การเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียนและเปิดเสรีการค้าของมหาวิทยาลัยชีวิต


"ในขณะที่มหาวิทยาลัยทั่วไปมุ่งสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ มุ่งผลิตบัณฑิตให้มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดแรงงานอาเซียน สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนมุ่งสร้างบุคคล ครอบครัว และชุมชนต่างๆ ให้เข้มแข็งเพื่อต่อกรกับการเปลี่ยนแปลงนั้น"

สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้มีหนังสือขอทราบผลการดำเนินงานเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียนและเปิดเสรีการค้าบริการด้านอุดมศึกษา ในปี พ.ศ.๒๕๕๘  

ผมได้เป็นตัวแทนสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนไปร่วมสัมมนาเรื่องนี้ครั้งหนึ่ง เห็นความแตกต่างในเรื่องการเตรียมความพร้อมของสถาบันอื่นๆ กับสถาบันตนเอง ดังนี้

สถาบันอุดมศึกษาทั่วไปเตรียมความพร้อมโดยมุ่งสร้าง "ความเป็นเลิศ" ทั้งความเป็นเลิศทางวิชาการ ความเป็นเลิศของบัณฑิต เพื่อที่คนต่างชาติจะได้สนใจมาเรียนในสถาบันอุดมศึกษาบ้านเรา เรียนจบในบ้านเราแล้ว สามารถออกไปแข่งขันสมัครทำงานในตลาดแรงงานอาเซียนได้หลังเปิดเสรีการค้าปี ๒๕๕๘   บัณฑิตไทยเองก็สามารถแข่งกับบัณฑิตจากประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่จะเข้ามาทำงานในไทยได้ พูดง่ายๆ ก็คือ บัณฑิตที่สำเร็จจากสถาบันอุดมศึกษาไทยจะได้ไม่ต้องสูญเสียตำแหน่งงานให้บัณฑิตจากต่างชาติ

ในขณะที่สถาบันอุดมศึกษาทั่วไปมีจุดมุ่งหมายในการผลิตบัณฑิตให้เป็น "นักวิชาชีพชั้นสูง" ที่มี "ความเป็นเลิศทางวิชาการ" และมี "ความสามารถในการแข่งขัน"   สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนมีจุดมุ่งหมายไปอีกอย่างหนึ่ง คือ ไม่ได้มุ่งผลิตนักวิชาชีพชั้นสูง ไม่ได้มุ่งความเป็นเลิศทางวิชาการ และไม่ได้มุ่งให้ไปแข่งขันกับใครด้วย แต่มุ่งให้ผู้เรียน "เรียนรู้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีกินในท้องถิ่นตน"  เรียนแล้วสามารถ "พึ่งตนเอง" ได้และสามารถ "ช่วยคนอื่น" ได้ รวมทั้งเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้าง "ชุมชนแห่งการเรียนรู้ ชุมชนเข้มแข็ง" ได้ (เสรี พงศ์พิศ, "อยู่เย็นเป็นสุข." สสวช., ๒๕๔๙) อีกทั้ง "ชีวิตดีขึ้นตั้งแต่ระหว่างเรียน" ไม่ต้องรอจนสำเร็จเป็นบัณฑิต ทั้งนี้เพราะกระบวนการเรียนรู้กับกระบวนการพัฒนาตนเอง ครอบครัว และชุมชนของตน เป็นกระบวนการเดียวกัน เป็นเนื้อเดียวกัน   สถาบันนี้จัดการศึกษาเพื่อสร้าง "ขบวนการประชาชน" เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม จึงเป็นการศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลง (Education for Transformation)

หากจะเรียกสถาบันการศึกษาที่มุ่งผลิตนักวิชาชีพชั้นสูงเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมว่า มหาวิทยาลัยเพื่ออุตสาหกรรม (University for Industry - UFI)  มหาวิทยาลัยชีวิต หรือสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนก็เป็น มหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน (University for Community)

ที่กล่าวมานี้ มิได้หมายความว่า UFC ดีกว่า มีคุณค่ากว่า มีประโยชน์กว่า UFI ทั้งสองต่างก็มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อประชาชนและบ้านเมือง เพียงแต่มีหน้าที่ต่างกัน   ในขณะที่ UFI เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ารับการศึกษาเพื่อเป็นนักวิชาชีพชั้นสูง เช่น นักวิทยาศาสตร์, สถาปนิก, วิศวกร, นักบัญชี, นักกฎหมาย ฯลฯ    UFC ก็ช่วยให้ประชาชนที่มีอาชีพการงานแล้วในท้องถิ่นต่างๆ ได้พัฒนาตน ครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่นของตนให้เข้มแข็งขึ้น

ชุมชนที่เข้มแข็งคือ ชุมชนแห่งการเรียนรู้ ทั้งรู้จักตนเอง และรู้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก เป็นชุมชนที่สมาชิกร่วมกันสร้างระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่พึ่งตนเอง (ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง) นักศึกษาของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนได้รับการคาดหวังว่า เป็นผู้ที่รู้เท่าทัน(กิเลส)ตน รู้วิธีการเปลี่ยนแปลงตน(สู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น) รู้ทรัพยากรในท้องถิ่นตน (ทั้งทุนทรัพยากร ทุนภูมิปัญญา และทุนทางสังคม) และสามารถร่วม "ขบวนการ" สร้างชุมชนเข้มแข็งและเครือข่ายได้   สามารถต่อกรกับกระแสภายนอกที่ถั่งโถมเข้ามาได้ โดยเฉพาะกระแสบริโภคนิยม

การจัดกระบวนการเรียนรู้ตามปกติของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ที่มุ่งสร้างเสริมบุคคลและชุมชนในท้องถิ่นต่างๆ ให้เข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองและพึ่งพากัน (เป็นเครือข่ายกัน) นี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมในตัวเพื่อการนี้อยู่แล้ว 

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
๑๘ ม.ค.๕๕

หมายเหตุ - "สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน" เป็นชื่อทางการของ "มหาวิทยาลัยชีวิต" อันเป็นชื่อที่เรียกกันมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๘   สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนได้รับอนุมัติจัดตั้งเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ประเภท "สถาบัน" (เน้นการสอนเฉพาะทาง) จาก สกอ. ตาม พรบ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖ มีฐานะเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยเอกชนทั่วไปที่เปิดหลักสูตรตั้งแต่ปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก โดยบัณฑิตได้รับปริญญาที่มีศักดิ์เทียบเท่าปริญญาของมหาวิทยาทั่วไป ปัจจุบันมีหลักสูตรปริญญาตรี ๓ หลักสูตร คือ สหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น   การจัดการสุขภาพชุมชน  และการจัดการการเกษตรยั่งยืน  ปริญญาโท ๒ หลักสูตร คือ สหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และการจัดการระบบสุขภาพชุมชน

หมายเลขบันทึก: 475064เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2012 11:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

"การจัดกระบวนการเรียนรู้ตามปกติของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ที่มุ่งสร้างเสริมบุคคลและชุมชนในท้องถิ่นต่างๆ ให้เข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองและพึ่งพากัน (เป็นเครือข่ายกัน) นี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมในตัวเพื่อการนี้อยู่แล้ว "

จากประโยคข้างต้น และที่กล่าวมาทั้งหมด ผมเห็นด้วย อย่างยิ่ง ครับ อาจารย์

ทรงกฏ.

ขอบคุณอาจารย์ทรงกฏสำหรับความเห็นครับ

ณัฐวุฒิ ภาษยะวรรณ

ประเด้นที่น่าเป็นห่วงของ AEC ได้แก่ แรงงานระดับกลางและระดับสูง(บริหาร) จะถูกประเทศสมาชิกที่มีความสามารถ(Competencies)มาแย่งงานในประเทศไทยเรา เนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียนมีทักษะด้านภาษาต่างชาติดีกว่าแรงงานไทย ภาษาอังกฤษ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น จะถูกตั้งเป็นเงื่อนไขในการสมัครงานและ ขณะนี้ ประเทศสมาชิกต่างๆได้เข้ามาจัดตั้งและจดทะเบียนบริษัท/องค์กรในประเทศไทยเต็มไปหมดแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิงค์โปร์ เวียตนาม มาเลย์เซีย ฯลฯ ยังไม่รวมประเทศยีกษ์ใหญ่เช่น จีน อินเดีย

ดังนั้น เรา มหาวิทยาลัยชีวิตยังมีแรงงานชั้นกลางในท้องถินและเกษตรกรที่ประเทศอาเซียนไม่สามารถแย่งเราได้ เราต้องสร้างภูมิคุ้มกันในแรงงานระดับนี้ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว ขอสนับสนุน แต่เราคงไม่มองข้าม ประเด็นแรก ว่าเราจะแก้วิกฤติเป็นโอกาสได้อย่างไร?

AEC-2015 ผมมองว่า เรากำลังเปิด "เสรี" เกือบทุกประตู

จำได้ไหม ? ช่วงทศวรรษ 2530 - 2539 เราถูกผลักดันให้เปิด "เสรีทางการเงิน" ด้วยสารพัดเหตุผล

  • เงินวิ่งด้วยความเร็วเท่าแสง ต้องหมุนเวียนลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก อย่างคล่องตัวที่สุด
  • เราต้องส่งเสริมการลงทุน ด้วยการเปิดให้ทุนต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยให้มากที่สุด นโยบาย BIBF (ส่งเสริมเอกชนกู้เงินนอก) จึงเกิดขึ้น

ในที่สุดเราก็ปิดทศวรรษด้วย ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ "ต้มยำกุ้ง" บัดนี้ ระบบการเงินการธนาคารของเราก็ถูกครอบงำโดยสถาบันการเงินต่างชาติ เร่งรัดนโยบาย เคร่งครัดติดตามหนี้ - ฟ้อง - ยึด สูญเสียทรัพย์สินที่ดินแบบหมดทางสู้

ทศวรรษ 2540 - 2549 นโยบายเปิด "เสรีทางการค้า" มาแรงมาก ในที่สุด Modern Trade ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีกก็เกิดขึ้นเต็มแผ่นดินไทย พูดได้เต็มปากว่า "วันนี้ช่องทางการค้าส่ง-ค้าปลีกอยู่ในมือธุรกิจต่างชาติขนาดใหญ่" เรียบร้อยแล้ว

วันนี้เรากำลังเปิด "เสรี" กันทุกประตู : ICT สุขภาพ ท่องเที่ยว ขนส่ง สินค้าเกษตร วิชาชีพ ก่อสร้าง จัดจำหน่าย สิ่งแวดล้อม ฯลฯ และเปิด "เสรีทางการศึกษา" ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการสร้างคนเพื่อหางานทำ ครูและนักบริหารการศึกษาก็เข้ามาทำงานในประเทศไทยได้สบาย ๆ

  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางจากสิงคโปร์ มหาวิทยาลัยกัวลาลัมเปอร์ มหาวิทยาลัยกลันตัน จากมาเลเซีย กำลังเข้ามาเปิดการศึกษาในไทย บอกอะไรเราบ้างครับ ?
  • ประเทศสิงคโปร์ลงทุนสร้าง "ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพ" มูลค่า 1,200 ล้านดอลลาร์ ทั้งที่ไม่มีป่าดิบชื้นสักผืน เอาป่าที่ไหนมาศึกษา "สินทรัพย์" ความหลากหลายทางชีวภาพ

คิดดูให้ดี ประมาทไม่ได้ นะครับ.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท