QLF_02_ณ นาสีนวนประชาสรรพ์


เราจะภูมิใจกับสิ่งใดที่สุด ก็เมื่อเราได้ทำมันด้วยตนเอง สิ่งสำคัญไม่ใช่ผลงาน สิ่งสำคัญไม่ใช่ผลผลิต แต่เป็นวิธีคิดและพัฒนาการจากการเรียนรู้ของแต่ละคน ที่ผ่านการฝึกฝนด้วยตนเอง

วันที่ 30 ธันวาคม 2554 เป็นวันศุกร์สุดท้ายของปีที่รัฐบาลยังไม่ได้ประกาศให้เป็นวันหยุด แต่บรรยากาศที่ทำงานวันนั้นเหมือนกันเป๊ะกับวันหยุดของทุกๆ คน......ผมเข้าที่ทำงานตอนเช้า แต่เรื่องที่จะเล่าบันทึกวันนี้คือเรื่องตอนบ่าย.....

บ่ายโมงครึ่งผมเดินทางไปถึงโรงเรียนนาสีนวนประชาสรรพ์ตาม "คำชวน" ของครูเพ็ญศรี เมื่อหลายวันก่อนเราคุยกันทางโทรศัพท์ ผม "จับประเด็นและความรู้สึก" ของครูเพื่อศิษย์คนนี้ว่า กังวลใจว่า งานโครงการ "สมุนไพรป่าโรงเรียน" (ต่อยอดจาก LLEN มหาสารคาม สนับสนุนโดย สสค.) จะกลายเป็น Training-based  แทนที่จะอยู่บน Learning-based บนงาน Paticipentory Action Research (PAR) ผมว่างพอดี เลยรีบรี่มาให้ทันที่จะเปลี่ยนลำบากมากในตอนหลัง 

ทางโรงเรียน ครูทั้งโรงเรียน 13 ท่าน ผู้อำนวยการเพ็ญศรีอีก 1 ให้เกียรติและตอนรับเกินกว่าที่ผมจะมี "เกียรติ" เช่นนั้นในตอนนี้ (ไม่ได้หวังจะมีในตอนหน้านะครับ) นอกจากจะมอบของขวัญปีใหม่ให้กับผมอย่าง "เป็นพิธีทางการ" แล้ว ผมยังได้ร่วมวงฉลองปีใหม่ส่งท้ายปีเก่าด้วยกันอย่างสนุกสนาน

เมื่อช่วงเวลาเหมาะสม เมื่อท่าน ผอ. ส่งไมค์ ผมก็ใช้ให้คุ้มค่าคุ้มเวลา ตามประสาคนที่เหมือน "นักวิชาการ" ทั้งๆ ที่ ไม่มีความต้องการจะเป็นอย่างยิ่ง เพราะรู้ดีว่าใจจริงๆ ของครู มองนักวิชาการเป็นคนประเภท "ดีแต่พูด"

ผมตั้งวัตถุประสงค์ในใจที่จะช่วยครูเพ็ญศรี บรรยาย โน้มน้าว เสริม เพิ่มความมั่นใจ ความภูมิใจ ในความสามารถของตนเองของครู และเพื่อจะบอกให้รู้และเข้าใจใน "หลัก" ของ PBL และแนวของ PLC แต่พอพูดได้แค่ 2 นาที ผมก็รู้ได้จากอาการของคนฟังว่าไม่เวิร์คแน่และแปรจากบรรยายเป็น KM ทันที

ผมเริ่มตั้งโจทย์ว่า "นักเรียนมีทักษะอะไรบ้าง จากการสอนของเรา" สรุปคำตอบของครู (ตัวอย่างนะครับ ไม่ได้ให้ตอบทุกคน) ได้ดังนี้ครับ

1) ทักษะการจัดสวน รู้จักพืช รู้จักต้นไม้

2) ทักษะการอนุรักษ์ธรรมชาติ การหวงแหนธรรมชาติ

3) ทักษะด้านการเขียน การอ่าน และการพูด

4) ทักษะการคำนวณ

5) ทักษะทางสุขภาวะ รู้จักหาอาหาร รู้จักปรุงอาหาร ทำอาหาร

6) ทักษะด้านการคิด (ไม่ได้ระบุลงลึก)

7) ทักษะการวางตัว กาละเทสะ

สังเกตว่า ไม่มีทักษะทางเทคโนโลยี ไอซีที ไม่มีทักษะนวัตกรรม ไม่มีทักษะทางภาษาต่างประเทศ ไม่มีทักษะการทำงานเป็นทีม ไม่มีทักษะการควบคุมตนเอง....... ส่วนใหญ่เป็นทักษะชีวิต และทักษะวิชาแกน....มีทักษะด้านความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทักษะด้านการวางตัว สัมมาคารวะ.....

ผมมีความเห็นว่า วิธีการวิเคราะห์และสังเคราะห์จากการ KM ของครูเช่นนี้ จะทำให้เรารู้ "บริบท" อของตนเอง และเมื่อนำมาวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาให้สอดคล้องกับ "จุดเด่น" ทางทรัพยากรต่างๆ เราจะสามารถก้าวไปสู่ "ความภูมิใจ ความมั่นใจ และ รู้จักตนเอง" ในที่สุดแล้ว สิ่งเหล่านี้เองที่จะทำให้เราอยู่อย่างมีความสุขและมีคุณค่า

ถึงตรงนี้ ผมพูดมุ่งเข้าสู่ "เป้าหมาย" โดย "กระตุกและกระตุ้น" ว่า "เราจะภูมิใจกับสิ่งใดที่สุด ก็เมื่อเราได้ทำมันด้วยตนเอง สิ่งสำคัญไม่ใช่ผลงาน สิ่งสำคัญไม่ใช่ผลผลิต แต่เป็นวิธีคิดและพัฒนาการจากการเรียนรู้ของแต่ละคน ที่ผ่านการฝึกฝนด้วยตนเอง"

เครื่องมือวัดทักษะด้านต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน เราสามารถทำมันด้วยตนเอง ยังไม่รู้เราก็เรียน ด้วยความเพียรเราทำได้แน่ จะดีจะแย่แค่ไหนไม่ใช่หน้าที่เราต้องดูถูกตนเอง เมื่อเครื่องมือเสร็จแล้ว เราก็ค่อยเชิญ "ผู้เชี่ยวชาญ" มาให้ข้อคิดเห็น ..... แบบนี้แล้วจะเป็นประโยชน์ที่สุด....สุดท้ายคนที่ได้คือ นักเรียน

ผมขอสรุปแนวคิด (ไม่ต้องเชื่อนะครับ) เกี่ยวกับวิธีการพัฒนาเครื่องมือวัดทักษะ ที่่จะเกิดกับนักเรียนในโครงการ "ป่าสมุนไพรในโรงเรียน" ดังนี้ครับ

1) ครูร่วมมือกัน ระดมสมองกันว่า ที่ผ่านมา กิจกรรมการเรียนการสอนของเรา ทำให้นักเรียน มีทักษะอะไรบ้าง

2) แบ่งทักษะที่ได้จากข้อ 1) ออกเป็น 4 หมวด ได้แก่ ทักษะชีวิต ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะทางเทคโนโลยีไอทีและการสื่อสากล และ ทักษะด้านวิชาการ หรือเรียกอีกอย่างว่า "ทักษะสำหรับอนาคต" อ่านได้จากบทที่ 4 ก้าวที่สามของ LLEN มหาสารคาม 

4) มอบหมายทักษะแต่ละด้านให้คุณครูที่ถนัดและสมัครใจ สนใจ จะนำไปศึกษา และจัดทำเครื่องมือวัดของตนเองขึ้นมา

5) นำเครื่องมือมาสู่ "วงครู" และร่วมกัน สะท้อน (Reflect) เครื่องมือวัดของกันและกัน

6) นำส่งผู้เชี่ยวชาญ หรือเชิญผู้เชี่ยวชาญมา อบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อ เพิ่มเติม ตรวจสอบความเข้าใจ  ต่างๆ เกี่ยวกับเครื่องมือวัด และการนำไปใช้

7) ลุย

อย่าลืมนะครับ คำสำคัญคือ Learning by Doing 

เสนอแบบนี้ไม่รู้ถูกหรือผิด วานผู้อ่านที่ช่วยแนะนำเพิ่มเติมก็แล้วกันครับ

.........

คุณครูโรงเรียนนาสีนวนประชาสรรพ์ทุกท่านครับ ......

 

อ่านแล้วอย่าเพิ่งเชื่อ และอย่าเพิ่งไม่เชื่อ โปรด พิจารณาด้วยตนเองก่อน

 

หมายเลขบันทึก: 473549เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2012 19:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 16:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • เยี่ยมมากเลยครับ
  • ได้ทักษะ 21 Century skills หลายอย่าง
  • รออ่านอีกครับ

* ขอบคุณค่ะ หากเริ่มต้นด้วยการสร้างศรัทธา...ปลูกจิตสำนึก ให้เข้าใจ เป็นการลงรากฐาน ที่มั่นคงไม่คลอนแคลนหวั่นไหว

* สู่การเข้าถึง ด้วยการลงมือปฏิบัติฝึกฝนด้วยวิริยะความเพียร จนเกิดความชำนาญอย่างแท้จริง ขยายผลอย่างต่อเนื่องเป็นหมู่เหล่า

* ก้าวหน้าต่อไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในระดับชุมชน ประเทศ และสากล

* คือความสำเร็จที่พึงหวังได้ในที่สุดค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท