จิตตปัญญาเวชศึึกษา 177: NEW EDUCATION (1) Rote learning to Real learning


Rote learning to Real learning

มนุษย์นั้นเกิดมาเรียกได้ว่ามาก้บ "ศักยภาพ" สูงส่งมากมาย มากจนกระทั่งน่าสงสัยว่า ทำไปทำมา ทำไมมันถึงหายไปได้เยอะขนาดนั้น ทั้งๆที่ต้นทุนมีมหาศาล ข้อมูลข่าวสาร สาระอะไรต่างๆก็มีให้เพียบพร้อม ก็ยังเจอปรากฏการณ์ที่ทำให้คนอดรำพึงรำพันว่า "ยิ่งเรียนยิ่งโง่" ได้อยู่เป็นระยะๆ มันเป็นที่คนเรียน คนสอน พ่อแม่ โรงเรียน สิ่งแวดล้อม รัฐบาล เชื้อชาติศาสนา รึว่าดวงชะตาอะไรกันแน่หนอ

เราท่านเคยเรียนแบบ rote learning มาเยอะ เป็นยุคทองแห่งผู้ที่มีความทรงจำดี สมัยก่อนคนจะเขียน จะบันทึกต้องมีความรู้ อาจจะเพราะเหตุนี้ "ขยะ" ในแหล่งบันทึกจึงยังไม่มาก เพราะคนไม่มีความรู้ไม่ค่อยลงมาเล่นใน "พื้นที่บัณฑิต" ตรงนี้มากนัก ก็เป็นการง่ายและปลอดภัยที่เราจะหาความรู้โดยการอ่านและจำ

แต่ในปัจจุบันมันไม่ง่ายเช่นนั้นแล้ว

ในปัจจุบันเป็นยุคที่สาระข่าวสารข้อมูลมีเหลือเฟือ และสิ่งสำคัญก็คือ "ใครก็ได้ก็สามารถจะบันทึก จะเขียนได้" ความแปลกใหม่ในอดีต ที่เราไม่ต้องเผชิญหน้าเพราะว่ามีภูมิศาสตร์มาเป็นเครื่องบดบังขวางกั้นปกป้องอยู่ ก็ปรากฏว่าภูมิทัศน์เหล่านี้ไม่เป็นอุปสรรคใดๆอีกต่อไป การก้าวกระโดดของความแปลกใหม่ที่เดิมจะค่อยเป็นค่อยไปและค่อยๆใช้เวลาได้เปลี่ยนมาเป็นการเผชิญหน้าอย่างฉับพลันทันที

ยุคนี้จึงเป็นยุคแห่ง "ต้นทุนและศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์" ที่จะมีบทบาทในการเรียนรู้ แทนที่ rote learning ของเดิม

การ "สอน" แล้วจึงมีการ "เรียน" แบบในอดีตแสดงข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนเรียน (ลูกศิษย์) พกพาเอาความแตกต่าง ความเป็นตัวตนของตนเอง และ "ปัญญา" อีกรูปแบบมาหาคนสอน (ครู) สิ่งที่ครูเคยรู้ในบริบทหนึ่ง อาจจะใช้ไม่ได้ หรือเปลี่ยนความหมายไปในอีกบริบทหนึ่ง บริบทที่เคยใช้ไม่ได้เพราะไกลตัว ไกลปัจจุบัน ก็กลับกลายเป็นบริบทใกล้ชิด เป็น here and now มากขึ้นเรื่อยๆ วิธีการสอนที่ครูใช้ความรู้ที่มากกว่าของครู (ในบริบทครู) ต้องขยับขยายเปิดพื้นที่แห่งความไม่รู้ของครู และยอมรับพื้นที่ใหม่ สนามการใช้ความรู้ใหม่ ความต้องการใหม่ของผู้เรียนมากขึ้น

เป็นที่มาของการเรียนแบบ problem-based learning และบทบาทของ "ผู้เอื้ออำนวยการเรียนรู้ (facilitator)" ในสนามการศึกษายุคปัจจุบัน

ยิ่งศาสตร์ที่มีความใกล้ชิดกับ "ชีวิต" มากเท่าไหร่ การเรียนรู้ด้วยการเอื้อผู้เรียนให้ใช้ศักยภาพของตนเองยิ่งมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเท่านั้น ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด ณ ขณะนี้ได้แก่ เรื่องของวิทยาศาสตร์สุขภาพ ว่าด้วย "สุขภาวะ" ของคน การซ่อมแซมร่างกายที่เจ็บไข้ได้ป่วยจะมีความสำคัญน้อยกว่าการสร้างเสริมสุขภาพ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งสุดท้ายก็คือการให้ความหมายของชีวิต หรือการอยู่อย่างมีความหมายของแต่ละปัจเจกบุคคล และสังคม

Rote learning to Real learning

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงมีพระราชดำรัสว่า "True success is not in the learning, but in its application to the benefit of mankind." ความสำเร็จที่แท้ไม่ได้อยู่ที่การเรียนเท่านั้น แต่อยู่ที่การนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ พระปรีชาญาณของพระองค์ได้สำแดงออกจากความทันสมัย และความทันต่อปัจจุบัน ณ ขณะนี้เป็นอย่างยิ่ง ความรู้ใดๆเราจะต้องนำมาใช้ และใช้เพื่อความเจริญก้าวหน้า ทั้งภายในและภายนอก ในปัจจุบันพลวัตการเปลี่ยนแปลงของบริบทจะเป็นสิ่งท้าทายสำหรับความรู้สถิตย์ (static) ที่แข็งเกินกว่าจะปรับตัวได้

โชคดีที่มนุษย์ถูก "ออกแบบ" มาให้มีศักยภาพที่จะข้ามพ้นปัญหาอุปสรรคแบบนี้มาแต่แรก!

เพราะว่ามนุษย์นั้นหลากหลายในศักยภาพ และเราอยูาร่วมกันโดยการหยิบยืมสิ่งที่เราไม่มีมาจากผู้อื่น แบ่งปันสิ่งที่เรามีให้ผู้อื่น เรารวมกันแล้วเกิดการขยายศักยภาพไปอย่างแทบจะเรียกได้ว่า "ไร้ขีดจำกัด เหนือจินตนาการ" เลยทีเดียว 

ถ้าหากเพียงเราสามารถ "ปรับตัว" ในระบบการเรียน แทนที่จะใช้ความรู้ที่ปักหลักแน่นอยู่กับที่ แต่ทำให้เป็นความรู้ที่มีชีวิต มีการตอบสนองดัดแปลงไปตามบริบท ไปตามสิ่งแวดล้อมภายนอก และไปตามสิ่งแวดล้อมภายในได้ ไม่เพียงแต่เราจะขยายและได้ใช้ศักยภาพเต็มที่ของตัวเราเอง เราจะยังเห็นศักยภาพที่แท้แบบสมุหะ (collective) และเข้าใจได้ว่า "ทำไม เราถึงได้แตกต่างกัน" เพราะความต่างของเรานั้นที่แท้คือความเข้มแข็งของ species ของเผ่าพันธุ์ของเรานั่นเอง

หากสมมติฐานข้างต้นนี้เป็นความจริง ระบบการเรียน การศึกษาใหม่ ที่จะเท่าทันกับปัญหาใหม่ๆในยุคนี้ต้องเป็นแบบใด

การสอนแบบป้อนเข้าปาก กรอกหู จับมือทำ ต้องปรับเปลี่ยนไหม?

ข้อสอบ "ปรนัย" ที่ทางออกที่ถูกต้อง มีข้อเดียวตรงหน้านั้น กำหนดมาโดยใครบางคน ยังจะ "ช่วย" ยังประโยชน์ได้เต็มที่อยู่รึเปล่า?

และบทบาทของครู ควรจะมีการพัฒนาไปในทิศทางใด?

โปรดติดตาม NEW EDUCATION (2) Facilitation of Learning!

หมายเลขบันทึก: 472024เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2011 10:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 23:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

Rote learning เป็นการจัดศึกษาเพื่อรักษาอำนาจของครูและผู้เกี่ยวข้อง

Real learning เป็นการจัดการศึกษาเพื่อ Empowerment ให้ผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง ตามศักยภาพของตนเอง

การจัดการศึกษาตามบริบทของวัฒนธรรมไทย คงจะต้องใช้หลัก "อำนาจร่วม" ครับเพื่อรักษาอำนาจของครูและผู้ที่เกี่ยวข้องเอาไว้บ้าง ขณะเดียวกันก็ให้ผู้เรียน มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ ประมาณ ห้าสิบ ห้าสิบ

จะ Empowerment ไปให้ผู้เรียนแบบ Real learning ไปเต็มร้อย โดยคุณครู Facilitator คุณครูและผู้เกี่ยวข้องบางท่าน น่าจะทำใจลำบากครับ เพราะเหมือนกับอำนาจจะหมดไป

บันทึกนี้เกี่ยวข้องกับ ครูเพื่อศิษย์ อย่างเต็มที่ค่ะอาจารย์ อยากขอรบกวนอาจารย์ช่วยใส่คำสำคัญ ครูเพื่อศิษย์ ด้วยนะค่ะ เพื่อเป็นการเชื่อมโยง จิตตปัญญาเวชศึกษา เข้ากับ บริบทของครูเพื่อศิษย์ค่ะ

หลายๆ ท่านที่ให้ความสนใจเรื่องครูเพื่อศิษย์แต่ไม่รู้จักจิตตปัญญาเวชศึกษาจะได้รับประโยชน์จากเรื่องที่อาจารย์เขียนได้โดยสะดวกยิ่งขึ้นค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

เพราะว่ามนุษย์นั้นหลากหลายในศักยภาพ และเราอยูาร่วมกันโดยการหยิบยืมสิ่งที่เราไม่มีมาจากผู้อื่น แบ่งปันสิ่งที่เรามีให้ผู้อื่น เรารวมกันแล้วเกิดการขยายศักยภาพไปอย่างแทบจะเรียกได้ว่า "ไร้ขีดจำกัด เหนือจินตนาการ" เลยทีเดียว 

..

อ่านบทความนี้แล้ว ดูเหมือนเราจะเข้าสู่อะไรก็ต้อง "Open source" ค่ะอาจารย์

สมัยก่อน พ่อเคยซื้อซีดี Encarta @Microsoft ให้  ตอนนี้ปิดตัวเพราะ Wikipedia ไปแล้ว
สมัยก่อน อยากประกาศต้องซื้อเนื้อที่สมุดหน้าเหลือง เดี๋ยวนี้ Cragstlist เบียดตกขอบไปแล้ว

 

รูปเด็กๆที่อาจารย์นำมาประกอบ ก็ยิ่งสื่อและยืนยันเรื่องราวอย่างที่อาจารย์ชวนพิจารณาให้สัมผัสได้เป็นอย่างดีเลยครับ เด็กๆแต่ละคนแตกต่างกันทั้งเสื้อผ้า อาการและท่าทางที่แย้มยิ้ม หรือแม้แต่เจ้าหนูผิวดำ ที่นอกจากไม่หัวเราะและยิ้มอย่างคนอื่นแล้วก็กลับจดจ้องเฝ้าดู สื่ออารมณ์คนละแบบกับคนอื่น ต่างจากคนส่วนใหญ่ แต่เหนือความแตกต่างหลากหลายทั้งหมด เราก็รู้สึกและเข้าถึงได้ ในความบริสุทธิ์สดใสของเด็กๆ ที่มีเหมือนกันทุกคน

อ.วิชชาครับ

Rote learning leads to rotten นะครับ ถ้าจะแสวงหาอำนาจก็ไปเป็นนักการเมืองหรือเป็นทหารดีกว่า อย่ามาเป็นครูเลย อำนาจเดียวี่ครูมีจริงๆคืออำนาจแห่งความรัก ซึ่งไม่ต้องกลัวใครจะมาแย่ง หรือทำให้มันลดไปไหน

อฺ.จันทวรรณ

จัดให้ครับ noproblemo

ปัท

ผมยังถึงกับใช้ open source อะ กลัวต้องปรับแต่งค่าอะไรต่อมิอะไรเอง

อ.วิรัตน์ครับ

ผมชอบรูปนี้อย่างอาจารย์ว่ามาเลยจริงๆ เด็กๆนี่แสดงอารมณ์ได้ "สด". กว่าผู้ใหญ่เยอะเลยนะครับ

รูปนี้ผม search Internet ใช้ keyword ว่า "laugh and learn" ครับ

ขอบคุณครับสำหรับ อำนาจของครูที่มีจริงๆ คือ

"อำนาจแห่งความรัก"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท