การก (ตอนที่ 1)


อธิบายง่ายๆ ว่า การก คือการบอกหน้าที่ของคำนาม ในภาษาสันสกฤตใช้วิธีการเปลี่ยนเสียงท้ายของคำนั้นๆ (ภาษาอื่นอาจใช้การเปลี่ยนรูปคำ หรือเปลี่ยนเสียงอื่นๆ ในคำนั้นๆ ก็ได้) ขอให้ดูตัวอย่างจากประโยคต่อไปนี้

การศึกษาภาษาสันสกฤตนั้น กว่าจะผ่านหลักไวยากรณ์พื้นฐาน ก็ต้องฝึกซ้อมอยู่หลายขั้นหลายหัวข้อ และเรื่องการกก็เป็นบันไดขั้นแรกๆ ที่จะกระโดดข้ามไม่ได้ ต้องก้าวไปทีละขั้น บางคนที่เริ่มเรียนภาษาสันสกฤต เจอเรื่องการกก็ท้อเสียแล้ว แต่ความจริงแล้ว การก มิได้มีอยู่เฉพาะในภาษาสันสกฤตเท่านั้นนะครับ ในภาษาบาลีก็มี ภาษาอื่นๆ ของอินเดีย และยุโรป ก็มี โดยเฉพาะโบราณอย่างภาษากรีก ละติน หรือแม้แต่ภาษาสมัยใหม่ อย่างรัสเซีย เยอรมัน ก็มีการก เช่นกัน

 

คำว่า “การก” อ่านแบบไทยๆ ว่า กา-โร็ก (อ่านแบบแขกๆ ก็ว่า คา-ระ-คะ)  ส่วนในภาษาอังกฤษใช้ว่า case ออกเสียงว่า เคส  ภาษาละตินว่า casus ออกเสียงว่า คาซุส ชอบแบบไหน ก็เรียกแบบนั้นแล...

 

อธิบายง่ายๆ ว่า การก คือการบอกหน้าที่ของคำนาม ในภาษาสันสกฤตใช้วิธีการเปลี่ยนเสียงท้ายของคำนั้นๆ (ภาษาอื่นอาจใช้การเปลี่ยนรูปคำ หรือเปลี่ยนเสียงอื่นๆ ในคำนั้นๆ ก็ได้) ขอให้ดูตัวอย่างจากประโยคต่อไปนี้

 

1) รามะ พาลํ ปศฺยติ.              = พระรามเห็นเด็กชายคนหนึ่ง

อ่านแบบไทย รามะ พาลัม ปัส-ยะ-ติ

อ่านแบบแขก รามะหะ บาลัม ปัช-ยะ-ติ

 

2) พาละ รามํ ปศฺยติ.              = เด็กชายคนหนึ่งเห็นพระราม

อ่านแบบไทย พาละ รามัม ปัส-ยะ-ติ

อ่านแบบแขก บาละหะ รามัม ปัช-ยะ-ติ

 

     [ทั้งสองประโยคนี้ ไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับคำศัพท์ตามนี้ จะเรียงอย่างไรก็ได้ เช่น "รามะ ปศฺยติ พาลํ", หรือ "พาลํ รามะ ปศฺยติ" เป็นต้น]

*พยัญชนะที่มีประวิสรรชนีย์ (สระ -ะ) ตามหลังแบบนี้ ให้ออกเสียงอะตามปกติ และมีเสียง หะ ตามมา

*มีเครื่องหมายกลมๆ เล็กๆ ข้างบน ให้ออกเสียงเป็น อัม

* พ ในภาษาสันสกฤต ออกเสียง บ

* ศ ในภาษาสันสกฤตนั้น จริงๆ แล้ว ออกเสียงเหมือน sh ในภาษาอังกฤษ คล้าย ช ในภาษาไทย คำนี้จะอ่านว่า ปัชยะติ ก็จะใกล้เคียงภาษาแขก

* อักษรที่มีจุดข้างใต้ หมายความว่า เป็นคำควบ หรือ ตัวสะกด*

 

ในประโยคแรก พระราม เป็นประธาน  ในประโยคที่ 2  พระรามเป็นกรรมของประโยค  คำว่า ราม จึงมีรูปร่างที่ต่างกัน  ดังนั้นในตัวอย่างที่ยกมา มีการกให้ดู 2 แบบ คือ การกที่เป็นประธาน (รามะ) และการกที่เป็นกรรม (รามํ)  แต่ความจริงแล้ว ในภาษาสันสกฤต มีการกทั้งหมด 8 แบบ ตามหน้าที่ของคำนาม  

 

การใช้การกบอกหน้าที่คำนามนั้นต่างไปจากภาษาไทยที่เราคุ้นเคย ไม่ว่า พระรามเห็นเด็ก หรือเด็กเห็นพระราม คำว่า “พระราม” หรือคำว่า “เด็ก” ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ แต่ในภาษาสันสกฤตนั้น คำศัพท์ส่วนมากจะลื่นไหลไม่อยู่นิ่งเลย คำคำเดียวจึงอาจมีรูปต่างๆ กันเป็นสิบแบบ (โดยมีการเติมท้าย หรือเติมหน้า หรือเปลี่ยนเสียงสระก็ได้)

 

เล่ามาแบบนี้อาจรู้สึกว่าไม่คุ้นเลย แต่ความจริงแล้ว เราคงคุ้นเคยมาบ้างแล้วกับภาษามีการก อย่างภาษาอังกฤษ ซึ่งมีรูปแบบของการกอยู่ให้เห็นในกรณีของสรรพนามจำนวนหนึ่ง ตัวอย่างเช่น

 

ประธาน 
I
บอกความเป็นเจ้าของ
mine
กรรม
me
บอกตัวเอง
myself

 

การกในภาษาสันสกฤตนับว่ามีความสำคัญมาก หากไม่มีการบอกการกแล้ว จะสร้างประโยคไม่ได้เลย เพราะไม่สามารถระบุประธาน กรรม หรือฐานะอื่นๆของคำนามได้ ด้วยเหตุนี้ การเรียนภาษาสันสกฤตจึงต้องรู้เรื่องการผันการกเป็นอันดับต้นๆ

 

แต่เนื่องจากเรื่องการกนั้นค่อนข้างซับซ้อนและยุ่งยากสำหรับผู้เริ่มเรียน ในที่นี้จึงขอเล่าเพียงเท่านี้

 

ในตอนหน้าจะได้เล่าว่า การกในภาษาสันสกฤตมีด้วยกี่แบบ และแบบไหนบ้าง …

คำสำคัญ (Tags): #สันสกฤต#การก
หมายเลขบันทึก: 477306เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2012 22:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ   อ.ทวัชชัย...

ขอบคุณมากที่ให้กำลังใจครับ...

คงสบายดีนะครับ....

ด้วยความปรารถนาดีจากลุงหนาน..พรหมมา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท