บนเส้นทางเรียนรู้มหาวิทยาลัยชีวิต : อุทิศ แย้มลังกา


ที่สำคัญคือข้าพเจ้าได้กลายเป็นตัวอย่างของคนที่เรียนแล้วช่วยตัวเองได้ ช่วยคนอื่นได้ เรียนแล้วอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีกินในท้องถิ่นของตนเอง

ข้าพเจ้าชื่อนางอุทิศ แย้มลังกา เกิดวันพฤหัสบดีที่ 13 เมษายน พ.ศ.2515 ปัจจุบันอายุ 40 ปี มีอาชีพทำสวนปาล์ม เป็นแม่บ้าน อยู่บ้านเลขที่ 32 หมู่ที่ 1 บ้านสามไกร ต.หงษ์เจริญ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร บิดาชื่อนายถนอม รูปสังข์ เสียชีวิตตั้งแต่ข้าพเจ้าอายุ 8 ปี มารดาชื่อนางบุญเนื่อง ขำขาว เสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2551 ด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก ท่านมีอายุได้ 75 ปี

สามีชื่อนายสิงห์ แย้มลังกา อายุ 44 ปี มีอาชีพทำสวนปาล์มและรับจ้างตัดหญ้ากับรถไถคูโบต้า สามีตาข้างซ้ายบอดสาเหตุมาจากตัดหญ้ากับเครื่องตัดหญ้าแบบเครื่องสะพายข้างไม่ได้สวมแว่นตา ทำให้ก้านใบปาล์มที่พุก ๆ มาปักลูกตาดำข้างซ้ายทำให้ตาบอด เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2549 เขาเสียใจและน้อยใจต้องเป็นคนพิการ ข้าพเจ้าคอยปลอบใจและให้กำลังใจ

มีบุตร 2 คน คนโตชื่อนายสุพัฒน์พงศ์ แย้มลังกาอายุ 20 ปี เรียนอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคชุมพร ปวส.2 แผนกช่างไฟฟ้ากำลัง คนเล็กชื่อนายกฤตยชญ์ แย้มลังกาอายุ 16 ปี เรียนชั้น ปวช.1 แผนกช่างไฟฟ้ากำลัง ที่เดียวกัน

ข้าพเจ้าได้ทราบข่าวการเปิดรับสมัครเรียนมหาวิทยาลัยชีวิตจากอาจารย์กฤษณา ภาษยะวรรณ์จากการเข้าร่วมประชุมประจำเดือนของอาสาสมัครสาธารณสุขที่สถานีอนามัยตำบลหงษ์เจริญ จึงได้ชวนเพื่อน ๆ ที่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายอีก 8 คนมาสมัครเรียนที่โรงเรียนเทศบาล 1 บ้านท่าตะเภา เมื่อปี พ.ศ.2552 และได้เรียนหลักสูตรโครงการต้นกล้าอาชีพ ได้ฝึกทำน้ำยาล้างจานและรวมกลุ่มหงษ์เจริญทำปุ๋ยหมักชีวภาพจากทะลายปาล์ม ได้เงินจากโครงการต้นกล้าอาชีพประมาณ 2,400 บาท ได้มาลงทะเบียนเรียนสาขาวิชาการจัดการสุขภาพชุมชน

การเรียนที่มหาวิทยาลัยชีวิตทำให้ชีวิตของข้าพเจ้าเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น จากเป็นคนที่ไม่ค่อยกล้าพูด กล้าแสดงออก ไม่กล้าพูดกับไมโครโฟน ทำให้ข้าพเจ้ามีความมั่นใจ กล้าพูด กล้าแสดงออก เวลาจับไมโครโฟนแล้วไม่สั่น ไม่ประหม่า การเรียนที่นี่เขาให้ทำโครงงานข้าพเจ้าทำโครงงานเรื่อง “เปิดใจรับฟังเพื่อหยั่งให้ถึงความรู้สึก” ทำให้ชีวิตครอบครัวของข้าพเจ้ามีความสุขมากขึ้น เข้าใจซึ่งกันและกัน ยอมรับฟังความคิดของสามีและลูก คนรอบข้างมากขึ้น ไม่เอาความคิดของตนเองเป็นใหญ่ โครงงานการทำน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ 100% และอื่น ๆ ซึ่งได้ผล เพราะการเรียนมหาวิทยาลัยชีวิต เรียนโดยเอาชีวิตเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาวิชาเป็นตัวตั้ง ข้าพเจ้าได้เรียนวิชาการวางเป้าหมายและวางแผนจัดการชีวิตของตนเอง เรียนค้นคว้าหารากเหง้า ค้นหาภูมิปัญญาท้องถิ่น และอื่น ๆ

ข้าพเจ้าเรียนวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสารและการเรียนรู้ สอนให้ข้าพเจ้าได้รู้จักฝึกพูดในโอกาสต่าง ๆ ฝึกการฟังที่ดี การอ่าน การเขียนในชีวิตประจำวัน จนข้าพเจ้าเริ่มได้รับความเชื่อมั่นที่หายไปกลับคืนมา จากเดิมที่ไม่ค่อยกล้าแสดงออก ไม่กล้าพูด ก็ค่อย ๆ ดีขึ้น ไม่ขัดเขินหรืออายเพื่อนร่วมชั้น ซึ่งมีทั้งผู้ใหญ่บ้าน ส.อบต. ผู้นำชุมชน เหมือนตอนเริ่มเรียนใหม่ ๆ อีกต่อไป

การเรียนในระดับอุดมศึกษาในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ทุกคนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่แบ่งชนชั้น ยศ หรือตำแหน่งหน้าที่การงานของแต่ละบุคคล การศึกษาทำให้ข้าพเจ้ามีความรู้ความเข้าใจในชุมชน สังคม สิ่งต่าง ๆ รอบตัวอะไรที่ข้าพเจ้าไม่เคยได้เห็นไม่เคยรับรู้มาก่อนก็ได้เรียน ได้รู้ ได้เข้าใจ

ข้าพเจ้าเริ่มปรับตัวจากการเป็นคนขี้อาย กล้าพูด กล้าทำ กล้าแสดงออก รู้จักเปิดใจรับฟังความคิดของผู้อื่นไม่เอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ จัดการชีวิตตัวเองให้คืนสู่ความสมดุล ปัจจุบันข้าพเจ้าเป็นประธานชมรมสร้างสุขภาพของตำบลหงษ์เจริญ เป็นเลขาฯกลุ่มออมทรัพย์บ้านสามไกร ได้นำประสบการณ์จากการเรียนรู้ที่มหาวิทยาลัยชีวิตมาพัฒนาตนเอง และพัฒนางานของกลุ่มได้มาก

ที่สำคัญคือข้าพเจ้าได้กลายเป็นตัวอย่างของคนที่เรียนแล้วช่วยตัวเองได้ ช่วยคนอื่นได้ เรียนแล้วอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีกินในท้องถิ่นของตนเอง เพราะข้าพเจ้าได้สอนและแนะนำเพื่อน ๆ อสม. และชาวบ้านในตำบลหงษ์เจริญได้รู้จักวิธีการออกกำลังกายหมุนฮุลาฮูบเป็น แนะนำวิธีการลดความอ้วน งดอาหารหวานจัด เค็มจัด และของมัน ๆ เพื่อดูแลสุขภาพให้ห่างจากโรคภัยไข้เจ็บ ทำฮุลาฮูบจากท่อ PE จำหน่ายในราคาถูกเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ได้ออกกำลังกายเองที่บ้าน เพราะบางคนไม่มีเวลามาออกกำลังกายเต้นแอร์โรบิคที่ชมรมสร้างสุขภาพในชุมชน ข้าพเจ้าภูมิใจที่ได้เป็นแกนนำให้ชาวบ้านได้ออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างสุขภาพให้สมบูรณ์ แข็งแรง มีความสุขกาย สุขใจ ทั่วทุกคน.

หมายเลขบันทึก: 477713เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2012 09:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อุทิศ แย้มลังกา
เดินเข้ามา ท่าที ไม่ค่อยกล้า
กลัวพูดผิด ประหม่า กลัวสายตา
มืออ่อนล้า จับไมค์ ใจระรัว

วันเวลา ผ่านไป
บุคลิก คนใหม่ เริ่มก่อเกิด
ได้เรียนรู้ ร่วมกัน สมองเปิด
เกิดเป็นความ มั่นใจ ในตัวตน

เริ่มต้น ที่บ้าน
ทำโครงงาน เปิดใจรับ ความรู้สึก
ฟังสามี ลูกชาย ได้ล้ำลึก
พินิจนึก เข้าใจ ในอาการ

ต่อยอด ขยายผล
ในชุมชน เสริมสร้าง สุขภาพ
เป็นผู้นำ ทำจริง ไม่สร้างภาพ
เดินแนวราบ ด้วยวิถี ม.ชีวิต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท