การจัดการความรู้สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่


การจัดการความรักกับการจัดการความรู้น่าจะเป็นทั้งเหตุและผลของกันและกัน ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดก่อน อาจจะเหมือนไก่กับไข่ก็ได้ นั่นคือการจัดการความรักนำไปสู่การจัดการความรู้และการจัดการความรู้ก็นำไปสู่การจัดการความรักเช่นกัน

                จากโครงการของสำนักหอสมุดที่ได้ให้ผมกับทีมงานได้ไปเป็นวิทยากรแก่กลุ่มผู้ปฏิบัติ (คุณกิจ) ทั้งหมดโดยแบ่งออกเป็น 2 วัน ซึ่งผมกับทีมงานได้ปรึกษากันแล้วก็มีความเห็นตรงกันว่าการฟังบรรยายครึ่งวันร่วมกับการฝึกใช้เครื่องมือชุดธารปัญญาเหมือนที่ทำให้กับKM Teamในการทำครั้งแรกนั้น ไม่น่าจะเหมาะกับผู้ปฏิบัติเพราะเนื้อหาบรรยายมากเกินไป ซึ่งในหลายตอนเขาจะไม่ได้ใช้เองโดยตรง อาจทำให้ผู้ปฏิบัติไม่รู้จะเลือกเอาส่วนไหนของเนื้อหาไปใช้ พอเยอะมากเขาคงจะจำและเข้าใจได้ไม่หมด เขาอาจจะได้ในสิ่งที่ไม่ได้เอาไปใช้ การนำไปปฏิบัติอาจไม่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่หลังเสร็จสิ้นการสัมมนาไปแล้ว จึงได้ลดเวลาบรรยายลงเหลือเพียง 1 ชั่วโมง เพื่อปูพื้นฐานให้ทราบบ้างเท่านั้น ซึ่งก็ใช้กฎข้อที่ 2 ของSnowden คือรู้เมื่อต้องการใช้ และเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สำนักหอสมุดมากที่สุด เราก็เลยออกแบบเพื่อให้เกิดแบบ 3 in 1 ในกิจกรรม 1 วันของแต่ละรุ่น คือ

                       ให้คุณกิจได้ทำการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จริงๆเลย โดยใช้กิจกรรมAppreciative inquiry (AI) มาใช้โดยให้คุณกิจทุกคนค้นหาสิ่งดีๆรอบๆตัวโดยเน้นสิ่งที่ดีๆที่เขาทำสำเร็จ ภาคภูมิใจ รู้สึกเป็นสุข ซึ่งเราถือว่าในชีวิตการทำงานของทุกคนจะมีสิ่งนี้อยู่ ตามกฎข้อที่ 3 ของ Snowdenที่ว่าคนทุกคนรู้มากกว่าที่พูดได้เขียนได้ ตอนแรกเราให้เตรียมมาก่อน แต่ก็คงไม่ได้เตรียมเพราะอาจจะมองไม่ออก แล้วให้ใช้กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่าสุนทรียสนทนาควบไปกับเรื่องเล่าเร้าพลัง โดยมีวิทยากรกลุ่ม 1 คนที่จะต้องทำหน้าที่คุณอำนวยที่จะต้องไปกระตุ้นให้กลุ่มรู้สึกเป็นพวกเดียวกันและกระตุ้นให้แต่ละคนควักเอาความรู้ฝังลึกของตนเองออกมาเล่าให้เพื่อนในกลุ่มฟัง

                     ให้ทีมKMของสำนักหอสมุดจัดคนมาเป็นคุณอำนวยด้วยกลุ่มละ 1 คน เพื่อมาเรียนรู้การเป็นวิทยากรกลุ่มและเป็นคุณอำนวยของกลุ่ม เพื่อฝึกอบรมคุณอำนวยโดยวิธีLearning by Doing เลย

                     ให้จัดคุณลิขิตมาให้กลุ่มละ 1 คนเพื่อจะได้ฝึกคุณลิขิตแบบเดียวกับคุณอำนวยและให้มีผู้สังเกตการณ์ด้วยเพื่อจะได้เห็นและเรียนรู้กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งหมดในหนึ่งวัน

                      สิ่งสำคัญประการหนึ่งก็คือทีมวิทยากรทั้ง 5 คนของโรงพยาบาลบ้านตากเองก็ได้เรียนรู้การเป็นวิทยากรกลุ่มที่ต้องเป็นคุณอำนวยที่กระตุ้นให้เกิดการสกัดความรู้ฝังลึกออกมาจากสมาชิกกลุ่มแต่ละคนเพื่อให้ทั้งคุณกิจ คุณอำนวยและคุณลิขิตของสำนักหอสมุดได้ทั้งเนื้อหาจากการแลกเปลี่ยนและกระบวนการจัดการความรู้ด้วย ซึ่งทีมเราต้องมีการประชุมเตรียมงานกันอย่างมากมีทั้งการทำBAR, DARและAAR ของทีมเองด้วย พอเสร็จกิจกรรมในแต่ละวันก็หมดแรงไปตามๆกัน

                  ในแต่ละวันเราเริ่มกิจกรรมด้วยการกล่าวเปิดงานและให้ข้อคิดจากท่านผู้อำนวยการสำนักหอสมุดหลังจากนั้นก็เป็นการทำBARของทุกคนร่วมกับให้ทุกคนทำAIโดยให้เขียนสิ่งที่ภาคภูมิใจหรือทำให้มีความสุขจากการทำงานของแต่ละคนเพื่อให้รวบรวมให้วิทยากรกลุ่มได้ศึกษาความคาดหวังของแต่ละคนพร้อมทั้งให้ทุกคนเกิดความรู้สึกดีๆกับตัวเองก่อนแล้วก็ต่อด้วยเล่าเรื่องKMให้กับทุกคนได้ฟัง 1 ชั่วโมง (วันแรกปิย์วราคอมเมนต์ว่าฟังแล้วดูเนื้อหาขาดเป็นช่วงๆเพราะเคยฟัง 3 ชั่วโมงมาแล้ว แต่วันที่สองดูเนียนมากขึ้น ไม่รู้สึกว่ามีการตัดตอน) หลังจากนั้นก็แบ่งกลุ่มออกเป็น 5 กลุ่มโดยทีมKMหอสมุดได้กำหนดKVของกลุ่มไว้ให้แต่ละคนในกลุ่มมีกิจกรรมหรืองานที่ทำคล้ายๆกัน ในแต่ละกลุ่มมีวิทยากรกลุ่มเป็นคุณอำนวยนอก มีทีมKMเป็นคุณอำนวยในและมีคุณลิขิต โดยทุกคนในกลุ่มเป็นคุณกิจ วิทยากรจะทำกิจกรรมการจัดการความรักก่อนเพื่อให้ทุกคนผ่อนคลาย ถอดหมวกตำแหน่ง เกิดความสัมพันธ์ที่ดี สนิทสนมกัน แม้จะอยู่หน่วยงานเดียวกัน บางคนก็ยอมรับว่าไม่รู้จักกันมาก่อน เคยแต่เห็นหน้า กิจกรรมวันนี้จึงทำให้รู้จักกันมากขึ้น แล้วก็ต่อด้วยกิจกรรมสุนทรียสนทนา ซึ่งช่วงแรกๆก็เล่นเอาวิทยากรเครียดเหมือนกันเพราะกว่าจะกระตุ้นให้แต่ละคนเล่าความรู้ฝังลึกออกมาได้ ค่อนข้างยาก แม้จะละลายพฤติกรรมไปบ้างแต่ก็ยังดูสงวนท่าทีกันอยู่ แต่สุดท้ายก็สามารถกะเทาะความรู้ฝังลึกของแต่ละคนออกมาได้ แม้จะได้ไม่มากนักก็ไม่เป็นไรเพราะเป็นครั้งแรกที่ทำแบบนี้ ทางอาจารย์กรกมลซึ่งเป็นCKOของสำนักหอสมุดบอกว่าได้เนื้อหาความรู้ไม่มากไม่เป็นไร แต่ทำให้ผู้บริหารได้มุมมองจากผู้ปฏิบัติมากขึ้นและที่สำคัญทำให้ทุกคนในกลุ่มรู้จักสนิทสนมกันมากขึ้น ทำให้ผมได้คิดอีกว่า การจัดการความรักกับการจัดการความรู้น่าจะเป็นทั้งเหตุและผลของกันและกัน ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดก่อน อาจจะเหมือนไก่กับไข่ก็ได้ นั่นคือการจัดการความรักนำไปสู่การจัดการความรู้และการจัดการความรู้ก็นำไปสู่การจัดการความรักเช่นกัน ในช่วงท้ายกิจกรรมได้ให้แต่ละกลุ่มร่วมกันกำหนดหัวปลาที่เล็กลงมาที่ทุกคนในกลุ่มทำร่วมกันได้เพื่อจัดทำตารางอิสรภาพที่จะเอาไว้เปรียบเทียบกันในการแลกเปลี่ยนครั้งต่อไป จะได้กำหนดผู้เล่าให้ชัดเจนขึ้น จะทำให้ผู้เล่าได้เตรียมตัวมากขึ้น ทำให้ใช้เรื่องเล่าเร้าพลังได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามในการทำสุนทรียสนทนาก็พบว่าหลายคนสามารถให้เรื่องเล่าเร้าพลังออกมาได้ พอได้ตารางเสร็จก็ให้แต่ละคนในกลุ่มสรุปขุมทรัพย์ความรู้ที่ได้ของแต่ละคนและให้คุณลิขิตสรุปขุมทรัพย์ความรู้ทั้งหมดที่ได้จากกลุ่มพร้อมทั้งให้มีการทำAARโดยทำทั้งเขียนและพูดเพื่อจะได้ปฏิบัติตามกฎข้อที่ 3 ของ Snowdenที่ว่า คนทุกคนรู้มากกว่าที่พูดได้เขียนได้ หลังจากนั้นทุกกลุ่มจะกลับมารวมกันเพื่อนำเสนอขุมความรู้ที่กลุ่มได้รับพร้อมนำเสนอตารางอิสรภาพให้กลุ่มอื่นๆได้เรียนรู้ด้วย พร้อมทั้งการให้ข้อเสนอแนะและเล่าถึงบรรยากาศกลุ่มโดยคุณอำนวยนอก(วิทยากร)และคุณอำนวยใน(KM Team) และก็ปิดประชุมสัมมนาโดยท่านผู้อำนวยการสำนักหอสมุด

                     ก็คิดว่าการออกแบบกิจกรรมการจัดการความรู้ให้สำนักหอสมุดในครั้งนี้ น่าจะได้ประโยชน์มากขึ้นกว่าครั้งแรกและKM Teamจะสามารถนำไปทำเองได้โดยไม่ต้องพึ่งวิทยากรภายนอกและสร้างความมั่นใจให้คุณอำนวยของKM Teamมากขึ้น

หมายเลขบันทึก: 47146เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2006 22:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท