อีกหนึ่งกรณีของเด็กไทยที่ตกหล่นทางทะเบียน จนสืบทอดปัญหาสู่ลูก


ด้วยความทุ่มเทของพี่แหม่ม และทีมงาน บัดนี้ พรจึงมีทั้งสูติบัตร และมีชื่อในทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๔ พร้อมบัตรประจำตัวประชาชน หลังจากรอคอยมา ๒๖ ปี

           กรณีนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของปัญหาคนไทยไม่มีเอกสารทางทะเบียน ที่ได้รับการแก้ไขปัญหาได้แล้ว แต่อีกจำนวนมากที่ยังประสบปัญหาเช่นเดียวกันเล่า จะทำอย่างไรดี ??

           กลางปี พ.ศ.๒๕๔๘ พี่แหม่ม เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเด็ก และทีมงานของมูลนิธิกระจกเงา ซึ่งร่วมกันสืบค้นและสำรวจบุคคลผู้ไม่มีเอกสารในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ ได้รับการติดต่อจากน้องพร ซึ่งไม่มีเอกสารใดๆ เลย  นับจากนั้นเรื่องราวชีวิตและปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือจึงเริ่มต้นขึ้น

 

                นางศรี มารดาของพรเล่าให้พรฟังว่า เธอเกิดที่โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๒๓ หลังจากที่เธอเกิดมารดาได้ฝากเธอไว้ให้ยายเลี้ยง ส่วนตัวมารดาซึ่งหย่าร้างกับบิดาของพร ได้ตามเพื่อนมาหางานทำที่จังหวัดพังงา จนกระทั่งมามีครอบครัวใหม่ จึงได้กลับไปรับพรมาอยู่ด้วย  พรจึงได้มาใช้ชีวิตที่พังงา โดยไม่มีเอกสารพิสูจน์ตนใดๆ เลย ทั้งที่มารดาของเธอมีบัตรประจำประชาชน และมีทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๔ เช่นคนไทยปกติทั่วไป และตัวเธอก็เกิดที่โรงพยาบาลใหญ่ กลางเมืองหลวง

 

                เมื่อโตขึ้น พรจึงเริ่มถามวันเดือนปีเกิด และคิดอยากมีบัตรประชาชนเหมือนเพื่อนๆ บ้าง จนเริ่มรู้สึกว่าเป็นปมด้อย เธอจึงหนีมารดากลับไปอยู่กับยายที่กรุงเทพฯ  จนกระทั่งได้ไปมีท้องกับผู้ชายคนหนึ่งซึ่งมีครอบครัวอยู่แล้ว เธอจึงถูกปฏิเสธความรับผิดชอบลูกน้อยในครรภ์ ดังนั้นเมื่อคลอดออกมาจึงได้เอาลูกให้ยายเลี้ยง และไม่สามารถแจ้งเกิดให้ลูกของตัวเองได้ เนื่องจากตัวเธอไม่มีเอกสารใด หลังจากนั้นเธอจึงกลับมาทำงานรับจ้างที่จังหวัดพังงาอีกครั้ง จนถึงปัจจุบัน

                  แต่ด้วยความทุ่มเทของพี่แหม่ม และทีมงาน ที่ลุยถึงห้องเก็บเอกสารของโรงพยาบาลศิริราช และตามต่อที่สำนักงานเขตบางกอกน้อย ก่อนกลับมาสิ้นสุดที่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ทำให้บัดนี้ พรจึงมีทั้งสูติบัตร และมีชื่อในทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๔ พร้อมบัตรประจำตัวประชาชน หลังจากรอคอยมา ๒๖ ปี 

 

หมายเลขบันทึก: 47484เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2006 22:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 15:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กรณีนี้ น่าจะชี้ให้เห็นว่า ความเข้าใจของโรงพยาบาลในการช่วยสืบค้นหลักฐานการเกิดของคน จะช่วยแก้ปัญหาคนไร้รัฐได้มาก

จะเห็นว่า กรณีของพรเป็นกรณีของการเกิดภายใต้ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๔๙๙ ดังนั้น การทำหลักฐานการเกิดให้แก่พรจึงน่าจะเป็นกรณีที่ควรนำมาเรียนรู้ในเรื่อง "กระบวนการ"

ต้องตี๋น่าจะศึกษา (๑) อะไรคือเอกสารที่โรงพยาบาลออกให้แก่พร ? เมื่อแหม่มมาสืบค้น (๒) การแจ้งเกิดย้อนหลังทำได้ไหม ? ถ้าไม่ได้ เพราะอะไร ? ถ้าได้ ? เพราะอะไร ?

การดำเนินการของพี่แหม่ม มูลนิธิเด็กเพื่อช่วยเหลือน้องพร

 

๑.ประสานงานอำเภอปลายทาง  เมื่อทราบเรื่องราวของพรแล้ว ทีมงานของมูลนิธิเด็กร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา ได้เริ่มต้นประสานงานกับทางอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นที่อยู่ปัจจุบัน เพื่อนำนางศรีไปยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อพร ในทะเบียนบ้านของนางศรีมารดา 

   o     แต่พบปัญหาอุปสรรค เมื่อปลัดอำเภอตรวจสอบพยานบุคคลตามชื่อที่นางศรี อ้างถึง ในฐานข้อมูลระบบคอมพิวเตอร์ของอำเภอ กลับไม่พบข้อมูลของบุคคลต่างๆ ที่นางศรีกล่าวอ้างเลย เนื่องจากนางศรีจำข้อมูลได้ไม่ชัดเจน

 

๒.ประสานสืบค้นหลักฐานการเกิด จากโรงพยาบาล  จากนั้น พี่แหม่ม เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเด็กจึงประสานงานให้นางศรี มารดา มอบอำนาจให้ตนไปดำเนินการสืบค้นเอกสารการเกิดของพร ที่โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ โดยที่นางศรีได้แจ้งความในเบื้องต้นแล้วว่า ใบเกิดของพรสูญหาย

   o     โดยการสืบค้นที่โรงพยาบาล พี่แหม่มต้องไปติดตามถึง ๓ ครั้ง จึงพบ เนื่องจากมารดาจำวันเดือนปีเกิดของพรคลาดเคลื่อน และการสืบค้นต้องเข้าไปค้นในห้องเก็บเอกสารเก่า ซึ่งมีจำนวนมาก ด้วยตัวเอง

 

๓.ประสานงานอำเภอต้นทาง (อำเภอที่เด็กเกิด)  ต่อมา พี่แหม่มจึงนัดนางศรี มารดาเพื่อไปหารือกับปลัดอำเภอบางกอกน้อย ซึ่งได้รับคำแนะนำจากปลัดว่าให้ดำเนินการที่เขตบางกอกน้อยจะง่ายกว่า  พี่แหม่มจึงได้มาที่จังหวัดพังงา อีกครั้งเพื่อนัดทั้งนางศรี และพร ตามวันที่ได้ขอนัดกับปลัดอำเภอบางกอกน้อยไว้แล้ว คือวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๔๙

 

๔.รวบรวมพยานหลักฐาน   ในการสอบพยาน นอกจากใช้ (๑) นางศรีมารดามาเป็นพยานบุคคลแล้ว ยังต้องใช้ (๒) ใบมรณบัตรของบิดาซึ่งเสียชีวิตแล้ว ซึ่งญาติได้ทำสูญหายไป จึงต้องไปสืบค้นที่วัดซึ่งทำพิธีฌาปนกิจ  (๓) อา ซึ่งเป็นน้องชายบิดา (๔) ป้า ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของบิดา  

   o     เหตุที่ต้องใช้พยานบุคคลจำนวนมากแม้จะมีสูติบัตรแล้ว เนื่องจาก ปลัดให้เหตุผลว่าสูติบัตรที่มีไม่ได้แสดงตัวตนของพร โดยทั้งชื่อนามสกุลไม่ตรงกับข้อมูลที่ให้

   o       หากมีเอกสารการศึกษาประกอบจะช่วยให้พิสูจน์ตนได้ง่ายขึ้น แต่กรณีนี้ไม่มี

 

๕.ย้ายชื่อออกจากทะเบียนบ้านกลาง   หลังจากสอบพยานทั้งหมดแล้ว ทางอำเภอได้ให้นางศรี มารดาเป็นผู้เซ็นชื่อขอเอาชื่อพรออกจากทะเบียนบ้านกลาง และยินยอมให้เอาชื่อเข้าทะเบียนบ้านของตนที่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา

   o     ในขั้นตอนนี้ ตั้งแต่ตอนเด็กเกิดที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้ประสานงานแจ้งการเกิดที่เขตบางกอกน้อย ทางเขตจะออกสูติบัตร (ท.ร.๑๙ ตอนที่ ๒) ให้พร้อมกับใบย้ายทะเบียนบ้าน (ใบแจ้งการย้ายที่อยู่ ทร.๑๗ ตอนที่ ๑) ไว้เตรียมให้บิดามารดามารับ  แต่เมื่อไม่ได้มารับ เอกสารทั้งหมดจึงคงค้างอยู่ที่เขต

 

๖.ดำเนินการเพิ่มชื่อ และถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนที่อำเภอตะกั่วป่า  สุดท้ายพี่แหม่มต้องพาพร และแม่ กลับมาที่อำเภอตะกั่วป่า อีกครั้ง เพื่อเอาใบย้ายมาเพิ่มชื่อเข้าทะเบียนบ้านของนางศรี มารดา และถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท