สุเนตร
นางสาว สุเนตร เนตร เสาร์เงิน

การตรวจสอบคุณภาพคอมพิวเตอร์ช่วยสอน


การตรวจสอบคุณภาพคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
การตรวจสอบคุณภาพสื่อการเรียนการสอน                
การตรวจสอบแบ่งออกได้เป็น  2  ส่วนใหญ่  คือ 
  1. การตรวจสอบโครงสร้างภายในสื่อ (Structural)
  2. การตรวจสอบคุณภาพสื่อ (Qualitative)
 ขั้นที่  1  การตรวจสอบโครงสร้างภายในสื่อ

        การตรวจสอบในขั้นนี้เป็นการตรวจสอบสิ่งที่ปรากฏในสื่อ  ซึ่งสามารถสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัส  ถ้าส่วนที่ปรากฏมีลักษณะชัดเจน  ง่ายและสะดวกแก่การรับรู้  สื่อนั้นเป็นสื่อที่มีศักยภาพสูงในการสื่อสาร  การตรวจสอบที่สำคัญในขั้นนี้ประกอบด้วย  2  ส่วน  คือ  ลักษณะสื่อ  และเนื้อหาสาระในสื่อ

          1. ผู้ตรวจสอบลักษณะสื่อการเรียนการสอน

                ผู้ที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบสื่อในขั้นนี้ได้ดีที่สุด  คือ  นักโสตทัศนศึกษา  หรือนักเทคโนโลยีการศึกษาซึ่งถือว่าเป็นผู้เชียวชาญด้านสื่อการเรียนการสอน  ในการตรวจสอบควรมีจำนวนผู้เชี่ยวชาญอย่างน้อย  3  คน  โดยใช้แบบประเมินบทเรียนคอมพิวเตอร์  อาจจะมีการแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมได้  นำผลการประเมินมารวมกัน  เพื่อชี้แนะการปรับปรุงหรือดำเนินการต่อไป

                2.  ผู้ตรวจสอบเนื้อหาสาระ

            ในการตรวจสอบเนื้อหาสาระที่ปรากฏในสื่อ  ผู้ตรวจสอบได้ผู้เชี่ยวชาญในเนื้อหาสาระเฉพาะและครูผู้สอนกลุ่มเป้าหมาย  จำนวนอย่างน้อย  3  คน  กระทำการตรวจสอบโดยใช้แบบประเมินบทเรียนคอมพิวเตอร์

แสดงความเห็นเพื่อการปรับปรุงในส่วนที่ควรปรับปรุง  หรือให้ความเห็นชอบเพื่อดำเนินการต่อไป      
ขั้นที่  2  การตรวจสอบคุณภาพสื่อ

การตรวจสอบในขั้นนี้เป็นการตรวจสอบประสิทธิภาพของสื่อ  ตรวจดูการทำงานของสื่อว่า  เมื่อใช้สื่อนั้นกับผู้เรียนเป้าหมาย  ผู้เรียนสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ข้อใดบ้าง  ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้หรือไม่

ควรจะต้องมีการปรับปรุงสื่อหรือไม่  อย่างไร

                ในการตรวจสอบ  ผู้ตรวจสอบจะพิจารณาทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง  เช่น  การออกแบบเนื้อหาสาระ  รูปแบบการเสนอเนื้อหาสาระ  กิจกรรมการเรียนการสอน (ถ้ามี)  ความยากง่ายของภาษาหรือภาพที่ใช้สื่อสาร  ตัวอย่างประกอบ  แบบทดสอบเพื่อการวัดผลในส่วนนั้น ๆ  ลักษณะกลุ่มเป้าหมาย  หรือแม้กระทั่งวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ทั้งในส่วนเนื้อหาสาระและเกณฑ์  เป็นต้น
     เครื่องมือ

                เครื่องมือที่ใช้ในการตรวจสอบคุณภาพสื่อการเรียนการสอน  ที่นิยมใช้กันมากมี  
2  แบบ  คือ

1.  แบบทดสอบ

                แบบทดสอบที่ใช้ในที่นี้  เป็นแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  ควรเป็นแบบทดสอบที่มีความตรงเชิงเนื้อหา (Content validity)  สูง  และสามารถวัดได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดในแต่ละวัตถุประสงค์  โดยทั่วไปการพัฒนาแบบทดสอบมีขั้นตอน  ดังนี้

                1.1  กำหนดจำนวนข้อของแบบทดสอบ

                1.2  พิจารณากำหนดน้ำหนักวัตถุประสงค์แต่ละข้อของการพัฒนาสื่อ  แล้วคำนวณจำนวนข้อทดสอบสำหรับวัตถุประสงค์แต่ละข้อ

                1.3  สร้างข้อสอบตามจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อ 1.2  โดยสามารถวัดตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในวัตถุประสงค์ให้มีจำนวนข้ออย่างน้อยที่สุดเป็น  2  เท่าของจำนวนข้อทดสอบที่ต้องการ  เพื่อการคัดเลือกข้อที่เหมาะสมหลังจากที่ได้นำไปทดลองใช้และวิเคราะห์
ข้อสอบ

                1.4  พิจารณาตรวจเพื่อความถูกต้องและการแก้ไขปรับปรุงแบบทดสอบโดย
ผู้เชี่ยวชาญ

                1.5  นำแบบทดสอบไปทดลองใช้กับตัวแทนกลุ่มเป้าหมายที่มีความรู้เรื่องเนื้อหาในสื่อแล้ว

                1.6  วิเคราะห์แบบทดสอบโดยตรวจค่าความเชื่อมั่น  ความตรงเชิงเนื้อหาและค่าความยากง่าย

                1.7  คัดเลือกข้อสอบให้มีจำนวนตามต้องการ  และสามารถวัดค่าตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้สำหรับแต่ละวัตถุประสงค์

2.  แบบสังเกต

                ในระหว่างการทดลองใช้สื่อ  ผู้ตรวจสอบควรจะสังเกตและบันทึกการแสดงของสื่อและพฤติกรรมการใช้สื่อในการเยนการสอนของผู้ใช้  เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุง  สิ่งสำคัญที่ควรสังเกตและบันทึกไว้เป็นรายการในแบบสังเกต  คือ

                2.1  ความสามารถเข้าใจได้ง่าย  (understandable) 

            2.2 การใช้ประสามสัมผัสได้ง่าย  เช่น  มีขนาดอ่านง่ายหรือดูง่าย  คุณภาพของเสียงดี  ฟังง่าย

                2.3  การเสนอตัวชี้แนะ (cuing)  สำหรับสาระสำคัญเด่น  ชัดเจน  สังเกตได้ง่าย (Noticable)

                2.4  ระยะเวลาที่กำหนดเหมาะสม  ทั้งเวลาการนำเสนอและตอบสนอง  อีกทั้งระยะเวลาการสื่อสารเหมาะสมกับวัยของผู้เรียน

                2.5  วิธีการใช้ที่ง่าย  สะดวก  ไม่ยุ่งยาก  หรือสลับซับซ้อน

                2.6  ผู้เรียนสนใจและติดตามการแสดงของสื่อโดยตลอด

ตัวแทนกลุ่มเป้าหมาย

            ตัวแทนกลุ่มเป้าหมาย  ได้แก่  ผู้เรียนหรือบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายซึ่งคัดเลือกมาโดยวิธีการสุ่มตัวอย่างตามจำนวนที่ต้องการในแต่ละครั้งของการทดสอบ  ตัวแทนกลุ่มเป้าหมายคนใดที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนในการทดสอบแล้ว  จะไม่เป็นตัวแทนของกลุ่มเป้าหมายในการทดสอบครั้งต่อไป

                อนึ่ง  ตัวแทนกลุ่มเป้าหมายจะต้องเป็นบุคคลที่ไม่เคยเรียนหรือไม่มีความรู้เนื้อหาสาระที่สอนในสื่อมาก่อนการทดสอบสื่อ

                การทดสอบสื่อ           
                ในการตรวจสอบคุณภาพสื่อการเรียนการสอน  โดยปกติจะดำเนินการโดยการทดลองใช้สื่อกับตัวแทนกลุ่มเป้าหมายในสภาพการณ์จริงปกติ  ซึ่งแบ่งการดำเนินการ
ออกได้เป็น  3  ขั้นตอน  คือ
               
                1.  การทดสอบหนึ่งต่อหนึ่ง
 (One-on One testing)

ให้ตัวแทนกลุ่มเป้าหมายที่มีผลการเรียน  เก่ง  ปานกลาง  อ่อน  อย่างละ  1  คน  เรียนกับสื่อ  ในระหว่างการทดลองใช้สื่อ  ให้ผู้ตรวจสอบทำการสังเกตการใช้สื่อการเรียนการสอนอย่างใกล้ชิด  โดยใช้แบบสังเกตและบันทึกผลการสังเกตเพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปรุงแก้ไข

                2. การทดสอบกลุ่มเล็ก  (Small group testing)

    การทดสอบสื่อด้วยกลุ่มตัวแทนกลุ่มเป้าหมายกลุ่มเล็ก  จำนวนประมาณ
5 - 10คน  การทดสอบสื่อในขั้นนี้  บางครั้งอาจจะต้องกระทำมากกว่าหนึ่งครั้ง  เพื่อตรวจสอบดูว่าสิ่งที่แกไขปรับปรุงในสื่อแล้วนั้น  ช่วยให้ผู้เรียนสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ดีขึ้น  ถึงระดับเกณฑ์ที่กำหนดไว้หรือยัง

                3. การทดสอบกลุ่มใหญ่ (Large group testing)

                    การทดสอบสื่อในขั้นนี้  เป็นการทดสอบด้วยกลุ่มตัวแทนกลุ่มเป้าหมายกลุ่มใหญ่ประมาณ 30 คน  เป็นขั้นการทดสอบที่หลังจากสื่อได้รับการปรับปรุงแก้ไขจนมีคุณภาพหรือมาตรฐานสูง  ในบางครั้งการทดสอบขั้นนี้อาจให้ระดับมาตรฐานแก่สื่อถ้าผู้ตรวจสอบพบผลจากการวิเคราะห์ว่าคุณภาพสื่ออยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ  ก็จะหยุดการทดสอบสื่อในขั้นนี้  และแจ้งผลการทดสอบสื่อขั้นนี้เป็นมาตรฐานของสื่อ 

                    ในบางกรณีผู้ตรวจสอบบางคน  อาจจะให้มีการทดสอบภาคสนามต่อจากการทดสอบกลุ่มใหญ่  และถือผลการทดสอบภาคสนามเป็นมาตรฐานของสื่อ

  
คำสำคัญ (Tags): #สุเนตร
หมายเลขบันทึก: 47655เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2006 16:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 14:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท