กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลมีความจำเป็นต่อประเทศไทยหรือไม่


กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลมีผลต่อทุกๆคน ต่อสังคม และต่อประเทศชาติ
กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล หรือที่ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Private International Law นั้น มักมีหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นสาขาหนึ่งของกฎหมายระหว่างประเทศ แต่แท้ที่จริงแล้ว กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลเป็นสาขาหนึ่งของกฎหมายภายในของรัฐ ที่ทำหน้าที่วินิจฉัยคดีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายต่างประเทศในกรณีที่นิติสัมพันธ์ของเอกชนมีองค์ประกอบต่างประเทศ(foreign element)เกี่ยวข้องในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งศาลที่ทำหน้าที่พิจารณาคดีต้องพิจารณาว่าควรจะเลือกใช้กฎหมายต่างประเทศของประเทศใดที่จะเป็นกฎหมายที่ใช้ปรับบทกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลมีความจำเป็นต่อประเทศไทยหรือไม่นั้น การที่จะตอบคำถามนี้ จะต้องทราบถึงเนื้อหาของกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลก่อน ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลของไทยนั้น มีเนื้อหาครอบคลุม 4 เรื่อง คือ เรื่องกฎหมายสัญชาติ เรื่องนิติฐานะของคนต่างด้าวภายในรัฐ เรื่องกฏหมายขัดกัน และเรื่องเขตอำนาจศาลหรือกระบวนการวิธีพิจารณาความระหว่างประเทศและการรับรองและการบังคับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ซึ่งแต่ละเรื่องมีความสำคัญดังนี้ 1.เรื่องกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ เป็นกฎหมายที่กำหนดสถานะของบุคคลว่าผู้ใดเป็นสมาชิกของรัฐใด และผู้ใดเป็นคนต่างด้าว เหตุที่ต้องกำหนดก็เพื่อให้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในเรื่องของสิทธิหน้าที่ที่สมาชิกหรือพลเมืองมีต่อชาติ โดยเฉพาะสิทธิในทางการเมือง รัฐแต่ละรัฐจึงมีอำนาจที่จะกำหนดว่าสมาชิกหรือพลเมืองของตนนั้นควรมีคุณสมบัติอย่างไร 2.เรื่องนิติฐานะของคนต่างด้าวภายในรัฐ เนื่องจากปัจจุบันมีการเคลื่อนย้ายของประชากรเพิ่มมากขึ้น ประชากรที่ย้ายไปอยู่ในประเทศที่ตนมิได้เป็นสมาชิกจึงถือว่าเป็นคนต่างด้าวของประเทศนั้น ซึ่งเรื่องนิติฐานะของคนต่างด้าวนี้จะเกี่ยวข้องกับสิทธิหน้าที่ของคนต่างด้าวที่พักอาศัยอยู่ภายในรัฐ เช่น สิทธิในการเข้าเมือง สิทธิในการขออนุญาตทำงาน สิทธิในการถือครองที่ดินเป็นต้น 3.เรื่องกฎหมายขัดกัน กฏหมายขัดกันเป็นสาขาหนึ่งของกฎหมายภายในรัฐ โดยรัฐแต่ละรัฐย่อมมีกฏเกณฑ์ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายเป็นของตนเอง กฎหมายขัดกันของรัฐหนึ่งจึงแตกต่างจากอีกรัฐหนึ่ง รวมถึงการมีเนื้อหาแตกต่างกันด้วย ซึ่งเป็นผลมาจากเรื่องจุดเกาะเกี่ยว(connecting factor)ของรัฐแต่ละรัฐที่ยอมรับแตกต่างกัน เช่นกรณีเรื่องของความสามารถหรือสถานะบุคคล ที่กฎหมายระบบ Common Lawใช้กฎหมายที่บุคคลนั้นมีภูลำเนาเป็นจุดเกาะเกี่ยว ในขณะที่กฎหมายระบบ Civil Law ใช้กฎหมายสัญชาติเป็นจุดเกาะเกี่ยว กฎหมายขัดกันจึงเปรียบเหมือนป้ายบอกทางว่าศาลจะต้องใช้กฎหมายของชาติใดในการพิจารณาคดี 4.เรื่องการรับรองและการบังคับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ โดยที่การรับรองหรือการยอมรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศคือการที่ศาลของประเทศหนึ่ง ใช้อำนาจทางตุลาการยอมรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศซึ่งเป็นศาลที่ได้วินิจฉัยคดีและมีคำพิพากษา ส่วนการบังคับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ คือการที่โจทก์ตามคำพิพากษาประสงค์ที่จะให้จำเลยชำระหนี้เงินตามคำพิพากษา ซึ่งจำเลยมีทรัพย์สินที่อาจชำระหนี้ได้ในประเทศที่จะให้มีการบังคับคดี ถึงแม้ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่วางหลักเกณฑ์ในเรื่องการรับรองและการบังคับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศอย่างเป็นระบบและครอบคลุมก็ตาม ซึ่งอาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ประเทศไทยกลัวจะสูญเสียอำนาจตุลาการไป แต่ในอนาคตประเทศไทยก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงในเรื่องนี้ได้ เพราะปัจุบันทุกประเทศในโลกมีการติดต่อสัมพันธ์กันมากขึ้น ซึ่งอาจมีผลทำให้เกิดคดีฟ้องร้องมากตามไปด้วย จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่า กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลมีความสำคัญและมีความจำเป็นต่อประเทศไทยเป็นอย่างมากทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ถึงแม้ว่าเนื่อหาของแต่ละเรื่องจะเกี่ยวกับกฎหมายหลายฉบับก็ตาม รวมทั้งการที่ไม่อาจเชื่อมโยงความสัมพันธ์แต่ละเรื่องว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบก็ตาม แต่กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลก็มีผลต่อทุกๆคน ต่อสังคม และต่อประเทศชาติ โดยที่ผลต่อตนเองคือการมีสิทธิและหน้าที่ในรัฐที่ตนเองเป็นสมาชิกอยู่ ผลต่อสังคมคือการที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ มีการเคลื่อนย้ายของประชากรจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการมีคนต่างด้าวในรัฐใด รัฐนั้นจะต้อง เตรียมพร้อมและปฏิบัติต่อบุคคลต่างด้าวเหล่านั้นอย่างเหมาะสม และผลต่อประเทศชาติคือในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฏเกณฑ์การเลือกใช้กฎหมายต่างประเทศโดยศาลว่าศาลต้องเลือกใช้กฎหมายใดในการพิจารณาคดี ซึ่งรวมไปถึงการรับรองและการบังคับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศที่จะเข้ามามีบทบาทในอนาคตด้วย ดังนั้นกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลจึงยังคงมีความสำคัญและมีความจำเป็นต่อประเทศไทยต่อไป ตราบเท่าที่มนุษย์ยังคงมีการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างกันทั่วโลก
หมายเลขบันทึก: 47278เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2006 20:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จริงหรือคะที่บ่อเกิดของกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ก็คือ กฎหมายภายในเท่านั้น

ไม่มีสนธิสัญญาหรือจารีตประเพณีระหว่างประเทศหรือหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ว่าด้วย " เอกชน" เลยหรือคะ ?

อ.ก็เคยคิดเรื่องนี้ ก็เลยไปค้นและเขียนเป็นบทความมาหลายปีแล้วค่ะ ลองอ่านดู

กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลในสถานะที่เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ, ใน:วารสารนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์, ๑๘ (๒๕๓๑) ๑, ๑๐๙-๑๓๓

http://www.lawonline.co.th/Document/AcharnPuntip8.doc

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท