เลือด...ของเหลวมหัศจรรย์ (ตอนที่ 1) : ตรวจหามะเร็งจากเลือดได้จริงหรือ (1)


การตรวจหามะเร็งจากเลือด Tumor marker

        พูดถึงมะเร็ง  ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับอวัยวะใด ก็สร้างความวิตกกังวลใจให้กับผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้อย่างยิ่ง  ดังนั้น  การเจาะเลือดเพื่อตรวจหามะเร็งจึงได้ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยวินิจฉัยหรือตรวจติดตามผลการรักษามากขึ้นเรื่อย ๆ  ซึ่งการตรวจเลือดนั้น  เรียกว่า Tumor marker ซึ่งเป็นสารที่อาจจะเจอในเลือดมากกว่าปกติ  สารเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นโดยเนื้อมะเร็ง หรือปฏิกิริยาของร่างกายต่อมะเร็ง และจากเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง

        Tumor marker  ที่ควรรู้จัก  ได้แก่

        1.  Carcinoembryonic antigen  หรือ  CEA  เป็นแอนติเจนชนิดหนึ่ง  ซึ่งสร้างเป็นปกติจากเซลล์ลำไส้  ตับ และตับอ่อนของทารกในครรภ์   ในคนปกติสามารถตรวจพบ CEA สูงได้เล็กน้อยในคนที่สูบบุหรี่, หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 6 เดือน  รวมทั้งในผู้ป่วยที่มีการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร, ปอด, และตับ แต่ระดับมักไม่สูงมากนัก  CEA มักขึ้นสูงผิดปกติในผู้ป่วยมะเร็งของระบบทางเดินอาหาร, มะเร็งตับอ่อน, มะเร็งเต้านม, มะเร็งปอด, มะเร็งรังไข่ ฯลฯ  โดยเฉพาะ มะเร็งลำไส้ใหญ่ จะพบ CEA สูงได้มากและบ่อยกว่ามะเร็งชนิดอื่นๆ

        2.  Alpha-fetoprotein หรือ  AFP  เป็นแอนติเจนซึ่งสร้างเป็นปกติโดยเยื่อบุผิวของเซลล์ถุงไข่ (yolk sac), เซลล์ตับ และทางเดินอาหารของทารกในครรภ์มารดา    หลังจากนั้นจะมีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อใกล้คลอด จนมีระดับเท่าระดับปกติในผู้ใหญ่ภายใน 2-3 สัปดาห์หลังคลอด   จึงพบ AFP สูงได้ (แต่เป็นภาวะปกติ) ในเด็กในครรภ์มารดา ทารกแรกคลอด และหญิงมีครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป คนทั่วไปจะตรวจพบ AFP ได้ในระดับต่ำๆ  AFP มักมีค่าสูงกว่าปกติมากในผู้ป่วย มะเร็งตับ (hepatocellular carcinoma)  และมะเร็งของรังไข่ และ/หรือ อัณฑะ ชนิด embryonal cell carcinoma  AFP เป็น tumor marker ที่ได้รับการยอมรับให้นำมาใช้ตรวจหามะเร็งตับ ในกลุ่มที่เสี่ยง  ซึ่งได้แก่ ผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรัง  ผู้ที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี  ผู้ป่วยโรคตับแข็ง  เป็นต้น

       3.  Prostate specific antigen  หรือ  PSA  เป็นเอ็นซัยม์ชนิดหนึ่งซึ่งสร้างจากเซลล์เยื่อบุผิวของต่อมลูกหมากเป็นหลัก  รวมทั้งสร้างได้ในเซลล์เยื่อบุท่อปัสสาวะ  ดังนั้นจึงอาจพบ PSA ระดับต่ำๆ ในผู้หญิงได้เช่นกัน  สามารถตรวจพบระดับ PSA สูงกว่าปกติได้ทั้งใน มะเร็งต่อมลูกหมาก  และภาวะต่อมลูกหมากโตที่ไม่ใช่มะเร็ง (benign prostatic hyperplasia)  PSA  เป็น tumor marker อีกชนิดหนึ่งที่ได้รับการยอมรับให้ใช้ตรวจกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก ในกลุ่มผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป  โดยแนะนำให้ตรวจ PSA ร่วมกับการตรวจคลำต่อมลูกหมากทางทวารหนัก และควรเจาะเลือดตรวจก่อนดำเนินการตรวจทางทวารหนัก เนื่องจากการกระทำใดๆ ต่อต่อมลูกหมาก เช่น การกดคลำ จะทำให้มีการปลดปล่อย PSA ออกจากต่อมลูกหมากมากกว่าปกติ เป็นผลให้ระดับ PSA ขึ้นสูงกว่าที่ควรจะเป็น  ในปัจจุบันมีการตรวจเพิ่มเติมที่สามารถเพิ่มความจำเพาะต่อการวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยไม่ลดความไวของการทดสอบลง  ได้แก่  การตรวจ  Free PSA : Total PSA ratio 

        วันนี้พอแค่นี้ก่อนนะครับ เดี๋ยวจะมาต่อครั้งหน้าอีก 2-3 marker ครับ  ขอขอบคุณข้อมูลจาก Siriraj E-Public Library โดย ผศ.พญ.ศันสนีย์ เสนะวงษ์ ครับ

                                                                                        @New Lab

 

คำสำคัญ (Tags): #Tumor marker
หมายเลขบันทึก: 471412เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2011 19:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ดีเลย วันหลังจะส่ง marker อะไร จะได้ถาม Lab / Boss

ตรวจให้ จนท.ในวันตรวจสุขภาพด้วยไม่ได้หรือ

credit ธ.ค.55' คุณภาณุพงษ์ บัวสระ คอลัมน์ สาระแนแชร์ความรู้ 1 คะแนน//HUM

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท