ครั้งหนึ่งผู้ไทเคยมีประเทศของตัวเอง สืบตำนานผู้ไทจากเพลง “ไทดำรำพัน” ว่าทำไมต้องรำพัน:มหกรรมผู้ไทนานาชาติที่เขาวง กาฬสินธุ์ (5)


ครับจุดพลิกผันครั้งสำคัญของผู้ไทดำและผู้ไทขาว ในเวียดนามครั้งสำคัญช่วงหนึ่งคือช่วงฝรั่งเศสล่าอาณานิคม ประวัติศาสตร์ถูกจารึกว่าครั้งหนึ่งผู้ไทเคยเป็นประเทศ ในนาม “สหพันธ์รัฐไท”

ในบันทึกสัมมนาผู้ไทนานาชาติที่เขาวง กาฬสินธุ์ (4) พระมหาแล อาสโย ขำสุข    ถามผมว่า......ได้ฟังเพลงไทยดำรำพันมาตั้งแต่เด็กแล้ว ฟังอย่างเดียวไม่เคยรู้เรื่องราวความเป็นมาอะไรเลย รู้ว่าเพลงนี้ ฟังเพราะก็แค่นั้น แต่ฟังให้ดีก็รู้สึกสะท้อนความพลัดพราก จากบ้านจากเมืองที่เคยอยู่สุขสบาย แล้วไปผจญภัยข้างหน้าประมาณนั้น...ถามแบบไม่ได้ค้นคว้าข้อมูลเลยว่า เพลงนี้เกี่ยวกับผู้ไท ผู้ไทดำไหม(ดูชื่อเพลงเหมือนจะเกี่ยวโดยตรงเลยเนาะ)

.........

นี่คือบทเพลง "ไทดำรำพัน” เพลงลาว ร้องโดย ก. วิเสส นักร้องลาว ที่มีการกล่าวถึงเรืองราวผู้ไทดำ  แล้วไทดำรำพึงรำพันอะไรหล่ะ

http://youtu.be/IZFq-mqAhwc

.....

                     

 

และนี่คือสิ่งที่ผมตอบ พระมหาแล อาสโย ขำสุข

นมัสการ พระมหาแล อาสโย ขำสุข

  • "เพลงไทดำรำพัน” เป็นเพลงลาว ที่มีเนื้อร้องกล่าวถึงคนผู้ไทดำ กล่าวถึงความพลัดพราก จากบ้านจากเมืองที่เคยอยู่สุขสบายของคนผู้ไทดำครับ บันทึกแผ่นเสียงครั้งแรกในปี พ.ศ. 2512 ผู้ขับร้องเพลง ไทดำรำพัน เป็นคนแรก คือ ก. วิเสส นักร้องวงดนตรีราบอากาศวังเวียง  ผู้แต่งเพลงนี้คือหมีดำ [ร.ท.สนอง อุ่นวงศ์] 

  • ก. วิเสส มีชื่อจริงว่า กันตัง ราดปากดี ซึ่งอาจจะเขียนว่า กันตัง ราษฎร์ปากดี ก็ได้ มีถิ่นกำเนิดที่บ้านสีไค เมืองศรีโคตรบอง กำแพงนครเวียงจันท์ ประเทศลาว หลังจากที่จบ ป. 4 ท้าวกันตังได้ไปสมัครเป็นทหารอากาศ สังกัดหน่วยพลร่ม

  • เพลงไทดำรำพัน ได้สร้างชื่อเสียงให้กับ ก.วิเสส อย่างมาก กระทั่งต้องยกทั้งวงดนตรีข้ามโขงมาอัดเสียงที่ห้องอัดกมลสุโกศล กรุงเทพฯ และเพลงของ ก.วิเสส ก็โด่งดังข้ามมาถึงเมืองไทยในปลายปี 2513 ถึงปี 2514 

  • ในระยะต่อมาเพลงนี้ได้มีนักร้องรุ่นหลังนำมาขับร้องใหม่หลายคน ซึ่งล้วนได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างมาก

  • ต่อคำถามว่าเพลงนี้เกี่ยวกับผู้ไทดำโดยตรงไหม ทำไมไทดำถึงต้องรำพัน  อะไรเป็นเหตุจูงใจให้ “หมีดำ” แต่งเพลงนี้

  • ข้อสันนิษฐานของผมนะครับ ผมเห็นว่าน่าจะเกี่ยวกับ เหตุการณ์ฝรั่งเศสแพ้สงครามที่เดียนเบียนฟู หรือเมืองแถน เมื่อ 7 มีนาคม 2497  ด้วยไทดำอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในเมืองแถนหรือเดียนเบียนฟู ตามประวัติศาสตร์ ผู้ไทดำมีทั้งฝ่ายที่เข้ากับฝั่งฝรั่งเศส และฝ่ายที่ร่วมรบกับโฮจิมินท์

  • เมื่อฝ่ายฝรั่งเศสแพ้สงคราม ฝ่ายที่อยู่ข้างฝรั่งเศสจึงอพยพหนีภัยสงครามจากคอมมิวนิสต์แตกไปหลายแห่งหน  ผู้ไทดำส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามาอยู่ในลาว ซึ่งหากนับเวลาตั้งแต่เมื่อครั้งเมืองแถนแตก คือ ตั้งแต่ปี 2497 จนถึงปี ที่หมีดำแต่งเพลงนี้ ในปีพ.ศ. 2512 ก็เป็นเวลา 15 ปีพอดีครับ

  • ผมจึงได้แต่เพียงสันนิษฐานตามเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของผู้ไทดำนะครับ ว่าน่าจะมีสาเหตุมาจากการอพยพโยกย้ายถิ่นของ ผู้ไทดำจากเมืองแถนและเมืองใกล้เคียงจากสงครามครั้งนั้นทำให้คนผู้ไทดำรำพันถึงบ้านเกิดเมืองอนที่เมืองแถน(และเมืองข้างเคียง)ครับ

  • นมัสการครับ

 

 

               

ภาพคนผู้ไทดำในเวียดนาม ภาพโดย อ.ธีรภาพ  โลหิตกุล
...............

 

ครับจุดพลิกผันครั้งหนึ่งของผู้ไทดำและผู้ไทขาว ในเวียดนามครั้งสำคัญช่วงหนึ่งคือช่วงฝรั่งเศสล่าอาณานิคม ประวัติศาสตร์ได้ถูกจารึกว่าครั้งหนึ่งผู้ไทเคยเป็นประเทศ ในนาม “สหพันธ์รัฐไท”


แว่นแค้นแดนผู้ไทตั้งแต่นานมา ตั้งถิ่นฐานอยู่ระหว่างอาณาจักรที่เข็มแข็งกว่า คือจีน เวียดนาม และลาว ผู้ไทต้องส่งบรรณาการให้กับทั้งสามฝ่าย บางครั้ง จึงถูกเรียกว่า เมืองสามฝ่านฟ้า คนผู้ไทอยู่เป็นเมืองๆ ผลัดกันนำตามแต่ยุคสมัย เมืองหลักที่มีบทบาทนำมากที่สุดคือเมืองแถน และเมืองไล
ยุคฝรั่งเศสล่าอาณานิคมผู้นำผู้ไท(ทั้งผู้ไทดำ ผู้ไทขาวและผู้ไท)ที่มีซื่อเสียงมากในการต่อสู้การรุกรานของฝรั่งเศส คือท้าววันตรี  แม้จะพยายามสู้ในทุกทางอย่างเด็ดเดี่ยวแต่สู้อำนาจอาวุธยุโธปกรณ์ของฝรั่งเศสไม่ไหว ท้าววันตรีจึงเสียดินแดนผู้ไททั้งหมด (ทั้งผู้ไทดำ ผู้ไทขาวและผู้ไท)ให้แก่ฝรั่งเศสทีละเล็กละน้อยจนหมดสิ้น

 

ท้าววันตรีถึงแก่กรรม พ.ศ. 2451(ร.5 สวรรคต พ.ศ. 2453)

หลังจากนั้นฝรั่งเศสก็ตัดทอนอำนาจตำแหน่งเจ้าเมือง ของผู้ครองแว่นแคว้น/เมืองต่างๆของผู้ไท(ระบบเจ้าฟ้าเดิมถูกทำลายลง) แล้วรวบรวมหัวเมืองผู้ไททั้งหลายให้อยู่ภายใต้การปกครองของเวียดนามภายใต้การคุ้มครองของฝรั่งเศสและฝรั่งเศสจัดการปกครองผู้ไทเป็น 12 เมือง จึงมักถูกเรียกว่าเป็นเขต "สิบสองจุไท" หรือ "สิบสองเจ้าไท" ที่จริงในเขตติดต่อกันยังมีผู้ไทอยู่ในเขตของจีนอีก 6 เมือง หากรวมกันก็จะเป็น 18 จุเมืองครับ

........

 

ภายหลังสงครามเอเชียบูรพาฝรั่งเศสได้ให้การสนับสนุนการสถาปนา“สหพันธ์รัฐไท”ขึ้น โดยให้ “ท้าววันลอง” (ผู้ไทขาว)เป็นประธานสหพันธ์ไท โดยการแนะนำของที่ปรึกษาฝรั่งเศส  มีรัฐธรรมนูญ มีกองทัพ มีกลไกจนท.รัฐสมัยใหม่เป็นของตัวเอง(แทนระบบเจ้าฟ้าหรือเจ้าเมืองที่เคยมีเดิม) มีสถานะเช่นเดียวกับประเทศลาวในความคุ้มครองของฝรั่งเศส มีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองไล หรือเมืองไลเจา ซึ่งเป็นเมืองหลักของผู้ไทขาว
และต่อมาฝรั่งเศสก็ยิ่งให้การรับรอง “สหพันธ์รัฐไท”มากขึ้น มีสถานะเป็นรัฐอิสระมากขึ้นเทียบเท่าประเทศในอาณานิคมของฝรั่งเศส
........


 

             

ภาพลุงโฮพบท่านปรีดี พนมยงค์ภาพหลังการกู้ชาติจากฝรั่งเศสสำเร็จ

  

ช่วงเวลาเดียวกัน โฮจิมินห์ ก็ได้จัดตั้งขบวนการกู้ชาติเวียดนามขึ้น เรียกว่าขบวนการเวียตมินห์ คนผู้ไทจึงแตกแยกแบ่งเป็น 2 พวก 2 ฝ่าย  บุคคลชั้นผู้นำของผู้ไทที่เข้าข้างฝ่ายเวียตมินห์ ได้แก่ คำวันดวง  สาวันมินห์ และโลวันฮัก(ผู้ไทดำ) สำหรับโลวันฮักคนนี้เคยเป็นเจ้าเมืองแถนมาก่อน เคยร่วมทำงานกับ ฝรั่งเศส ในนามคณะผู้บริหาร“สหพันธ์รัฐไท”มาก่อน แต่ต่อมาถูกลดฐานะลง(เทียบเท่ากับนายอำเภอ)  ภายหลังจึงเกิดการผิดใจกันมากขึ้น จึงหนีไปร่วมกับขบวนการเวียดมินห์(โลวันฮักเป็นอดีตเจ้าเมืองแถนสืบเชื้อสายเจ้าฟ้าของผู้ไทดำ)

กองกำลังของขบวนการเวียดมินห์เติบโตเข้มแข็งมากขึ้น โดยมีผู้ไทดำเป็นกำลังหลัก(ในระยะแรก) ขบวนการเวียตมินห์มีกองทัพผู้ไทเข้าร่วมรบอย่างคึกคัก มีทหารผู้ไทร่วมรบหลายกรม เช่น กรม 312 มีนายพลผู้ไท ชื่อนายพล "ตรองทาน”เป็นผู้นำ กรม 316 มีนายพลผู้ไท ชื่อนายพล  "เลอ กวาง บา”เป็นผู้นำ รวมทั้งกรม 148 ก็มีทหารส่วนใหญ่เป็นผู้ไท(ผู้ไทในที่นี่รวมผู้ไทดำ ผู้ไทขาว และผู้ไท)

 

4 พ.ย. 2496 ด้วยการรุกคืบของขบวนการเวียดมินห์ทำให้ทหารฝรั่งเศส พร้อมคณะผู้ปกครอง “สหพันธ์รัฐไท” ต้องถอนกำลังจากเมืองหลวงคือเมืองเมืองไล หรือเมืองไลเจา ไปตังหลักอยู่ที่เมืองแถน หรือเมืองเดียนเบียนฟู

 

และแล้ว  7 มีนาคม 2497ฝรั่งเศสพร้อมคณะผู้ปกครอง “สหพันธรัฐไท” ก็พ่ายแพ้สงครามที่เดียนเบียนฟู หรือเมืองแถน อย่างอัปยศอดสู ให้กับขบวนการเวียดมินห์ พร้อมกองทัพผู้ไทที่เข้าร่วมกับ ขบวนการ เวียดมินห์ ตำนานแห่งรัฐ “สหพันธ์รัฐไท” ก็สิ้นสุดลงพร้อมกับความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟูครับ
.............

       

ผลจากการแตกพ่ายที่เมืองแถนทำให้คนผู้ไทดำและผู้ไทขาว  ส่วนหนึ่งที่ไม่ได้เข้าร่วมกับขบวนการเวียดมินห์ ได้อพยพหลบลี้หนีภัยสงคราม มาที่ลาว คนลาว(อาจจะม่เชื้อสายผู้ไทดำ)จึงได้แต่งเพลงที่มีเนื้อหากล่าวถึงความพลัดพรากจากบ้านจากเมืองที่เคยอยู่สุขสบายของคนผู้ไทดำ(ไม่รู้สะบายจริงหรือเปล่า)ครับ

 

         

         

บ้านลุงโฮที่นาจอก นครพนม ลุงโฮเคยมาพักที่นี่ขณะเตรียมการกู้ชาติขับไล่ฝรั่งเศส

     

ขณะที่ผู้ไทฝ่ายหนึ่งซึ่งร่วมเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส ร่วมกันรำพึงรำพันถึงความพ่ายแพ้ต้องอพยพหลบหนีภัยสงครามจากขบวนการเวียตมินห์ โดยผู้ไทดำได้อพยพลงไปในเวียตนามตอนใต้บ้าง ไปหลวงพระบางและ เชียงขวางบ้าง ซึ่งต่อมาก็อพยพต่อมาที่เวียงจันทน์ กลุ่มนี้แหละที่เป็นที่มาของเพลง "ไทดำรำพัน" ที่คุณหมีดำแต่งให้ ก.วิเสส ร้อง
ส่วนผู้ไทดำที่เข้าร่วมกับขบวนการเวียดมินห์เขาไม่รำพึงรำพันหรอกครับ พวกเขากลับเฉลิมฉลองชัยชนะอย่างเอิกเหริกยิ่งใหญ่ เป็นความเต็มใจพร้อมใจที่จะร่วมกับโฮจิมินห์และขบวนการเวียดมินห์ในการสร้างชาติเวียดนามใหม่


    จากตำนานแห่งชัยชนะอันยิ่งใหญ่ที่เมืองแถน หรือเมืองเดียนเบียนฟูที่ผู้ไทฝ่ายหนึ่งเฉลิมฉลองชัยชนะ   ในเวลาเดียวกันผู้ไทอีกฝ่ายหนึ่งกลับรำพึงรำพัน ซึ่งเป็นการรำพึงรำพันให้กับการสิ้นสุดของรัฐเจ้าฟ้าที่เรียกอาณาจักร "สิบสองจุไท"(ที่จริงสิ้นสุดก่อนแล้วตั้งแต่ปี พ.ส.2451) และรำพึงรำพันกับการสิ้นสุดของรัฐชาติของคนผู้ไทที่ชื่อว่า "สหพันธ์รัฐไท" รวมทั้งการรำพึงรำพันให้กับชะตากรรมชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์อัตลักษณ์เฉพาะนี้ ด้วยชะตากรรมของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ด้วยเงื่อนไขแห่งกาลเวลา

 


    ดังนั้นจุดพลิกผันครั้งนี้ จึงทำให้คนผู้ไทกลุ่มหนึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างชาติใหม่ของเวียดนามภายใต้การนำของท่านโฮจิมินห์ ซึ่งภายหลังการรวมชาติสำเร็จ ผู้ไทก็ได้รับสิทธพิเศษ ได้รับการจัดตั้งเป็นเขตปกครองตนเอง เป็นเขตการปกครองตนเองเขตเดียวในเวียดนามมาระยะหนึ่ง  แต่ปัจจุบันเขตปกครองตนเองเดียนเบียนฟูดังกล่าวได้มีการยกเลิกในเวลาต่อมาแล้วครับ(น่าจะปี พ.ศ. 2518)



หากแต่ ณ วันนี้ มีคำถามว่าคนผู้ไทยังจะรำพึงรำพันกันต่อไป หรือไม่อย่างไร 9-11 มีนาคม มีสัมมนาผู้ไทนานาชาติที่เขาวง กาฬสินธุ์ ผู้ไทจากสยาม ลาว เวียดนามและจีนน่าจะได้พูดคุย รำพึงรำพันกันในประเด้นนี้ด้วย

 

 

หมายเลขบันทึก: 476970เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2012 23:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 ตุลาคม 2012 09:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
  • ได้ความรู้เรื่องผู้ไทมากเลยขอบคุณมากๆ
  • ขอนุญาตกล่าวถึงที่มาของการเขียนเรื่องนี้สักเล็กน้อย
  • ตอนที่เขียนเรื่องนี้ (เพลงไทดำรำพัน)มีนาคม๒๕๕๔ เป็นการฝึกเขียนภาษาลาวเท่านั้นเอง เหตุที่เขียนก็เพราะว่าได้ซื้อหนังสือเล่มหนึ่งที่เขียนโดยคนหนองบัว และนักเขียนท่่านนั้นก็ได้มาร่วมกันเขียนในเวทีคนหนองบัวด้วย โดยได้ช่วยกันเขียนเรื่องชุมชนบ้านเกิดหลายเรื่อง นอกจากนั้นแล้วท่านที่กล่าวถึงนี้ก็เป็นผู้เขียนพจนานุกรมภาษาลาวด้วยชื่อหนังสือ(ถ้อยเสียงสำเนียงลาว : คำศัพท์ ๓ ภาษา ลาว-ไทย -อังกฤษ)แต่ภาษาลาวในหนังสือเล่มนี้เขียนด้วยอักษรไทย ที่นี่

http://www.gotoknow.org/activities/users/sombatk?activity_page=2&escape=false

ท่านได้ให้ข้อสังเกตในการเขียนภาษาลาวครั้งนั้นด้วย อีกทั้ได้ให้ความรู้เพิ่มเติมเรื่องการนับศักราชแบบลาวด้วย ดังนี้

" ผมขออนุญาตให้คะแนนตั้งใจ(เขียนภาษาลาว) 100 คะแนนเต็มครับ  แต่ว่าตัวอักษร น.นก  กับ ม.แมว  ต้องสังเกตดูดี ๆ ส่วนใหญ่แล้วคนไทยมักสับสนกับอักษรลาว 2 ตัวนี้  โดยเฉพาะอักษรควบคือ  ตัวหนอ กับตัวหมอ  ถ้าผิดนิดเดียว  คำว่าหนา  ก็จะกลายเป็นหมา  หรือคำว่าหมาก็จะอ่านว่าหนาไป  เป็นซะอย่างนั้น

อีกอย่างครับ  ปีพุทธศักราช  ขอยกตัวอย่างเมื่อวานนี้ผมไปเวียงจันทน์มา(ความจริงก็ไปเกือบทุกวัน)  ขณะขับรถอยู่ได้เปิดสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาวฟังไปด้วย 

คนลาวนี่ถ้าเป็นทางการ  เขาใช้คริสตศักราช เช่น 2011  ถ้าเป็นเรื่องในทางพระพุทธศาสนา  ประเพณี  วัฒนธรรม  เขาจะใช้พุทธศักราชครับ

เมื่อวานโฆษกสถานีอ่านว่าปีพุดทะสังกาด 2553 (อ่านว่า  สองพันห้าฮ้อยห้าสิบสาม)  คนที่นั่งรถไปกับผมถามว่าโฆษกอ่านผิดหรือเปล่า  ผมตอบว่า  ไม่ผิดหรอกครับ  เขาอ่านถูกต้องแล้ว  ปี 2554 ของลาว(ปีนี้)เขาจะเริ่มต้นในวันที่ 14 เมษายน 2554

คนที่นั่งไปด้วยหลาย ๆ คน  ต่างก็ไม่เคยทราบมาก่อนว่า  ประเทศลาวเขาใช้วิธีนับปีพุทธศักราชกันอย่างนี้ "

ส่วนเรื่องเพลงไทดำรำพันนั้น อาตมาไม่ได้ถามประวัิติความเป็นมาของเพลงท่านเลยไม่ได้กล่าวถึง แต่ท่านได้ช่วยแปลบทพูดในเพลงให้ทราบแทน ดังนี้

" เพลงไตดำรำพันนั้นคุ้นเคยกับคนไทยมาหลายสิบปี ถ้าไม่ทราบความเป็นมา หลาย ๆ ท่านอาจเข้าใจไปว่าเป็นเพลงไทยไปแล้วก็มี เช่นเดียวกับเพลง กุหลาบปากซัน

บทพูดตอนท้ายของเพลงไตดำรำพันนั้น พอจะแปลความได้ว่า.....

เมื่อหวลคิดขึ้นมา(คราใด) น้ำตา(คน)ไต(มัก)ไหล(ริน) ยามเมื่อจากไกล ปู่เจ้าเซินลา (วิญญาณบรรพบุรุษของพี่น้องชาวไตดำซึ่งอยู่ที่เมืองเซินลา หรือ Son La ในเวียดนามเหนือ ใกล้ๆ กับเมืองแอด แขวงหัวพันของลาว) 

อพยพหลบลี้ไพรีมา(อันนี้ชัดอยู่แล้ว) ไตดำตั้วหน้า(ทั้งมวล)ยังคนึงหา(ถิ่นฐานบ้านเกิดเมืองนอนของตน) อย่างไม่เคยลืมเลือน "

เป็นคนผู้ไทเหมือนกันค่ะสันนิฐานว่าผู้ไทดำเพราะใช้เสื้อผ้าที่ตัดเย็บด้วยผ้าสีดำแล้วตกแต่งลวดลายด้วยผ้าแถบที่ทอด้วยมือ ซึ่งจากการเล่าของตายายว่าสมัยก่อน(สมัยท่านผู้ที่เล่า)ชุดแต่งงานของสตรี/ชายผู้ไทจะใช้ชุดสีดำ ที่เรียกว่าเสื้อแขบ ซิ่นหมี่ สะโร่ง ก็ขอชื่นชมในความมีอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของคนผู้ไท

 ยินดีรู้จักคนผู้ไทคือเด๋ว Ico48 คุณนุจจิรา สารจิตร

  • ผมสนใจศึกษาเรื่องผู้ไท ประเด็นที่คุณนุจจิรา สารจิตรเอ่ยถึงนี่แหละครับ
  • เคยมีคำถามตั้งแต่เด็ก เมื่ออ่านหนังสือได้ตำราผู้ไท เขาก็บอกว่ามีผู้ไทดำ ผู้ไทขาว ผู้ไทแดง แล้วตกลงผู้ไทแบบที่อยู่ในภาคอิสานปัจจุบันเป็นผู้ไทแบบไหน
  • บางคนก็เข้าใจว่าเราเป็นผู้ไทขาว ด้วยเรามีผิวขาว  ความเป็นจริงก็คือผู้ไทไม่ว่าแบบไหนก็ผิวขาวกันหมด ตอนหลังมาทราบอีกว่าที่เราเรียกผู้ไทขาวเพราะเขานิยมใส่ชุดขาว ผสมผสานกับวัฒนธรรมจีน ที่สำคัญเขามีถิ่นฐานเมืองเอกเดิมของเขา อยู่ที่เมืองไล มิใช่เมืิองแถน ตกลงผู้ไทแบบอิสานไม่ใช่ผู้ไทขาว แล้วครับ
  • บางคนบอกว่า เราเป็นผู้ไทดำ ด้วยนิยมใส่ชุดสีดำ ที่จริงผู้ไทนิยมใส่ชุดสีครามนะครับ ด้วยผ้าด้ายย้อมคราม และคนผู้ไทก็ไม่ได้เรียกผ้าย้อมครามเป็นสีดำ สีดำเป็นสีมะเกลือ ที่เขาเรียกผู้ไทดำ คือผู้ไทจากลุ่มน้ำดำแล้วอพยพมายึดครองเมืองแถน (นานมาแล้ว)ที่จริงผู้ไทดำก็ไม่ได้แต่งเฉพาะชุดดำเท่านั้น มีหลากหลายสี
    ตอนสยามไปกวาดต้อนมา ไว้ที่เมืิองเพชรก็เรียกว่าลาวโซ่ง  หรือลาวโซ่งดำ หรือเรียกไทยทรงดำในเวลาต่อมา
  • ผมจะแย้งเรื่องนี้เหมือนกัน ที่จริงลาวโซ่ง ไม่ใช่ลาวแต่เป็นผู้ไท(ผู้ไทดำ)ที่เป็นเชลยศึกของลาวหลวงพระบาง  ซึ่งกวาดต้อนมาให้สยามตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี เรื่อยมาถึงสมัย ร.3แล้วให้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่เพชรบุรี(จังหวัดอื่นอาจเคลื่อนย้ายภายหลัง แต่บางคนบอกว่าอย่างผู้ไทที่พนมทวนตั้งถิ่นฐานที่กาญจน์มาแต่ต้นแล้ว)
  • ผมเคยไปพบไทยดำที่เขาย้อย และที่ต่างๆ รวมทั้งผู้ไทดำที่เวียดนาม ผมเห็นว่าเราไม่ใช่ไทดำเราแตกต่างทั้งภาษา การแต่งกาย วัฒนธรรมความเชื่อ ผู้ไทยังใกล้ชิดกับลาวพวนมากกว่าเสียอีก(ลาวพวนเดิมเขาไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นลาวพวนนะครับ เขาพวนแล้วเติมความเป็นลาวเข้าไปใภายหลัง โดยสยาม)
  • ผู้ไทแดง ก็ไม่ได้แต่งชุดแดงนะครับ แต่เป็นผู้ไทที่มีถิ่นฐานเดิมที่แม่น้ำแดงครับ
  • ผู้ไท ก็คือผู้ไท มีคนยืนยันว่ามีผู้ไทแบบบ้านเรา ที่เวียดนามด้วย  ที่จังหวัดเกาบัง Cao Bang และที่จีนที่ตำบลเจิ้นหลง (จินหลง)( 金龍鎮 _Jinlong)มณฑลกวางสี  ซึ่งรอการค้นพบการเจอตัวชัดๆ รอการพิสูจน์ชัดๆว่า ผู้ไทเรามิใช่ไทดำครับ
ผมบันทึกเรื่องน้ีไว้ที่http://www.gotoknow.org/blogs/posts/476746ผู้ไทเป็นใคร  แล้วผู้ไทกับผู้ไทดำเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันหรือไม่: สัมมนาผู้ไทนานาชาติที่เขาวง กาฬสินธุ์ (4)
  • อีกไม่นานผมจะเดินทางไปพิสูจน์

 

นมัสการIco48พระมหาแล อาสโย ขำสุข

  • เมตตาอ่านงาน ผมเป็นผู้ไท เมื่อมีโอกาสก็อยากตอบแทนแทนคุณบรรพบุรุษ
  • ด้วยความรู้/ข้อมูลเชิงประวัติผู้ไทยังสับสนครับ

ขอบคุณพระคุณครับ

สุเทพ  ไชยขันธุ์

หลายวันก่อนไปรื้อกองหนังสือ เจอกับหนังสือที่ซื้อไว้นานแล้ว ปกหนังสือเขียนว่า ผู้ไทเวียดนาม

Ico48 วิระศักดิ์ อารมณ์สวะ

  • ขอบคุณครับคุณวิระศักดิ์ อารมณ์สวะที่แนะนำหนังสือผู้ไทดีๆ เล่มนั้นผมยังไม่เคยอ่านครับ
  • ความสนใจผู้ไทในเวียดนามของผมอยู่ที่ว่า ผู้ไทกับไทดำในเวียดนาม แตกต่างกันอย่างไร
  • นักวิชาการมักจะสรุปว่าผู้ไทเราคือไทดำ แต่มาอยู่ลาวโดนและไทยโดน ....จึงต่างกับไทดำในเวียดนาม(ที่จริงแค่300ปีเอง)
  • แล้วทำไมไทดำ..ที่มาอยู่เมืองเพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรีฯ เขาก็มาอยู่ไทยโดนเหมือนกัน ทำไมเขายังคงเหมือนไทดำที่เวียดนามเกือบทั้งหมดแทบไม่ต่างกันเลย ต่างแค่การนับถือพุทธกับผีเท่านั้น ซึ่งไทดำในสยามนับถือพุทธที่นี่
  • แล้วผู้ไทในสยามและลาวทำไม เหมือนกันเกือบ 100% ทั้งที่อยู่ที่ลาวร่วมกันในห้วงเวลาอยู่ลาวสั้นๆ ไม่ถึงร้อยปีด้วยซ้ำ เราเปลี่ยนตามลาวไปหมด จึงแตกต่างจากไทดำเดิม ข้อสรุปนี้ผมว่าฟังไม่ขึ้น
  • ผมยังเชื่อว่ามีผู้ไทแบบเรา อยู่ในจีนและเวียดนามแน่นอน และบรรพบุรุษไม่ใช่ไทดำแน่นอน  ผมดูเพลงของกลุ่มชาติพันธุ์ Phu Tay(ผู้ไต)ในเวียดนาม ยังรู้สึกว่าพวกTay จะคล้ายเรามากกว่าไทดำอีก
  • ผมตั้งสมมุติฐานว่าผู้ไทเราในเวียดนามอาจเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยเล็กๆ เหมือนกลุ่มกะเลิง ในอิสานที่มีคนศึกษา มีข้อมูลน้อยมากก็ได้
  • สักวันหนึ่งผมจะออกเดินทางตามหาพ่อน้องบรรพบุรุษเราครับ


(ภาพโดยคุณวันชัย)

  • แจ้งข่าวมวลมิตรในG2K ครับ
  • วันที่ 9-11มี.ค.55งานมหกรรมผู้ไทนานาชาติ ที่เขาวง  

  • อาจารย์ธีรภาพ โลหิตกุล และอาจารย์ Adul Tanthakosai 
ตกลงจะไปร่วมงานด้วย 
  คืนวันที่8 มี.ค. ผมจัดงานเล็กๆ เป็นการลงข่วง เข็ญฝ้าย ย้อนยุค ให้พี่ๆนักถ่ายภาพ
เป็นกรณีพิเศษ ที่บ้านผม
ด้วยท่านจะนอนค้างในหมู่บ้าน ถ่ายภาพนิ่งและสารคดีหมู่บ้าน

  • วันนั้น จะเป็นการชุมนุมนักถ่ายภาพ ที่ติดตาม อ.ธีรภาพ โลหิตกุลมา ถ่ายภาพ
    
ข่าวว่ากวีซีไรท์คนล่าสุดมาร่วมงานด้วย
สนใจเชิญนะครับ จะนอนค้างในหมู่บ้าน เลยก็ได้นะครับ
รวมทั้งจะอยู่ถ่ายภาพ การลงข่วง เข็นฝ้ายของสาวผู้ไท
บ้านผม ที่บ้านเหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธ์
ในคืนวันที่ 8 มี.ค. 55 ครับ
  • 
ผู้สาวผู้ไทยบ้านเหล่าใหญ่ เตรียมแต่งชุดสาวผู้ไทให้งามๆ
จะได้เจอกับตากล้องชั้นครูของเมืองไทย
อย่าง อาจารย์ธีรภาพ โลหิตกุล
และอาจารย์ Adul Tanthakosai
  • ตากล้องมือใหม่ป้ายแดงอย่างผม 
อดตื่นเต้นไม่ได้ครับ

  • ใครสนใจเชิญครับ
สาวผู้ไทเมืองกุดสิม

เครื่องแต่งกายของชาวผู้ไท สีที่โดดเด่นที่สุดคือสีดำ สีดำที่ชาวผู้ไทเรียกกันคือสีดำย้อมหม้อการย้อมเสื้อผ้าของชาวผู้ไทนั้นจะใช้ครามเป็นตัวย้อมแต่เมื่อย้อมเสร็จแล้วจะเรียกผ้าชนิดนั้นว่าผ้าดำ ถึงแม้ว่าผ้าจะออกมาเป็นสีน้ำเงินหรือสีกรมท่าก็ตามแต่ก็ยังเรียกว่าผ้าดำหม้อ ถ้าถามคนแก่อายุ70ปีขึ้นไปจะเรียกว่าผ้าดำทั้งนั้น เพราะการย้อมหม้อนิลหรือหม้อครามนั้น ความเข้มของสีจะขึ้นอยู่กับจำนวนหม้อที่ใช้ย้อม การย้อมมะเกลือของชาวผู้ไทก็มีแต่จะไม่นิยมย้อมผ้าเท่าหม้อครามหรือหม้อนิล การย้อมผ้า การอิ้วฝ้าย เข็นฝ้าย ลักษณะนี้จะมีอยู่ทุกชาติพันธุ์เพราะเครื่องนุ่งห่มเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ฉะนั้นการจะศึกษาเรื่องผู้ไทโดยผ่านผ้าต้องรู้ลักษณะเด่นของผ้าผู้ไทที่ต่างไปจากผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์อื่น เพราะลักษณะของสีผ้า ลายผ้า และการผลิต เหมือนกันกับชาติพันธุ์อื่น การศึกษาทางด้านภาษาศาสตร์นั้นคิดว่าข้อจำกัดมันอยู่ที่ว่า ผู้ไทในไทยปัจจุบันนั้นรับเอาวัฒนธรรมทั้งของลาวและไทยมามาก ส่วนทางด้านผู้ไทเวียดนามและจีนก็รับเอาความเป็นเวียดนามและจีนจากส่วนกลางมาบางแล้ว ฉะนั้นการที่จะหาเปรียบเทียบภาษาทั้งสามประเทศคงต้องอาศัยนักภาษาศาตร์มาช่วยในการวิเคราะห์ทางด้านภาษา เพราะคนตระกูลไท ที่ใช้ภาษาตระกูลไท-กะได นั้นมีหลากหลายชาติพันธุ์ ฉะนั้นเราจึงต้องหาข้อแตกต่างระหว่างภาษาผู้ไทกับชาติพันธุ์อื่นว่าแตกต่างกันตรงไหนอย่างไร ขอเสนอแนะว่า เราควรที่จะลงพื้นที่ผู้ไทในไทยเพื่อเก็บข้อมูลในเรื่องต่างๆ เช่น ภาษา สิ่งของเครื่องใช้ พิธีกรรม ความเชื่อเป็นต้น การศึกษาในที่นี้เป็นการศึกษาเอาเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตซึ่งในปัจจุบันเลือนหายไปแล้วหรือไม่มีการสืบต่อแต่ยังมีผู้รู้หรือเคยได้ยินบรรพบุรุษเคยกล่าวเอาไว้ และข้อมูลอื่นๆที่เป็นประโยชน์ในการศึกษาต่อยอด อีกทั้งศึกษาถึงอดีตของผู้ไทเวียดนามและจีนในเรื่องต่างๆให้มีข้อมูลที่มากพอสมควร แล้วมาพบกันครึ่งทางระหว่างผู้ไทในไทยกับผู้ไทในต่างแดน อาจจะทำให้เราได้พบกับสิ่งที่เราต้องการก็เป็นได้ แต่ถ้าเราจะศึกษาถึงประวัติความเป็นมาจากสิ่งต่างๆที่เป็นผู้ไทปัจจุบัน ที่ถูกวัฒนธรรมเมืองกลืนไปบ้างแล้วนั้นอาจจะเป้นหรือยากหรือไม่ในการศึกษาความเป็นมาของผู้ไท

ยังมีวัฒนธรรมบางอย่างในปัจจุบันที่ทำให้เราได้เห็นเค้าลางของถิ่นกำเนิดความเป็นผู้ไท  อย่างผู้ไทในเมืองกุดสิมนารายณ์

หมีดำแต่งเพลงไทดำรำพัน หรือเอามาจาก มาจากท้าวฮุง ท้าวเฮืองคนไทดำ ซึ่งไปตายที่ฝรั่งเศส ทั้งสองเคยฟ้องหมีดำ ซึ่งเป็นนายทหารเรื่องลิขสิทธิ์เพลงนี้ คดีความยังไม่สิ่้น หมีดำ ฮ ตกตาย

ไทดำแตกแยกออกเป็น๒ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเข้าข้างฝรั่งเศส อีกฝ่ายเข้าข้างเวียดนาม เพราะหลงเชื่อโฮจิมินห์ที่โฆษณาว่าถ้าร่วมกันต่อสู้ฝรั่งเศสจนชนะ จะให้เอกราชแก่สิบสองจุไท เมื่อชนะฝรั่งเศสจริง โฮจิมินห์ก็ให้แค่เป็นเขตปกครองพิเศษ พอให้หลงดีใจเล่นๆ พอผ่านมาหลายปีประมาณปี๒๕๑๘ ก็ยุบเลิกเขตปกครองพิเศษ ให้ไทดำหรือสิบสองจุไทมีสถานะเหมือนเมืองอื่นๆในเวียดนาม ถ้าฝรั่งเศสชนะ ก็มีโอกาสได้เอกราชเหมือนอาณานิคมอื่นๆของฝรั่งเศส ประวัติศาสตร์ของสิบสองจุไทหรือเดียนเบียนฟูช่างไม่แตกต่างกับไทยใหญ่ในรัฐฉานของพม่าเลย

ชอบประวัติศาสตร์ของผู้คนแถบลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะ พี่น้องทางฝั่ง สปป.ลาว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท