ศูนย์สัตว์ทดลองฝ่าวิกฤตน้ำท่วมได้อย่างไร


พื้นที่ของศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ ไม่ถูกน้ำท่วม เนื่องจากตั้งอยู่ในตัวมหาวิทยาลัย ที่สามารถป้องกันน้ำไว้ได้ ส่วนการดำเนินงาน ก็สามารถรักษาสัตว์ทดลองไว้ได้ทั้งหมด

ศูนย์สัตว์ทดลองฝ่าวิกฤตน้ำท่วมได้อย่างไร

ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล  เป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขต ศาลายา จังหวัดนครปฐม และเป็นหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัย อย่างมาก แม้ว่า พื้นที่ ของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขต ศาลายา จังหวัดนครปฐมจะสามารถป้องกันน้ำไม่ให้เข้าในพื้นที่ได้ แต่ก็เป็นพื้นที่ที่ถูกล้อมไปด้วยน้ำที่มีระดับสูงและไหลแรงมากในบางจุด จนดูเหมือนจะถูกตัดขาดจากพื้นที่ภายนอก

                ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล  เป็นหน่วยงานที่มีกิจกรรมแตกต่างจากหน่วยงานราชการอื่นอย่างมาก ตรงที่ มีกิจกรรมผลิตสัตว์ทดลอง เป็นจำนวนมากเพื่อส่งให้ผู้ใช้สัตว์ทั่วประเทศนำไปทดลอง ทดสอบ ผลิตวัคซีนจนไปถึงการทำวิจัยเป็นต้น ซึ่งสัตว์ทดลองเป็นสิ่งที่มีชีวิต  ต้องกิน ต้องขับถ่าย และไม่สามารถอยู่รอดได้ด้วยตัวเอง เนื่องจากถูกขังอยู่ในกรงและเลี้ยงไว้ในห้องที่มีการควบคุมสภาพแวดล้อมให้สะอาดและเหมาะสมกับการเจริญตามธรรมชาติของสัตว์ทดลอง ศูนย์สัตว์ทดลองจึงต้องมีเจ้าหน้าที่ และพนักงาน คอยดูและสัตว์เหล่านี้ ให้อยู่ได้เป็นปกติสุข  รวมไปถึงสามารถนำไปส่งมอบให้ผู้ใช้สัตว์ที่มีการสั่งเข้ามาแล้ว ในช่วงเวลาที่เกิด มหาอุทกภัย

                ตามที่มีข่าวน้ำท่วมพื้นที่ต่าง ๆ ไล่เรียงตั้งแต่ภาคเหนือลงมาถุงภาคกลางตอนบน และก็มีข่าวพื้นที่ต่าง ๆ ที่พยายามป้องกันตนเองจากกระแสน้ำ แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ไปในที่สุด และเหตุการณ์แบบเดียวกันก็เกิดซ้ำ ๆ กับพื้นที่ที่อยู่ต่ำลงมาจนถึงจังหวัดปทุมธานีและนนทบุรีที่มีพื้นที่ติดกับตำบลศาลายา อันเป็นที่ตั้งของศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ขณะเดียวกันพื้นที่โดยรอบของศาลายาก็เริ่มมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างช้า ๆ ตามแนวคลองมหาสวัสดิ์ที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จะเป็นคลองรับน้ำที่ทุกคนในพื้นที่ทราบดีรวมทั้งประสบการณ์น้ำน้ำท่วมในปี พ.ศ. 2538 ยังเป็นที่เล่าขานกันเรื่อยมา

                ต้นเดือน ตุลาคม  พ.ศ. 2554  ผู้อำนวยการเรียกประชุมแล้วแจ้งข่าวจากมหาวิทยาลัยว่า น้ำจะมาถึงมหิดลในไม่ช้า ในระดับความสูง 1 – 1.5 เมตร ให้ทุกหน่วยงานเตรียมป้องกันทรัพย์สินกันเอง  จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ศูนย์ต้องเตรียมแผนรับมือกับน้ำ โดยดำเนินการป้องกันอุปกรณ์และอาคาร ที่อยู่ในระดับต่ำ มีการก่อกำแพงคอนกรีต ย้ายอุปกรณ์ขึ้นที่สูง เตรียมกระสอบทราย สำรอง เรือพลาสติค สำรองอาหารสัตว์ทดลอง และ น้ำมันเชื้อเพลิง ตลอดจนมีการเฝ้าระวังระดับน้ำ

                        กลางเดือน ตุลาคม  พ.ศ. 2554 ระดับน้ำที่ท่วมพื้นที่โดยรอบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเริ่มเข้าท่วมบ้านเรือนของบุคลากรที่อยู่โดยรอบ ทำให้มีบุคลากร เข้ามาพักที่ศูนย์ฯ  ทำให้ศูนย์ฯ ต้องกำหนดพื้นที่บางส่วนให้เป็นที่พักพิงของบุคลากรที่อพยพ มาอาศัยศูนย์ ฯ เป็นที่พัก ในช่วงกลางคืนและทำงานในช่วงกลางวัน  ขณะนั้น ทางมหาวิทยาลัยเริ่มหาทางป้องกันพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ให้พ้นจากอุทกภัย ด้วยการวางแนวกระสอบทรายและ  แนวคันดินรอบมหาวิทยาลัยที่เป็นพื้นที่ต่ำ โดย ใช้กำลังของบุคลากรและนักศึกษาที่อยู่ในขณะนั้น

                ช่วงวันที่ 27 – 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เป็นเวลาที่รัฐบาลประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ และมหาวิทยาลัยประกาศให้วันที่  26 ตุลาคม  พ.ศ. 2554 เป็นวันหยุดด้วย จากนั้นสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น มหาวิทยาลัยจึงประกาศให้วิทยาเขต ศาลายา หยุดทำการจนถึงวันที่ 5 ธันวาคม 54  ช่วงวันที่ 27 – 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เป็นช่วง วิกฤตและโกลาหลที่สุด เนื่องจาก พื้นที่ ของเทศบาลตำบลศาลายา ที่ตั้งแนวป้องกันน้ำไว้พังลง มวลน้ำจากคลองมหาสวัสดิ์ได้ไหลข้ามทางรถไฟ เข้าท่วมถนน ศาลายา-นครชัยศรี เข้าประชิดแนวกระสอบทรายของมหาวิทยาลัยมหิดล ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และบางจุดเริ่มล้นแนวกระสอบทราย เข้ามาด้านใน ทางมหาวิทยาลัยได้ระดมทั้งบุคลากร อาสาสมัคร และคนงานของบริษัทก่อสร้างที่กำลังทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัย ไปช่วยกันป้องกัน ทั้งกลางวันและกลางคืน  กระสอบทรายนับพันนับหมื่นถุงที่ขนมาจากจังหวัดใกล้เคียง ถูกนำไปเสริมแนวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังจัดเวรยามคอยตรวจแนวคันกั้นน้ำตลอด 24 ชั่วโมง ขณะที่ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มีพนักงานและเจ้าหน้าที่ เข้าทำงานเลี้ยงสัตว์อย่างสม่ำเสมอ บุคลากรที่มีอยู่ก็สามารถดูแลสัตว์ได้อย่างเรียบร้อย แม้ว่าจำนวนบุคลากรลดลงเนื่องจากบุคลากรบางส่วนต้องยุ่งกับการขนย้ายทรัพย์สินในบ้านตนเอง บ้าง อพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัยอื่นบ้าง ละก็มีไม่น้อยที่ไม่สามารถเดินทางฝ่ากระแสน้ำมาที่ศูนย์ได้ ทางศูนย์ฯได้ปรับลดงานลงเหลือเฉพาะเท่าที่จำเป็น เพื่อประหยัดเสบียงให้มีใช้นานที่สุดจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย 

                        สำหรับสัตว์ทดลองที่ผลิตไว้แล้วและต้องนำส่งลูกค้าตามกำหนดการเดิม ซึ่งมีองค์การเภสัชกรรมเป็นรายใหญ่ที่สั่งไว้ในปริมาณมาก  งานตลาดก็ได้พยายามติดต่อกับประสานงานกับลูกค้าถึงวิธีการส่งสัตว์ให้ถึงมือให้ได้  โดยปรับแต่งรถส่งสัตว์ให้สามารถรับกับสภาพถนนที่มีระดับน้ำสูงได้ และพยายามหาเส้นทางที่พอจะนำรถส่งสัตว์ไปให้ลูกค้า เช่น นำรถออกทางถนนพุธมณฑลสายสี่ แล้วไปขึ้นทางด่วนทางด้านพระราม 2 จากนั้นจึงเข้ากรุงเทพ  รวมทั้งการนัดหมายให้ลูกค้ามารับสัตว์ตามจุดนัดหมายเนื่องจาก การเดินทางใช้เวลามากจนไม่สามารถตระเวนส่งสัตว์ให้ลูกค้าเหมือนยามปกติได้

                หลังจากเสร็จภารกิจในการเลี้ยงสัตว์แล้ว บุคลากรที่อยู่ในศูนย์ ฯ ก็ยังได้ช่วยทางมหาวิทยาลัยเสริมคันกั้นน้ำ และรับผิดชอบเฝ้าระวันแนวคันดินด้านหลังศูนย์ฯ อีกด้วย  บุคลากรที่เหลืออยู่ก็จะแบ่งหน้าที่กันทำตามความสามารถของแต่ละคน เช่น ไปหาปลาที่หลากมากับด้านนอกนอกมหาวิทยาลัยบ้าง หาผักน้ำบ้าง ไปรอรับอาหารกล่องของมหาวิทยาลัยและที่มีผู้มาแจกบ้าง ทุกสิ่งที่ได้จะนำมารวมไว้ที่ครัวกลางสำหรับทุกคน บางคนก็ถือโอกาสกลับไปตรวจดูบ้านที่ยังจมน้ำอยู่เป็นครั้งคราว ส่วนบุคลากรที่พักอยู่ด้านนอกก็ส่งเสบียงเข้ามาเสริม ได้แก่พวกผักสด หมูและไก่ แช่แข็งรวมทั้ง พวกเครื่องปรุงต่าง ๆ เป็นต้น ทำให้ คนที่อยู่ในศูนย์สัตว์ทดลองมีอาหารการกินที่ค่อนข้างสมบูรณ์  จนกระทั่งสถานการณ์น้ำคลี่คลาย ระดับน้ำรอบมหาวิทยาลัยเริ่มลดลง หลังวันที่ 3 พฤศจิกายน 54 เป็นต้นมา พร้อมกับความโล่งใจและดีใจที่พื้นที่ไม่ถูกน้ำท่วม ที่เพิ่มขึ้นตามลำดับเช่นกัน จนกระทั่งโรงอาหารของทางมหาวิทยาลัย เริ่มบริการอาหารได้ตามปกติ ศูนย์ฯ จึงได้ประกาศยุติโรงครัวของศูนย์ในวันที่ 3 ธันวาคม 54 แต่ยังอนุญาตให้บุคลากรและผู้อพยพ พักอาศัยต่อได้จนกว่าแต่ละคนจะสามารถกลับเข้าบ้านของแต่ละคนได้

                สรุปได้ว่า พื้นที่ของศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ ไม่ถูกน้ำท่วม เนื่องจากตั้งอยู่ในตัวมหาวิทยาลัย ที่สามารถป้องกันน้ำไว้ได้  ส่วนการดำเนินงาน ก็สามารถรักษาสัตว์ทดลองไว้ได้ทั้งหมด รวมทั้งยังสามารถส่งสัตว์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ได้อีกด้วย นับว่ายังเป็นโชคดีของสัตว์ทดลองที่ไม่ต้องสูญเสียจากมหาอุทกภัยครั้งนี้ 

หมายเลขบันทึก: 471407เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2011 15:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 08:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท