นโยบายโรงเรียนขนาดเล็ก


การจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

          ข่าวศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังประชุมทางไกล (Video Conference) กับผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เรื่อง มอบนโยบายการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการ DOC ชั้น ๙ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

       รมว.ศธ.ได้กล่าวถึง "กรอบแนวคิดในการจัดการศึกษา" ในประเด็นต่างๆ ดังนี้

♦ เน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียน โดย ศธ.จะให้การดูแลและอบรมเด็กเหมือนลูกหลานของตนเอง เพื่อให้เด็กมีการศึกษาและมีชีวิตที่ดีกว่าพ่อแม่

♦ เปลี่ยนครูผู้สอนให้เป็นผู้อำนวยการหรือควบคุมการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กมีจินตนาการมากขึ้น ให้มันสมองของเด็กบินได้ (Fly) โดยไม่มีขอบเขตจำกัด

♦ ปรับการเรียนการสอนในแต่ละวิชา จากเรียนเนื้อหาทั้ง ๑ ชั่วโมง เป็นการเรียนเนื้อหาเพียง ๑/๒ ชั่วโมง ส่วนเวลาที่เหลือให้เป็นการถกเถียง แสดงความคิดเห็น สนทนาร่วมกันระหว่างเด็กกับครู เพื่อให้เด็กกล้าคิด กล้าพูด กล้าแสดงออก อันเป็นการส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของเด็ก หรืออาจมีเวลาเหลือให้เด็กมีกิจกรรมค้นคว้าผ่านคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต

♦ การเรียนรู้แบบองค์รวม (Mind Map) เพื่อต้องการให้เด็กได้ใช้สมองได้คิด ได้ใช้สมองทำงาน เพราะเด็กในวัยเรียน มีพัฒนาการทางสมองที่ดี มีความรวดเร็วต่อการเรียนรู้ เมื่อได้คิด ได้จินตนาการ ก็จะทำให้สมองได้รับการพัฒนาและแตกสาขาออกไปเรื่อยๆ จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่ ศธ. จะต้องจัดการศึกษาที่กระตุ้นการพัฒนาสมอง และเชื่อว่าการสอนเช่นนี้จะดีกว่าการสอนเป็นเรื่องๆ แบบเดิม ซึ่งจะทำให้เด็กขาดจินตนาการ

♦ หนี้สินครูและการเรียกรับเงินจากครูทุกระดับ รวมทั้งการสอบต่างๆ ขอให้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส ลดการใช้ดุลยพินิจ เพื่อป้องกันการคอรัปชัน

            รมว.ศธ.ได้มอบนโยบาย "การพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก" ในประเด็นต่างๆ ดังนี้

♦ ต้องการให้โรงเรียนขนาดเล็กจัดการศึกษาเพื่อให้นักเรียนมีอนาคต ไม่ได้ต้องการยุบโรงเรียน เพียงแต่เสนอแนะให้ไปร่วมหารือถึงแนวทางการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กให้มีคุณภาพ เพื่อต้องการเน้นให้สามารถจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนอย่างเต็มที่และมีคุณภาพ ซึ่งต้องทำความเข้าใจครูผู้สอน รวมทั้งผู้ปกครอง และชุมชนด้วย

♦ กรณีตัวอย่าง แก่งจันทร์โมเดล ซึ่งเป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กในจังหวัดเลย จำนวน ๔ แห่งไว้ด้วยกัน มีนักเรียนเพียง ๑๒๐ คน โดยแก่งจันทร์โมเดล (Kangjan Model) เริ่มจากผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปากมั่งห้วยทับช้าง ผู้อำนวยการบ้านนาโม้ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหาด และผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคกเว้า จังหวัดเลย ร่วมกับรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเลย เขต ๑ ประชุมหารือเพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาในอนาคตของโรงเรียนขนาดเล็ก จากนั้นได้เชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมารับทราบ ร่วมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับปัญหาและแนวทางการพัฒนาการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็กทั้ง ๔ แห่ง รวมทั้งได้ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองด้วยการจัดประชุมชี้แจงถึงแนวทางการพัฒนา ซึ่งผู้ปกครองก็ให้การตอบรับเป็นอย่างดี จึงได้จัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยใช้ชื่อโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็กในตำบลหาดคัมภีร์ เครือข่ายแก่งจันทร์ ซึ่งได้ใช้รูปแบบร่วมกันเป็นเครือข่าย ได้แก่ โรงเรียนบ้านนาโม้สอนชั้นอนุบาล ๑-๒ รวมเป็น ๑ ห้องเรียน และชั้น ป.๑-๒ จำนวน ๒ ห้องเรียน โรงเรียนบ้านปากมั่งห้วยทับช้าง สอนชั้นอนุบาล ๑-๒ รวมเป็น ๑ ห้องเรียน และชั้น ป.๔ จำนวน ๑ ห้องเรียน โรงเรียนบ้านหาดคัมภีร์ สอนชั้น ป.๕-๖ จำนวน ๒ ห้องเรียน และโรงเรียนบ้านคกเว้า สอนชั้นอนุบาล ๑-๒ จำนวน ๑ ห้องเรียน และชั้น ป.๓ จำนวน ๑ ห้องเรียน สำหรับกิจกรรมการเรียนการสอนทั้ง ๔ โรงเรียน ได้ดำเนินการร่วมกันในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น หลักสูตร กิจกรรมพัฒนานักเรียน กิจกรรมวิชาการ และกิจกรรมผูกเสี่ยว รวมทั้งการพัฒนาครูร่วมกันด้วย เช่น การอบรมครู การศึกษาดูงาน การประชุมวิชาการร่วมกันเดือนละ ๒ ครั้ง และการร่วมบริหารงานสนับสนุนอื่นๆ ทั้งงานวิชาการ งานบริหารบุคคล งานบริหารงบประมาณ และงานบริหารทั่วไป

♦ กรณีตัวอย่าง โรงเรียนขนาดเล็กในจังหวัดนครสวรรค์ ได้มีการควบรวม ๓ โรงเรียน มาร่วมพัฒนาจนผ่านเกณฑ์มาตรฐานทั้ง ๓ โรงเรียน จนถึงขณะนี้โรงเรียนทั้ง ๓ โรงเรียน ก็ยังไม่มีโรงเรียนใดถูกยุบ ในขณะเดียวกันประชาชนได้รับความพึงพอใจและมีความศรัทธาต่อผู้บริหารและครูมากขึ้น

♦ ในการควบรวมโรงเรียน อาจจะขอรับงบประมาณสนับสนุนในการซื้อรถยนต์ หรือจะนำงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบล มาซื้อรถยนต์ปรับอากาศ ๑๖ ที่นั่ง พร้อมทั้งมีโทรทัศน์ เพื่อให้บริการรับ-ส่งนักเรียน/ครู ทั้งยังสามารถที่จะใช้รถยนต์ในการรับ-ส่งนักเรียนและครูไปทัศนศึกษาในช่วงวันหยุดได้ด้วย

♦ หากโรงเรียนใดที่ยังไม่สามารถจะควบรวมได้ เช่น โรงเรียนบนดอย หรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล อาจจะเน้นการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม หรือเรียนจากคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตมากขึ้น พร้อมทั้งให้ผู้ปกครอง ชุมชน และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้น

 

ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2012/feb/042.html

หมายเลขบันทึก: 478445เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 18:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 10:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท