ครูลักษณ์ กศน.ตำบลเกาะเรียน
นางสาว เสาวลักษณ์ ครูลักษณ์ กศน.ตำบลเกาะเรียน ปั้นดี

ครูเพื่อศิษย์


ครูเพื่อศิษย์
 วันครู
           วันที่ ๑๖ มกราคม ของทุกปีกำหนดให้เป็นวันครูซึ่งวันครูจัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ พ.ศ. 2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภาเป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษาและวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการ ควบคุม จรรยาและวินัยของครูรักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัว ได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู

         ด้วยเหตุนี้ในทุกปี คุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และชักถามปัญหาข้อข้องใจต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบข้อสงสัย สถานที่ ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคคียาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา

         ปี พ.ศ. 2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า

         "ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณ เป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมี สักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพ สักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับ คนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละ ทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง"

         จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่นๆ ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึก ถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดี เพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมากในปีเดียวกันที่ประชุมคุรุสภาสามัญประจำปีจึงได้พิจารณาเรื่องนี้และมีมติเห็นควรให้มีวันครูเพื่อเสนอ คณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครูและเพื่อส่งเสริม ความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน

          การจัดงานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าวได้ ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงานวันครูนี้ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญคือ หนังสือประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างเป็นถาวรวัตถุ

          การจัดงานวันครูได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลา ในปัจจุบันได้จัดรูปแบบ การจัดงานวันครูจะมีกิจกรรม 3 ประเภทหลักดังนี้

  • กิจกรรมทางศาสนา
  • พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วยพิธีปฏิญาณตน การกล่าวคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์
  • กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู ส่วนมากเป็นการแข่งขันกีฬาหรือการจัดงานรื่นเริงในตอนเย็น

นายกรัฐมนตรีมอบรางวัลครูดีเด่นประจำปี มอบของที่ระลึกให้ครูอาวุโสนอกและในประจำการจรรยา บทสวดเคารพครู

(สวดนำ) ปาเจราจริยาโหนฺติ (รับพร้อมกัน) คุณุตฺตรานุสาสกา ปญฺญาวุฑฺฒิกเร เต เต ทินฺโนวาเท นมามิหํ

           (สวดทำนองสรภัญญะ)

(สวดนำ) อนึ่งข้าคำนับน้อม (รับพร้อมกัน) ต่อพระครูผู้การุณย์

โอบเอื้อและเจือจุน อนุศาสน์ทุกสิ่งสรรพ์

ยัง บ ทราบก็ได้ทราบ ทั้งบุญบาปทุกสิ่งอัน

ชี้แจงและแบ่งปัน ขยายอรรถให้ชัดเจน

จิตมากด้วยเมตตา และกรุณา บ เอียงเอน

เหมือนท่านมาแกล้งเกณฑ์ ให้ฉลาดและแหลมคม

ขจัดเขลาบรรเทาโม หะจิตมืดที่งุนงม

กังขา ณ อารมณ์ ก็สว่างกระจ่างใจ

คุณส่วนนี้ควรนับ ถือว่าเลิศ ณ แดนไตร

ควรนึกและตรึกใน จิตน้อมนิยมชม

ครูดี "ครูเพื่อศิษย์"

ครูดี ครูเพื่อศิษย์จะต้องเป็นครูที่มีจิตที่จะ “พัฒนา” จิตของตน
ครูดี จะรู้จักพัฒนาจิตตน “เพื่อศิษย์”
เพื่อครูนั้นต้องมีหน้าที่ “พัฒนาจิต” ของลูกศิษย์ให้เข้าถึง “ปัญญา”

       ครูนั้นถ้าให้ความรู้ ให้เท่าไหร่ก็ไม่พอ ให้เท่าไหร่ศิษย์ก็ไม่มีวันรู้หมด
แต่ถ้าครูนั้นพัฒนาจิตของตนให้หมดจิต ก็จะสามารถพัฒนาศิษย์ให้มี “ปัญญา”

       ศิษย์ที่มีปัญญาจะสามารถเอาตัวรอด เพราะรู้ลอด แทงตลอดทั้งเหตุที่มีแห่งความรู้ การเกิดขึ้นและดับไปแห่งความรู้นั้น

        ครูดี จึงจำเป็นต้องพัฒนาจิตของตนให้เข้าถึง “ปัญญา” ทั้งปัญญาที่เกิดจากการฟัง (สุตตมยปัญญา) ปัญญาที่เกิดจากการคิด (จินตามยปัญญา) และปัญญาหยั่งลึกที่เกิดขึ้นสมาธิในจิตอันประภัสสร (ภาวนามยปัญญา)

ครูดี ครูเพื่อศิษย์จึงจำเป็นต้องใช้ “ความรู้” เพื่อพัฒนาจิต
ครู ต้องมีความรู้
ครูดี ต้องมี “ปัญญา”
ครูเพื่อศิษย์ ต้องสามารถเป็นที่พึ่งพาให้ลูกศิษย์สร้าง “ปัญญา” ที่แท้จริง...

        ปัญญาที่แท้นั้นจักเกิดขึ้นเมื่อครูมีการอบรมจิตผ่านไปในระดับหนึ่ง
จิตของครูนั้นจะก้าวผ่านจุดของการเรียนแบบท่องจำ การสอนแบบทำแบบฝึกหัด การทดลองจำลองฝึกปฏิบัติ แต่ทุกย่างก้าวในการเรียนนั้นแน่ชัดเป็น “ของจริง”

         จิตที่อบรมจนใช้ปัญญาเป็นแล้ว จะสามารถประยุกต์ใช้สิ่งต่าง ๆ รอบกาย โดยเฉพาะ “ความรู้” ที่ทรงพลังอย่างยิ่งจากเด็กที่อยู่ในห้องมาถักทอ สานต่อเรื่องราว เรื่องต่อเรื่อง คนต่อคน เรื่องใคร เรื่องคนนั้น จนสามารถทำให้ศิษย์คิดและทำตามนั้นได้จริง

ครูดีต้องมี “สมาธิ”...
         ครูดีต้องมองและอ่านอากัปกิริยาของเด็ก ๆ ในห้องออกอย่างกระจ่าง ด้วยจิตใจที่เป็นกลาง 
การที่จะมองอย่างเป็นกลางและกระจ่างได้จำเป็นต้องมี “สมาธิ” คิด อ่าน จิตและความนึกคิดของเด็ก “ทุก ๆ คน” ให้ออก

ครูดีจักต้องมองอ่านเด็กรายบุคคล...
          เด็กหนึ่งคนก็หนึ่งชีวิต ในแต่ละชีวิตมีพื้นฐานและประสบการณ์แตกต่างกัน 
การที่เราจะใช้เทคนิคการสอนแบบเดียว ชุดเดียว ในหนึ่งห้องแบบเดิมนั้น “ครูดี” ต้องปรับตามสภาพให้สอดคล้องกับเด็กรายบุคคลให้ได้ต้อง “เอาใจใส่เด็ก” รายบุคคล ดู แก้ ไข พัฒนา กันเป็นคน ๆ ไปไม่เหลือบ่ากว่าแรง ถ้าเป็น “ครูดี” ต้องทำได้ และทำจริง

ครูดีต้องเสียสละ... คิดจะเป็นครูแล้วจะต้องเสียสละ ถ้ายิ่งจะเป็นครูดีด้วยแล้วต้องยิ่งเสียสละ...
เสียสละความคิดปรุงต่าง ๆ ที่จะย้อมใจตนให้มัวเมาไปกับกิเลส
นำเวลา นำพลังที่มีมาทุ่มเทช่วยชีวิต สร้างอนาคตให้กับ “ศิษย์” ตาใส ๆ ที่พ่อแม่ฝากความหวังไว้กับเราอาชีพที่ยิ่งใหญ่กับภาระที่ใหญ่ยิ่ง เรามีวันนี้มีใช่โชคช่วย แต่กรรมนั้นเอื้ออำนวยมาเป็นครู “ครูที่ดี”

ครูดีมีเวลาพอสำหรับศิษย์เสมอ...
เรื่องชีวิต เรื่องลมหายใจเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ต้องรักษาให้กายนี้ดำรงอยู่เพื่อเป็นครูดี
เรื่องงาน เรื่องเป็นครูเป็นสิ่งที่ควรทำให้เป็นครูที่ดี ต้องทำจิตดี จิตที่ดีจะมีเวลาให้ศิษย์เสมอ
เรื่องโลก เรื่องหนัง เรื่องละคร ครูที่ดี จักเอาเวลานั้นมาคิด มามอบ มาให้กับศิษย์ 
ดังนั้นครูดีจะมีเวลามากล้น เพราะเวลากิน ก็กินเพื่อความตั้งอยู่ได้แห่งกายนี้
เวลาพักผ่อนก็ไม่มากเกินไป เพราะจิตไม่ปรุงด้วยกิเลส ตัณหา และราคา จิตไม่เหนื่อยมาก จิตไม่ต้องพักมาก ดังนั้นเวลางานในวันหนึ่งทำอย่างเต็มที่ ครูดีใช้เวลาเป็น คุ้มค่า พอสำหรับศิษย์เสมอ

ครูดีต้องเป็นคนกตัญญู...
คำพูดอื่นหมื่นแสน มิเทียบแม้นการปฏิบัติ
ครูดีต้องกตัญญูรู้คุณต่อบิดามารดา ผู้มีพระคุณ ที่เปรียบประหนึ่งเป็นครูคนแรก ครูคนที่ประเสริฐสุดแห่งชีวิต
ครูจักเจริญมิได้เลยหากขาดความกตัญญูต่อครูของตน
ความกตัญญูต่อครูของตนจะนำพาชีวิต “ครู” ให้รุ่งเรือง
พ่อและแม่เป็นคุณครูที่ประเสริฐยิ่ง 
คำนิยาม คำจำกัดความของครูดีเป็นอย่างไร โปรดดู ครูพ่อ ครูแม่ไซร้ นั่น “ครูดี”...

ครูดี “ครูเพื่อศิษย์” โปรดเดินตามรอยเท้าของครูพ่อ ครูแม่ 
ครูผู้ประเสริฐที่ให้กำเนิด เลี้ยงดู อบรม สั่งสอน เรามาถึงกาลปัจจุบัน
ครูพ่อ ครูแม่ สอนเราอย่างไร เราจักสอน “ศิษย์” อย่างนั้น
ครูพ่อ ครูแม่ เสียสละให้เราอย่างไร เราจักเสียสละตอบแทนท่านในฐานะ “ศิษย์” ที่ดีอย่างนั้น

ทำหน้าที่ทุกหน้าที่ให้ดีที่สุด 
เป็นครู ต้องเป็นครูดี “ครูเพื่อศิษย์”
เป็นลูกของครูพ่อ ครูแม่ ต้องเป็นศิษย์ดี “ศิษย์แทนคุณครู”...

อยู่โรงเรียน มหาวิทยาลัย ทำเต็มที่เป็นครูดี “ครูเพื่อศิษย์”
อยู่บ้าน อยู่เรือน ตอบแทนเต็มที่เป็นลูกที่ดี “ลูกรู้ครู”

 

คำสำคัญ (Tags): #ครูเพื่อศิษย์
หมายเลขบันทึก: 471840เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2011 12:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 20:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

มาร่วมให้กำลังใจครูดีเพื่อศิษย์ค่ะ..

สวัสดีค่ะคุณครูเสาวลักษณ์  Ico64

ได้ความรู้เกี่ยวกับวันครูมากขึ้น ขอร่วมเป็นกำลังใจให่แก่ครูเพื่อศิษย์นะคะ
ขอบคุณมากค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท