จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

สถานภาพใหม่ที่ถูกมองในมุมเดิม


ช่วงหลายวันก่อนอ่านงานวิจัยและวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามหลายเรื่อง อ่านแล้วก็ชวนให้คิดว่างานวิชาการส่วนใหญ่ที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังมีมุมเดิมๆ อ้างเอกสารเก่าๆ หลายๆ ปีอยู่เหมือนกัน อย่างงานชิ้นหนึ่งก็หยิบงานผมไปอ้างซึ่งชิ้นนั้นเขียนมาแล้วเกือบๆ เจ็ดแปดปีแล้ว ก็เลยเกิดประเด็นที่อยากจะแลกเปลี่ยนสร้างมุมมองใหม่บ้าง เพราะความจริงการจัดการศึกษาโดยมุสลิมในประเทศไทยมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างจะมีนัยยะ เพียงแต่นักวิชาการ นักศึกษายังคงใช้มุมมองเก่าในการอธิบายความหมายและสถานะภาพอยู่ ซึ่งทำให้สาระสำคัญบางอย่างขาดหายไป

การเปลี่ยนแปลงของการจัดการศึกษาสำหรับเยาวชนในประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากกฎระเบียบแห่งรัฐครับ อาจจะมีปัจจัยภายในจากคน สังคม ชุมชนมุสลิมเองบ้าง แต่ก็น้อยและค่อนข้างจะเจออุปสรรค์มาก อย่างน้อยระเบียบหนึ่งในอดีตที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเยาวชนมุสลิมในปัจจุบัน คือ การไม่รับจดทะเบียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามและปอเนาะเพิ่ม ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีระเบียบดังกล่าวก็มีการคัดค้าน แต่สุดท้ายก็ยอมให้มีผลบังคับและก็น่าจะไม่ได้ส่งผลกระทบมากนัก

ระยะต่อมาเมื่อโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในระบบโรงเรียน ในขณะที่โรงเรียนของรัฐเกือบจะไม่สามารถสร้างบทบาทต่อชุมชนในพื้นทีได้มากนัก ใบอนุญาตการขอเปิดโรงเรียนก็เริ่มมีความจำเป็นมากขึ้น ซึ่งก็แน่นอนครับขอจดทะเบียนใหม่ จดเพิ่มไม่ได้ แต่ในระยะนี้ยังมีทางออกครับ หลายคนมุ่งหาใบอนุญาตปอเนาะที่เจ้าของเดิมไม่ได้ดำเนินการอะไรแล้ว หรือยังคงความเป็นปอเนาะไม่ได้เปิดเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ก็นำใบอนุญาตดังกล่าวมาขอเปิดโรงเรียน ซึ่งบางใบอนุญาตก็จำเป็นต้องมีการแจ้งขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียด เช่น ย้ายที่ตั้งบ้าง เปลี่ยนผู้รับใบอนุญาตบ้าง ถ้าจะสรุปภาพของระยะนี้คือ ปอเนาะแปลงสภาพไปค่อนข้างเยอะครับ หรือบางที่ก็เปิดทั้งสองแบบเลย เราจะเห็นว่าการเปลี่ยนการจัดการศึกษาสำหรับเยาวชนเกิดขึ้นอย่างน่าสนใจ การถ่ายโอนจากระบบปอเนาะมายังระบบโรงเรียนมีความชัดเจน การแข่งขันทางด้านจำนวนผู้นักเรียนและคุณภาพเพิ่มมากขึ้น แต่ถึงอย่างไร เรื่องคุณภาพของการจัดการศึกษายังคงสะท้อนให้เห็นช่องว่างระหว่างโรงเรียนเอกชนสอนศาสนด้วยกัน

ความชัดเจนประการหนึ่งของการจัดการศึกษายุคนี้คือ การแยกวิชาสามัญกับศาสนาออกจากกันอย่างชัดเจน แต่ถ้าจะให้ผมแบ่งว่าอะไรคือวิชาสามัญอะไรคือวิชาศาสนาผมจะแบ่งได้อย่างง่ายดายโดยใช้หลักเกณฑ์ว่า วิชาอะไรที่รัฐกำหนดให้สอนนั้นคือ วิชาสามัญ และวิชาอะไรที่รัฐไม่ได้กำหนดไว้ในหลักสูตรแต่โรงเรียนต้องการสอน อันนี้จะเป็นวิชาศาสนา เพราะถ้าจะให้สร้างหลักเกณฑ์การแบ่งกลุ่มวิชาด้วยประเด็นอื่นคงแยกยากและถกเถียงกันไม่จบแน่ๆ

ระยะต่อมาคือระยะปัจจุบัน ที่มองภาพกว้างจะพบว่า ใบอนุญาตที่ว่างๆ อยู่น่าจะไม่มีแล้ว และอีกมุมมองหนึ่งคือ บุคลากรทางการศึกษาของมุสลิมมีทิศทางการจัดการศึกษาที่ต้องการให้เป็นการศึกษาที่มุ่งพัฒนาเยาวชนอย่างองค์รวม สลายมิติของวิชาศาสนาวิชาสามัญ แต่ให้คุณค่าของทุกวิชาเพื่อการเป็นมุสลิมที่สมบูรณ์ ประเด็นสำคัญคือ เมื่อระเบียบไม่อนุญาตให้จดทะเบียนเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแล้ว โรงเรียนใหม่ก็จะจดทะเบียนในสภานภาพ โรงเรียนเอกชน

เท่าที่สังเกตุจะพบว่าโรงเรียนที่มีสภาพเป็นโรงเรียนเอกชนมีความมุ่งมั่นจัดการศึกษาในแบบบูรณาการมากกว่าการพยายามลดทอนเวลาการเรียนวิชาสามัญมาสอนศาสนา ซึ่งเป็นภาพที่หลายต่อหลายคนให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องยาก และก็พบว่าความมั่นใจของชุมชนก็ยังแบ่งได้เป็นสองแบบคือมั่นใจกับไม่มั่นใจและคิดว่าวิชาศาสนาน้อยไป ซึ่งส่วนตัวก็มองว่าเป็นปกติของนวัตกรรมครับที่ยังต้องให้เวลากับการสร้างการยอมรับ และค่อนข้างมั่นใจว่าอนาคตจะเป็นที่ยอมรับและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่กว้างขวางในอนาคต เมื่อปัจจัยนำเข้าหลายๆ ประการพร้อม เช่น กระบวนการผลิตครู การจัดทำหลักสูตรที่ลงตัว เป็นต้น

ด้วยข้อมูลข้างต้น หากการศึกษามุ่งที่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามและอธิบายสภาพการต่างๆ เราจะได้มุมมองเดิมๆ ครับ และคิดว่าการศึกษาวิจัยในปัจจุบันสำหรับอิสลามศึกษาจะต้องสร้างนิยามใหม่ให้มีความครอบคลุมการจัดการศึกษาสำหรับเยาวชนมุสลิมทั้งในกรอบของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามและโรงเรียนเอกชนที่นำจัดตั้งขึ้นโดยมุสลิม

หมายเลขบันทึก: 477307เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2012 22:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2012 09:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท