อสมมติฐานฝ่ายจำเลย 
0.01 สนับสนุนปานกลางต่อสมมติฐานฝ่ายจำเลย 
0.001 สนับสนุนค่อนข้างมากต่อสมมติฐานฝ่ายจำเลย 
0.0001 สนับสนุนอย่างมากต่อสมมติฐานฝ่ายจำเลย 
0.00001 สนับสนุนอย่างมากๆต่อสมมติฐานฝ่ายจำเลย 
0.000001 สนับสนุนอย่างมากที่สุดต่อสมมติฐานฝ่ายจำเลย 

     ทีนี้ในงานตรวจพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายเลือด เช่นการตรวจพ่อ-แม่-ลูก หรือบางครั้งก็ตรวจกันแค่สองคน คือ พ่อ-ลูก หรือ แม่-ลูก เวลาคำนวณค่าทางสถิติจะได้ออกมาเป็นค่า Paternity index: PI เราสามารถคำนวณค่า LR จากค่า PI นี้ได้ โดยใช้สูตร

                     LR = paternity index 

     ตัวอย่างเช่น จากตรวจรูปแบบดีเอ็นเอจากชายคนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพ่อ เทียบกับเด็กคนหนึ่ง พบว่ารูปแบบดีเอ็นเอเข้ากันได้ (คำว่าเข้ากันได้ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า รูปแบบดีเอ็นเอเหมือนกัน แต่จากความรู้ที่ว่า ดีเอ็นเอของลูก ครึ่งหนึ่งได้จากพ่อ อีกครึ่งหนึ่งได้จากแม่ ดังนั้น เข้ากันได้ในที่นี้จึงหมายความว่า ทุกตำแหน่งที่ตรวจ พบว่า รูปแบบดีเอ็นเอของพ่อมีการถ่ายทอดไปยังลูก จริงๆแล้วเวลาดู ก็ให้เปรียบเทียบว่า รูปแบบดีเอ็นเอของลูก มีข้างใดข้างหนึ่งตรงกับรูปแบบดีเอ็นเอของพ่อเสมอ) คำนวณค่า PI ได้ 10,000 นั่นหมายความว่า คำนวณค่า LR ได้ 10,000 เช่นเดียวกัน

     เวลาอธิบาย ก็บอกว่า ข้อที่ 1. จากการเปรียบเทียบรูปแบบดีเอ็นเอของบุคคลที่มาตรวจความสัมพันธ์พ่อ-ลูก พบว่า ไม่สามารถคัดผู้ต้องสงสัยออกจากการเป็นพ่อของเด็กได้ คำพูดตรงนี้ บางแห่งอาจใช้คำที่แตกต่างกันออกไป เช่น รูปแบบดีเอ็นเอของบุคคลทั้งสอง ไม่ขัดแย้ง หรือ ไม่สามารถปฏิเสธความสัมพันธ์พ่อ-ลูกระหว่างบุคคลทั้งสองได้ 

     ข้อที่ 2 โอกาสที่ผู้ต้องสงสัยจะเป็นพ่อของเด็ก เท่ากับ 10,000 เท่าของโอกาสที่บุคคลอื่นที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์เป็นญาติกับเด็ก แต่มีรูปแบบดีเอ็นเอเข้ากันได้โดยบังเอิญ

     ค่า LR เป็นค่าที่แสดงถึงสัดส่วนของโอกาสที่จะเป็นของผู้ต้องสงสัย เทียบกับโอกาสที่จะเป็นของบุคคลอื่นโดยบังเอิญ หรือในกรณีที่ตรวจความสัมพันธ์พ่อ-ลูก ก็จะเป็นค่าที่แสดงถึงสัดส่วนของโอกาสที่ชายผู้นี้จะเป็นพ่อของเด็ก เป็นกี่เท่าของโอกาสที่บุคคลอื่นจะเป็นพ่อของเด็ก ซึ่งค่านี้เป็นการคำนวณโดยเปรียบเทียบกันเป็นคู่ๆ เพียงสองคู่เท่านั้น เช่น เปรียบเทียบวัตถุพยาน กับผู้ต้องสงสัย กับ เปรียบเทียบวัตถุพยานกับบุคคลอื่นโดยบังเอิญ  หรือ เปรียบเทียบ ลูกกับผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นพ่อ กับ ลูกกับบุคคลอื่นที่มีรูปแบบดีเอ็นเอเข้ากันได้โดยบังเอิญ จะเห็นว่า ค่า LR นี้ไม่ครอบคลุม ถึงกรณีที่มีบุคคลที่ สอง สาม สี่ ห้า ..... เข้ามาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ไฟไหม้ซานติก้า มีคนตายไป 59 ศพ หรือเรือล่ม มีคนจมน้ำตายไป 16 ศพ คราวต่อไป เราค่อยมาดูว่า กรณีที่มีคนเข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่า 1 คนนั้น เขาจะใช้ค่าทางสถิติตัวไหน ในการอธิบายกันต่อไปครับ


หมายเลขบันทึก: 478540เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2012 16:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 14:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบคุณมากครับ วาที ที่แวะเวียนมาเยี่ยมเยียน

verbal scale มีการอ้างอิงที่ไหนรึเปล่าครับ

เรียน คุณ กวิน

verbal scale นี้ ผมคัดลอกมาจาก  Buckleton J, Triggs CM, Walsh SJ editors.  Forensic DNA Evidence Interpretation. Washington, D.C.: CRS Press; 2005;p.40. Table 2.3 ครับ

 

ขอโทษนะคะ กรณีที่มีบุคคลที่ สอง สาม สี่ ห้า ..... เข้ามาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ด้วย จะใฃ้สมการอ่ะไรอธิบายค่ะ

มันค้างๆ ช่วยอธิบายต่อหน่อยค่ะ ขอบคุณค่ะ ^;

ใช้ค่า posterior probability ในการอธิบายครับ เพราะสูตรของ posterior prob มีการใส่ค่า prior prob ซึ่งก็คือจำนวนคนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ไว้แล้ว อ่านเพิ่มเติมการใช้ค่า posterior prob ได้จากที่นี่ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท