สติปัฏฐานในชีวิตประจำวัน 2 ระดับ (ตอน 1)


การปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 ในขณะดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งทำได้โดยการตั้งสติดูกาย เวทนา จิต ธรรม นั้น ควรสังเกตค่ะว่ามีการปฏิบัติแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือการปฏิบัติที่เป็นไปในฝ่ายสมถะ และการปฏิบัติที่ครอบคลุมขึ้นจนเป็นวิปัสสนา (1) เราปฏิบัติอย่างไรก็ย่อมได้ผลอย่างนั้น

Tiny_img_4513-2ws

หากเราปฏิบัติสติปัฏฐาน โดยตั้งสติตามดูดูลมหายใจ (2) ดูอิริยาบทของร่างกาย (3) ดูร่างกายอันประกอบไปด้วยธาตุ หรือความไม่งามในกาย รวมไปถึงดูการเปลี่ยนแปลงของกายหากหมดลมหายใจ (4) เพื่อโน้มน้าวจิตให้สงบ (5) ดูเวทนาที่เกิดเพื่อให้รู้ทัน(6) ดูจิตขณะที่ถูกกระทบด้วยธรรมใดๆว่าเป็นอย่างไรในขณะนั้น (7) ดูธรรมต่างๆ (8) เพื่อให้จิตผ่องใส

หากเราปฏิบัติในลักษณะนี้ คือการปฏิบัติในลักษณะของสมถะ ผลลัพธ์ที่ได้ คือ เพราะตั้งสติที่กาย เวทนา จิต ธรรมอยู่เสมอ จึงเกิดอินทรียสังวร (9) มีสมาธิดี มีจิตที่สงบ และมีเครื่องปิดกั้นจิตจากอกุศลกรรมใหม่

แต่ ...........

ไม่ได้ขุดล้างอกุศลธรรมเก่าที่นอนเนื่องในจิต แต่อย่างใด

เราจึงพบว่า ถ้าเราโกรธง่ายอยู่อย่างไร ก็ยังคงโกรธง่ายอยู่อย่างนั้น เพียงแต่เมื่อโกรธแล้วเราสามารถควบคุมตัวเองได้เพราะรู้ทันและดับได้ก่อนที่จะระเบิดเปิดเปิง

หากเราปฏิบัติตามลักษณะนี้ ก็น่าเสียดายซึ่งพุทธพจน์นี้คงยืนยันได้

๓ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสลัดอุปธิ ความดำริที่แล่นไปอันประกอบด้วยอุปธิ ยังครอบงำบุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสลัดอุปธิทิ้งนั้นอยู่ เพราะความหลงลืมสติในบางครั้งบางคราว สติเกิดช้าไป ที่จริงเขาละได้ บรรเทาได้ ทำให้สิ้นสุดได้ และทำให้หมดไปได้ในฉับพลัน คนหยดน้ำ ๒ หยด หรือ ๓ หยดลงในกระทะเหล็กที่ร้อนอยู่ตลอดวัน หยดน้ำที่หยดลงอย่างช้าๆ ก็จะเหือดแห้งไปฉับพลัน แม้ฉันใด บุคคลในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสลัดทิ้งอุปธิ ความดำริที่แล่นไปอันครอบงำด้วยอุปธิ ยังครอบงำบุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสลัดทิ้งอุปธินั้นอยู่ เพราะความหลงลืมสติในบางครั้งคราว สติเกิดช้าไป ที่จริงเขาละได้ บรรเทาได้ ทำให้สิ้นสุดได้ และทำให้หมดไปได้โดยฉับพลัน เราเรียกบุคคลนั้นว่า ผู้ยังมีกิเลส ไม่ใช่ผู้คลายกิเลส
ม.ม.(แปล) ๑๓/๑๕๔/๑๗๒

Tiny_img_4513-1ws

เพราะนั่นหมายถึง เราปฏิบัติด้วยการดูกาย เวทนา จิต ธรรม จนจิตสงบ มีกำลัง และควรแก่การใช้งานแล้ว แต่กลับไม่ใช้จิตที่เหมาะจะใช้งานนี้ไปพิจารณาธรรมจนเกิดปัญญาในระดับที่สูงขึ้นต่อไป

การปฏิบัติสติปัฏฐานจึงถือว่ายังไม่สมบูรณ์ เพราะกิเลสยังไม่ถูกขูดเกลาให้ลดน้อยลง (ต่อตอนที่ 2 http://www.gotoknow.org/blogs/posts/475571)

...............................................................

อ้างอิง

(1) สติปัฏฐานมีวิธีเจริญ สองแบบ หรือสองชั้นสองระดับ : คือระดับสมถะอย่างหนึ่ง ระดับปัญญาอย่างหนึ่ง ถ้าพูดอย่างระบอบอานาปานสติ 16 ขั้น มันไปพร้อมกันไปตามลำดับ ตั้งแต่สมถะ ถึงปัญญา มรรค ผล นิพพาน : อานาปานสติ 16 ขั้น กว้างอย่างนี้. แต่ถ้าพูดอย่างสติปัฏฐาน 4 ที่พูดกันอยู่ทั่วๆไปก็พูดถึงตั้งจิตสองระบบนี้ ; ระบบสมถะทำอย่างหนึ่ง, ระบบปัญญาทำอย่างหนึ่ง แล้วก็ไม่ค่อยพูดถึงมรรค ผล นิพพาน พูดแต่การตั้งจิต

พุทธทาสภิกขุ โพธิปักขิยธรรม ธรรมสูงสุดแห่งความรู้แจ้ง 37 ประการ ธรรมสภา 1 /4-5 ถ.บรมราชชนนี เขตทวีวัฒนา กรุงเทพ (หน้า 62)

Tiny_salapaint

(2) ตั้งสติอย่างที่ 1 คือ ถ้าเอากายลมหายใจมากำหนด เหมือนกำหนดอานาปานสติขั้นแรกๆ : หายใจยาว รู้ว่หายใจยาว, หายใจสั้น รู้ว่าหายใจสั้น กำหนดกายเพียงเท่านี้ อย่างนี้เป็นสมถะ มีผลทำให้หยุดความฟุ้งซ่านกระวนกระวาย. แม้จะทำไปได้มากจนถึงเป็นฌาน เป็นสมาบัติสุงสุด มันก็อยู่แค่สงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่รำคาญ ไม่เป็นทุกข์ ; แต่ยังไม่หายโง่. นี่กำหนดที่ร่างกายนี้ก็ดี กำหนดที่ลมหายใจก็ดี เพียงประโยชน์แค่ความสงบ หยุดฟุ้งซ่าน นี้อย่างนี้ ตั้งสติไว้อย่างสมถะ

พุทธทาสภิกขุ โพธิปักขิยธรรม ธรรมสูงสุดแห่งความรู้แจ้ง 37 ประการ ธรรมสภา 1 /4-5 ถ.บรมราชชนนี เขตทวีวัฒนา กรุงเทพ (หน้า 63)

Tiny_citrusblosom

(3) เมื่อกลับมาพิจารณาดูที่ตัวของเราเอง ดูข้างนอกเข้าไปข้างใน ในตอนแรกจะพบกาย กล่าวคือจะพบว่าตัวเราเองมีการหายใจเข้า หายใจออกอยู่เป็นปกติ อันจะขาดเสียมิได้ ทั้งในเวลาตื่นอยู่ ทั้งในเวลาหลับ ทั้งจะต้องมีอิริยาบถ คือมีเดิน มียืน มีนั่ง มีนอน อิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่ง .....

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก แนวปฏิบัติในสติปัฏฐาน สำนักพิมพ์พระพุทธศาสนาประกาศ 170/30-31 ถนนชัยพฤกษ์ ตลิ่งชัน กรุงเทพ (หน้า 17)

Tiny_ngonkaith

(4) แต่ตามที่ได้กล่าวมานั้น เป็นการพิจารณาการที่ยังเป็นอยู่ จะพิจารณากายที่เป็นศพ ปราศจากชีวิตแล้วก็ได้ เป็นการเทียบเคียงกันคือ พิจารณากายนี้เทียบเคียงกับศพที่เขาทิ้งในป่าช้า ตั้งแต่เป็นศพซึ่งตายหนึ่งวัน สองวัน สามวัน ขึ้นพอมีน้ำเหลืองไหลจนถึงเป็นกระดูกผุป่น เพื่อทำจิตให้เกิดความหน่ายและความสงบ....

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก แนวปฏิบัติในสติปัฏฐาน สำนักพิมพ์พระพุทธศาสนาประกาศ 170/30-31 ถนนชัยพฤกษ์ ตลิ่งชัน กรุงเทพ (หน้า 41-42)

Tiny_citrusbloom

(5) วิธีทำจิตให้สงบตั้งมั่นอันเป็นทางสมถะได้แสดงแล้ว คืออานาปานสติ กายคตาสติ และธาตุกรรมฐาน เพื่อให้เลือกปฏิบัติตามแต่ความประสงค์ เมื่อมุ่งที่จะตั้งจิตให้เป็นหนึ่ง ไม่ให้เที่ยวไป ก็ใช้อานาปานสติ จิตปรารถนาจะเที่ยว ก็ให้เที่ยวไปในกาย และไปในธาตุ คือให้ใช้กายคตาสติ และธาตุกรรมฐาน ...

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก แนวปฏิบัติในสติปัฏฐาน สำนักพิมพ์พระพุทธศาสนาประกาศ 170/30-31 ถนนชัยพฤกษ์ ตลิ่งชัน กรุงเทพ (หน้า 41)

Tiny_citrus

(6) เรื่องที่สอง เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เอาเวทนามาเพ่งเป็นอารมณ์ ถ้าเพ่งเพียงให้รู้สึกว่าเป็นอย่างไร เวทนาเป็นอย่างไร ? กำลังมีเวทนาอะไร เท่านี้เป็นสมถะ ต่อเมื่อไปเพ่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของเวทนามันจึงจะเป็นปัญญา อย่างที่เรียกกันว่า เจ็บหนอ ๆ นี้เพ่งแต่ว่าเจ็บเท่านั้นเป็นสมถะ เพ่งจนหายเจ็บ

เอาเวทนาเป็นอารมณ์สำหรับจิตหยุดอยู่ที่นั่น อย่างนี้เรียกว่าเพ่งเป็นสมถะ....... (หน้า 65)

ในทางธรรมะ มีระบบสติปัฏฐาน ให้ตั้งจิตหรือสติให้ถูกต้อง แล้วก็จะพบทางออก ทางหลุดรอดออกไปจากความทุกข์ : ให้รู้จักเวทนา แล้วก็รู้จักทำตนให้เป็นนายเหนือเวทนา. ดังนั้น เอาเวทนามาเพ่งดูว่าเป็นเวทนานี้เป็นอย่างไร ; นี้เป็นสมถะ (หน้า 66)

พุทธทาสภิกขุ โพธิปักขิยธรรม ธรรมสูงสุดแห่งความรู้แจ้ง 37 ประการ ธรรมสภา 1 /4-5 ถ.บรมราชชนนี เขตทวีวัฒนา กรุงเทพ

Tiny_img_4513-1wl

(7) เรื่องที่สาม คือ จิต : กำหนดลักษณะจิตเป็นอย่างไร กำลังเป็นอย่างไร กำลังโกรธ หรือกำลังรัก หรือกำลังอะไรก็ตาม ; อย่างนี้เป็นสมถะ เอาจิตเป็นอารมณ์ พอกำหนดจิตอีกอันหนึ่ง คือเพ่งเข้าไปที่นั่น นี้เป็นสมถะ

ทีนี้ดูต่อไปที่จิต เพ่งต่อไปถึงว่า จิตนี้สักแต่ว่าเป็นธาตุ วิญญาณธาตุ ประกอบอยู่ด้วยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา. เอาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาใส่เข้าไปที่จิต ไม่ให้เป็นตัวตน ไม่ให้เป็นตัวกู ของกู ไม่ให้เป็นตัวตนของตน อย่างนี้เป็นวิปัสสนา พิจารณาจิตมี 2 อย่าง : เพียงรุ้ว่าจิตเป็นอย่างไร กำหนดเท่านี้เป็นสมถะ, กำหนดเพียงภาวะว่า จิตของเรากำลังเป็นอย่างไรเท่านั้นเป็นสมถะ ; ถ้าว่ากำหนดข้อเท็จจริงของมันเป็นอย่างไร ที่มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอย่างไร ; นี่เรียกว่าเป็นปัญญา เป็นวิปัสสนา

พุทธทาสภิกขุ โพธิปักขิยธรรม ธรรมสูงสุดแห่งความรู้แจ้ง 37 ประการ ธรรมสภา 1 /4-5 ถ.บรมราชชนนี เขตทวีวัฒนา กรุงเทพ (หน้า 67)

Tiny_citrusone

(8) เรื่องที่ 4 ไปถึงหมวดที่ว่า พิจารณาธรรม ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ; ธรรม ในที่นี้แปลว่าทั้งปวง หรือข้อเท็จจริงของสิ่งทั้งปวง ที่เรียกว่ารูปธรรม นามธรรม รูปธรรมเอาไปไว้ที่กายแล้ว ที่เรียกธรรมในที่นี้ก็เหลือแต่พวกนามธรรม พิจารณาเฉพาะนามธรรม

สิ่งที่เป็นนามธรรมมีมากมายหลายอย่าง นับตั้งแต่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จนกระทั่งธรรมะที่เป็นศีล สมาธิ ปัญญา เป็นการปฏิบัติ เป็นผลของการปฏิบัติ นี่เรียกว่าธรรมทั้งนั้น เอานามธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งมากำหนดพิจารณาอยู่ แล้วก็เรียกว่า พิจารณาธรรม หรือธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ที่เป็นสมถะ เช่น เอาคุณของพระพุทธเจ้ามากำหนดอยู่ในใจ เอาคุณของพระธรรมมากำหนดอยู่ในใจ เอาคุณของพระสงฆ์มากำหนดอยู่ในใจ เอาคุณของทาน ของศีล ของอะไรมากำหนดอยู่ในใจ ฯลฯ กระทั่งเอาเรื่องธรรมที่ทำคนให้เป็นเทวดามากำหนดอยู่ในใจ เรียกว่าเทวตานุสสติ เหล่านี้มันเป็นสมถะไปหมด คือจิตหยุดอยู่ที่นั่นแล้วก็สบายดี

พิจารณาพุทธคุณ ว่า อรหัง สัมมามัมพุทโธ ฯลฯ อะไรอยู่อย่างนี้ ธรรมคุณก็ว่า สวากขาโต ภควตา ธัมโม ฯลฯ อะไรอยู่อย่างนี้ สังฆคุณว่า สุปฏิปันโน ญายปฏิปันโน ฯลฯ อย่างนี้เป็นสมถะทั้งนั้น เรียกว่าเอาธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งมา ; หรือแม้ว่าเราจะเอาธรรมจริงๆ เช่น ศีล สมาธิ ปัญญา มากำหนดพิจารณาอยู่ก็เพียงแต่กำหนดว่าเป็นอย่างไร นี้มันเป็นอย่างไร คิดว่ากำลังรู้สึกอยู่อย่างไร ไม่พิจารณาในแง่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรียกว่า สมถะ

พุทธทาสภิกขุ โพธิปักขิยธรรม ธรรมสูงสุดแห่งความรู้แจ้ง 37 ประการ ธรรมสภา 1 /4-5 ถ.บรมราชชนนี เขตทวีวัฒนา กรุงเทพ (หน้า 67-68)

Tiny_greentomato

(9) สติที่ใช้ในขั้นระมัดระวังป้องกัน เกี่ยวกับการรับอารมณ์ของอายตนะแต่เบื้องต้นนี้ ใช้ในหลักที่เรียกว่า อินทรียสังวร (การสำรวมอินทรีย์ = ใช้อินทรีย์อย่างมีสติมิให้เกิดโทษ) เรียกอีกอย่างว่า การคุ้มครองทวาร (๑) หมายถึงการมีสติพร้อมอยู่ เมื่อรับรู้อารมณ์ทางอินทรีย์ เช่น ใช้ตาดู หูฟัง ก็ไม่ปล่อยใจเคลิบเคลิ้มไปตามนิมิตหมายต่างๆให้เกิดความคิดใคร่ ขุ่นเคือง ชอบใจ ไม่ชอบใจ แล้วถูกโมหะและอกุศลอื่นๆครอบงำจิตใจ (ให้ได้ปัญญาและประโยชน์)

การปฏิบัติตามหลักนี้ช่วยได้ทั้ง

1 ป้องกันความชั่วเสียหาย

2 ป้องกันความทุกข์ และ

3 ป้องกันการสร้างความรู้ ความคิดที่บิดเบือนเอนเอียง

อย่างไรก็ตาม การที่จะปฏิบัติให้ได้ผล มิใช่ว่าจะนำหลักมาใช้เมื่อไรก็ได้ตามปรารถนา เพราะสติจะตั้งมั่นเตรียมพร้อมอยู่เสมอได้ จำต้องมีการฝึกฝนอบรม อินทรียสังวร จึงต้องมีการซ้อม หรือใช้ อยู่เสมอ

การฝึกอบรมอินทรีย์ มีชื่อเรียกว่า อินทรียภาวนา (แปลตามแบบว่า การเจริญอินทรีย์ หรือพัฒนาอินทรีย์) ผู้ที่ฝึกอบรมหรือเจริญอินทรีย์แล้ว ย่อมปลอดภัยจากบาปอกุศลธรรม จากความทุกข์ และจากความรู้สึกที่เอนเอียงบิดเบือนทั้งหลาย (๒) เพราะป้องกันไว้ได้ก่อนที่สิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้น นอกจากจะไม่ถูกอินทรีย์และสิ่งที่รับรู้เข้ามาล่อหลอกและครอบงำแล้ว ยังเป็นนายของอินทรีย์ สามารถบังคับความรู้สึกในการรับรู้ไปในทางที่ดี ที่เป็นคุณ

(๑) เรียกเต็มว่า คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย

(๒) ในแง่ความรู้ ความคิดที่เอนเอียงบิดเบือนนั้น ในที่นี้หมายเฉพาะปลอดภัยจากเหตุใหม่ ไม่พูดถึงเหตุที่สั่งสมไว้เก่า คือตัณหา มานะ ทิฏฐิ ที่มีอยู่เดิม ซึ่งเป็นอีกตอนหนึ่งต่างหาก

พระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตฺโต) พุทธธรรม (ฉบับเดิม) กองทุนอริยมรรค 81/44 ซอยเพชรเกษม 47 บางแค กรุงเทพ (หน้า 56-57)

หมายเลขบันทึก: 475522เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2012 06:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2013 20:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบพระคุณสำหรับดอกไม้จากทุกท่านค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท