ทุกอย่างต้องลงตัวด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์หรือไม่


ข้อความว่า "ทุกอย่างต้องลงตัวด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์หรือไม่" เป็นคำถามที่ผมหันกลับมามองตัวเอง หลังจากถูกประเมินโครงการวิจัยที่ตั้งใจจะทำในสาขามนุษยศาสตร์ โครงการนั้นคือ การวิเคราะห์เชิงปรัชญาเรื่อง ปัญหาความขัดแย้งทางศาสนา : ข้อเสนอในการแก้ปัญหาของพุทธทาสภิกขุ (หลวงพ่อพุทธทาส) อันหนึ่งที่สมาชิกอนุกรรมการย้ำหลายครั้งคือ "ต้องเป็นวิทยาศาสตร์" 

ที่ผ่านมา เราจะพบปัญหาที่ว่า พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่ ข้อขัดแย้งของปัญหานั้นคือ ทัศนะที่ว่า (ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า) พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ และทัศนะที่ว่า (อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า) พุทธศาสนาเป็นศาสนา (ซึ่งแยกเป็น ๒ ทัศนะคือ ระบุว่าไม่เป็นวิทยาศาสตร์ และไม่ระบุว่าเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ระบุว่า เป็นศาสนา)

คำว่า "วิทยาศาสตร์" หมายถึง อะไร และ พุทธศาสนา หมายถึง อะไร ถ้าเป็น ถ้า ก. เป็น ข. ดังนั้น ก. และ ข. จะต้องเป็นเหมือนกันทั้งหมดหรือไม่ หากเป็นเหมือนกันทั้งหมด ผมมองว่า เราสามารถตรวจสอบวิทยาศาสตร์ได้ด้วยพุทธศาสนา และเราสามารถตรวจสอบพุทธศาสนาได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ปัญหาคือ วิทยาศาสตร์ทั้งหมด เราตรวจสอบได้ด้วยพุทธศาสนาทั้งหมดหรือไม่ และ พุทธศาสนาทั้งหมด เราตรวจสอบได้ด้วยวิทยาศาสตร์ทั้งหมดหรือไม่ 

แน่นอน คำว่า "วิทยาศาสตร์" ในข้อความว่า "ต้องเป็นวิทยาศาสตร์" น่าจะหมายถึง เราสามารถตรวจสอบได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของประสาทสัมผัส ปัญหาที่ตามมาคือ หากมีสิ่งหนึ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์เหมือนกัน แต่วิทยาศาสตร์ยังเข้าไม่ถึง เราจะระบุได้หรือไม่ว่า สิ่งนั้นเป็นวิทยาศาสตร์

ปัญหาอีกประการหนึ่งนอกเหนือจากข้อความว่า "ทุกอย่างต้องลงตัวด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์หรือไม่" คือ คำว่า "ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขา การพัฒนามนุษย์ (และสาขาอื่นๆ) ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขา ศาสนศึกษา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขา ปรัชญา ในการเข้าใจคำว่า "ปรัชญา" เหมือนกันหรือไม่

นอกจากนั้น "มนุษยศาสตร์" และ "สังคมศาสตร์" แตกต่างกันอย่างไร ทั้งสอง เหมือนกับ  "วิทยาศาสตร์" หรือไม่ ปัญหาเหล่านี้ ผมคิดว่า เป็นความอ่อนด้อยในการศึกษาที่จำเป็นจะต้องเลือกว่าจะเดินในศาสตร์ใด เพราะความรู้ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากนั้น เราไม่สามารถจะศึกษาจนทะลุปรุโปร่งได้ทุกศาสตร์ อย่างไรก็ตาม คำตอบนั้นหากจะได้มาและได้ดีคงต้องรับฟังจากผู้รู้ "สรรพศาสตร์" 

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้ว ผมเชื่อว่า เราก็ต้องทิ้งทุกสิ่งที่เราเชื่อมั่นไป และทุกสิ่งที่เราเชื่อมั่นล้วนเป็นความ "บ้าบิ่น" เพื่อเข้าไปสู่โลกแห่งความเปล่าดายที่เข้าใจว่าคือความจริง

หมายเลขบันทึก: 478207เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2012 07:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท