จิตตปัญญาเวชศึกษา 184: การศึกษาเพื่อสร้างความรู้ หรือหล่อเลี้ยงปัญญา


การศึกษาเพื่อสร้างความรู้ หรือหล่อเลี้ยงปัญญา

เดี๋ยวนี้เรามี catch phrase วาทะจับใจมากมาย ไปเปิดดูได้ตามวิสัยทัศน์พันธกิจขององค์กรชั้นนำต่างๆ ที่นำเอาทฤษฎีบริหารจัดการที่มีมากมายหลากหลายเหลือเฟือที่จะนำมา quote นำมาใช้ จากบทความที่แล้ว คือ "รักษาเพื่อสบายเป็นศิลป์ รักษาเพื่อหายสิ้นเป็นศาสตร์" ลงใน facebook ก็มีกัลยาณมิตรมาแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมมากมาย เป็นกำลังใจที่เยี่ยมที่เราได้มาอาศัยอยู่ (อย่างเสมือน) ในสถานที่อันเป็นสัปปายะ (เอื้อต่อการภาวนา) เช่นที่ gotoknow นี้

หนึ่งในกัลยาณมิตรของกระผมคือ อาจารย์สุชาติ อินทรประสิทธิ์ ได้ comment ไว้ว่า "ต้องขอขอบคุณมากๆที่บอกให้รู้ถึงการเปลี่ยนชื่อใบประกอบโรคศิลป์ ก็ต้องสารภาพว่ากว่าจะเข้าใจถึงความหมายก็ทำงานอยู่หลายปีและยังคงใช้เตือนใจแพทย์ พยาบาลรุ่นใหม่ทุกครั้งที่มีโอกาส ผมก็ไม่ได้ไปเปิดพจนานุกรมว่า "เวชกรรม"แปลว่าอะไร เพราะใน พรบ.บอกแต่ขอบเขต แต่แม้จะใช้คำเดิม บางคนก็มิได้ซาบซึ้งกับคำว่า "ศิลป" ดูตัวอย่างหน้าที่ของมหาวิทยาลัยว่า "ทำนุบำรุงศิลปและ(คำว่าและ เพิ่งเติมเมื่อปีที่แล้ว)ว้ฒนธรรม" มีใครนำมาใช้ให้บูรณาการเข้วไปกับอีกสามหน้าที่บ้าง กลับกำหนดให้เป็นมหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิต มหาวิทยาลัยวิจัย เลยเถิดกันไปใหญ่ว่ามหาวิทยาลัยทำหน้าที่อะไรกันแน่"

ก็เห็นอาจารย์หย่อนเบ็ดไว้หนึ่งตัว ด้วยทิ้งคำถามชวนใคร่ครวญไว้ในตอนท้ายว่า "มหาวิทยาลัยทำหน้าที่อะไรแน่?"

มีมหาวิทยาลัยไปทำไม ไม่มีได้ไหม ถ้ามีแล้วเพื่อประโยชน์ของใครเป็นสำคัญ สำคัญอันดับหนึ่ง สำคัญอันดับสอง อันดับสาม... และที่เราทำๆกันอยู่ทุกวันนี้ เรากำลังมุ่งไปสู่หน้าที่ ความรับผิดชอบ ขององค์กรของเราต่อสังคมจริงหรือไม่ เข็มทิศยัง OK ห้องเครื่อง ห้องน้ำมัน ยังทำงานไปตามปกติ ตามควร กัปตันและลูกเรือยัง OK ที่จะเดินทางไปยังเป้าหมายเดียวกันอยู่ดีอยู่ใช่ไหม

พูดไปตามเนื้อผ้า มหาวิทยาลัยก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต่อยอดมาจากการศึกษาพื้นฐาน เป็นการเดินทางไปสู่การศึกษาระดับ "อุดม"

ถ้าเราจะคง "ราก" ศัพท์ที่มา ศึกษา คือ ศ + อิกขา ศ แปลว่า "ตนเอง" อิกขา แปลว่า "รู้ ทำให้รู้" ศึกษาก็คือ รู้ด้วยตนเอง ทำให้ตนเองรู้ (ยินดีรับฟังการแก้ไขนะครับ ที่จริงก็ไม่ได้เรียนเปรียญอะไรมาหรอก) ศึกษาระดับอุดม ก็ต้องเป็นการทำให้ตนเองรู้เยอะ รู้อย่างสมบูรณ์ รู้อย่างมีประโยชน์ด้วยตนเอง อันนี้มั้งที่เป็นที่มาของ "มหาวิทยาลัยวิจัย"

คือจะเป็นระดับอุดมศึกษา ต้องรักรู้ รักเรียน ขนาดทำให้ตนเองถึงพร้อมด้วยปัจจัยที่จะทำให้ตนเองเป็นผู้ใฝ่รู้ ใฝ่เรียนไปตลอดชีวิต

แต่ใจผมคิดว่าแค่นี้ยังเป็นคำตอบที่ไม่ชัด ไม่พอ ไม่สุด เพราะยังถามต่อไปได้อีกว่า "มันจะเรียนไปทำไม?"

ในเกม Why regression นี่ เขาให้ลองทำตัวเป็นเด็ก แล้วก็ไล่ถาม "ทำไม" ไปเรื่อยๆจะค้นพบอะไรบางอย่างที่น่าสนใจ ผมพึ่งอ่านหนังสือเล่มนึง สั่งซื้อมาจาก Amazon แนะนำโดยรุ่นน้องกัลยาณมิตรอีกท่านหนึ่งคือ คุณหมออนุชิต เธอบอกผมว่าหนังสือเล่มนี้ดี มีคนแปลเป็นไทยแล้วด้วย แต่ความที่มีอคติอ่านหนังสือแปล ผมก็เลยสั่งซื้อต้นฉบับมาจาก Amazon นั่งอ่านไปๆชักเพลิน สงสัยต้องเขียนต่างหากอีกตอน หนังสือเล่มนี้ชื่อ Happier เขียนโดย Tal Ben-Shahar ในตอนนึงเขาบอกว่า ถ้าเราเล่นเกม why regression นี้กับสิ่งที่เราทำทุกวันๆ คำๆนี้ที่จะผุดปรากฏมาในตอนท้ายสุดของทำไมๆๆๆ นี้จะเป็น "เพื่อความสุข" และหยุดอยู่ตรงนั้น ไม่ต้องถามอะไรต่ออีกแล้ว

ส่วนคำถามของบทความนี้ว่า "เรียนไปทำไม" ผมว่าเรามีคำตอบหนึ่ง ที่สำเร็จอยู่นานแล้ว นั่นคือ "Success is not in the learning, but in its application to the benefit of mankind" ความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่การได้เรียน การเรียน แต่อยู่ที่การนำไปใช้เพื่อประโยชน์ต่อมานุษยชาติ ดังนั้น พันธกิจของอุดมศึกษา ไม่ได้เรียนเพื่อเรียน ไม่ได้เรียนเพื่อการเรียน ไม่ได้เรียนเพื่อผลิตบัณฑิต ไม่ได้เรียนเพื่อทำงานวิจัย อะไร แต่ทั้งหมดเราจะสำรวจตรวจสอบตนเองว่า golden goal ของเรานั้น เรายังไปกันอยู่ไหม หรือว่าหยุดนั่งเก็บดอกไม้ริมทาง หรือเผลอเรอเปลี่ยน goal ไปหยุดอยู่เชิงเขาแทน

เดี๋ยวนี้มีคำศักดิ์สิทธิ์คือ "ความรู้" แต่ knowledge นั้นจะยังไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรกับใคร หากไม่ได้มีการนำไปใช้ เหมือนกับ "ธรรมะ" ต่างๆก็เช่นกัน ธรรมะไม่ได้มีไว้วางบนหิ้งบูชา แต่มีไว้ปฏิบัติ เดี๋ยวนี้เราเกิดมี buddhism scholar เยอะ เป็นนักวิชาการพุทธ แต่เน้น verbal swordplay คือ เธอร่ายรำกระบวนท่าเยอะเหลือเกิน นิยามก็เยอะมาก ศัพท์จำเพาะ ศัพท์แสงใหม่เพียบ ต้องมี set ภาษาเพื่ออธิบายภาษาอีกทีนึงจึงจะสาแก่ใจความรู้มาก จนเกิดความทุกข์ระทมระหว่างทางไปก็เยอะ อันนี้เรียกเริ่มเบี่ยงเบนจากธรรมะ ที่วัตถุประสงค์จะให้เราเข้าใจในทุกข์ และค้นหา ค้นเจอวิธีที่จะหยุดทุกข์ ไม่ใช่แสวงหาความทุกข์แก่ตนเอง (บ้างไม่พอ ขอเอาไปฝากคนอื่นๆให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้ด้วย)

knowledge เมื่อได้มีการใช้ จึงจะเกิดความเฉลียว เปลี่ยนสถานะจาก cleverness ความฉลาด ไปเป็น wise/wisdom หรือ "ปัญญา"

ถ้าหากสถาบันอุดมศึกษา เน้นที่สร้างความรู้ knowledge แต่ไปไม่ถึงการนำไปใช้ประโยชน์ คือเกิดสังคมอุดมปัญญา ก็ยังอยู่ใน limbo คือ สถานที่วังเวงห่างไกลจากเป้าหมายกันอยู่ องค์ประกอบสำคัญที่จะเชื่อมความรู้เข้ากับปัญญาคือ "คน" ที่จะนำไปใช้

อันที่จริงคนแรกๆที่จะเหมาะจะใช้ประโยชน์ น่าจะเป็นคนที่สร้างสรรค์หรือค้นพบ หรือแจกแจงความรู้นั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าสาเหตุที่สร้าง ค้นพบ หรือแจกแจงความรู้คืออยากเอาไปใช้แต่แรก แต่ปรากฏว่า ตอนนี้มีปรากฏการณ์ที่การสร้าง การค้นพบ การแจกแจงความรู้ส่วนหนึ่ง มีแรงบันดาลใจอยู่แค่นี้ คือ ขอให้สร้าง ขอให้ค้นพบ ขอให้มานั่งแจกแจงก็พอ แค่นั้นก็ได้ปริญญา ได้ตำแหน่งวิชาการ ได้ incentive ต่างๆนานามากมายแล้ว ไปๆมาๆคนสร้าง คนค้นพบ คนแจกแจง ก็ไม่ได้มีหน้าที่อะไรที่จะใช้ความรู้เหล่านี้ ต้องรอคอยให้คนที่อาจจะเอาไปใช้ มาค้นพบ และนำไปใช้เอง เป็นการหั่นทอนกระบวนการความรู้แบบฆ่าตัดตอน ระบบอุตสาหกรรมสายพาน สมัยเมื่อ40-50 ปีที่แล้วเท่านั้นเอง

คณะฯ ภาควิชาต่างๆในสถาบันอุดมศึกษานั้น ผลิตบัณฑิตที่จะเปรียบเสมือนพุทธบริษัท ที่ต้องมีอุบาสก อุบาสิกา ภิกษุ ภิกษุณี เพื่อที่จะขจรขยายธรรมะให้เผยแพร่ขยายและปฏิบัติเกิดเป็นสังคมอุดมธรรมะ อุดมคุณธรรม ฉันใดก็ฉันนั้น มหาวิทยาลัย สถาบันอุดมศึกษาก็ต้องผลิตบัณฑิตออกมาเป็น "ปัญญาบริษัท" คือ มีผู้เผยแพร่ ผู้ปฏิบัติ ให้เกิดสังคมอุดมปัญญา (ไม่ใช่อุดมความรู้อย่างเดียว) 

ผมยังรู้สึกว่า เรายังมี gap เชื่อมโยงความรู้กับปัญญาอยู่พอสมควร เราผลิตบัณฑิตที่ขาดการหล่อเลี้ยงจิตสาธารณะ ขาดจิตอาสา แต่เต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการแข่งขัน ปัดแข้งปัดขา วิเคราะห์คู่แข่ง หาจุดอ่อนฝ่ายตรงกันข้าม (ใคร???) ตัดเกรด และ ranking ใครตำแหน่งต่ำกว่าจะเจริญน้อยกว่า ใครตำแหน่งสูงกว่า เก่งกว่า ก็การันตีชีวิตที่ดีกว่า อันนี้ไม่ได้เป็นการสร้างสังคมอุดมปัญญา ที่จะอยู่ร่วมกัน แต่เป็นการสร้างสังคมที่กัดกินตนเอง สังคมคนหมู่มากฉีกกระชากคนหมู่น้อย สังคมกำลังเหนือกว่าข่มเหงคนอ่อนแอ 

มันเป็นอย่างนี้ตั้งแต่เมื่อไร?

หมายเลขบันทึก: 475106เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2012 13:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 10:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ÄÄÄÄÄ"มันเป็นอย่างนี้ตั้งแต่เมื่อไร"...อยากตอบ..ตามความรู้สึก..แบบชาวบ้าน(ที่มีประสพมา)..ว่า..ตั้งแต่มีคำว่า..สภามหาวิทยาลัย..(เพราะ..ตัวเอง..เป็นรุ่นแรก..ที่..สอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบรวม..เป็นข้อสอบแบบปรนัย..ห้องเรียน..ในมหาวิทยาลัยศิลปกร..มีนักศึกษารุ่นนั้นๆ..ตั้งแต่ยี่สิบคนสามสิบคนขึ้นไป(สอบแข่ง..แย่งที่เรียน ใครดีกว่าใครชิงดีชิงเด่น..ตัวใครตัวมันมีมากขึ้นเรื่อยๆ)..และต่อๆมาก็..เพิ่มปริมาณ..ไปเื่รื่อยๆ..(แต่คุณภาพเริ่มมีคำถาม..ที่ไม่มี..คำตอบ..)...หลายปีดีดัก..(คง)จะมี..คำว่า..ดักดาน (เคยไปสอนที่นครปฐมอยู่พักหนึ่งไปเจอ"คำนี้ปัดแข้งปัดขา".เลยต้องม้วนเสื่อ(ขาหัก)กลับเมืองนอก.อ้ะ.เพราะไปลาออกจากมหาวิทยาลัยที่เคยสอนใน..บราวชวัยก์.มาตื่นเต้นเห็นอดีต..เพราะได้อ่าน"ข้อเขียนวรรคสุดท้าย".)และ.มหาวิทยาลัย"มันจะเรียนไปทำไม"เพราะคง.เหมือนปลาหมอ..ตกคลัก..หรือจะเรียกว่า..ขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อนพอแตกใบอ่อนเป็นมะลิลา..เจ้าค่ะ...(ยายธี)

ยายธีขอรับ, กระนั้นเราควรที่จะครากไถเอามะลิลา (ผมว่าบางต้นมันออกกัญชาก็มี ดูคนปลูกจะเคลิ้มๆ สลึมสะลือ น้ำลายยืดยังไงชอบกลอยู่) ลง พรวนดินใหม่ ฟื้นดินใหม่ ปลูกใหม่กันดีไหม หรือว่าจะรอตายยืนต้นแล้วเน่าไปทั้งเป็นดีหนอ

ตอนนี้ไม่ว่า มหาวิทยาลัย หรือคณะ ต่างๆๆ

จะต้องมีวิสัยทัศน์ว่า จะต้องอันดับที่..ของเอเซีย จะต้องเป็นอันดับที่... ของประเทศ...

พี่ก็นั่งสงสัยว่า.. ทำไมจะต้องแข่งกันแบบนี้ ได้เป็นที่ 1 แล้วทำไมจะต้องให้คนลำดับถัดมาคอยชิง

เห็นแล้วเหนื่อยแทนผู้บริหารค่ะ

พี่แก้ว

เคยดูหนังเรื่องอะไรก็ไม่รู้ พอพูดกันถึงที่หนึ่งๆกันมากๆ โคชชักฉุนเลยถามว่า "What's wrong with number Two? or any other numbers, actually?"

ตั้งว่าจะเป็นที่หนึ่ง ก็ต้องคอยหันไปดูที่สอง (ถ้าได้แล้ว) ว่ามันจ่อก้นแค่ไหน ถ้ายังไม่ได้ก็เฆี่ยนม้าตัวเอง เฆี่ยนเอาๆ สุขตายล่ะ ชีวิต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท