ชีวิตต้องสู้


โดยเฉพาะ หน่อเจอเลอ และ หน่อโมะโละ ผู้สุดสวยประจำหมู่บ้าน ที่ให้ความสนิทสนมเป็นพิเศษ !!!

ชีวิตต้องสู้         บุญช่วย มีจิต

 

          ถนนชีวิตไม่ได้โรยด้วยดอกกุหลาบ  !!

                ไม่ทราบว่าใครพูดประโยคนี้  แต่มันเข้ากับชีวิตของผมเสียเหลือเกิน

ไม่เคยได้อะไรมาอย่างง่าย ๆ  ต้องออกแรง  ต้องใช้ความพยายาม  ต้องต่อสู้   ต้องอดทน         จึงจะได้มา

                พ.ศ. 2509 เมื่อสอบบาลีสนามหลวงเสร็จแล้ว  ก็พากันลงไปกรุงเทพ ฯ อีกครั้งหนึ่ง

                 จากหนองคายไปโดยไม่ล่ำลาใคร  แม้แต่เทพธิดาในดวงใจคนนั้น !!

 และไม่ได้หวนกลับไปเยี่ยมอีกเลยแม้จนทุกวันนี้ !!

 คราวนี้ไปพักอยู่ที่วัดแก้วแจ่มฟ้า  บางรัก  กับสามเณรบุญเรือง  แสนนาม เพื่อนเก่าจากวัดศรีสุมังคล์  ออกตระเวนหาวัดอยู่เดือนกว่า  ๆ  ยังไม่มีวัดให้อยู่   ต้องกลับมาคัดเลือกทหารก่อน  กลับลงไปไปอีกที [1]

คราวนี้ได้รับความเมตตาจากท่านพระครูวินัยศาสน์โกศล วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ช่วยฝากให้  โดยฝากสามเณรนุศิษย์ที่วัดยานนาวา   และฝากเรากับพระครูวรวัฒน์วิศาล   เจ้าอาวาสวัดสุคันธาราม   ดุสิต   รู้สึกดีใจมาก   ถึงแม้ไม่รู้จักใครสักคนและได้อยู่ห้องเล็ก ๆ  แคบ ๆ ใต้ถุนกุฏิอาจารย์เปล่ง  ทั้งร้อน ทั้งยุงชุม ก็ตาม

 แต่ตั้งใจว่าจะใช้ที่นี่อาศัยเล่าเรียนเพื่ออนาคตของตัวเอง

                อยู่ได้ไม่นานก็ได้รับข่าวดีที่ไม่คาดคิด  ก็คือ 

สอบเปรียญธรรมสามประโยคได้ที่จังหวัดหนองคาย  !!

ที่ดีใจมากเพราะมีสามเณรเพียงรูปเดียวของจังหวัดที่สอบได้ในปีนั้น  จากจำนวนผู้เข้าสอบนับร้อย  ดีใจที่สุดในชีวิต  อา ! เราได้ชื่อว่า

  มหา 

นำหน้าชื่อ  ซึ่งเป็นที่ใฝ่ฝันของผู้ที่บวชเรียนทุกคน   ปีนั้นก็ไปเรียนเปรียญธรรมสี่ประโยคที่สำนักเรียนวัดเบญจมบพิตร  การสอนก็ไม่เป็นที่พอใจเท่าใดนัก   ทีแรกคิดว่า  สำนักเรียนในกรุงเทพฯจะสอนเข้ม   สอนดี   เอาเข้าจริงก็ปล่อยให้ผู้เรียนต้องขวนขวายดูหนังสือเองเช่นเคย 

พ.ศ. 2510  ผลสอบเปรียญธรรมสี่ประโยคก็ผ่านได้อย่างเหลือเชื่ออีกเช่นกัน 

อา  !!  ชีวิตเริ่มพบความสว่างไสว  มีความหวังมากขึ้น   เมื่อสอบได้เปรียญสี่  มีสิทธิ์เรียนมหาจุฬา ฯ ได้   จึงพยามไปเข้าอบรมพื้นฐานก่อนเข้าเรียน   เนื่องจากว่าเราไม่มีพื้นฐานทางวิชาสามัญเลย  เรียนประถมมาได้ก็อย่างกระท่อนกระแท่นตามที่เล่าแล้ว   เมื่อมาบวชก็เรียนแต่ธรรมวินัยและบาลี   

ดังนั้น  พอไปเรียนวิชาสามัญจึงตามเพื่อนไม่ค่อยทัน  ไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์ที่แบ่งเป็นเลข  พีช  และ  เรขา ที่เราเบื่อการพิสูจน์มาก ไม่ต้องพูดถึงภาษาอังกฤษที่ได้เรียนกับพระที่สกลนครเพียงอ่าน เอ บี ซี ดี ได้เท่านั้น  ผลการสอบคัดเข้าเรียนจึงออกมาได้อันดับที่ 100 พอดี  ได้อยู่ห้อง  2  เป็นรูปสุดท้าย   เขารับห้องละ 50  รูป  3 ห้องจำนวน 150 รูป  ก็เป็นที่พอใจและดีใจมากที่สอบเข้าได้ 

แต่การเรียนมหาจุฬา ฯ นั้น ผิดกฎของวัดสุคันธ์  เพราะเขาห้ามเรียนวิชาทางโลก ( สามัญ )เด็ดขาด  ด้วยเหตุผลที่รู้ ๆ  กันอยู่[2]  เมื่อขอโดยตรงไม่ได้ก็ต้องแอบ (หนี )ไปเรียน   ซึ่งมีรุ่นพี่หลายท่านประพฤติเช่นเดียวกัน   ไม่งั้นก็ไม่ได้เรียน   และได้ไปสมัครสอบเทียบความรู้วุฒิ ป.7 ของกระทรวงศึกษาธิการไว้ด้วย   เนื่องจากมหาจุฬา ฯ  นั้น  กระทรวง ฯ ยังไม่รับรองวุฒิ

พ.ศ. 2511 เป็นปีที่ผิดหวังในชีวิตการเรียน   เพราะสอบเปรียญธรรมห้าประโยคไม่ได้   ด้วยว่าเรียนหนักไปทางมหาจุฬา ฯ  แต่ก็ไม่เสียใจอะไรมาก   ระยะนี้นับว่าเป็นหนุ่มเต็มตัวแล้ว  อารมณ์หนุ่มก็ย่อมว้าวุ่น สับสน เพ้อฝัน   และเกิดอารมณ์ขัดแย้งภายในตัวเอง   อาการหนักถึงขนาดต้องไปพบหมอ  ทั้ง รพ.สงฆ์  รพ.ศิริราช  รพ.วชิระ  เรื่องที่คิดหนักก็คือเรื่องอนาคต ทั้งการเรียนการเป็นอยู่  การอุปสมบทเป็นพระภิกษุ   เนื่องจากเลยบวชมานานแล้ว  แต่ยังหาเจ้าภาพไม่ได้

 เจ้าภาพน่ะมีเยอะ  แต่อยากได้เจ้าภาพที่พร้อมให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง  เหมือน

เพื่อน ๆ หลายท่าน[3]  ไม่ใช่บวชให้แล้วก็แล้วกันไป  แต่จะหาเจ้าภาพที่ว่านี้ได้อย่างไร  เราไม่รู้จักใครเลย   สุดท้ายท่านมหาสมโพธิ  จึงชักชวน จ.ส.ต.สนั่น  ปิ่นงาม  และพ่อค้าแม่ค้าอิฐที่ท่าวัดสุคันธ์อันมีเสี่ยกังเป็นต้น  ร่วมกันเป็นเจ้าภาพสามัคคี  จัดการอุปสมบทให้อย่างสมศักดิ์ศรี 

                แต่ไม่มีญาติพี่น้อง แม้แต่โยมพ่อมาร่วมแม้แต่คนเดียว  ทำให้เวลาขานนาคถึงกับร้องไห้ด้วยความรันทดใจ   การอุปสมบทก็มีท่านพระครูวรวัฒน์วิศาล ( จี่ ) เจ้าอาวาส  เป็นพระอุปัชฌาย์  อาจารย์เปล่ง เป็นพระกรรมวาจาจารย์  พระมหาชุบ  เป็นพระอนุสาวนาจารย์

                พ.ศ. 2512 เมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว  ชีวิตก็เริ่มเปลี่ยนไป  มีคนรู้จักมากขึ้น  การเรียนสูงขึ้น  ชื่อเสียงก็ตามมา  โดยเฉพาะเมื่อกลับไปบ้านโพนนาดี  จะมีญาติโยมให้ความนับถือมาก  โดยเฉพาะสีกาสาว ๆ  ติดกันมาก  เราก็ใช้ชีวิตหนุ่มอย่างโลดโผน  แต่ไม่มีอะไรเกินขอบเขต

                พ.ศ. 2513  สอบเปรียญธรรมห้าประโยคได้   ดีใจมากเพราะจะได้สิทธิ์สอบชุดครู พก.ศ. ถ้ามีใบตราตั้งครูสอนปริยัติธรรม   จึงพยายามวิ่งเต้นหาใบตราตั้งครูสอนปริยัติธรรมให้ได้  ในที่สุดได้ไปสอนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ที่วัดสุวรรณาราม  บางกอกน้อย    นำไปสมัครสอบวิชาชุด พก.ศ. และสอบได้ยกชุด ( 5 ชุด )ในปีเดียว  ทั้ง ๆ  ที่คนอื่นปีละชุดก็ยังไม่ได้   เพื่อน ๆ  ทึ่งกันมาก   เรียนไม่เก่ง แต่อาศัยดวง    รู้สึกดีใจมากในวันดูผลสอบ

ดีใจจนมองเห็นใบอโศกยิ้มให้เลยทีเดียว !!

                พ.ศ. 2514 เมื่อสอบ พก.ศ.ได้แล้ว  ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น  การเรียนที่มหาจุฬา ฯ  ก็ได้เป็นนิสิตเรียนพุทธศาสตร์ปีที่ 1 สมความตั้งใจแล้ว  ในช่วงซัมเมอร์แทนที่จะกลับไปใช้ชีวิตบ้านนอกเหมือนทุกปี   

                ได้สมัครเป็นพระธรรมจาริกไปสอนชาวเขา   เพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้ชีวิต  เป็นรุ่นที่ 7  เลือกบ้านดอยผาผึ้ง  อ.แม่แจ่ม  จ.เชียงใหม่  มีท่านมหาวีรชัย เป็นหัวหน้า  มหาบุญเลื่อน  ตุ๊ไล และตุ๊ฤทธิ์  เป็นเพื่อนร่วมทีม  ปฏิบัติงานระหว่างเดือนมีนาคม  เมษายน เพียงสองเดือนเท่านั้นเอง

แต่ด้วยการทุ่มเททำงานอย่างหนัก  และพยายามเข้าถึงชาวบ้านอย่างเต็มที่ด้วยสไตล์

 เข้าถึงไร่  ไปถึงบ้าน

  ทำให้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี  สามารถ (เรียน) ใช้ภาษากระเหรี่ยงสื่อความกับพวกเขาได้   และชนะใจชาวบ้าน เป็นที่รักของทุกคน  โดยเฉพาะเด็ก ๆ  และวัยรุ่น (สาว)   จะเห็นได้จากวันอำลา   มาส่งที่ทางรถซึ่งเดินเท้ามาประมาณ 3 4 ชั่วโมง  มากันทั้งหมู่บ้าน  และร้องห่มร้องไห้อาลัยกันทุกคน  เป็นภาพที่ลืมไม่ลงและติดตามาจนทุกวันนี้

โดยเฉพาะ หน่อเจอเลอ และ หน่อโมะโละ  ผู้สุดสวยประจำหมู่บ้าน  ที่ให้ความสนิทสนมเป็นพิเศษ  !!!



[1] ดูความฝันที่เป็นจริง

[2] มีความคิดในหมู่พระเก่า ๆ  ว่า  ถ้าให้เรียนทางโลกแล้ว  จะปกครองยาก  และเรียนแล้วสึก อีกอย่างก็เห็นว่า มหาจุฬาฯ  เป็นของพระพิมลธรรม  ( อาจ อาสภเถร )  เมื่อไม่ชอบพระพิมลธรรมก็พยายามขัดขวางไม่ให้ลูกศิษย์ไปเรียน

[3] หลายท่านได้โยมอุปัฏฐากดี  อุปสมบทให้แล้วก็ส่งเรียนต่อจนถึงปริญญาโท ปริญญาเอก  ถึงเมืองนอกเมืองนาก็มี

หมายเลขบันทึก: 473709เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2012 09:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 15:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท