จิตตปัญญาเวชศึกษา 182: อภิชาตศิษย์ (10) เรียนเพื่อ "มองเห็น"


"ผมเพียงแค่ตาบอด มองไม่เห็น แต่ผมยังทำอะไรได้อีกหลายอย่าง พวกผมก็มีความฝัน ความทะยานอยาก อยากจะทำนั่นทำนี่ อยากจะเป็นนั่นเป็นนี่ เราไม่ได้อยากได้ความเวทนา สงสาร แต่ขอแค่พื้นที่ ขอให้เราได้มีโอกาสมอบอะไรให้แก่สังคม"

อภิชาตศิษย์ (10) เรียนเพื่อ "มองเห็น"

วันนี้มีกิจกรรมการสะท้อนกิจกรรม

เออ.. รู้สึกเริ่มอย่างไม่มีปี่ ไม่มีขลุ่ย เอาใหม่ ขณะนี้นักเรียนแพทย์ชั้นปีที่สี่ ของสงขลานครินทร์ เรียนอยู่ใน block Health Promotion (การสร้างเสริมสุขภาพ) ที่นี่เราเรียกช่วงเวลาเรียนของนักเรียนเป็นบล๊อกๆ ไม่ต้องถามเหตุผลก็แล้วกัน สิ่งที่เกิดขึ้นในบล๊อกนี้ก็คือการพยายามให้นักเรียนแพทย์เรียนรู้กระบวนทัศน์ใหม่ที่สำคัญมากในการเป็นแพทย์ศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดนี้ คือ ระบบสาธารณสุขเชิงรุก โดยเรามีเวลาอุทิศให้เรื่องนี้โดยเฉพาะประมาณ 5 อาทิตย์ (ไม่นับสาระนี้ที่สอดแทรกลงไปในบล๊อกอื่นๆ "แบบแฝง" เกือบทุกบล๊อก)

นอกเหนือจากนี้ agenda แฝงก็คือ ทำให้เรามี "เวลา" ให้นักเรียนหันกลับมาหาพื้นฐานสำคัญอะไรบางอย่าง นั่นคือ "อะไรคือสุขภาวะ" หลังจากที่ได้หมกมุ่นอยู่กับเทคโนโลยีของวิทยาศาสตร์การแพทย์มาเกือบ 24/7 

ตามหลักศึกษาศาสตร์ อยากจะให้อะไรเกิดในระดับ "เจตคติ" ต้องเน้นที่ "ลงมือกระทำ" ฉะนั้นบล๊อกนี้จึงมีชั่วโมงบรรยาย หรือ lecture กระจุ๊ดเดียว มีโปรเจค มีภาคสนาม เยอะมาก (เยอะจนน้องๆมึน เพราะมีชั่วโมงการ "นำเสนอ แลกเปลี่ยน" ยุบยับหยุมหยิมเยอะแยะไปหมด) หนึ่งในกิจกรรมนั้นก็คือ เราพานักเรียนแพทย์ไปร่วมกิจกรรมที่โรงเรียนสอนคนตาบอด ในหาดใหญ่อยู่ครึ่งวัน เสร็จแล้วก็ให้เวลานักเรียนแบ่งกลุ่มย่อยเป็นสามกลุ่ม ไปคุยกันแล้วก็กลับมาสะท้อนในกลุ่มใหญ่ 

วันนี้มีกิจกรรมสะท้อนกิจกรรม.... อา. better now

เรากำหนดไว้คร่าวๆ ให้น้องสามกลุ่มนำเสนอมุมด้านปัญหาสุขภาพทางกาย ทางจิตใจอารมณ์ และทางสังคม และหลังจากนั้นก็เชิญชวนให้แต่ละคนลองสะท้อนความรู้สึกส่วนตัว หรือประสบการณ์ส่วนตัวว่าเห็น ได้รับรู้ รู้สึก อะไรบ้าง


นศพ.1: "น้องเขาบางคนทำอะไรได้มากด้วยตัวเอง แต่พอเราไป เขากลับขอให้เราช่วยให้เราทำให้ ดูเหมือนเขาจะติดเรามากเลย ให้พาไปโน่นไปนี่ ฟังน้องเขาเล่าก็รู้ว่ามีคนภายนอกมาเยี่ยมที่โรงเรียนนี่หลายกลุ่มเหมือนกัน น้องเขาจำชื่อคนที่มาคุยกับเขาได้หลายคนเลย แสดงว่าน้องเขาประทับใจประสบการณ์นั้นๆมาก"

ผม: "คิดว่าน้องเขาจะจำชื่อน้อง (นศพ.) ได้ไหมครับ?"

นศพ.1: "เออ.. ก็ไม่แน่ใจครับ แต่ดูเขาจะติดผมมากอยู่"

ผม: "รู้สึกยังไงที่น้องพบว่าตัวเองสร้างความประทับใจให้คนอื่นได้ จำเราได้"

นศพ.1: "ก็ดีใจนะครับ ที่มีคนประทับใจในตัวเรา ในสิ่งที่เราทำ"

ผม: "ผมฟังดูแล้ว ดูเหมือนว่าใครเป็นคนให้ ใครเป็นคนรับ ตอนนี้มันชักจะเบลอๆแล้ว เราไปเป็นเพื่อนเขา เขาประทับใจเรา เราถูกประทับใจ เราดีใจ รู้สึกว่าเรามีคุณค่า..."


นศพ.2: "มีน้องกลุ่มนึง ประมาณ 4-5 คน นั่งรวมโต๊ะกันอยู่ มีน้องคนนึงบอกว่า "เสียดาย ที่ไม่ทราบว่าหน้าตาพี่ๆเป็นยังไง" ปรากฏว่าครูก็ถามน้องคนนั้นว่า "ทำไมถึงไม่ทราบล่ะ" น้องเขาก็เงียบ พวกหนูรู้สึกไม่แน่ใจว่าควรทำยังไง แต่สุดท้าย ครูก็รอจนกระทั่งน้องเขาตอบว่า "เพราะหนูตาบอด เลยมองไม่เห็นหน้าพี่เขาค่ะ"

ผม: "น้องรู้สึกยังไงครับ ตอนนั้น?"

นศพ.2: "ก็ไม่มั่นใจค่ะ คิดว่าน้องเขาคงไม่อยากพูดถึงที่เธอตาบอด"

ผม: "แล้วไงต่อครับ?"

นศพ.2: "พอน้องเขาตอบไปว่าเพราะเขาตาบอด เลยมองไม่เห็น ก็เลยคุยกันต่อว่าแต่พวกน้องๆก็ยังมีอะไรเหลืออยู่อีกมากมาย สามารถทำอะไรต่อมิอะไรได้อีกตั้งเยอะค่ะ"

ผม: "ถามอาจารย์ลิลลี่ดีกว่า (หมายเหตุ อาจารย์จารุรินทร์ ปิตานุพงษ์ ภาควิชาจิตเวช) เรื่องการ empower ให้คำปรึกษา หรือเสริมพลังนี่ มีหลักการยังไงบ้างไหมครับ"

อ.ลิลลี่: "เราคงจะต้องพิจารณาให้ดี ว่าทำกับกลุ่ม หรือทำกับปัจเจก ข้อสำคัญคือเรารู้จักเขาดีมากน้อยแค่ไหน แต่ละคนอาจจะมีบาดแผลเก่าไม่เท่ากัน มีความไวต่อคำบางคำไม่เท่ากัน ถ้าบางเรื่อง sensitive มากๆ ก็อาจจะต้องทำเป็นตัวต่อตัว"

ผม: "ผมเคยเห็นกลุ่ม AA (alcoholic anonymous) ที่คนที่มาเข้าร่วม จะเริ่มต้นกิจกรรมด้วยการแนะนำตัวเองว่า "ผมชื่อ.... เป็นโรคพิษสุราเรื้อรังครับ" ก่อนที่จะพูดเรื่องอื่นๆ แสดงว่าการเริ่มต้นด้วยการมองเห็นและยอมรับปัญหาเป็นเรื่องสำคัญ แต่การจะทำกลุ่มแบบนี้ หรือการจะ facilitate กลุ่มแบบนี้ อาจจะไม่ใช่นึกจะทำก็ทำ คนทำต้องมี "ต้นทุน" มี positive energy, positive thinking หรือแม้กระทั่งถึงขนาด unconditional love หรือรักแบบไม่มีเงื่อนไข ถึงจะหล่อเลี้ยง ประคับประคอง ให้คนอื่นกล้าเผชิญหน้ากับปัญหาของตนเองที่น่ากลัวนั้นๆได้"


นศพ.3: "ผมไปดูงานและทำกิจกรรมนี้แล้ว อดนึกเปรียบเทียบไม่ได้ครับ กับต่างประเทศ เพราะดูเหมือนคนทุพพลภาพ คนพิการของเขาได้รับการดูแลเยอะมากเลยครับ ที่จอดรถพิเศษ การขึ้นรถประจำทาง คนตาบอดเขามีหมานำทาง เดินขึ้นรถเมล์คล่องกว่าผมอีก ขึ้นไปปุ๊บก็ยื่นตังค์รับตั๋ว แป๊บเดียวเสร็จ ผมยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าซื้อตั๋วจากใครตรงไหน"

ผม: "อืม.. อาจจะบางที ที่ที่ไม่มีอย่างที่ว่า ไม่ใช่เขาไม่สนใจคุณภาพชีวิตของคนพิการ แต่อาจจะเป็นเพราะเขา "ไม่สนใจเรื่องคุณภาพชีวิต" เลยก็ได้นะครับ อาจจะไปเน้นเรื่องอะไรก็ไม่ทราบ แม้แต่คุณภาพชีวิตคนธรรมดาๆก็ยังไม่แคร์ ยิ่งเรามองไปที่คนด้อยโอกาส เลยยิ่งชัดเจนมากกว่าปกติ"


นศพ.4: "ผมขอเล่าบ้างครับ แต่ไม่ใช่เรื่องที่เราพึ่งไปทำกันครั้งนี้ คือเมื่อตอนปีหนึ่ง คณะนกับอาจารย์ก็ได้จัดให้พวกผมไปเยี่ยมเด็กโรงเรียนสอนคนตาบอดแล้วครั้งนึง เราก็ได้เข้าไปคุย ไปทำอะไรกับน้องๆเขา แต่ที่ผมจำได้จนถึงทุกวันนี้ก็คือ ตอนนั้นทำอะไรอยู่ก็ไม่ทราบ ผมนึกๆดู จู่ๆก็ถามน้องคนนึงครับ ว่าถ้าหากมีพรวิเศษข้อนึง ที่น้องขออะไรก็ได้ แล้วจะได้ตามนั้น น้องจะขออะไร

ตอนนั้นผมก็นึกในใจ น้องคงจะตอบว่าขอให้ตาไม่บอด กลับมามองเห็นเหมือนเดิม อะไรแบบนั้น ปรากฏว่าสิ่งที่น้องคนนี้เขาตอบมา ผมยังจำได้อยู่ทุกวันนี้ และเอามาคิดตลอดเลยครับ

น้องเขาตอบว่า "หากมีพรวิเศษจริง ผมอยากขอให้คนธรรมดาๆตาดีๆ ได้มองเห็นพวกผมที่ตาบอดบ้างครับ"

"ผมเพียงแค่ตาบอด มองไม่เห็น แต่ผมยังทำอะไรได้อีกหลายอย่าง พวกผมก็มีความฝัน ความทะยานอยาก อยากจะทำนั่นทำนี่ อยากจะเป็นนั่นเป็นนี่ เราไม่ได้อยากได้ความเวทนา สงสาร แต่ขอแค่พื้นที่ ขอให้เราได้มีโอกาสมอบอะไรให้แก่สังคม"

ผมกับเพื่อนๆเล่นดนตรีเป็นนะครับ เรามีวงของเรา ถ้าพี่มีอะไรอยากจะให้เราไปเล่นให้ พวกผมยินดีจะไปเล่นให้พี่ๆครับ ไม่คิดค่าใช้จ่ายแม้แต่นิดเดียว"

ผมฟังน้องเขาตอบมาก็อึ้งเลยครับ นึกไม่ถึงจริงๆ

ผม: "ผมก็อึ้งเหมือนกันนะนี่ ไปๆมาๆจะว่าไปแล้ว มองอีกมุมหนึ่ง พวกเราทุกคนก็พิการกันทั้งนั้น ผมพิการไปทำหน้าที่เป็นทหารไม่ได้ พิการขายขาหมูไม่ได้ พิการร้องเพลงไม่ได้ แต่พวกเราทุกคนที่พิการ ก็สามารถจะมี จะหยิบยืม สิ่งที่คนอื่นเขามี มาให้เราใช้ ให้เราได้มีความสุข แต่ในขณะเดียวกัน เราก็มีอะไรหลายๆอย่างที่คนอื่นเขาไม่มี (หรืออาจจะเรียกว่าเขาพิการ) เราก็มีหน้าที่ที่จะต้องแบ่งปัน มอบให้ แลกเปลี่ยนกันไป เป็นหน้าที่แห่งความเป็นมนุษย์นั่นเอง

สุดท้าย "ความสมบูรณ์" คือการที่เราได้อยู่ร่วมกัน มองเห็นคุณค่าของคนอื่นๆและของตัวเราเอง ไม่ได้เห็นแต่โรคา พยาธิ หรือความบกพร่องของคนเท่านั้น"


อาจารย์อุไรวรรณ เปิด clip นี้ให้พวกน้องๆเขาชมกัน



หมายเลขบันทึก: 474953เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2012 14:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 00:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

แอบมาสวัสดีปีใหม่ค่ะอาจารย์

มาช้าแต่ก็มา...แอบเก็บเกี่ยวความงดงาม

ในมุมบวกให้กับความคิดตัวเอง

จากบันทึกของอาจารย์อีกแล้วค่ะ

ทุกชีวิตย่อมมีค่าเสมอ เป็นกำลังใจให้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท