ประธานองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย


คนไทยอย่าเป็นกลางด้วยการนิ่งเฉย ต้องเลือกยืนข้างความถูกต้อง ข้องใจเวลานี้เป็นรัฐบาลของคนทั้งประเทศหรือไม่ ระบุผู้นำต้องกล้ารับผิด เตือนสังคมกำลังแตกแยก ความอยุติธรรมพุ่งถึงขีดสุด ยืนยันกติกาไม่ใช่การเลือกตั้งเท่านั้น ต้องสามารถโต้แย้งได้
วันที่ 30 ส.ค.49 นายอานันท์ ปัญยารชุน ประธานองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย กล่าวปาฐกถาก่อนการเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ “ปฎิรูปสังคมและการเมือง ครั้งใหม่” ว่า คงต้องยอมรับว่าสถานการณ์ภายในประเทศขณะนี้เป็นสถานการณ์ที่อ่อนไหว และน่าเป็นห่วงอย่างมาก ปัจจุบันเวทีแห่งการโต้แย้ง สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกันได้กลายเป็นและถูกอ้างว่าเป็นการแบ่งฝ่ายทางการเมืองเสียหมด เป็นยุคที่พูดเรื่องการเมืองไม่ได้หากพูดจะถูกมองว่าเป็นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ทำให้คนในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ พี่น้อง หรือเพื่อนฝูงต่างต้องระวังตัวไม่อยากจะขัดแย้งกันเองหรือขัดแย้งกับคนทั่วไป
       
       “การเสวนาในวันนี้เป็นเรื่องของความเป็นกลางไม่ได้สนับสนุนฝ่ายใด แต่ผมประกาศเลยว่าผมไม่เป็นกลาง ในชีวิตผมไม่เคยเป็นกลาง ไม่เคยเป็นกลางระหว่างความถูกกับความผิด ไม่เคยเป็นกลางระหว่างความดีกับชั่ว ไม่เคยเป็นกลางระหว่างประชาธิปไตยกับความไม่เป็นประชาธิปไตย ระหว่างธรรมกับอธรรม ไม่เคยเป็นกลางระหว่างกติกาตามรัฐธรรมนูญกับกติกาจัดตั้งระหว่างอิสรภาพของสื่อกับการกีดกั้นอิสรภาพ ผมอยู่ฝ่ายหนึ่งเสมอไป และตลอดชีวิตของผมก็หวังว่าฝ่ายที่ผมอยู่จะเป็นฝ่ายที่ถูกต้อง สังคมไทยใช้คำว่าเป็นกลางพร่ำเพรื่อ จะต้องมีจุดยืน และจากข้อเท็จจริงเหตุผลจะต้องนำไปสู่จุดยืนที่เราแน่ใจว่าเป็นจุดยืนระหว่างฝ่ายไม่ใช่บุคคลและต้องเป็นจุดยืนที่ถูกต้องและเหมาะสม” นายอานันท์กล่าว
       
       นายอานันท์ กล่าวด้วยว่า ตนมองว่าหากจะมีการปฎิรูปสังคมหรือการเมืองจะต้องเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง และหยุดไม่ได้แม้ผู้นำจะไม่เห็นด้วยกับการปฎิรูปแต่สังคมจะเป็นตัวขับเคลื่อนเอง ทั้งนี้การขับเคลื่อนนี้จะต้องอยู่บนพื้นฐาน ข้อเท็จจริงที่มีเหตุมีผล และองค์ความรู้
       
       “มีการพูดเรื่องปฏิรูปมาช้านานแล้ว แต่ผมไม่แน่ใจว่าจะเริ่มได้เมื่อใด หากการเมืองอยู่ในภาวะเช่นนี้ เป็นการเมืองที่อึมครึม คนไม่ไว้วางใจ รัฐบาลเป็นรัฐบาลของคนทั้งประเทศหรือไม่ หรือแม้แต่พรรคการเมืองเป็นพรรคการเมืองของคนทั้งประเทศหรือไม่ เป็นสถานการณ์ที่ไม่มีทางออกมีแต่ทางตัน คนปลดล็อกได้ก็ไม่ยอมปลดและไม่มีทางจะปลดด้วย สถานการณ์เช่นนี้เป็นการอยู่ไปวันๆ อยู่ไปเพื่อบริหารประเทศหรืออยู่ไปเพื่อทำตามวาระแห่งชาติ หรืออยู่ไปเพื่อแก้ปัญหาสำคัญๆอย่างปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรืออยู่ไปเพื่ออะไร หากเหตุการณ์ยังเป็นแบบนี้ผมก็มองไม่เห็นว่าเมื่อไหร่จะเริ่มการปฏิรูปได้” นายอานันท์กล่าว
       
       นายอานันท์ กล่าวต่ออีกว่า หากพูดถึงการปฏิรูปสังคมมันคือการปฏิรูปคนด้วยใช่หรือไม่ คนเรามีตัวตนทุกวันนี้เกิดจากผลลัพธ์อะไร เกิดจากการอบรมของพ่อ แม่ ครูบา อาจารย์ หรือเพื่อนฝูง หรือเกิดจากประสบการณืที่ได้รับ หรือเกิดจากสิ่งแวดล้อม คนแต่ละคนจึงมีความคิดไม่เหมือนกัน แต่คนสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นได้ ตระหนักถึงข้อเท็จจริงได้ แต่สังคมไทยรับข้อเท็จจริงได้แค่ไหน ชอบข่าวสารเท็จเพียงใด มีการบริโภคข่าวสารแบบใด มีความตระหนักถึงศีลธรรม จริยธรรมมากน้องเพียงใด สุดท้ายมีความคิดเป็นของตัวเองเพียงใด หรือยังชอบที่อยู่ใต้อานัติของใคร หรือยังยึดติดอยู่กับเงิน หรือติดอยู่กับผลประโยชน์อยุ่
       
       “ปัจจุบันคนไทยแตกเป็น 2 ซีก ตัวเลขไม่สำคัญว่าจะ 16 ล้านหรือกี่ล้าน แต่หากสิ่งแวดล้อมยังเอื้ออำนวยให้คนในสังคมมีความแตกแยก มีการประหัตประหารกันอยู่ ต่อไปจะน่ากลัวมากๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกๆฝ่ายจะต้องป้องกันไม่ให้เกิด แต่ท่าทีในปัจจุบันผมยังมองไม่เห็นทางออก เพราะค่านิยมใหม่ๆที่เข้ามาได้ละทิ้งค่านิยมเก่าที่ดีงามไป ผมเป็นห่วงคนทุกชนชั้นในสังคมเพราะขณะนี้มีความสับสนเกิดขึ้น มีวิธีคิดที่แปลกประหลาด มีการไม่รับความจริงไม่พูดความจริง การเข้าไม่ถึงข่าวสารที่ถูกต้อง การไม่ได้รับความยุติธรรมจากระบบยุติธรรม มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่ถูกต้อง” นายอานันท์กล่าว และระบุอีกว่า หากจะปฏิรูปสังคม นโยบายที่รัฐบาลกำหนดจะส่งเสริมคุณค่าที่ถูกต้อง โปร่งใสที่ตนจะต้องรับผิดชอบและสามารถอธิบายได้หรือไม่
       
       นายอานันท์กล่าวว่า แต่สังคมไทยในปัจจุบันมักจะหาสิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยได้ เพราะมัวแต่หมกมุ่นอยู่แต่ว่า ใครเป็นมิตรหรือศัตรู ใครได้ผลประโยชน์หรือใครเสียผลประโยชน์ ไม่ให้โอกาสแก่ประชาชนหรือตัวเองได้ไตร่ตรองว่าอะไรผิดหรือถูก หากผิดแล้วสามารถที่จะอธิบายได้หรือไม่
       
       นายอานันท์ ได้กล่าวถึงกรณีความขัดแย้งระหว่างประเทศอิสราเอลกับประเทศเลบานอนว่า การโจมตีเลบานอนของอิสราเอลมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ประชาชนของประเทศอิสราเอลก็เรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบ นี่คือประเทศที่อยู่ในสงครามแต่ก็มีความเป็นประชาธิปไตย และผู้นำเขาก็แสดงความรับผิด ซึ่งไม่ได้รับผิดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่รับผิดตั้งแต่เดือนที่เกิดเหตุวุ่นวายแล้ว
       
       “รับผิดมันเสียหายตรงไหน ผมยังรับผิดต่อภรรยาอยู่บ่อย และภรรยาของผมก็ยกโทษให้ การยอมรับผิดคือการแสดงการกล้าหาญ ไม่ใช่แสดงความอ่อนแอ ต้องรับผิดและรับผิดชอบด้วย” อดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้กล่าว
       
       อดีตนายกรัฐมตรี กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องยอมรับว่ามีข้อบกพร่อง แต่รัฐธรรมนูญไม่ใช่ต้นตอของปัญหาใรบ้านเมืองเราขณะนี้ ปัญหาอยู่ที่มีการบิดเบือน และไม่ใช้รัฐธรรมนูญต่างหาก และใครเป็นคนบิดเบือน ใครที่ไม่ใช้รัฐธรรมนูญ แล้วใครที่ทำตามกติกา แล้วกติกาที่อ้างคืออะไร หากบอกว่าการเลือกตั้ง จะต้องบอกว่ากติกาไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเลือกตั้ง หรือมีสภา เหล่านี้เป็นเพียงรูปแบบ
       
       “รัฐธรรมนูญก็ดี นิติบัญญัติก็ดี ฝ่ายบริหารก็ดี การเลือกตั้งเหล่านี้มันเป็นเพียงรูปแบบประชาธิปไตยมันต้องอยู่บนพื้นฐานของสังคมที่เปิดกว้างทางความคิด อยู่บนพื้นฐานของสังคมที่ใฝ่หาความจริง อยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรม บนพื้นฐานของสื่อเสรี มีส่วนร่วมในการตัดสินใจของประชาชน รวมทั้งความอิสระของกระบวนการยุติธรรมเริ่มแต่ตำรวจ ศาล อัยการ ประชาธิปไตยต้องอยู่บนพื้นฐานที่โปร่งใส สามารถโต้แย้งได้ สามารถที่จะอธิบาย และให้ความกระจ่างแก่ประชาชนได้” นายอานันท์กล่าว
       
       อดีตนายกรัฐมนตรี รายนี้เปิดเผยอีกว่า สมัยที่ตนเป็นรัฐบาล หากตนไม่สามารถอธิบายให้ประชาชนกระจ่าง และเข้าใจถึงนโยบายที่ดำเนินได้ ตนจะไม่โทษประชาชนที่ไม่เข้าใจ หากการเป็นรัฐบาลเอื้ออาทรต้องเอาใจไปสู่ประชาชน ไม่ใช่เอื้ออาทรด้วยสิ่งของ เงินทอง หรือซื้อคน ศัพท์ที่ใช้สวยถูกต้อง แต่วิธีการมันผิด ที่ผ่านมาสังคมพูดถึงคนด้อยโอกาสทางการศึกษา ทางกายภาพ มากมายไปหมด แต่ต่อไปตนคิดว่าจะไม่ใช่ด้อย แต่จะเป็นง่อยกันหมด
       
       “สองขาของตัวเองจะไม่มีกำลังวังชาแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็สิ่งที่ต้องคิด รวมถึงข่าวสารข้อเท็จจริงมันอยู่แต่ในกรุงเทพฯหรือออกไปต่างจังหวัดบ้างหรือไม่ เราล้างสมองคนต่างจังหวัดมานานแล้ว เราห่วง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะแยกดินแดน แต่ตอนนี้พรรค ปชป.ขึ้นเหนือไม่ได้ คุณทักษิณลงใต้ไม่ได้ แล้วนี่มันประเทศอะไรกัน มันไม่ใช่ประเทศด้อยพัฒนาแล้ว ผมไม่อยากใช้คำของสหประชาชาติมันจะดูแรงไป แต่เขาเรียกประเทศที่เป็นแบบนี้ว่าประเทศกำลังล้มเหลว” นายอานันท์กล่าว
       
       ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวแสดงความคิดเห็นต่อคำปาฐกถาของนายอานันท์ ว่า เป็นเรื่องที่ดีที่ช่วยเตือนสติทุกคนในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองที่ต้องกลับไปหารากฐานของค่านิยม ในฐานะที่ตนเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ตนเน้นเรื่องสังคมคุณธรรมควบคู่การปฏิรูปการเมือง โดยเฉพาะยืนยันในเรื่องค่านิยมที่ถูกต้องกี่ยวกับการปฏิบัติตัวของนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบที่มีต่อประเทศ
       
        ผู้สื่อข่าวถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ควรทบทวนบทบาทที่ผ่านมาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนคิดว่าทุกฝ่ายต้องพยายามทบทวนบทบาทตัวเอง ที่สำคัญคือค่านิยมที่นำบ้านเมืองสู่วิกฤติการเมืองขณะนี้ เมื่อถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณต้องรับผิดชอบและเสียสละเฉกเช่นผู้นำอิสราเอลที่นายอานันท์ยกตัวอย่างหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ทุกฝ่ายต่างต้องทบทวนในการทำประโยชน์แก่บ้านเมือง ปัญหาขณะนี้คือมีผลประโยชน์แอบแฝงเข้ามา และมีการหลีกหนี บิดเบือนการตรวจสอบ
       
        “ที่ผ่านมาเราปล่อยให้เกิดการเมืองข้างถนน เพราะความพยายามปิดกั้นคนที่คิดต่าง ทำให้คนต้องเผชิญหน้ากัน มีการคะคานกันด้วยตัวเลข นี่คือปัญหาที่ต้องแก้ไข” นายอภิสิทธิ์กล่าว และว่า สิ่งที่นายอานันท์เป็นห่วงว่าประเทศไทยจะล้มเหลว โดยส่วนตัวตนคิดว่าสังคมไทยมีประวัติศาสตร์ และมีพลังที่จะขับเคลื่อนให้บ้านเมืองประเทศชาติมีความเจริญก้าวหน้า แต่ผู้นำจะต้องนำสิ่งที่ดีมาสร้างสรรค์ ไม่ไช่เล่นกับความโลภ ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน อย่านำส่วนนั้นมาสร้างปัญหาแก่สังคม
คำสำคัญ (Tags): #โปร่งใส
หมายเลขบันทึก: 47342เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2006 10:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 14:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท