ดำ เด็กข้างบ้าน 10 ชาตรี สำราญ


ความรู้แท้จะเกิดขึ้นได้นั้น ผู้เรียนจะต้องเป็นผู้ที่สามารถนำวิธีการเรียนรู้ของตนไปสืบค้นหาข้อมูลความรู้มาสรุปเป็นองค์ความรู้ของตนเองได้ แล้วกลั่นกรองเป็นความคิดรวบยอดของตนเอง

๑๐.

ความรู้แท้จะเกิดขึ้นได้นั้น ผู้เรียนจะต้องเป็นผู้ที่สามารถนำวิธีการเรียนรู้ของตนไปสืบค้นหาข้อมูลความรู้มาสรุปเป็นองค์ความรู้ของตนเองได้ แล้วกลั่นกรองเป็นความคิดรวบยอดของตนเอง ผู้ที่จะเรียนรู้ได้แบบนี้นั้นจะต้องมีความกระจ่างแจ้งในสิ่งที่ตนเรียนรู้ สามารถถ่ายทอดให้ผู้อื่นรับรู้ได้อย่างกระจ่างเช่นกัน ด้วยเหตุนี้เองผู้สอนจำเป็นที่จะต้องฝึก ต้องสอนผู้เรียนให้สามารถสร้างวิธีการเรียนรู้ของตน และสามารถสรุปบทเรียนที่ตนได้มาเป็นความคิดรวบยอดของตน

 

ความรู้ที่จะกลั่นกรองออกมาเป็นความคิดรวบยอดได้นั้น ผู้เรียนจะต้องนำข้อมูลความรู้ที่เรียนรู้มาคิดไตร่ตรอง พินิจพิจารณา ทบทวนในจิตของตนบ่อย ๆ จนจิตลึก ๆ ของตนยอมรับว่า คิดอย่างนี้แหละก็จะได้เป็นความคิดรวบยอด ซึ่งถ้านำมาเขียนก็จะได้ไม่ยาว สั้น ๆ แต่ให้ความหมาย บอกให้รู้ว่าผู้เรียน เกิดอะไรต่อสิ่งที่เรียนรู้นั้น เช่น ดำเขียนเรื่อง นายขนมต้ม หลาย ๆ ครั้ง เขียนอ่าน ๆ บ่อย ๆ จนสามารถสรุปความคิดสุดท้าย ออกมาว่า

 

วันนี้

ถ้ามีนายขนมต้ม ที่ยะลา

ผมจะสมัครเป็นลูกศิษย์

21/8/54

 

ข้อเขียนสั้น ๆ แต่อ่านแล้วรู้ซึ้ง ศรัทธาที่ดำมีต่อนายขนมต้ม สิ่งนี้แหละที่ดำเกิด ถ้ากลับไปอ่านงานเขียนเรื่อง นายขนมต้ม ในตอนก่อนนี้ จะเห็นว่า กล่าวถึงความอยากเป็นนักมวยที่เก่งแบบนายขนมต้มบ้าง ซึ่งดำเขียนว่า

 

"ผมอยากเป็นนักมวยเหมือนนายขนมต้ม

ผมต้องฝึกหัดแบบนายขนมต้ม

และผมต้องฝึกซ้อมทุกวัน

13/8/54

 

หรือ

"ผมต้องฝึกซ้อมเตะต่อยลูกมะนาวบ้าง

ผมจะได้เก่งเหมือนนายขนมต้ม"

14/8/54

 

นายขนมต้ม เป็นบุคคลต้นแบบของดำ ดำชื่นชมต่อนายขนมต้มจึงพูดถึงบ่อย ๆ และเขียนออกมาอย่างนั้นซ้ำ ๆ กัน เพราะดำเกิดความศรัทธาต่อนายขนมต้ม ความศรัทธาเป็นคุณธรรมข้อหนึ่งที่ถ้าผู้เรียนเกิดแล้วจะสามารถส่งเสริมให้ผู้เรียนดำเนินรอยตามได้สำเร็จ

ความศรัทธาจะเกิดขึ้นได้ ต้องให้ผู้เรียนเห็นสิ่งนั้น เห็นด้วยจิตลึก ๆ ของผู้เรียนเอง แล้วศรัทธาจะเกิด การเห็นด้วยจิตลึกนี่แหละคือ มโนทัศน์ หรือความคิดรวบยอด

จะเห็นได้ว่า กระบวนการสร้างความคิดรวบยอดของ คน ๆ หนึ่งได้นั้น คน ๆ นั้นจะต้องมีข้อมูลเรื่องนั้น ๆ อยู่บ้าง แล้วนำข้อมูลนั้นมาพิจารณา ไตร่ตรอง จนกระทั่งเกิด รู้ เรื่องในข้อมูลนั้น เรียกว่า ข้อมูลความรู้ พินิจ พิจารณา ไตร่ตรอง ทบทวน ใคร่ครวญบ่อย ๆ ข้อมูลความรู้นั้นจะเคี่ยวแน่นขึ้นเป็น ความรู้ ตัวความรู้นี่แหละ รำลึกถึงบ่อย มองดูพินิจพิจารณาให้ลึกซึ้งบ่อย ๆ ตัวความรู้จะถูกเคี่ยวจนตกผลึกเป็น ความคิดรวบยอด เขียนได้สั้น กะทัดรัด และใจความสมบูรณ์

14/8/54 

 อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ครับ https://docs.google.com/docume...

 

 

หมายเลขบันทึก: 474212เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2012 08:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 14:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท