lesson study (วิจัยบทเรียน) : จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ


Lesson study สู่การปฏิบัติจริง ที่โรงเรียนบ้านฉางเกลือ

      บ่ายวันนี้   ได้ไปร่วมวิจัยบทเรียน Lesson study ที่โรงเรียนบ้านฉางเกลือ    ครูผู้สอนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒  เรื่องเงิน

    ไปถึงก็ไปสนทนาแผนการสอนกันก่อนครับ  โดยผมเน้นแผนที่เขียนมา เป็นแผนที่ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้หรือไม่

      หลังจากนั้นก็ไปสังเกตการสอนจริง

    คุณครู ๕  คน รวมทั้งผมด้วย  ไปสังเกตการสอนหลังห้อง

     คุณครูก็สอนไปตามปกติ

    หลังจากนั้นก็มาสนทนาหลังการสอน

     ข้อค้นพบที่ได้ คือ  ค้นพบว่า 

      ๑.  ในห้องเรียน  จะมีเด็กเก่งอยู่สองสามคน  ซึ่งมีอิทธิพลต่อเพื่อนในห้องเรียน   ถ้าเด็กเก่งตอบ  คนอื่นจะไม่คิด

      ๒.  เด็กปานกลางบางคน  อยากจะตอบ   แต่ไม่มีความมั่นใจ

       ๓. เด็กอ่อน ไม่มีโอกาสได้ตอบ

       ผมและคณะครูจึงพอสรุปได้ว่า   เด็กที่คิดในห้องส่วนหนึ่ง จะมีเฉพาะเด็กเก่ง   ส่วนเด็กปานกลางและเด็กอ่อน  ไม่ใช่เขาคิดไม่ได้ คิดไม่เป็น   แต่เขา "ไม่กล้าคิด"   เพราะ เขาขาดความมั่นใจ   เพราะเขาขาดการยอมรับ   เนื่องจากถูกคนเก่งบดบังรัศมี  ขาดการยอมรับจากครูและเพื่อน

       ผมเลยฝากคำถามไปว่า  แล้วจะทำอย่างไร ให้เด็กปานกลาง เด็กอ่อน เขาได้คิดบ้าง

หมายเลขบันทึก: 471245เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2011 17:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 21:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

ลงไปดูครูสอนแล้วนะครับ ไวมากๆๆเยี่ยมจริงๆๆ

ขอบคุณมากครับ อาจารย์ ขจิต ที่มาให้กำลังใจ

     มีโอกาส็  ททท   ครับ   ทำทันที   ๕๕๕  

 

ทำอย่างไร ให้เด็กปานกลาง เด็กอ่อน เขาได้คิดบ้าง?

ขอบคุณอาจารย์ที่ทิ้งคำถามนี้ค่ะ
เด็กเก่ง เด็กปานกลาง เด็กอ่อน เขาถูกตัดสินมาบ้าง ทำให้รู้ว่าโอกาสถูกตัดสินผิด/แพ้ มาก น้อยเพียงไร มีผลต่อความมั่นใจ..

คำถาม ที่คำตอบที่ไม่ต้องมีการตัดสิน อาจเปิดช่องให้ลองคิดได้บ้าง

เป็นความเห็นหนึ่งค่ะอาจารย์

 

ขอบคุณมากครับอาจารย์

     สำหรับ คำถาม  ที่คำตอบไม่ต้องมีการตัดสิน  เปิดโอกาสให้้เด็กทุกคน ได้พูด ได้คิด  

      ดีมากเลยครับอาจารย์ ผมจะนำไปบอกคุณครูครับ

ควรสร้างบรรยากาศให้ทุกคนอยากมีส่วนร่วมในการคิด ด้วยการระดมความเห็น  โดยไม่เปรียบเทียบกัน และให้กำลังใจกันในรูปแบบต่างๆ น่าจะช่วยได้ไหมคะ ?

 

Ico48พี่นงนาทครับ

   การระดมความคิดเห็น โดยไม่เปรียบเทียบ  และ ให้กำลังใจกัน  เป็นเรื่องที่ช่วยได้มากเลยครับ

                  ขอบคุณครับ

อาจารย์ครับ ผมเห็นรูปอาจารย์ทั้งหมดที่ไปนิเทศก์ดูการสอน นั่งหลังห้องหมดทั้ง 6 ท่าน ครูและเด็กจะเกิดอาการเกร็งไปทั้งหมด อาจารย์ลองแอบๆ นิเทศก์ซิครับจะเป็นธรรมชาติดี จะเห็นอะไรดีๆ ครับ

สำหรับเด็กอ่อนและเด็กปานกลางมีความสามารถไม่แพ้กับเด็กเก่งหรอกครับ เพียงแต่ใช้เวลามากขึ้นอีกนิดเท่านั้น ผมเคยวิจัยมาแล้วครับเรื่อง การอ่านของเด็กทั้ง 3กลุ่ม โดยเฉพาะเด็กปานกลางมีความสามารถเท่าๆ กับเด็กเก่งเลยทีเดียว ลองให้โอกาสเขาหน่อยนะครับ เป็นกำลังใจให้ ใจเย็นๆ ครับ มีวิธีมากมาย โดยเฉพาะการปลูกความมั่นใจเขาก่อน ทุกอย่างก็จะดีเอง

Ico48คุณ Dang ครับ

   ไปนั่งสังเกตการสอนหลังห้อง หกคน  เด็กไม่เกร็งครับ  คุณครูผู้สอนก็ไม่เกร็ง   เพราะเป็นบรรยากาศของกัลยาณมิตรที่มาเสริมเติมเต็ม มาช่วยกัน  ไม่ใช่มาจับผิด    การสอนทั้งชั่วโมง  เป็นไปตามปกติ ทั้งครูและเด็ก  แอบๆ นิเทศ  จะไม่เห็นพฤติกรรม "การคิด" ของเด็กครับ  และ การคิดของเด็กทุกคน   จึงต้องไปนั่งสังเกตอย่างจริงจังในห้องเรียนเลยครับ

     ส่วนประเด็นเด็กอ่อน เด็กปานกลาง  คงต้องให้เวลาเขาเพิ่มเติมอย่างที่แนะนำมาแหละครับ  โดยเฉพาะการให้ "โอกาส"  เขาได้พูด ได้แสดงออก  และ ยอมรับความคิดของเขา 

   ขอบคุณมากครับสำหรับความคิดที่เป็นประโยชน์

คำถามที่ท่านรองฝากให้คิดน่าสนใจมากค่ะ

การที่เด็กไม่ตอบ มันมีอะไรลึกๆ อยู่ข้างใจ ซึ่งการได้คลายจุดตรงนั้น จะช่วยส่งเสริมศักยภาพให้เด็กทุกคนได้

หนูมองว่าเด็กๆ ทุกคนควรได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเริ่มต้นง่ายๆ จากโอกาสในการเรียนรู้และมีส่วนร่วมในห้องเรียน ซึ่งต้องรบกวนคุณครูทุกคนเมตตาให้โอกาสน้องๆ อีก 2 กลุ่มด้วยนะค่ะ ^_^

น้องมะปรางเปรี้ยว วิเคราะห์มาตรงนี้ดีมากเลยครับ

      การที่เด็กไม่ตอบ มีอะไรลึกๆอยู่ในใจ  ถ้าคลายตรงนั้นได้  จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของเด็กทุกคน

       ผมจะนำไปขยายผลให้คุณครูฟังครับ ให้คุณครูนำำไปคิดต่อ

        เพื่อให้โอกาสอีก ๒ กลุ่ม

                        ขอบคุณมากครับ

ท่านรองคะ

ขอแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมนิดนึงค่ะ

พอดีว่าเพิ่งจะนึกขึ้นได้ว่า เคยคุยกับอาจารย์พยาบาลท่านหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องการเรียนการสอน อาจารย์ท่านเล่าให้ฟังว่าการที่นักศึกษาทำงานที่ได้รับมอบหมายได้ไม่ดี บางทีเราก็ไม่รู้ว่าเค้ามีอะไรในใจ เช่น อาจจะมีปัญหาจากเรื่องครอบครัว จนส่งผลต่อการเรียนรู้ในชั้นเรียน อาจารย์ท่านก็เมตตาพูดคุยสอบถามนักศึกษาค่ะ ซึ่งก็ทำให้เข้าใจเหตุผลของนักศึกษาคนนั้นได้ดีขึ้น

วันนั้นดูเหมือนว่าจะพูดคุยกันในประเด็นเรื่องของการวัดผลการเรียนการสอน อาจารย์ท่านก็แบ่งปันเรื่องราวที่ได้แนวคิดว่าบางทีการที่ครูผู้สอนตัดสินว่าเด็กเรียนไม่ได้ ทำผลงานได้ไม่ได้จากภาพที่มองเห็น อาจจะไม่ใช่เสมอไป เมื่อลองพูดคุยก็จะเห็นเหตุที่ชัดขึ้น จึงสามารถเข้าใจผู้เรียนได้มากขึ้นค่ะ

น้องมะปรางเปรี้ยวครับ

     นำเสนอแนวคิดมาดีมากเลยครับ เทียบเคียงกับอาจารย์พยาบาล นักศึกษาทำงานได้ไม่ดี  น่าจะมาจาก "มีอะไรในใจ"

    ครับ  ตรงนี้  ผู้สอน คงจะไม่ด่วนสรุปนะครับ ว่าผู้เรียนเรียนไม่ได้  ทำงานไม่ได้   เพราะจริงๆ แล้ว เขาทำได้   คิดได้   เพียงแต่ว่าเขามีอะไรค้างคาอยู่ในใจ  ซึ่งตรงนี้  เป็นเรื่องละเอียดอ่อน คงต้องใช้เวลา  และ สังเกตให้ความสนใจเอาใจใส่เป็นรายบุคคล   เพื่อเข้าใจผู้เรียนได้ดีขึ้น  พัฒนาผู้เรียนให้กล้าพูด กล้าคิด  กล้าแสดงออก  คิดได้ ทำได้

                    ขอบคุณมากครับ

ใช่เลยนะคะ...ขอมาเรียนรู้ด้วยคนค่ะ

  • จากคำถามทิ้งท้ายของท่าน "แล้วจะทำอย่างไร ให้เด็กปานกลาง เด็กอ่อน เขาได้คิดบ้าง"
  • ขอแลกเปลี่ยนการวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหา จากประสบการณ์ของการเป็นอาจารย์ผู้เขียนตำราและรับผิดชอบจัดการเรียนรู้ "วิชาจิตวิทยาสำหรับครู" ซึ่งเป็นวิชาที่นักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต (5 ปี) ทุกคนต้องเรียนนะคะ
  • ประเด็นแรกขอกล่าวถึง "ประสบการณ์ที่ผ่านมา หรือ ภาษาทางจิตวิทยาเรียกว่า การเรียนรู้ทางสังคมซึ่งเป็นการเรียนรู้ของบุคคลจากการสังเกตพฤติกรรมของคนอื่น" เวลาครูถามคำถาม เด็กกลุ่มปานกลางและกลุ่มอ่อนจะสังเกตว่า ผู้ที่ยกมือตอบคำถามมักจะเป็นเด็กเก่ง และเมื่อเด็กเก่งตอบคำถามไปแล้ว ครูก็แสดงความพอใจ และไม่สนใจจะถามคนอื่นๆ ต่อ เพราะฉะนั้น เวลาครูถามเด็กกลุ่มอ่อนและกลุ่มปานกลางก็จะคิดในใจว่า เออ! เดี๋ยวคนเก่งเขาก็จะตอบครูเองแหละ เราไม่จำเป็นต้องคิดหรอก 
  • เพราะฉะนั้น คนที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็คือ "ครู" ครูต้องเจาะจงว่าต้องการคำตอบของใคร (เด็กกลุ่มปานกลาง และกลุ่มอ่อน) โดยต้องเริ่มจากคำถามที่ไม่ยาก และต้องให้เด็กรู้ตัวก่อนว่าเขาได้รับเลือกให้เป็นผู้ตอบคำถาม เพื่อเด็กจะได้เตรียมตัว เตรียมใจ และเตรียมคำตอบ เช่น ครูพูดว่า "ครูมีคำถามง่ายๆ ที่จะถาม และคำถามนี้ครูขอให้ ดช.........ดญ..........ดช..........ดญ.............(เลือกจากลุ่มปานกลางและกลุ่มอ่อน) เป็นคนตอบนะคะ แต่ทุกคนก็ต้องคิดคำตอบไว้ในใจด้วย เพราะครูจะเรียกให้อีก 2 คนตอบโดยจะยังไม่บอกว่าเป็นใคร" (เป็นเทคนิคที่ทำให้เด็กทุกคนมีส่วนร่วม)
  • แล้วครูก็พูดต่อว่า "คำถามของครูก็คือ ถ้าผู้ปกครองให้เงินเด็กๆ จำนวน....บาท (ถามเรื่องเงิน เพราะสอนเรื่องเงิน โดยกำหนดจำนวนให้เหมาะกัยวัยของเด็ก และถามให้สัมพันธ์กับชีวิตจริงที่จูงใจให้อยากคิด) เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ เด็กลองคิดดูนะคะ ว่าจะนำเงินนั้น ไปทำอะไร และครูอยากให้บอกด้วยว่า ทำไมจึงคิดจะนำเงินไปทำสิ่งนั้น (คำถามหลังถ้าเด็กตอบไม่ได้ก็ไม่เป็นไร) 
  • ประเด็นที่สอง  ขอกล่าวถึง "การเสริมแรง" เมื่อเด็กทำอะไรแล้วได้รับผลดี ก็จะทำให้รู้สึกพอใจและจะอยากทำอีก หลังจากเด็กตอบไปแล้ว เด็กอาจจะพูดไม่คล่อง ตอบช้า คำตอบไม่น่าสนใจ แต่ครูก็ต้องให้กำลังใจ เช่น บอกให้เพื่อนปรบมือให้ และครูก็พูดว่า "ครูดีใจที่วันนี้ ดช....(ดญ....) ตอบคำถามครู ที่บอกว่าจะนำเงินไปซื้อ....ก็ดีนะคะ เพราะ...(หาข้อดีให้ได้) วันนี้...อาจจะยังเขินเพราะที่ผ่านมาไม่่เคยตอบคำถามครู คราวหน้าครูเชื่อว่าต้องตอบได้คล่องขึ้นแน่นอน
  • ...อะไรทำนองนี้ค่ะ...ยกมาเป็นตัวอย่างชัดๆ เพื่อให้ครูเห็นเป็นรูปธรรมและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ค่ะ

Ico48คุณอุ้มบุญครับ

     ขอบคุณมากครับที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้

Ico48ท่าน อาจารย์ ผศ. วิไล ที่นับถือ

     ขอขอบพระคุณท่านเป็นอย่างสูงเลยครับ สำหรับคำตอบเชิงจิตวิทยา  ที่ว่าด้วยการเรียนรู้ทางสังคม

    อาจารย์ให้หลักการ พร้อมตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม  นำไปใช้แก้ปัญหาได้เป็นอย่างดีเลยครับ และ หลักการตรงนี้  ผมว่าไปประยุกต์ใช้การพูด  การคิด ของผู้เรียน ในสาระต่างๆ รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นตามหลักประชาธิปไตย

   ขออนุญาตนำคำแนะนำของท่านอาจารย์  ไปแจ้งให้ที่ประชุมผู้บริหารโรงเรียนทราบนะครับ พร้อมกับนำไปเผยแพร่ในกลุ่มครู   เป็นวิทยาทานครับ  เพื่อ "พัฒนาผู้เรียน"  เพื่อพัฒนาเด็ก"

      ขอบคุณอาจารย์มากครับ

  • ด้วยความปลื้มปิติเป็นอย่างยิ่งค่ะ ที่ "ท่าน small man" เห็นคุณค่าของความคิดเห็นของดิฉัน ซึ่งแสดงออกด้วยการแจ้งว่า จะนำไปใช้ประโยชน์โดยการแจ้งให้ที่ประชุมผู้บริหารโรงเรียนทราบ พร้อมกับนำไปเผยแพร่ในกลุ่มครู เพื่อเป็นวิทยาทาน เพื่อ "พัฒนาผู้เรียน"  เพื่อพัฒนาเด็ก"
  • "การช่วยให้ครูทำงานอย่างมีความสุข และมีคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลในการช่วยยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาของชาติ" เป็นเป้าหมายสูงสุดในการเป็นครูของดิฉัน ซึ่งใกล้จะหมดเวลาแล้ว (ดิฉันจะเกษียณปี 55 ค่ะ)
  • ขอบคุณจริงๆ ค่ะ ที่ท่านได้ช่วยสนับสนุนให้ดิฉันได้ทำประโยชน์ต่อประเทศชาติในวงกว้างขึ้น
  • และดิฉันขออนุญาตนำสิ่งที่กล่าวมา ไปอ้างอิงในบันทึกเรื่อง "มนุษยสัมพันธ์ : ความสัมพันธ์ที่ต่างพึงใจ" บันทึกแรกใน Blog "Mantoknow" ที่ตั้งใจจะสร้างภายในวันนี้ (เลื่อนมาจากเมื่อวาน) ด้วยนะคะ  
  • 

Ico48ครับ อาจารยครับ  ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่การพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กร่วมกันครับ

                  ขอบคุณครับ

  • เป็นบันทึกที่สุดยอดมากเลยค่ะท่านรอง
  • สำหรับแป๋มจะใช้การ(แกล้ง)สุ่มโดยไม่บอกล่วงหน้า
  • ทั้งที่จริงแล้วครูได้วางตัวผู้ที่จะตอบไว้แล้ว
  • แต่ธรรมชาติของเด็กวัยรุ่นต้องมีลุ้น อยากสะใจ อยากเป็นที่ยอมรับ ด้วยความยุติธรรม..
  • ดังนั้น การลุ้นเมื่อครูจิ้มเบาๆไปที่แผ่นรายชื่อของห้อง
  • แล้วค่อยๆบอกชื่อผู้โชคดีที่จะได้ตอบคำถามนี้ เป็นอะไรที่เด็กจะลุ้นสนุกมาก
  • สอนไปประเมินไป(ด้วยการถามตอบ)เป็นระยะๆเด็กจะตั้งใจอ่านมาก่อน
  • แถมในห้องก็ตั้งใจฟังและร่วมกิจกรรมเป็นอย่างดี แถมบางทีมีการตอบไม่ได้
  • ก็จะมีการให้สัญญานจากครูชูปากกาขึ้น ใครไวกว่าก็จะได้ยืนขึ้นตอบ(มีการจูงใจโดยมอบคะแนนข้อนั้นให้)
  • ชั่วโมงต่อๆไปเด็กจะตั้งใจมากค่ะ ยิ่งถ้านำกระบวนการกลุ่มมาเสริมด้วย โอ๊ย...มีความสุขค่ะ
  • นี่เป็นเพียงหนึ่งเทคนิคที่แป๋มใช้ค่ะท่านรอง พูดทีไรใจก็สนุกแล้ว
  • มีความสุขกับการได้ออกแบบการจัดการเรียนรู้เป็นประจำ
  • ทั้งนี้ทั้งนั้นก็จะอาศัยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเด็กๆที่แวะเวียนมาคุยกับครู
  • วันหน้าแป๋มจะมาเล่าให้ฟังอีกค่ะ ชอบมากกับเรื่องราวการเรียนการสอน
  • ขอบคุณท่านรองที่จัดบันทึกดีๆแบบนี้มาให้ได้บอกเล่าประสบการณ์ค่ะ.  

สวัสดีครับ   ครูคือผู้จัดกระบวนการเรียนรู้  การที่จัดกระบวนการเรียนรู้ไม่เป็นไปตามหลักจิตวิทยา  หลักการสอน  คือครูมุ่งแต่มอบความรู้  นักเรียนจะรับได้หรือไม่ ไม่มีอะไรที่จะยืนยันได้  การที่ปล่อยให้เด็กนักเรียนสองสามคนแสดงออกตลอด  นับเป็นมรดกของครูไทยที่แก้ไขกันน้อยมาก  สังคมการเรียนรู้แบบไม่มีความมั่นใจจึงแผ่ขยายสู่เยาวชนไม่มีสิ้นสุด..................

ครูแป๋มครับ

    ขอบคุณมากเลยครับ ประสบการณ์ทีมีคุณค่า

    ผมชอบตรงนี้ครับ   อยากเป็นที่ยอมรับ ด้วยความยุติธรรม..

    และก็ตรงนี้ครับ  มีความสุขกับการได้ออกแบบการจัดการเรียนรู้

   ตรงนี้ก็สุดยอดครับ  อาศัยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเด็กๆที่แวะเวียนมาคุยกับครู

    จะได้นำประสบการณ์ตรงนี้  ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคุณครูต่อไปครับ

คุณธนาครับ

  สังคมการเรียนรู้แบบไม่มีความมั่นใจจึงแผ่ขยายสู่เยาวชนไม่มีสิ้นสุด..................

     ตรงนี้โจทย์ใหญ่การศึกษาไทยเลยครับ

                    ขอบคุณครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท