สังคมไทยหดตัว รวมศูนย์ คิดแคบ และไร้การร่วมดำรงอยู่ในสังคมโลก มากกว่าเดิม ?....ภาพสะท้อนบางอย่างในสังคมหลังวิกฤติน้ำท่วมใหญ่


หลังมหันตภัยจากภาวะน้ำท่วมใหญ่ทั่วประเทศ ผมได้กลับบ้านเกิดที่นครสวรรค์และมีโอกาสไปตามท้องถิ่นต่างๆหลายแห่ง สิ่งหนึ่งที่จะได้เห็นไปด้วยจากทุกแห่งที่ผ่านไปก็คือร่องรอยความเสียหายจากภาวะน้ำท่วม ทั้งสภาพแหล่งทำกินที่ล่มสลาย นาข้าว เรือกสวนไร่นา และพืชพรรณถูกกวาดหายไปกับสายน้ำจนเหลือแต่ท้องนาสีดินโคลนเตียนโล่งสุดลูกหูลูกตา แม้มีต้นไม้เหลือเล็ดรอด ก็ยืนต้นแห้งตายเป็นแถวเป็นแนว

สภาพชุมชนทั้งในเขตเมืองและชนบทที่พังทลายทรุดโทรม ถนน รถรา อาคารบ้านช่อง ที่ยังคงมีสภาพถูกทับถมด้วยโคลนและเศษขยะที่ลอยมากับน้ำ มองจากสภาพความทรุดโทรมของถนนหนทาง ตึกรามบ้านช่อง และสภาพแวดล้อมในทางกายภาพแล้ว ก็ราวกับถอยหลังกลับไปสู่สภาพความรกไร้ระเบียบของสภาพบ้านเมืองและที่อยู่อาศัยเมื่อ สัก ๓๐-๔๐ ปีก่อน  อีกทั้งหลายแห่งก็ดูจะมีสภาพโกลาหลปนเป สร้างทัศนอุจาดมากยิ่งกว่าที่เคยปรากฏในอดีตเสียอีก เป็นภาวะที่ต้องการการเรียนรู้ตนเองเพื่อฟื้นฟู กอบกู้ความล่มสลาย และสร้างบ้านแปงเมือง ด้วยพลังที่ต้องมากกว่าภาวะปรกติของสังคมอย่างยิ่ง

ระบบการเคลื่อนไหวชีวิตสังคมและความเป็นชีวิตสาธารณะหลายอย่างคลายความมีประสิทธิภาพ ไม่มีคุณภาพ และทำให้สุขภาวะที่เคยมีอยู่ในสังคมและสิ่งแวดล้อมของชีวิตลดลงไป สัมผัสได้แม้จากสิ่งใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน ในกรุงเทพมหานครและตามเมืองในภูมิภาคต่างๆ จะพบเห็นเป็นระยะๆว่าผู้คนขนขยะออกมากองและเผาทิ้งเกลื่อนกลาด ควันโขมงปกคลุมเหมือนบรรยากาศกรุ่นอยู่ในสภาพสงคราม  แต่หากจะเรียกร้องแสดงความไม่พอใจแล้ว มันก็เยอะเสียจนไม่รู้เหมือนกันว่าแล้วจะให้ชาวบ้านกับระบบจัดการต่างๆเท่าที่มีต้องดำเนินการอย่างไร เพราะต่างก็ถูกภัยน้ำท่วมโจมตีเสียหายตามกันไปด้วยอย่างถ้วนหน้า ต่างทุกข์ยากพอๆกัน

ตามป้ายรถเมล์ สถานีขนส่ง และแหล่งสาธารณะของชุมนุมชน นอกจากจะรกและทรุดโทรมไปทั่วแล้ว การยืนสูบบุหรี่ พ่นควันรมพิษของบุหรี่มือสองให้กับผู้คนที่ไม่ได้สูบ และทิ้งก้นบุหรี่ซ้ำเติมให้สภาพความทรุดโทรมยิ่งเสื่องโทรมมากขึ้น ก็หวนคืนมาอีกหลังจากภาพเหล่านี้หายไปจากสังคมไทยเกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์และเป็นตัวอย่างให้สังคมทั่วโลกได้ตระหนักรู้ว่า การสูบบุหรี่และสร้างสิ่งรบกวนสุขภาพของผู้อื่นในที่สาธารณะเป็นสิ่งผิดกฏหมายมามากกว่า ๑๐ ปี สะท้อนถึงภาวะความสูญเสียพลังในการกำกับจิตใจตนเองที่จะดูแลความเป็นส่วนรวมของผู้คน ขาดสำนึกและพลังการร่วมบำรุงสุขภาวะสาธารณะ รวมทั้งสื่อสะท้อนให้เห็นถึงภาวะความอ่อนแรงและลดประสิทธิภาพลงไปของระบบควบคุมตนเองต่างๆในสังคม

หลังภัยพิบัติน้ำท่วม ทุกครั้งเมื่อต้องการขึ้นรถแท๊กซี่สาธารณะ ผมก็ต้องประสบกับบางอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อนหน้านั้น คือ แท๊กซี่แทบทุกคันจะขอต่อรองราคาก่อน แทนการรับผู้โดยสารไปตามหน้าที่แล้วกดมิเตอร์วิ่ง ซึ่งทราบจากการถามไถ่จากคนขับแท๊กซี่ที่มีน้ำใจให้หลายคันด้วยเช่นกันว่า พวกแท๊กซึ่และคนยากจนจำนวนมากที่รถและบ้านก็เสียหายหมดเนื้อหมดตัว เกิดแรงกดดันให้ต้องการหาเงินโดยทำเที่ยววิ่งทางใกล้ให้มากที่สุดเพื่อให้วิ่งเพียงนิดหน่อยก็ได้ค่าโดยสาร ๓๕ บาท และอีกทางหนึ่ง ก็ต้องการลูกค้าทางไกลเพื่อได้ค่าโดยสารแบบเหมาจ่ายเป็นกอบเป็นกำไปเลย เมื่อผสมผสานกับรถสาธารณะ ถนน กำลังคน และระบบสาธารณะต่างๆเกิดผลกระทบอยู่ในภาวะที่ก็ทำหน้าที่ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพที่มี ผู้คนก็ต้องอาศัยแก้ปัญหาตนเองแบบตัวใครตัวมัน  อีกทั้งแท๊กซี่บางส่วนที่ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังที่สังคมเสียหายจากภาวะน้ำท่วมใหญ่ ก็เป็นนักฉวยโอกาสทำอย่างนี้กันอยู่แล้วอีกจำนวนหนึ่ง เมื่อสังคมตกอยู่ในสภาพอ่อนแอ ก็ยิ่งเป็นจังหวะให้ฉวยโอกาสกันมากยิ่งขึ้น จึงต่างเป็นแรงทับโถมที่ช่วยกันทำให้เกิดสภาพดังกล่าวมากยิ่งขึ้นไปอีก

กลไกของรัฐบาลในท้องถิ่น ตลอดจนสื่อมวลชนทั้งทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ ต่างก็เคลื่อนไหวไปกับเรื่องราวข่าวสารเกี่ยวกับน้ำท่วม แต่ภายใต้ความเคลื่อนไหวและสนองตอบวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นร่วมกันของผู้คนทั้งประเทศกว่า ๖๕ ล้านคนของ ๗๖ จังหวัดทั่วประเทศไทยนั้น ภูมิศาสตร์ของชีวิตสังคมและความทุกข์ร้อนจากภัยน้ำท่วม ที่สะท้อนอยู่บนพรมแดนพื้นที่ข่าวสารและสื่อมวลชน กลับจะเข้มข้นและใกล้ชิดอยู่กับสังคมของคนส่วนน้อยแต่มีเสียงดังมากเสียเป็นส่วนใหญ่ กล่าวคือ เกาะติดไปกับสถานการณ์ของแหล่งประกอบการในภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กับความกังวลและทุกข์ร้อนของคนกรุงเทพฯบางส่วน

ทั้งรัฐบาลท้องถิ่นของกรุงเทพฯ รัฐบาลกลางของคนทั้งประเทศ รวมทั้งสื่อมวลชนทุกแขนง ต่างมุ่งเสนอสนองความทุกข์เพียงความกังวลต่อภาวะน้ำท่วมของคนกรุงเทพฯ ในขณะที่อีกค่อนประเทศได้เกิดความเสียหายอย่างสุดประมาณทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และระบบการอยู่อาศัยร่วมกัน กลับมีเสียงแผ่วเบาจนเหมือนกับไม่มีใครให้ความสำคัญ

เมื่อประเมินดูจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกของข่าวสารและความเคลื่อนไหวของสังคมในสื่ออย่างนี้ จึงราวกับว่ากรุงเทพฯกลับยิ่งรวมศูนย์ความเป็นประเทศไทยมากกว่าก่อนที่นโยบายกระจายความเจริญแบบกระจุกและการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นได้ขับเคลื่อนในประเทศไทยไปแล้วกว่า ๒๐-๓๐ ปีเสียอีก

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อผ่านภาวะน้ำท่วมไปแล้ว สังคมกรุงเทพฯก็ได้รอดพ้นจากการถูกน้ำท่วม ภาคอุตสาหกรรมในเขตปริมณฑลก็พอจะมีมาตรการของรัฐบาลที่จะดูแลช่วยเหลือ และให้หลักประกันสร้างความมั่นใจแก่ภาคการลงทุนทั้งในและนอกประเทศพอสมควร วาระความสนใจของสังคมไทย ทั้งที่สะท้อนจากวาระของรัฐบาล ภาคการเมือง ตลอดจนสื่อและข่าวสารข้อมูลต่างๆ ของสังคม ที่เกี่ยวกับวิกฤติการณ์น้ำท่วม ก็แทบจะหายไปเหมือนกลับสู่ภาวะปรกติ พร้อมกับเคลื่อนไหวไปสู่เรื่องอื่นๆ

ในขณะที่ชาวบ้าน ชุมชน และผู้คนอีกจำนวนมากของประเทศ กำลังเกิดผลกระทบ ตกอยู่ในความยากเข็ญที่สืบเนื่องมาจากภาวะน้ำท่วมใหญ่ที่เพิ่งผ่านไป ชาวสวนและภาคเกษตรกรจำนวนมากค่อนประเทศหมดทุนชีวิต ขาดสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับดำเนินชีวิต ขาดเมล็ดพันธุ์และมาตรการช่วยเหลือเพื่อการตั้งหลักใหม่ เช่น ระบบเงินทุน เครือข่ายและองค์กรจัดการตนเองภายใต้สถานการณ์ที่สืบเนื่องกับวิกฤติจากน้ำท่วม โครงสร้างพื้นฐานและระบบส่วนรวมของสังคมซึ่งเป็นเครื่องค้ำจุนสุขภาวะสาธารณะของผู้คนส่วนใหญ่กำลังอ่อนกำลัง ซึ่งจะก่อเกิดผลกระทบสืบเนื่องไปสู่คุณภาพชีวิตและสุขภาวะสาธารณะทางด้านการศึกษาของลูกหลาน สุขภาพ ตลอดจนพลังในการผลิตและการมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สิ่งวต่างๆของสังคม เหล่านี้ เป็นความจำเป็นทั้งในระยะสั้นและในระยะยาวของสังคมไทยอย่างแท้จริง ก็กลายเป็นเหมือนกับไม่มีกำลังส่งเสียงสร้างวาระทางสังคม ระดมพลังความร่วมแรงร่วมใจกันของสังคมเพื่อบรรเทาทุกข์เฉพาะหน้าและร่วมกันแก้ปัญหาในระยะยาวที่เพียงพอเลย

ดังนั้น จึงสามารถเห็นภาพจากบางแง่มุมที่เหมือนกับเล็กน้อยแต่มีนัยสำคัญต่อสังคมไทยโดยรวมมากเหมือนกันว่า ยิ่งพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าไปกับโลก ก็เหมือนกับกรุงเทพฯยิ่งสร้างความหดตัวของประเทศไทยให้เกิดความกระจุกตัว วาระของกรุงเทพฯยิ่งเป็นวาระของคนทั้งประเทศ แต่ทุกข์ร้อนและวาระของคนส่วนใหญ่ในประเทศ กลับอาจไม่เกี่ยวกับความเป็นไปในวาระที่คนกรุงเทพฯจะถือเป็นความสนใจและตื่นตัวไปด้วยเลยก็ได้

มองบทบาทของสถาบันการศึกษาต่างๆและภาคการศึกษาของสังคม แม้บางส่วนจะเป็นเพื่อนร่วมทุกข์และเป็นกำลังเสริมความเข้มแข็งให้กับสังคม แต่ส่วนใหญ่ก็ผ่านเลยไปอยู่กับประเด็นความสนใจที่แยกส่วนตนเองออกไปจากความรู้สึกร่วมทุกข์ร้อนกับสังคมเหมือนกับไม่ได้เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมและไม่มีทุกข์ภัยที่ผิดไปจากปรกติเกิดขึ้นมาก่อน การสนองตอบวาระความจำเป็นของสังคมเพื่อตอกย้ำความตื่นตัวในการร่วมกันเป็นความเข้มแข็งทางสังคมแห่งการใช้ปัญญาและร่วมกันขยายกำลังปัญญาปฏิบัติเพื่อชี้นำการแก้ปัญหาที่เกิดผลต่อคนส่วนใหญ่ในสังคม ก็เกิดขึ้นเพียงระดับกลุ่มสนใจเพียงส่วนน้อย และเป็นจำนวนมากเกิดจากความทุ่มเทกายใจของปัจเจกเพียงหยิบมือที่นอกความเป็นองค์กรของสังคมอีกด้วย

ในอีกทางหนึ่ง สังคมโลกก็มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปบนสถานการณ์หลายอย่าง ที่มีความเป็นวาระความจำเป็นร่วมกันของผู้คนและทุกสังคมในโลก แต่สังคมไทยนอกจากกำลังทำให้ความจำเป็นต้องทบทวนยุทธศาสตร์การพัฒนาและการส่งเสริมความตื่นตัวในการร่วมคิดทำสิ่งที่ควรจะมีหลังภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่เลือนหายไปจากความใส่ใจแล้ว ก็กลับหวนคืนสู่บรรยากาศการเมืองแบบแบ่งพวกสู้กัน เหมือนกับการเล่นของชาวบ้านอย่างหนึ่งของเมื่อก่อน ที่นำเอาเขม่าก้นหม้อดินจากไฟฟืน ไปทาหน้าและหัว ของไก่โต้งแต่ละตัวในฝูงที่เคยอยู่บ้านและฝูงเดียวกัน  ซึ่งหลังจากนั้น เขม่าจากก้นหม้อจะทำให้ไก่แต่ละตัวจำใบหน้าอีกฝ่ายไม่ได้ แต่ก็ไม่รู้ว่าบนใบหน้าตนเองก็มีเขม่าพอกอยู่  จึงต่างเห็นอีกฝ่ายเป็นความแปลกหน้าและเป็นอีกฝ่ายที่มุ่งโจมตีตนเอง ดังนั้น ไก่ในฝูงก็จะจิกตีกันแทบทั้งวันอย่างเอาเป็นเอาตาย หากไม่จับแยกออกจากกัน ก็จะตีกันจนกว่าเขม่าที่ทาหน้าอยู่จะหายและสามารถจำกันหน้ากันได้อีกครั้ง จึงจะเลิกตีกันไปเอง  ซึ่งก็จะบอบช้ำและบ่อยครั้งถึงตาย

หรือการเล่นอีกาคาบไข่ (บันทึกชวนนั่งคิดใคร่ครวญ ธรรมนูญสมมติ ฯ : http://www.gotoknow.org/blog/civil-learning/220909 และ เงาหัวกับตัวตน..ฯ : http://www.gotoknow.org/blog/civil-learning/220674 ) และการที่ผู้ใหญ่จับเอาเด็กๆมายืนประจันหน้ากันแล้วขีดวงกลมตรงหน้า สมมุติให้เป็นเงาหัวพ่อแม่ของแต่ละคน ใครเหยียบเงาหรือเหยียบวงกลม ถือว่าจงใจเหยียบหัวของพ่อแม่อีกฝ่าย ซึ่งไม่นาน เด็กคู่นั้นก็จะทะเลาะชกต่อยกันอย่างเอาเป็นเอาตาย สภาพสังคมไทยก็กำลังเกิดเหตุการณ์ในลักษณะอย่างนี้ ซึ่งทุกข์ร้อนของคนส่วนใหญ่ก็ถูกกลบหาย และความเป็นไปของโลกก็ถูกละเลย

ในสังคมมหาวิทยาลัย สังคมการศึกษา ผู้ปกครองและผู้มีสำนึกต่อส่วนรวม มักแสดงความห่วงใยกันว่า การปฏิรูปการศึกษาของสังคมไทยดำเนินการและขับเคลื่อนไปแล้วถึงรอบที่ ๒ แต่ก็เกิดผลน้อยหรือแทบจะกล่าวว่าล้มเหลว ซึ่งการยืนอยู่กับที่ก็ย่อมหมายถึงเกิดความล้าหลัง  แต่หากพินิจพิจารณาจากสภาพถิ่นฐานบ้านช่อง รวมทั้งปรากฏการณ์และความเคลื่อนไหวของสังคม ตลอดจนชีวิตจิตใจของสังคม หลังเกิดภาวะมหันตภัยจากน้ำท่วมใหญ่ พร้อมกับมองย้อนไปถึงสิ่งที่เคยปรากฏเป็นวาระทางสังคมเมื่อ ๑๐-๒๐ ปีที่ผ่านมาแล้ว  ผมกลับเห็นถึงการหดตัวของสังคม  รวมศูนย์  คิดแคบ และไร้การร่วมดำรงอยู่ในสังคมโลก มากกว่าเดิมเสียอีก

หมายความว่าไม่ใช่เพียงการปฏิรูปการศึกษาเท่านั้นที่ได้เกิดความชงักงัน แต่วาระการพัฒนาประเทศหลายอย่างที่เคยเป็นที่โดดเด่นมากประเทศหนึ่งของโลก โดยเฉพาะการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปพรรคและภาคการเมือง การปฏิรูปสังคมวัฒนธรรมประชาธิปไตย การปฏิรูปสื่อมวลชนและระบบการสื่อสารเรียนรู้ของประเทศ การปฏิรูประบบสุขภาพ คุณภาพชีวิต และคุณภาพสังคม  สิ่งแวดล้อม เหล่านี้ ก็เกิดความล้าและเสื่อมพลัง ถดถอยไปมากกว่าเมื่อ ๒๐-๓๐ ปีก่อนเสียอีก

กรุงเทพฯที่เคยรวมศูนย์ความเป็นประเทศไทย กลับยิ่งเป็นทั้งหมดของสังคมไทยและร่วมเป็นสายธารเดียวกันกับความเป็นส่วนน้อยของผู้ได้เปรียบในสังคมโลก ที่กลับยิ่งถอยห่างไปจากความเป็นท้องถิ่นส่วนใหญ่ของสังคม การกระจายอำนาจ การทำให้ท้องถิ่น คน และชุมชน เป็นเป้าหมายหลักในยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศ ก็เสื่อมถอยพลัง ล้มเหลวและยิ่งสร้างความยุ่งเหยิง ไม่ต่างไปจากกระบวนการปฏิรูปการศึกษาที่ตกเป็นเหยื่อของสังคมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผู้คนและระบบย่อยต่างๆของสังคม ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะแยกส่วนอยู่รอดในสถานการณ์เฉพาะไปก่อนแบบตัวใครตัวมัน

สภาวการณ์อย่างนี้  ในงานศึกษาปัญหาสังคมในแนวเชิงลบ เช่น งานของเอมิล เดอไคม์ นักสังคมวิทยารุ่นเก่าแก่ของโลก ก็จะอธิบายว่าเป็นธรรมชาติของก่อนการเกิดภาวะอโนมี หรือความระส่ำระสายจากการพังทลายและเสียระบบในสังคมอันเกิดจากแรงกดดันของสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ขยายตัวซับซ้อน หรือเกิดวิกฤติการณ์มากกว่าที่เคยเป็น  ซึ่งทั้งจากประสบการณ์ของสังคมไทยและหลายสังคมของโลก ก็มักจะพบอีกว่าทางออกที่ดีอีกทางหนึ่งและภาคสังคมที่เป็นหลักใจให้กับส่วนรวมได้อีกส่วนหนึ่ง ก็จะไม่อยู่ในระบบและกลไกแบบที่เคยมีบทบาทอยู่ในภาวะปรกติ  แต่จะมาจากพลังของปัจเจกที่มีจิตสาธารณะต่อส่วนรวมและมีทักษะการทำงานเชิงสังคมที่มีผลต่อคนหมู่มากในพื้นที่ชีวิตของตน อีกทางหนึ่งที่น่าสนใจมากเช่นกัน ก็จะมาจากการรวมกลุ่มดูแลตนเองและองค์กรภาคประชาสังคมที่สร้างสุขภาวะของสาธารณะด้วยงานความรู้และการระดมพลังความร่วมแรงร่วมใจกันเองด้วยจุดหมายที่ข้ามพ้นความขัดแย้งที่อยู่ในกระแสการเมือง

ปัจเจก คนทำงาน และเครือข่ายของชุมชน ที่มีพื้นฐานการเชื่อมโยงตนเองกับประเด็นความสนใจที่มีความเป็นส่วนรวมอยู่แล้ว ต้องเพิ่มมิติความลึกซึ้งของการทำงานเชิงปัญญา ทำกิจกรรมที่มิใช่มุ่งความสำเร็จระดับกิจกรรม แต่มุ่งให้เป็นวิธีเข้าถึงความเป็นจริงที่ลึกซึ้งต่อบริบทของการปฏิบัติ ยืดหยุ่นให้กับความแตกต่างหลากหลายทั้งของท้องถิ่นและของสังคมโลก แยบคาย ให้จิตใหญ่ ให้ความบันดาลใจ และได้ตัวปัญญาที่ชี้นำมโนสำนึกที่ดีให้กับผู้คน ส่งเสริมพลังใจและความมุ่งมั่นต่อการแก้ปัญหาด้วยการพึ่งการร่วมปฏิบัติของตน กลุ่มก้อน และหมู่คณะ พร้อมกับส่งออกและเผยแพร่ขยายผลพลังความสร้างสรรค์สิ่งดี เป็นกำลังรักษาความยั่งยืนในวิถีทางของตนเองและร่วมดูแลสุขภาวะส่วนรวมอย่างแข็งขันในพื้นที่ชีวิตของตน จะเป็นทางที่ดีทางหนึ่งของการเรียนรู้สร้างสุขภาวะสังคมในภาวะวกฤติ ที่ใช้โอกาสที่สังคมสื่อออนไลน์เอื้อให้ปัจเจกและผู้คนเชื่อมโยงตนเองกับความเป็นส่วนรวมได้มากขึ้น ได้อย่างเหมาะสม.

หมายเลขบันทึก: 477906เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2012 16:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ขอบคุณทิมดาบ และอาจารนย์ Wasawat Deemarn
ที่แวะเข้ามาเยือนและให้การทักทายครับ
มีความสุขมากๆเด้อครับเด้อ

ขอขอบคุณและขอคารวะทักทายทั้งสองท่านด้วยเช่นกันครับ  
Ico48 Tum Laksana Rodtrakul Ico48 มะปรางเปรี้ยว

กราบนมัสการขอบพระคุณท่านพระอาจารย์มหาแล
และขอขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์กับคุณตะวันดิน
ที่แวะมาเยือนและให้กำลังใจกันครับ

Ico48 Tawandin  Ico48  ณัฐพัชร์  Ico48 พระมหาแล

ไม่ใช่เพียงการปฏิรูปการศึกษาเท่านั้นที่ได้เกิดความชงักงัน แต่วาระการพัฒนาประเทศหลายอย่างที่เคยเป็นที่โดดเด่นมากประเทศหนึ่งของโลก โดยเฉพาะการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปพรรคและภาคการเมือง การปฏิรูปสังคมวัฒนธรรมประชาธิปไตย การปฏิรูปสื่อมวลชนและระบบการสื่อสารเรียนรู้ของประเทศ การปฏิรูประบบสุขภาพ คุณภาพชีวิต และคุณภาพสังคม  สิ่งแวดล้อม เหล่านี้ ก็เกิดความล้าและเสื่อมพลัง ถดถอยไปมากกว่าเมื่อ ๒๐-๓๐ ปีก่อนเสียอีก

...

ขอบคุณค่ะท่านอาจารย์เซียนศิลป์

อาจารย์เซียนศิลป์....ชอบคำนี้จังครับอาจารย์

แต่บันทึกนี้...เซียนเหยียบเซียนเลยครับอาจารย์

สวัสดีครับคุณ Poo
พอได้เป็นสักอีกโอกาสหนึ่ง ให้ได้นั่งทบทวนชีวิตความเป็นมาเป็นไป เห็นภาพรวมและตำแหน่งแห่งหนของวาระความสนใจต่างๆในชีวิต ไปด้วยเหมือนกันบ้างนะครับ มีความสุขในวันอาทิตย์นะครับ

สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดีครับ

บ๊ะ ....ขอบคุณท่านทั้งสอง ที่ให้เกียรติมาเยือนให้ข้าได้สันถวะ
ขอคารวะท่านทั้งสอง ท่าน Poo กับท่านแสงแห่งความดี คนละจอก
ได้อารมณ์แบบหนังจีนเหมือนกันนะครับนี่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท