ผชช.ว.ตาก (๓๔): การนิเทศแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพเขต ๑๗


แผนพัฒนาระบบบริการที่ดีต้องมีความสอดคล้องกันทั้งระบบในสถานบริการทุกระดับทั้งแผนทรัพยากรและแผนพัฒนาคุณภาพ

ในการนิเทศงานในประเด็นหลักที่ ๒ การพัฒนาระบบบริการสุขภาพและระบบหลักประกันสุขภาพ หัวข้อที่ ๒.๑ การจัดทำแผนพัฒนาระบบบริการ (Service plan) ได้กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ว่า

      เพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพทุกระดับของกระทรวงสาธารณสุขให้เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน มีทิศทางในการจัดสรรทรัพยากรได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ตอบสนองการเข้าถึงบริการและความต้องการของประชาชนได้

จากตัวชี้วัดที่กำหนดเป็นตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ ทางทีมนิเทศจึงได้ร่วมกันกำหนดระดับการวัดให้สามารถติดตามความก้าวหน้าในการพัฒนาได้ตาม ตัวชี้วัดที่ ๐๒๐๑ เขต/จังหวัด/สถานบริการ มีแผนพัฒนาระบบบริการ (Service plan) ระยะ ๕ ปี (พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๙)

แนวทางการประเมินแผนพัฒนาระบบสุขภาพ (Service plan)

การประเมินแผนพัฒนาระบบสุขภาพระดับจังหวัด

ไม่ผ่าน

๐ = ไม่มีแผนพัฒนาสุขภาพระดับจังหวัด

ผ่าน

๑ = มีแผนพัฒนาสุขภาพระดับจังหวัด แต่ไม่ครอบคลุม ไม่ครบถ้วน

๒ = มีแผนพัฒนาสุขภาพระดับจังหวัด ครอบคลุม ครบถ้วน

๓ = มีแผนพัฒนาสุขภาพระดับจังหวัด ครอบคลุม ครบถ้วน เชื่อมโยงและสอดคล้องกัน

๔ = มีแผนพัฒนาสุขภาพระดับจังหวัด ครอบคลุม ครบถ้วน เชื่อมโยง สอดคล้องและเป็นไปได้ในการปฏิบัติ

๕ = มีแผนพัฒนาสุขภาพระดับจังหวัด ครอบคลุม ครบถ้วน เชื่อมโยง สอดคล้อง เป็นไปได้ในการปฏิบัติและมีเป้าหมายชี้วัดที่ชัดเจนของการเป็นระบบบริการสุขภาพที่พึงประสงค์

การประเมินแผนพัฒนาระบบสุขภาพระดับอำเภอ

ไม่ผ่าน

๐ = ไม่มีแผนพัฒนาสุขภาพระดับอำเภอ

ผ่าน

๑ = มีแผนพัฒนาสุขภาพระดับอำเภอ แต่ไม่ครอบคลุม ไม่ครบถ้วน

๒ = มีแผนพัฒนาสุขภาพระดับอำเภอ ครอบคลุม ครบถ้วน

๓ = มีแผนพัฒนาสุขภาพระดับอำเภอ ครอบคลุม ครบถ้วน เชื่อมโยงและสอดคล้อง

๔ = มีแผนพัฒนาสุขภาพระดับอำเภอ ครอบคลุม ครบถ้วน เชื่อมโยง สอดคล้องและเป็นไปได้ในการปฏิบัติ

๕ = มีแผนพัฒนาสุขภาพระดับอำเภอ ครอบคลุม ครบถ้วน เชื่อมโยงกัน สอดคล้อง เป็นไปได้ในการปฏิบัติและมีเป้าหมายชี้วัดที่ชัดเจนของการเป็นระบบบริการสุขภาพที่พึงประสงค์ 

อธิบายความหมายในเกณฑ์การประเมิน

๑.      ครอบคลุม หมายกึง ครบทุกระดับสถานบริการ (ปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิและระบบส่งต่อ) รวมไปถึงครบทุกอำเภอและทุกสถานบริการสุขภาพ

๒.      ครบถ้วน หมายถึง มีครบทั้ง 3 แผนคือแผนพัฒนาโครงสร้างสถานบริการ แผนการสนับสนุนทรัพยากร (แผนลงทุนด้านครุภัณฑ์ที่ดินสิ่งก่อสร้างและแผนจัดหา/พัฒนาบุคลากร) และแผนพัฒนาคุณภาพบริการ

๓.       เชื่อมโยง หมายถึง มีการจัดบริการที่สามารถเชื่อมโยง ส่งต่อ เกื้อหนุน สนับสนุน ร่วมใช้ทรัพยากรกันในเครือข่ายบริการสุขภาพทั้งอำเภอและจังหวัด

๔.      สอดคล้อง หมายถึง การจัดทำแผนพัฒนาระบบบริการที่ตอบสนองต่อปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ หรือวิสัยทัศน์ พันธกิจหรือนโยบายในระดับจังหวัด เขตและกระทรวง

๕.      เป็นไปได้ในการปฏิบัติ หมายถึง การจัดทำแผนที่พิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินการในด้านต่างๆโดยเฉพาะงบประมาณที่จะสนับสนุน

๖.       เป้าหมายชี้วัดที่ชัดเจนของการเป็นระบบบริการสุขภาพที่พึงประสงค์ ดังนี้

          ระบบบริการสุขภาพที่พึงประสงค์ เป็นระบบบริการสุขภาพที่มีการให้บริการได้ครอบคลุม ไม่มีความซ้ำซ้อนของบทบาทสถานพยาบาลระดับต่างๆ มีการเชื่อมโยงสถานพยาบาลแต่ละระดับเป็นเครือข่ายบริการสุขภาพตั้งแต่ระดับต้น (ปฐมภูมิ) จนถึงระดับสูง (ตติยภูมิ) ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ มีความเป็นธรรม จัดบริการอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและมีคุณภาพ

A. การกำหนดเป้าหมายชี้วัดด้านการเข้าถึงบริการ (Accessibility) อาจพิจารณาจาก

๑)      การเข้าถึงบริการรักษาพยาบาล ดูจากอัตราการเข้าใช้บริการผู้ป่วยนอก (Utilization rate) โดยดูจากสัดส่วนของผู้ป่วยนอกรายใหม่ในปีต่อจำนวนประชากรในเขตพื้นที่รับผิดชอบ อัตราการใช้บริการในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลต่อการใช้บริการในโรงพยาบาลของประชาชนในเขตรับผิดชอบ หรืออาจคิดละเอียดลงไปในรายโรคหรือกลุ่มโรคที่สำคัญของพื้นที่

๒)      การเข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ดูจากอัตราความครอบคลุม (Coverage rate) ด้านการส่งเสริมสุขภาพและควบคุมป้องกันโรค เช่น อัตราการฝากครรภ์ อัตราการได้รับวัคซีน อัตราการเยี่ยมบ้าน ดัชนีลูกน้ำยุงลาย อัตราการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคเสมหะบวกรายใหม่ อัตราป่วยโรคไข้เลือดออก อัตราการฆ่าตัวตาย อัตราป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง

๓)      การเข้าถึงบริการเฉพาะด้านหรือเฉพาะปัญหาสุขภาพที่สำคัญในพื้นที่ เช่น ทันตกรรม การฟื้นฟูสภาพ

๔)      สิทธิการเข้าถึงบริการ เช่น อัตราความครอบคลุมสิทธิประกันสุขภาพ

๕)      ความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการ เช่น การเข้าถึงบริการของผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ การเข้าถึงบริการโดยแพทย์หรือทันตแพทย์หรือแพทย์เฉพาะทางของประชาชนในพื้นที่ห่างไกลหรือนอกเขตโรงพยาบาล

B. การกำหนดเป้าหมายชี้วัดด้านคุณภาพบริการ (Quality)

          ให้พิจารณากำหนดตัวชี้วัดที่เหมาะสมตามมิติคุณภาพด้านต่างๆ เช่น

๑)      ความปลอดภัย

๒)      ความพึงพอใจ

๓)      ระยะเวลาส่งมอบบริการ

๔)      การบริการแบบองค์รวม

๖)      ผลลัพธ์การรักษาโรคหรือปัญหาที่สำคัญ เช่น อัตราตายผู้ป่วยไข้เลือดออก อัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรัง (ตา ไต ตีน) ในผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง ความสำเร็จในการรักษาวัณโรค

๗)      การเชื่อมต่อการบริการและการส่งต่อระหว่างระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิและตติยภูมิหรือเหนือกว่า

C. การกำหนดเป้าหมายตัวชี้วัดด้านประสิทธิภาพระบบบริการ (Efficiency) อาจพิจารณาจาก

๑)      การใช้ทรัพยากรอย่างเต็มตามศักยภาพของโรงพยาบาล เช่น ดูจาก CMIจาก Adjusted RW หรือ CMI รายกลุ่มโรคหรือหัตถการ

๒)      ต้นทุนบริการ เช่น ดูจากUnit cost

๓)      ศักยภาพการจัดบริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เช่น อัตราส่วนการใช้บริการผู้ป่วยนอกที่หน่วยบริการปฐมภูมิกับที่โรงพยาบาลพยาบาลแม่ข่าย (ในระดับจังหวัดสามารถพิจารณาจากจำนวนผู้ใช้บริการผู้ป่วยนอกหน่วยบริการปฐมภูมิ (รพ.สต.) ทั้งหมดหารด้วยจำนวน OP visit ของโรงพยาบาลทั้งหมด

๔)      ประสิทธิภาพการบริหารจัดการอื่นๆ เช่น การเงินการคลัง ระบบข้อมูล เป็นต้น

D. การกำหนดเป้าหมายตัวชี้วัดด้านประสิทธิผล (Effectiveness) อาจพิจารณาจากผลลัพธ์ในการดำเนินงานทั้งด้านส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรค รักษาพยาบาล ฟื้นฟูสภาพ อนามัยสิ่งแวดล้อมและคุ้มครองผู้บริโภค

หมายเหตุ การประเมินในปี ๒๕๕๕ จะปรับระดับคะแนนโดยเพิ่มเกณฑ์ “การดำเนินการให้เป็นไปตามแผนพัฒนาระบบบริการ รวมถึงมีการติดตาม กำกับและประเมินผลในทุกระดับ

หมายเลขบันทึก: 476685เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2012 11:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 20:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท