ความเศร้าทำร้ายหัวใจเราได้


บล็อกวอลล์สตรีท เจอร์นัล (wsj) ตีพิมพ์เรื่อง 'Heart-attack risk spikes day after losing a loved one' = "ความเสี่ยงโรคหัวใจ (หลอดเลือดหัวใจตีบตันกำเริบ) พุ่งพรวดหลังสูญเสียคนรัก", ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ
.
การศึกษาใหม่ (ตีพิมพ์ใน Circulation) ทำในกลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่ที่มีโรคหัวใจกำเริบ (heart attack) และรอดชีวิต 1,985 คนพบว่า ความเสี่ยงโรคหัวใจเพิ่มเป็น 21 เท่าในวันแรกๆ หลังสูญเสียคนรัก
.
ธรรมชาติของข่าวร้ายอย่างหนึ่ง คือ มักจะมาคู่กับข่าวดี ดังมีคำกล่าวที่ว่า วิกฤติมักจะมาพร้อมกับโอกาส นั่นคือ ถ้าทำใจ ทนหายใจต่อไปได้ (ยังไม่รีบหยุดหายใจ)... ความเสี่ยงจะลดลงเป็นเกือบ 6 เท่าภายใน 1 สัปดาห์แรก
.
ความเสี่ยงโรคหัวใจจะยังคงเพิ่มต่อไปหลังสูญเสียคนรักอย่างน้อย 1 เดือน
.
การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่า คนที่สูญเสียคู่รัก (spouse) เพิ่มเสี่ยงเสียชีวิตต่อไปอีกในช่วงหลายสัปดาห์ จนถึงหลายเดือน
.
การศึกษาใหม่พบว่า คนที่สูญเสียคนรักมีความเสี่ยงโรคหัวใจเพิ่มขึ้นใน 1 สัปดาห์แรก = 1/320-1/1394 = ถ้ามีคนที่สูญเสียคนรักใหม่ๆ 320-1,394 คน จะมีคนเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 1 คนมากกว่าความเสี่ยงของประชากรทั่วไป
.
ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นมีแนวโน้มจะแปรตามความเสี่ยงโรคหัวใจที่มีอยู่เดิม เช่น คนที่เป็นเบาหวาน-สูบบุหรี่เสี่ยงมากกว่าคนที่ไม่เป็นเบาหวาน-ไม่สูบบุหรี่ ฯลฯ
.
กลไกที่เป็นไปได้ คือ ความเศร้าทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงในเรื่องต่อไปนี้
.
(1). หัวใจเต้นเร็วขึ้น > การลดปริมาณกาเฟอีน เช่น ลดกาแฟ-ชา เปลี่ยนกาแฟเป็นชนิดสกัดกาเฟอีนออก ลดเครื่องดื่มกระตุ้นกำลัง ไม่กินไมโล-โกโก้-ชอคโกแล็ตขนาดสูง (มีกาเฟอีนปนอยู่ แต่ไม่มากเท่ากาแฟ-ชา), ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มหนัก น่าจะช่วยได้
.
(2). ความดันเลือดสูงขึ้น > การไม่ดื่มหนัก ไม่กินเค็ม-ไม่กินอาหารมื้อใหญ่เกิน ตรวจเช็คความดันเลือด... ถ้าสูงรีบรักษาให้ต่อเนื่อง น่าจะช่วยได้
.
(3). โอกาสที่เลือดจะจับกลุ่มกัน เกิดเป็นลิ่มเลือด (blood clotting) เพิ่มขึ้น > การดื่มน้ำให้มากพอในช่วงกลางวัน โดยเฉพาะดื่มน้ำ 1-3 แก้วหลังตื่นนอน (ควรบ้วนปากก่อน ภาวะขาดน้ำทำให้เลือดหนืด เกิดลิ่มเลือดได้ง่ายขึ้น) น่าจะช่วยได้
.
การศึกษาก่อนหน้านี้พบ 'broken heart syndrome' = กลุ่มอาการโรคหัวใจคนอกหัก (เศร้า เหงา เครียดหนัก) ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัว สูบฉีดเลือดได้น้อยลง (cardiomyopathy) มีอาการคล้ายโรคหัวใจ
.
กลุ่มอาการโรคหัวใจคนอกหักพบได้บ่อยหลังมีความเครียด-เศร้า-เหงา-เซง-โกรธ-แค้นอย่างแรง หรือบาดเจ็บทางกาย อาจเป็นผลจากฮอร์โมนเครียด เช่น อะดรีนาลีน ฯลฯ หลั่งเข้าสู่กระแสเลือดมากเกินไป
.
ความเครียด-เศร้า-เหงา-เซง ทำให้คนเรามีแนวโน้มจะหมกมุ่นคล้าย "พายเรือในอ่าง", วิธีออกจากอ่างทางความคิดอย่างหนึ่ง คือ การนอนให้พอ ดื่มน้ำให้พอ ไม่นั่งนานเกินครั้งละ 1/2-1 ชั่วโมง (ลุกเดินไปมาสลับ หรืออย่างน้อยลุกขึ้นสลับนั่งปลอดภัยกว่านั่งนานๆ)
.
อ.นพ.กฤษฎา บานชื่นกล่าวถึงสำนวนฝรั่งที่ว่า "ไม่มีใครร้องไห้เวลาขี่จักรยาน" คือ การปั่นจักรยานช่วยให้คนเรารู้สึกดีได้เร็ว, ถ้าท่านรู้สึกเครียด-เศร้า-เหงา-เซง... การปั่นจักรยานมีส่วนช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นได้มาก
.
ถ้าไม่มีจักรยาน... การเดินเร็วบ้างช้าบ้างก็ช่วยให้ "ออกจากอ่างทางความคิด" ได้
.
เมืองไทยน่าจะทำด๊อกสปา (dog spa) โดยหาน้องหมาพันธุ์ที่ชอบเล่น เช่น โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ ฯลฯ มาให้เช่าเดินเล่น โดยอาจทำลู่เดิน-วิ่งไว้ เช่น เดินแนวราบบ้าง ขึ้นลงเนินบ้าง ฯลฯ
.
การเดินเล่นกับน้องๆ (walk a dog) ทำให้คนเรารู้สึกดีขึ้นได้ ทีนี้ถ้าทำทุกอย่างแล้ว... อะไรๆ ก็ดูมืดมนไปหมด เรียนเสนอให้ปรึกษาโรงพยาบาลใกล้บ้าน ซึ่งน่าจะช่วยท่านได้มากทีเดียว
.
ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ
.

> [ Twitter ]

  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง. 14 มค.54. ยินดีให้ท่านนำบทความไปใช้ได้ โดยอ้างที่มา และไม่ใช้เพื่อการค้า > CC: BY-NC-ND.
  • ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค; ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.
หมายเลขบันทึก: 474650เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2012 22:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 12:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เพิ่งเดินเล่นดูของในตลาดนัดแถวบ้านมา รู้สึกสนุกค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท