บิน


ในช่วงสามปีนี้ฉันได้เห็นความก้าวหน้าเเละไม่ก้าวหน้าในการใช้สิทธิการเดินทางของเด็กเเละต่างด้าวที่สถานะการเข้าเมืองกำกวม และคนที่ถูกถือว่าเป็นคนต่างด้าวในประเทศไทย กรณีเเรกคือเด็กชายหม่อง ทองดี บุตรเเรงงานข้ามชาติพม่าที่รอการพิสูจน์สัญชาติ เเละกรณีที่สองคือเด็กหญิงกิติยา เเละเด็กชายสมบูรณ์ ริมพู บุตรแแรงงานข้ามชาติที่บิดามารดาผ่านการพิสูจน์สัญชาติเเละได้รับหนังสือเดินทางแล้ว

ในกรณีน้องหม่อง ที่ต้องไปแข่งขันพับเครื่องบินกระดาษที่เมืองชิบะ กว่าจะพิสูจน์ได้ว่าเด็กมีสิทธิในการเดินทางเเละกฎหมายไม่มีข้อห้ามใดๆ ที่เด็กจะเดินทางไปต่างประเทศ คณะทำงานสำนักงานกฎหมายบางกอกเเละนักกฎหมายอาสานอกจากจะส่งความเห็นทางกฎหมายตลอดจนผู้ใหญ่ต้องเวียนกันทั้งออกโทรทัศน์ ให้สัมภาษณ์ เเละพบผู้ใหญ่หลายครั้ง กว่าฝ่ายปฏิบัติจะดำเนินการ ทั้งๆ ที่สิ่งที่ขอไม่ได้เป็นเรื่องที่ขัดต่อกฎหมายหรือต้องการข้อยกเว้น

นอกจากนั้นยังพบคำตอบประหลาดๆ เช่นไม่สามารถให้สัญชาติไทยเเก่น้องหม่องได้ ทำเอาคณะทำงานเเละกองเชียร์มึน เพราะว่ามาที่ขออนุญาตคือขอให้กระทรวงมหาดไทยอนุญาตให้เด็กชายหม่องเดินทางออกนอกประเทศเเละทำเอกสารเดินทางสำหรับคนต่างด้าว ที่เรียกว่า Travel Document พร้อมขอวีซาเข้าประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง ไม่ได้มาขอสัญชาติไทย เเต่บางทีเมื่อไมค์จ่อปากเจ้าหน้าที่ระดับสูง กลายเป็นว่าน้องมาขอสัญชาติไทยจะได้ไปเเข่งได้ ดังนั้นการสื่อสารผ่านสื่อจึงต้องพิถีพิถันในการสร้างความเข้าใจกับสังคมว่าน้องต้องการอะไรเพื่ออะไร สื่อมีบทบาทอย่างมากในการสร้างความเข้าใจ คนจำนวนมากจะเข้าใจถูกหรือผิดก็อยู่ที่สื่อ และเรื่องการเดินทางบวกกับเรื่องการเข้าเมืองของคนต่างด้าวเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมาก สื่อพลาดไปนิดเดียวแทนที่สังคมจะเข้าใจจะกลายเป็นไม่สนใจหรือเข้าใจผิดไปก็ได้

กว่าจะขอหนังสือเดินทางได้ ก็เล่นเอาลุ้นจนหมดลุ้น ออกทีวีไปหลายรายการเเละทีมงานก็ทั้งรับ-ส่ง เลี้ยงดูน้องหม่องเหมือนเป็นลูกเป็นหลานกันจริงๆ เเละน้องหม่องก็คว้าเหรีญทองเเดงประเภทบุคคลเเละเหรียญทองประเภททีมมาได้

ปีนี้เด็กหญิงกิติยา เเละเด็กชายสมบูรณ์ ริมพู บุตรเเรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่า ที่มีหนังสือเดินทางร้องขอความช่วยเหลือให้ดำเนินการยื่นเรื่องเพื่อขออนุญาตเดินทางไปร่วมเเข่งขันกับวงโยธวาทิตโรงเรียนสวนลุมพินีที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกงเเละขอเดินทางกลับเข้าประเทศ ซึ่งก็คว้าเเชมป์ตามระเบียบ แต่ก่อนหน้านั้นไม่ง่ายเลย อาจจะบอกว่าต้องไปตระเวนออกทีวีน้อยกว่ากรณีน้องหม่องเล็กน้อย ฉันคิดว่าประสบการณ์ที่เจ้าหน้าที่รู้จักเรื่องน้องหม่องจะทำให้อะไรๆ รวดเร็วขึ้น เเต่ก็ยังต้องออกเเรงเเม้จะน้อยลง คือครูแดง เตือนใจ ดีเทศน์ ไม่ต้องพาน้องๆ ไปพบนายกรัฐมนตรี

แต่โดยส่วนตัวก็ตั้งคำถามไม่น้อยว่าตกลงเจ้าหน้าที่ที่เคารพไม่เข้าใจตรงไหนหรือว่าคนต่างด้าวสามารถขออนุญาตเดินทางไปต่างประเทศเมื่อจำเป็นได้ เช่น ไปศึกษาต่อ เเละทั้งสองกรณีเป็นการเดินทางเพื่อแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติเป็นตัวเเทนประเทศไทย ก่อนจะถึงวันเด็กปีนี้ ฉันนึกเสียดายเเทนประเทศไทย เด็กต่างด้าวไม่ว่าจะเกิดในประเทศไทยหรือนอกประเทศไทยที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ การที่เด็กต่างขาติในประเทศไทย โดยเฉพาะเด็กๆ ชายขอบได้เห็นเรื่องดีๆ เหล่านี้ น่าจะเป็นการสร้างเเรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเองต่อไป

เด็กเเละเยาวชนจำนวนไม่น้อยมีความกระตือรือร้น มีความสามารถ เมื่อได้รับโอกาสเเละการฝึกฝนเพียงน้อยนิด ดังนั้นเมื่อเขาก้าวมาถึงระดับความเป็นเลิศจนสามารถเป็นตัวเเทนไปเเข่งขันระดับนานาชาติ เเทนที่จะทำให้โอกาสในการเดินทางไปเเสดงความสามารถของเขายากขึ้น หน่วยงานของรัฐควรช่วยทำตามหน้าที่เพื่อให้เด็กๆเเละคุณครูสามารถทำหนังสือขออนุญาตเดินทางออกนอกประเทศโดยผ่านทางโรงเรียนได้อย่างสะดวกกว่านี้ ลองคิดดูถ้าปีหนึ่งมีสักสามราย อาสาของคลินิกกฎหมายกรุงเทพฯคงไม่ต้องทำงานอย่างอื่น

ประการที่สอง ถ้าเรามองว่าเด็กเหล่านี้เป็นต้นทุนของสังคมไทย ไม่ว่าจะในทางตรงที่เขาจะได้เรียนรู้ภาษาเเละวัฒนธรรมไทยเพื่อเป็นอนาคตเขาจะเข้ามาทดแทนกำลังทำงานในส่วนที่ขาดเเคลนในประเทศไทย หรือในทางอ้อมที่เขาจะกลับไปเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศต้นทางที่กำลังเป็นเเหล่งลงทุนที่หอมหวานในขณะนี้ หรืออ้อมไปกว่านั้นในฐานะที่เรากำลังจะมีประชาคมอาเซียน หากมีคนที่รู้จักประเทศไทยในทางบวกน่าจะเป็นผลดีกับประเทศไทยเอง ขณะนี้ประเทศไทยได้ลงทุนโดยการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในอนาคตอย่างดีหรือยัง ทั้งการให้โอกาส การลดข้อจำกัด เเละการเอื้ออำนวยให้เด็กได้รับการคุ้มครอง ปกป้องตามหลักสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่เเค่เพื่อมนุษยธรรมตามโอกาสเท่านั้น

ข้อห่วงใยประการหนึ่งก็คือ เนื่องจากยังไม่มีข่าวของกฎกระทรวงออกตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสาม ของพระราชบัญยัติสัญชาติ เด็กที่เกิดในประเทศไทยจากพ่อเเม่ที่เข้าเมืองผิดกฎหมายก็จะยังคงถูกถือว่าเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ดังนั้นโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา การรักษาพยาบาล เเละสิทธิในการพัฒนาศักยภาพต่างๆ ย่อมถูกจำกัดเพราะเด็กต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ แม้กฎหมายบอกว่ามีสิทธิเเต่ก็กลัวตำรวจจับบ้าง เดินทางไปเข้าถึงสิทธิไม่ได้บ้าง

ประการที่สาม คิดอย่างขัดใจเพื่อนๆ เเละอาจารย์ เเละที่ขัดใจสุดๆ คือสภาความมั่นคงเเห่งชาติก็คือเเล้วทำไมไม่ให้สัญชาติไทยกับเด็กที่เกิดในประเทศไทยล่ะ ปัจจัยความสำเร็จอย่างหนึ่งของสหรัฐอเมริกาคือลูกหลานผู้อพยพและคนข้ามชาติที่มานะพยายามจนประสบความสำเร็จ จำนวนไม่น้อยเป็นคนเอเซียที่ไม่ต้องถามถึงรากเหง้าว่าพ่อแม่เข้าเมืองมาอย่างไร นี่คือกำไรอย่างหนึ่งของการให้สัญชาติโดยหลักดินเเดน เราไม่รู้ว่าประเทศไทยที่มีความสามารถอีกเท่าไหร่ถ้าเราเปิดโอกาสให้เด็กต่างชาติๆ ได้มีโอกาสในสังคมไทย ถ้าเขาได้สัญชาติไทย เสียภาษีให้รัฐบาลไทย เเละทำงานเพื่อความก้าวหน้าของประเทศไทย เราอาจจะได้นักโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (ฉันเคยมีเพื่อนร่วมงานเป็นโปรแกรมเมอร์ชาวพม่า ถือพาสสปอร์ตอังกฤษ) นักกีฬาทีมชาติ ครูสอนภาษา เเละบุคลากรเพื่อรองรับตลาดอาเซียนอีกมาก

ย้อนอดีตไปสมัยสงครามเวียตนามให้เสียโอกาสเล่นๆ ตอนนี้มันสมองของผู้ลี้ภัยไปอยู่อเมริกาหมดเเล้ว แต่สมช. ก็จะไม่จำที่จะเก็บโอกาสไว้กับตัวหรืออย่างน้อยเก็บไว้ในอาเซียนก็ยังดี หลายคนที่ได้บินออกจากค่ายผู้ลี้ภัยไปเป็นหมอ พยาบาล นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร หรือเเม้กระทั่งเเรงงานมีฝีมือในต่างประเทศ ยุโรป แคนาดา อเมริกา สแกนดิเนเวีย แทนที่จะให้มาเรียนต่อเมืองไทย หรือไปต่อนอกก็ได้เรียนจบให้สัญชาติ เเล้วก็มาทำงานในประเทศไทย การให้สัญชาติเด็กที่เกิดในประเทศไทยเป็นการลงทุนที่น้อยที่สุดในเมื่อทุนมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญในการเเข่งขัน

ประการสุดท้าย จากสองกรณีตัวอย่างเด็กจะเป็นอย่างไรอยู่ที่โอกาสเเละการดูแลจากสังคม แม้เราไม่ได้ดูเเลเด็กในฐานะคนสัญชาติไทย เเต่ถ้าประเทศต้นทางเขาพัฒนาด้วยเด็กกลุ่มนี้ การลงทุนกับเด็กข้ามชาติคือโอกาสที่เราจะลงทุนในประเทศต้นทางโดยมีคนทำงานที่รักเเละมีความรู้สึกดีกับประเทศไทยก็ย่อมจะสูงขึ้น โอกาสในการขายสินค้าแบรนด์ไทยก็จะดีขึ้น

ทั้งหมดนี้ฉันเชื่อว่าเด็กบินได้ เเต่ผู้ใหญ่ล่ะ บินข้ามขอบเขตจำกัดของความไม่รู้ ระบบราชการ เเละความกลัวคนต่างชาติอย่างไรเหตุผลหรือยัง

 

เนื่องในโอกาสวันเด็กเเห่งชาติ

หมายเลขบันทึก: 473641เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2012 21:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2012 20:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท