แนวคิดและแรงบันดาลใจการศึกษาเพื่อสร้างคนจริง: ณ โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา จ. วัดเชียงใหม่ และมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา จ.วัดเชียงราย


การศึกษาคือชีวิต ชีวิตคือการศึกษา “การศึกษาคือชีวิต ชีวิตคือการศึกษา ยืนที่เดียวกัน แต่ว่าการศึกษาในโลกปัจจุบันนี้ชีวิตก็อย่างหนึ่ง การศึกษาก็อย่างหนึ่ง แล้วการศึกษาก็เอาวิชาเป็นตัวตั้ง ตรงนี้นี่การปฏิบัติคือพยายามย้ายการศึกษาจากการท่องเขียนให้มาอยู่ในวิถี ชีวิตร่วมกัน และเรียนรู้จากวิถีชีวิตร่วมกันให้มากที่สุด…”

แนวคิดและแรงบันดาลใจการศึกษาเพื่อสร้างคนจริง  

ในระหว่างวันที่ 31 มกราคม- 2 กุมภาพันธ์ 55 ผมและคณะนิสิต ป.เอก นำโดยท่านอาจารย์ประวิต เอราวรรณ์ ทั้งหมด 36 ชีวิต ร่วมทัศนศึกษาเพื่อเรียนรู้การจัดการศึกษานอกระบบ ได้แก่ การศึกษาทางเลือก ณ โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา  จ. วัดเชียงใหม่ โดย อาจารย์ชัชวาล ทองดีเลิศ และศึกษาการจัดการศึกษาชาวเขา ของครูผู้อุทิศตนอย่างแท้จริง ณ มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา จ.วัดเชียงราย อาจารย์เตือนใจ ดีเทศน์ ตามกำหนดการคร่าวๆ ดังนี้

กำหนดการศึกษาดูงานและเข้าร่วมประชุมสัมมนาทางวิชาการ

วันที่ 31  มกราคม – 2 กุมภาพันธ์  2555

ณ โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา  จ. วัดเชียงใหม่ และมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา จ.วัดเชียงราย

วันที่ 31 มกราคม 2555

                11.00 น.               เดินทางถึงจังหวัดเชียงใหม่

                13.00-17.00         ศึกษาดูงานและฟังบรรยาย เรื่องแนวคิดการศึกษาทาง เลือก :กรณี โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา  จ. วัดเชียงใหม่ โดย อาจารย์ชัชวาล ทองดีเลิศ

                17.00-20.00 น.     พักรับประทานอาหาร

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555

                07.30 น.               ออกเดินทางไปจังหวัดเชียงราย

                12.00-13.00 น.   พักรับประทานอาหารเที่ยง

                13.00-17.00 น.   ศึกษาดูงานมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา จ.วัดเชียงราย เรื่องแนวคิดการจัดการศึกษาในพื้นที่สูง โดย อาจารย์เตือนใจ ดีเทศน์

                18.00-21.00 น    ศึกษาวัฒนธรรมชนเผ่าในพื้นที่สูง โดย อาจารย์สุพจน์ หลี่จา

                21.00 น.               เข้าที่พัก

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555

                08.00 น.               เดินทางกลับ

 

ที่นำมาเขียนแชร์ช้าเพราะกว่าที่สิ่งที่เพิ่งได้เรียนรู้จะเกิดการตกผลึก ย่อยความคิดและแรงบันดาลใจจากการศึกษาครั้งนี้ ผมต้อง นอนนึกถึงคำพูด แรงบันดาลที่ยากจะบรรยายออกเป็นคำพูด เรื่องจริงที่ได้พบประสบมาจากการดูงานครั้งนี้ เป็นเรื่องประทับในใจของข้าพเจ้าตั้งแต่กลับมาจากเชียงใหม่จนถึงขณะที่่กำลังเขียนตอนนี้ยังไม่จางหาย

ผมในฐานะคนนักการศึกษา (ในระบบ) คนหนึ่งได้รับการศึกษาในระบบกว่า 20 กว่าปี จนมาทำงานเป็นครู สอนหนังสือ ถึงแม้การเป็นครูเป็นสิ่งที่ผมไม่ได้มุ่งเป้าตั้งแต่เด็ก แต่เมื่อมาเป็นครู ผมก็ตั้งปณิธานว่าต้องเป็นครูที่ดี ครูส่วนมากถูกปลูกฝังแนวคิดการศึกษาจากการศึกษาในระบบ (Formal Education)  ที่เน้นจุดหมายที่ผลลัพธ์ทางการศึกษา กำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษาการวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน โดยมีสิ่งที่ยืนยันว่าคนๆ นั้นได้เรียนรู้ จากใบปริญญา (ตรี โท เอก) แต่บางครั้งลืมมองย้อนกลับไปดู รากแท้ของการศึกษา ขอยกนิยามการศึกษาของ ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มากล่าว:

 

“การศึกษา คือการสร้างคนให้มีความรู้ ความสามารถมีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นมีลักษณะ นิสัยจิตใจที่ดีงาม มีความพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อตนเองและสังคม มีความพร้อมที่จะ ประกอบการงานอาชีพได้   การศึกษาช่วยให้คนเจริญงอกงาม ทั้งทางปัญญา จิตใจ ร่างกาย และสังคม

เมื่อผมกลับมองย้อนไปดูการจัดการศึกษาของชาติเราในปัจจุบัน ผมเข้าใจว่า เรากำลังจัดการศึกษาเพื่อเน้นผู้เรียนที่สำเร็จออกมาพร้อมก้อนความรู้ที่อัดแน่นในสมอง และจะสำรอกออกมาเมื่อสอบ และเราก็ถือว่าคนที่สำรอกได้ดีที่สุดเป็นคนเก่งและฉลาด ถ้าเป็นนักเรียนมัธยมศึกษา ก็ดูที่ผลสอบต่างๆ เพื่อการแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยดังๆ คณะดีๆ เพื่อจะได้งานที่มีรายได้สูงกว่าคนอื่นเมื่อสำเร็จการศึกษามา นักเรียนก็ต้องเรียนพิเศษ กวดวิชา จนแทบจะไม่ต้องทำอะไรอย่างอื่น คำถามและแนวคิดจากการดูงานครั้งนี้คือ การศึกษาไทย เป็น วัวลืมตีน” ขึ้นทุกที

เราเน้นการศึกษาตามชาติตะวันตก เราเน้นการศึกษาเพื่อการแข่งขันตามทุนนิยม เราเน้นการศึกษาแบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก เราเน้นการศึกษาเพื่อบริโภค เราเน้นการศึกษาเพื่อวิ่งให้ทันข้อมูลหรือความรู้ที่นับวันจะยิ่งทวีคูณ แต่เรากับไม่เน้นการศึกษา-ความเป็นชาติพันธุ์ ความเป็นรากเหง้า ความเป็นเรา ดังคำ ศ.นพ. ประเวศ วะสี กล่าวไว้ว่า:

การศึกษาคือชีวิต ชีวิตคือการศึกษา

“การศึกษาคือชีวิต ชีวิตคือการศึกษา ยืนที่เดียวกัน แต่ว่าการศึกษาในโลกปัจจุบันนี้ชีวิตก็อย่างหนึ่ง การศึกษาก็อย่างหนึ่ง แล้วการศึกษาก็เอาวิชาเป็นตัวตั้ง ตรงนี้นี่การปฏิบัติคือพยายามย้ายการศึกษาจากการท่องเขียนให้มาอยู่ในวิถี ชีวิตร่วมกัน และเรียนรู้จากวิถีชีวิตร่วมกันให้มากที่สุด…”

การศึกษาปัจจุบันเป็นการดึงเอาชีวิตออกจากการศึกษา เน้นเนื้อหาความรู้เป็นที่ตั้ง เน้นการท่องจำ เพื่อสอบแข่งขัน เพื่อโอกาสที่ดี กลับลืมคำว่าชีวิต คนที่เรียนเก่งมากๆ สอบหมอ สอบวิศะฯ ได้แต่ทอดไข่ หุงข้าวไม่เป็น เป็นไปในฉลาดลึกโง่กว้าง เอาตัวรอดไม่ได้ ในชีวิตจริง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ น้ำท่วมกรุงเทพฯ เมื่อปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดเจนว่าคนกรุง ส่วนมากโง่กว้าง

 

การศึกษาทางเลือก (Alternative Education)

                หมายถึง การจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองตอบต่อความต้องการของผู้เรียนที่ไม่ประสงค์จะเรียนในระบบการศึกษาตามปกติ ตัวอย่างการจัดการศึกษาทางเลือกในปัจจุบันสามารถเห็นได้จาก Home-based learning หรือ Home-school เป็นต้น เป็นการจัดการศึกษาที่มีรูปแบบแตกต่างไปจากการศึกษาตามแนวกระแสหลักในระบบทั่วไป การศึกษาทางเลือกจัดขึ้นบนพื้นฐานความเชื่อที่ว่าธรรมชาติของมนุษย์มีความแตกต่างหลากหลาย และที่ผมไปศึกษาดูงานคือ โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา  จ. วัดเชียงใหม่ โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ เพื่อพัฒนาผู้เรียน ให้เป็นมนุษย์ที่ สมบูรณ์ทั้งด้านสติปัญญา และจิตใจ

จะเห็นว่า การศึกษาทางเลือกในปัจจุบันเริ่มจะมีจำนวนที่มากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากเหตุผลความไม่เชื่อในการศึกษาในระบบปกติ ที่ทำลายศักยภาพผู้เรียน หรือพัฒนาได้ไม่เต็มที่

โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา  จ. วัดเชียงใหม่

ประวัติแบบย่อ

ในราวต้นปี 2540 องค์กรต่างๆทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองท้องถิ่น ภาคธุรกิจ สถาบันวิชาการ นักเขียน ศิลปิน กลุ่มศิลปวัฒนธรรม องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชน ได้ปรึกษาหารือตกลงใจร่วมกันว่าควรประสานงานกับคน ทุกกลุ่ม ได้เข้ามาร่วมจัดกิจกรรมเพื่อให้เกิดการสืบทอด ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยร่วมกันจัดงาน"สืบสานล้านนา"ในช่วงต้นเดือนเมษายนของทุกปี ติดต่อกันมาเป็นเวลา 5 ปี  พระเดชพระคุณเจ้าหลวงพ่อพระพุทธพจนวราภรณ์ (พระธรรมดิลก) วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ ได้ให้แนวคิดว่า “การจะสืบสานวัฒนธรรม ภูมิปัญญาล้านนาให้เกิดผลนั้น  การจัดงานสืบสานล้านนาเพียงปีละครั้ง ๆ ละ ๔ วัน ไม่สามารถทำให้เกิดผลได้จริง ต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เรียกว่าทุกลมหายใจเลย จึงจะเป็นจริง  จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง “โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา” ขึ้นในปี 2543 และได้ดำเนินกิจกรรมในการรวบรวมองค์ความรู้ พ่อครู แม่ครู และปราชญ์ชาวบ้านเพื่อทำการถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาให้กับลูกหลานและผู้ สนใจในท้องถิ่น ได้เกิดการเรียนรู้และสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสาขาต่าง ๆ  นอกจากนั้นยังเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ของท้องถิ่นที่มีอยู่ให้มีรูปแบบที่หลากหลาย   เพื่อให้คนรุ่นใหม่สามารถสืบสานได้อย่างต่อเนื่อง

โดยมีวัตถุประสงค์ คือ 1. เพื่อรวบรวมผู้รู้ พ่อครู แม่ครู ช่างพื้นบ้านในแขนงต่าง  ๆ  ที่มีอยู่ในชุมชนล้านนา  2.  ศึกษารวบรวมข้อมูล องค์ความรู้พื้นบ้านออกมาในรูป   ของตำราที่คนรุ่นใหม่ศึกษาได้  3. จัดทำหลักสูตร จัดอบรมระยะสั้น  4.  เผยแพร่ให้ความรู้แก่สาธารณชนให้เห็นความ สำคัญของการศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่น  5. ประสานเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ในการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ

จะเห็นได้ว่า โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา  จ. วัดเชียงใหม่ เป็นการศึกษาที่เน้นรากเหง้า เน้นความเป็นไท ตามหลักของหมอประเวศ วะสี ที่ว่า การศึกษาคือชีวิต ชีวิตคือการศึกษาที่แท้จริง ซึ่งเราทุกคนไม่ควรละเลย เราควรส่งเสริมมุ่งมั่นให้ผู้เรียนเกิดความเจริญงอกงามด้านต่างๆ พร้อมกัน

การเป็นครูจึงเป็นมากกว่าคำว่าสอน “ครูต้องให้ความเมตตาต่อทุกๆ คน อย่างเท่าเทียมกัน” คำพูดของ ครูแดง (อาจารย์เตือนใจ ดีเทศน์) ครูต้องเสียสละ อดทน ตั้งใจและในอุดมการณ์ อย่างเช่นที่ครูแดง ได้ทำมากว่า 40 ปี

ครูแดง เป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่อ่อนน้อม อ่อนโยนและแข็งแกร่งเธอเกิดในเมืองหลวงของประเทศ จบการศึกษารัฐศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ เลือกที่จะใช้ชีวิตกับขุนเขาเพื่อคนดอย ด้วยความเชื่อมั่นในความรักต่อสรรพสิ่ง รักในเพื่อนมนุษย์ ความสัมพันธ์อันสมดุลของมนุษย์กับธรรมชาติ และมนุษย์กับมนุษย์

มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) จังหวัดเชียงราย

ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2528 เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่พี่น้องชาวเขาในการแก้ไขปัญหาการจัดการสิ่งแวดล้อม ไปจนถึง การพัฒนาสังคมตามลำดับโดยเริ่มทำงานในพื้นที่หมู่บ้านชาวเขาในเขตลุ่มน้ำแม่จัน-แม่สลอง ปัจจุบันมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา ทำงานครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัดเชียงราย

นอกจากมูลนิธิจะทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น อนุรักษ์ธรรมชาติ ช่วยเหลือและป้องกันชาวเขาภัยคุกคามต่างๆ มูลนิธิยังช่วยจัดการศึกษา เพื่อช่วยคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชาวเขา ถือว่าเป็นเรื่องน่ายกย่องเป็นอย่างยิ่ง ในการศึกษาดูงานครั้งนี้ ผมได้รับฟังแนวคิดและเรื่องราวต่างๆ จากลูกศิษย์ครูแดง รุ่นแรกๆ ตั้งแต่ครูแดงได้เริ่มทำงานบนดอยแห่งนี้ ท่านก็คือ  อาจารย์สุพจน์ หลี่จา ปัจจุบันท่านเข้าสู่วงการเมืองท้องถิ่นเพื่อพัฒนาท้องถิ่นของท่าน เคยดำรงตำแหน่ง นายก อบต. สจ. และเลขาธิการมูลนิธิ ขณะนี้ท่านกำลังอยู่ระหว่างหาเสียงเพื่อเลือกตั้งเป็นนายก อบต. สมัยที่ 2 ท่านเป็นแบบอย่างของผู้นำที่ทุ่มเท ตั้งใจจริงในการพัฒนา และโปร่งใสในการทำงานคนหนึ่ง จนได้รับเลือกด้วยคะแนนถล่มทลายในสมัยแรกของการเป็นนายก อบต.

ข้อคิดจากการดูงานครั้งนี้น่าจะเหมือนกับการส่องกระจกดูตัวเรา ในขณะที่คนอื่นวิจารณ์เรา ในขณะที่เราฟังคำวิจารณ์นั้นด้วยใจที่เปิดรับ ทำให้เรามีมุมมองที่แปลกใหม่ ลุ่มลึกในตัวเรา ซึ่งตัวเราในที่นี้คือการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาทางเลือกของโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา  จ. วัดเชียงใหม่ หรือการศึกษาโดยมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) จังหวัดเชียงราย

 

นายไพศาล วงค์กระโซ่

สาขาหลักสูตรและการสอน

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

5 กุมภาพันธ์ 55

หมายเลขบันทึก: 477836เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2012 01:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ได้เปิดมิติใหม่ของการเรียนรู้มากขึ้นอีกนะค่ะ

หนูเชื่อว่าพี่หลุยส์ต้องเป็นครูที่ดีและสร้างประวัติศาสตร์การศึกษาไทยที่ดีด้วยเช่นกันค่ะ

สวัสดีค่ะIco64 ...เรียนถึงระดับปริญญาเอก...ทำไมถึงดูถูกตัวเองจัง...แต่ยังดีที่ตอนสรุปได้ส่องกระจกดูตัวเอง เกิดความรู้สึกภูมิใจที่ตัวเองมีมุมมองที่แปลกใหม่ มีความลุ่มลึก เพราะในขณะที่คนอื่นวิจารณ์เรา เราสามารถฟังคำวิจารณ์นั้นด้วยใจที่เปิดรับ นั้นแหละคือผลของการศึกษาในระบบ...ที่มีความแตกต่างกับการศึกษารูปแบบอื่นๆเพราะมีครู อาจารย์ค่อยให้การอบรมสั่งสอน ขัดเกลา แนะนำแนวทางในการศึกษานะคะ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท