"โกมล คีมทอง" ครูของแผ่นดิน (๖) : เสียงสะท้อนจากลูกศิษย์


มีเสียงของลูกศิษย์ของคุณครู "โกมล คีมทอง" ดังสะท้อนมายาวนานหลายสิบปี

 

 

โกมล คีมทอง ครูของแผ่นดิน

 

ตอนที่ ๖ ... เสียงสะท้อนจากลูกศิษย์

 

เสียงสะท้อนจากลูกศิษย์

 

“ข้าพเจ้าตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า การเป็นครูนั้นมิใช่ของง่ายเลย มโนกรรม วจีกรรม และกายกรรม ข้าพเจ้าจะต้องฝึกฝนให้พร้อมและเหมาะสม ตลอดระยะแรก ๆ นี้ข้าพเจ้ามั่นใจ เหมือนดังแม่ทัพผู้นำกองทัพเข้าสู่ยุทธภูมิ ความลำพองและฮึกเหิมย่อมมีมากสุดที่จะประมาณ แต่แล้วต่อไปและต่อไปอีกเล่า ความลำพองนี้จะมิกลายเป็นความทรนง ความยะโส และลืมตัว เมื่อเข้าสอนลืมตัวว่าตัวเองรู้ เพราะการเจนจัดในการทำแต่เรื่องนี้ซ้ำซาก แต่ข้าพเจ้าหารู้ไม่ว่า ความรู้กับวิธีการถ่ายทอดนั้นเป็นคนละเรื่องกัน ทุกคนอาจมีความรู้อยู่เต็มที่เสมอกัน แต่ถ้าไม่ตระเตรียมค้นคิดใฝ่หาเทคนิคการจะถ่ายทอดแล้ว การสอนก็เหมือนการท่องความรู้ให้นักเรียนฟัง”

 

 

ข้อเขียนเรื่อง “ข้าพเจ้ากลัว”

 

สมยศ จันทร์แก้ว อดีตเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ (ปี ๒๕๑๓) แห่งโรงเรียนบ้านพรุกระแชง ซึ่งมีบ้านตั้งอยู่หน้าโรงเรียนเหมืองห้วยในเขาเล่าว่า พ่อของเขา คือ สุรินทร์ จันทร์แก้ว เป็นบุคคลผู้หนึ่งซึ่งบริจาคที่ดินหลายไร่สำหรับสร้างโรงเรียน สมยศย้อนทวนเหตุการณ์สมัยที่ไปส่งอาหารปิ่นโตให้กับครูโกมลและครูรัตนา วันละ ๒ มื้อ ที่บ้านพักครู และบอกว่าตนเคยไปนอนเล่นที่ห้องพักของครูโกมลด้วย ครั้งหนึ่งครูเคยมอบรูปถ่ายสวมครุยรับปริญญาให้ใบหนึ่ง จึงรู้สึกประทับใจเพราะครูโกมลใจดี มีของอะไรก็เอามาให้กิน ไปไหนก็ชวนไปด้วย มักเอารูปต่าง ๆ ให้ดู ส่วนสภาพบ้านพักครูในสมัยนั้น เป็นบ้านไม้ ๒ ชั้น ชั้นบนเป็นห้องพักของครูโกมล ข้างในไม่มีเตียง แต่มีหนังสือมาก ส่วนชั้นล่างมาเปิดเป็นห้องเรียนหลังจากครูเสียชีวิตแล้ว

 

ถาวร หนูแก้ว อดีตหัวหน้านักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ รุ่นแรกแห่งโรงเรียนเหมืองห้วยในเขา เล่าบรรยากาศสมัยที่ครูโกมลมาสอนหนังสือเมื่อกว่า ๓๐ ปีก่อน ในรายการ “ย้อนรอยครูโกมล คีมทอง” ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ว่า

 

“มีอะไรเธอก็ถามครูนะ ท่านบอกว่าการถามนี้คือความรู้ ไม่ต้องกลัวครู ท่านบอกว่า ถ้าเราเป็นคนที่รู้ตัว รู้ฐานะ การคุยเราไม่ต้องกลัวครู แต่เราต้องเกรง แกบอกว่าการกลัวกับการเกรงมันผิดกัน ไม่เหมือนกัน ถ้ากลัว เราลนลาน ทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าเราเกรง เวลามีอะไรเรากล้าปรึกษา กล้าถาม กล้าพูด ท่านสอนอย่างนั้น ในตอนนั้น ท่านคงรู้ว่าพวกผมยังอ่านหนังสืออะไรไม่ค่อยได้จึงยังไม่มีหนังสือให้ พอมาช่วงหลัง ๆ พอเห็นว่าพวกผมอ่าน สะกดหนังสืออะไรได้บ้างแล้ว ท่านก็เอาหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับประเทศไทย ผมจะชอบมากเลย”

 

และอีกตอนเมื่อครูโกมลของเด็ก ๆ พานักเรียนออกมาเรียนคำอ่านนอกห้องเรียน

“ท่านบอกว่าแสงแดดตอนเช้านี้มันมีประโยชน์ มันจะช่วยบำรุงกระดูกอะไรผมก็จำไม่ค่อยจะได้ ตอนนั่งคุยอย่างนั้น บางคนไปนั่งกอดเอวท่านบ้าง นั่งในตักท่านบ้าง ท่านก็จะแนะนำคำพูดอะไรยาก ๆ อย่าง ‘เงาะ’ สอนกันวันละคำสองคำ พอนักเรียนพูดได้ พรุ่งนี้ท่านก็จะเปลี่ยนอีก เอาอีกคำหนึ่งมา”

 

ส่วนพี่ชายของถาวร คือ มงคล หนูแก้ว แม้จะไม่ได้เรียนที่โรงเรียนของครูโกมล แต่ยังจำได้ดีว่าที่โรงเรียนเหมืองห้วยในเขา มีนมให้เด็กดื่มตอนกลางวันด้วย ขณะที่โรงเรียนอื่นไม่มี มงคลเล่าความประทับใจแต่หนหลังให้ฟังว่า

“วันเสาร์อาทิตย์ผมจะหยุดโรงเรียน แต่โรงเรียนของครูโกมลจะเปิดสอน [จะหยุดเรียนในวันพระเต็มวัน วันโกนครึ่งวัน--ผู้เขียน] บ้านผมก็อยู่ละแวกนั้น ผมก็เดินมาเที่ยว มาเกาะรั้วข้างโรงเรียน นั่งดูครูเขาสอนกัน ครูก็บอกว่า เธอไม่เรียนหนังสือเรอะ เรียนครับ งั้นก็เข้ามานั่งข้างในสิ ผมก็เลยเข้ามานั่ง แล้วครูก็ว่า เอาหนังสือนี่อ่านให้นักเรียนของผมฟังด้วย ผมก็ลุกขึ้นยืนและก็อ่านตามหนังสือที่เขาเรียนกัน"

 

สารภี ศรีนุ่ม ลูกศิษย์คนหนึ่งของโกมล เล่าว่า

“ครูโกมลชอบเดินไปเยี่ยมบ้านนักเรียน เดินครั้งหนึ่งระยะทางก็ ๔-๕ กิโลเมตร ครูสอนดี ไม่ตี พูดเพราะ ไม่ด่าไม่ว่า นักเรียนส่วนมากเป็นเด็กยากจน ครูจะรับนักเรียนที่ยากจนก่อน ฉันไม่มีหลักฐาน ไม่มีสูติบัตร ครูก็ให้เรียน ไม่ถือว่า กินข้าวจากปิ่นโตเดียวกันได้ ไปค้างบ้านไหนใครก็รัก”

 

สุทิน บุญเหลือ ลูกศิษย์อีกคน เล่าว่า

“ผมรู้สึกรักและเทิดทูนครูโกมลอย่างแรง เพราะว่าเมื่อมานึกสภาพในสมัยนี้มันผิดกัน ครูโกมลเป็นคนที่รักศิษย์รักจริง ตั้งใจสอนจริง”

 

ไพลิน เป็นเด็กอีกคนที่ครูโกมลชอบอุ้มและพาไปเที่ยวไหนต่อไหน ถึงขนาดจะขอเอาเป็นลูกบุญธรรมและรับปากพ่อแม่เด็กว่าจะส่งเสียให้เล่าเรียนจนถึงที่สุด

“ครูยังอุ้มฉัน ยังหาขนมให้กินตอนนั้นฉันอายุห้าหกขวบ ครูใจดี รักเด็ก กินง่าย น้ำพริกไม่ใส่ปลาก็กินได้”

 

นอกจากนี้ ลูกศิษย์คนอื่นยังช่วยกันเล่าเรื่องทั่ว ๆ ไปของโรงเรียนให้ฟังอีกว่า นักเรียนจะเข้าเรียนตอน ๘ โมงครึ่ง มีการร้องเพลงชาติ และเก็บขยะ หัวหน้าห้องจะเป็นคนนำเพื่อนท่องแม่เลข (สูตรคูณ) และนำนักเรียนสวัสดีคุณครู เด็กนักเรียนส่วนใหญ่จะแต่งกายธรรมดา ใส่ชุดพื้นบ้าน มีอะไรก็ใส่ไป ที่ซื้อมีน้อยมาก เพราะครูไม่อยากให้เด็กนักเรียนลำบาก โรงเรียนมีแปลงปลูกผักบุ้งด้วย โดยให้นักเรียนช่วยกันรดน้ำดูแล เมื่อโตพอก็ให้เด็กตัดและมัดกลับบ้าน ส่วนอาคารเรียนหลังใหญ่สมัยก่อนทำเป็นอาคารยกพื้น ๒ ชั้น ชั้นบนเป็นชั้นเด็กเล็ก

แม้เหตุการณ์เหล่านั้นจะผ่านมานานกว่า ๓๐ ปี แต่ความทรงจำอันงดงามและความรู้สึกประทับใจยังคงแจ่มชัดในความรู้สึกของเหล่าลูกศิษย์ ครูโกมลจึงเป็นที่รักของเด็กนักเรียน และกลายเป็นอีกตำนานหนึ่งของชาวบ้านส้องรุ่นนั้น


 

พจน์ กริชไกรวรรณ ... ผู้เรียบเรียง

ตีพิมพ์ ณ นิตยสารสารคดี ฉบับกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖

 

.....................................................................................................................................................

ช่องไฟส่วนตัว ...

 

ความที่จะบอกได้ว่า ครูคนนั้นเป็นคนอย่างไร "ลูกศิษย์" เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่จะมีความเข้าใจในตัวของครูมากกว่าใคร เพราะเสมือนใช้ชีวิตร่วมกับครูนับเดือน นับปี จนกว่าจะเรียนจบจากโรงเรียนนั้น ๆ

บันทึกนี้ก็สะท้อนความเป็นคุณครู "โกมล คีมทอง" ได้ชัดเจนอีกแง่มุมหนึ่งครับ

 

ด้วยจิตคารวะ

บุญรักษา ทุกท่านครับ ;)...

 

......................................................................................................................................................

แหล่งข้อมูล

พจน์ กริชไกรวรรณ.  ประวัติครูโกมล.  http://www.komol.com/autopage/show_page.php?t=34&s_id=4&d_id=4 (๙ มกราคม ๒๕๕๕).

 

......................................................................................................................................................

บันทึกที่เกี่ยวข้อง

 

หมายเลขบันทึก: 474647เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2012 22:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 23:24 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ครูดี อยู่ในใจ ลูกศิษย์ เสมอ

ครูดุ อยู่ในจิต คิดจำจนวันตาย (ฮา)

เด็กไม่จำ "ครูเฉยเฉย" สอนไปวัน ๆ หนึ่งแน่ ๆ คุณ Poo ;)...

ประทับใจในแง่ใดจะจนจำไปจนตาย อิ อิ

ขอบคุณครับ ;)...

อ่าน...ยิ้มมม อิ่มใจหลาย แม้ยังมิได้ทานไรเลย :)

ขอบคุณ ที่นำมาแบ่งปันค่ะครู สาธุ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท